รอยร้าวในบ้าน : 
สถาบันครอบครัว
ในยุคเปลี่ยนผ่าน

Family

เรื่อง : ณภัทร เวชชศาสตร์
ภาพ : กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, 123RF

Image

“ความรุนแรงเกิดจากความไม่เข้าใจ ความกลัว และความกังวลที่ตัวเองจะควบคุมไม่ได้เหมือนที่เคยถูกควบคุมในอดีต”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

/ ๑ /

พ่อมักพูดเสมอว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เหมือนดั่งละครเวทีที่เราไม่สามารถควบคุมตัวละครได้

ผมจำคำสอนดังกล่าวแล้วตีตัวเองให้ออกห่างจากการเมืองเสมอ

เมื่อคราวปี ๒๕๔๙ ผมอายุได้ ๑๐ ขวบก็เห็นการรัฐประหาร จำได้อย่างเดียวคือดีใจ เพราะโรงเรียนหยุด ต่อมามีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มคนเสื้อแดง เริ่มเห็นความรุนแรงผ่านสื่อโทรทัศน์ จนถึงยุคความเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ที่นำไปสู่การรัฐประหารปี ๒๕๕๗ 

แต่ด้วยคำสอนของพ่อ ผมจึงไม่ได้สนใจ เพราะคิดเสมอว่า “เป็นเรื่องไกลตัว”

มากไปกว่านั้นทางครอบครัวก็เหมือนจะเห็นดีเห็นชอบกับการเข้ามาของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเมืองซึมเข้ามาตอนผมเริ่มทำงานสารคดีประเด็นสิ่งแวดล้อม การลงทำงานภาคสนามช่วยขัดเกลาโลกอันหยาบกร้านของผมให้เห็นถึงชุดปัญหาเชิงโครงสร้างที่ล้วนเกี่ยวพันกับการเมือง ทำให้ผมค้นพบว่า แท้จริงแล้วการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่ถูกสอนตั้งแต่เด็ก

ผมถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถามกับชุดข้อมูลที่เคยถูกสอนมาในวัยเด็ก ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้ผมเข้าไปเห็นชุดข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากตำราเรียนอย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตามแม้ชุดความคิดผมจะเปลี่ยนไป แต่พ่อยังคงไว้ซึ่งชุดความคิดเดิมภายหลังการเลือกตั้งไม่นาน ผมนั่งดูถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภาขณะนั่งกินข้าวกลางวัน แล้วพ่อที่เดินผ่านหลังผมไปก็เอ่ยว่า “อย่าไปตามเลยการเมือง ไร้สาระ การเมืองมันคือละคร” ผมไม่ได้โต้ตอบ แต่ภายในใจมันขัดจากหลักความเชื่อของตนอย่างสิ้นเชิง

ช่วงต้นปี ๒๕๖๓ หลังจาสถานการณ์โควิด-๑๙ ระลอกแรกคลี่คลาย ก็เริ่มมีปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันภายในกลุ่มไลน์ญาติก็เริ่มแชร์ข่าวที่หาแหล่งอ้างอิงไม่ได้ อ้างว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ รับเงินมาจากพรรคการเมือง มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตลอดเวลาที่ผมไปถ่ายภาพม็อบในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมแทบไม่เคยได้ยินสิ่งเหล่านั้นเลย

ผมตัดสินใจชี้แจงกลับด้วยเหตุและผล ตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของข่าว พร้อมยิงคำถามเกี่ยวกับระบบการเมือง และชวนแลกเปลี่ยนเรื่องระบอบการปกครอง หวังว่าจะเกิดเวทีการแลกเปลี่ยน

แต่ท้ายสุดคำตอบที่ได้คือถูกไล่ออกจากกลุ่มไลน์ญาติ

รุ่งเช้าวันถัดมา ผมถูกตำหนิว่าเป็นพวกดื้อรั้น พูดไม่ฟัง โลกแคบ มองแต่โลกของตัวเองไม่สนใจโลกของคนอื่น พร้อมทั้งถูกตัดสิทธิ์การเข้าถึงบัตรเครดิต

แม้ผมจะยินยอมเปิดอกคุยและแลกเปลี่ยนความคิด แต่ความเมินเฉยเป็นสิ่งเดียวที่ผมได้รับ ผมจึงตัดสินใจย้ายออกมาอยู่คนเดียวเพื่อหนีความอึดอัดภายในบ้าน บ้านที่ผมเคยเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด

Image

/ ๒ /

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมเจอยังไม่หนักหนาเมื่อเทียบกับคนอื่นตามที่ผมได้ติดตามข่าวก็มีคนจำนวนไม่น้อยรวมถึงกลุ่มนักเรียนที่ยังเรียนไม่จบซึ่งถูกไล่ออกจากบ้าน โดนตัดเงิน หรือแม้กระทั่งโดนคนในครอบครัวตนเองฟ้องร้องดำเนินคดีในมาตรา ๑๑๒ เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเข้าร่วมม็อบ

“พิ้งค์” เพื่อนในวัยเรียน แลกเปลี่ยนให้ฟังว่า เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เรียนมัธยมฯ ในฐานะกลุ่มสนับสนุนพันธมิตรฯ ซึ่งปัจจัยหลักคือการปลูกฝังจากพ่อแม่

“ตอนม็อบ กปปส. เราก็ไปด้วย พ่อแม่พาไปเป่านกหวีด”

พิ้งค์เล่าว่าหากให้ย้อนกลับไปจุดเปลี่ยน ก็ต้องย้อนไปตอนที่ตัวเองเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ ซึ่งมีเพื่อนที่เป็นฝั่งสนับสนุนเสื้อแดงออกมาคอยแย้งความคิดเห็นของตน แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวคืออยากเอาชนะจึงเลือกเชื่อในชุดข้อมูลของตัวเองมากกว่าเมื่อเวลาผ่านไปได้เห็นการบริหารบ้านเมืองของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มแคลงใจกับชุดความเชื่อตนเอง จนเมื่อเกิดกลุ่ม Royalist Marketplace ที่ตั้งโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และเพื่อนส่งบทความวิชาการเกี่ยวข้องกับคดีประหารชีวิตของชิต บุศย์ และเฉลียว มาให้ หลังจากอ่านแล้วพิ้งค์จึงเริ่มตั้งคำถามต่อระบบที่เคยถูกสอนมาตลอด

“เราสงสัยว่าเพียงแค่หลักฐานไม่กี่อย่างสามารถประหารชีวิตได้เลยเหรอ”

เธอบอกว่าหลังจากเห็นชุดข้อมูลของอีกฝั่ง ไม่ว่าหนังสือต้องห้าม บทความวิพากษ์วิจารณ์เชิงวิชาการ ทำให้เธอเข้าไปอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “เบิกเนตร”

“ตอนแรกเราอ่านอย่างเดียว ไม่พูดอะไร แม่ก็ถามว่าวัน ๆ เอาแต่อ่านอะไร เราก็ไม่พูด จนถึงวันที่เราเริ่มแสดงออก แชร์บทความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมืองรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เริ่มโดนด่า ถูกถามว่าอยากติดคุกเหรอ”

ต่อมาพิ้งค์ย้ายจากต่างจังหวัดมาอยู่กรุงเทพฯ กับพี่สาว ด้วยความห่างไกลจากพ่อแม่ทำให้เธอยิ่งแชร์บทความและแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยครั้งนี้ไม่ได้ซ่อน (hide) พ่อแม่และญาติของตัวเอง

พิ้งค์เล่าว่านอกจากในครอบครัวแล้วก็จะมีน้องสาวของแม่ที่ตนเรียกว่าเป็นฝั่งกษัตริย์นิยมสุดขั้ว (ultra-royalist) เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเธอ ซึ่งพิ้งค์ก็โต้เถียงผ่านไลน์ด้วยชุดข้อมูลที่อ่านมา หวังจะแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่สิ่งที่ญาติทำคือบันทึกภาพการสนทนาและข่มขู่ว่าจะฟ้องดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒ ทำให้ครอบครัวเกิดการทะเลาะมีปากเสียงกัน

ท้ายสุดเพื่อรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว พิ้งค์ต้องจำใจขอโทษน้าสาวเพื่อให้รอดพ้นจากคดี ๑๑๒

/ ๓ /

“แพรว” รุ่นน้องอีกคนที่ผมสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ แจ้งมาก่อนว่าจำเป็นต้องพูดเสียงเบา เพราะบ่อยครั้งที่พ่อแม่เธอมักดักฟังการสนทนา

แพรวบอกว่าได้สร้างกำแพงการเมืองขึ้นมาตั้งแต่เด็ก ตอนรัฐประหารปี ๒๕๔๙ เธอมักได้ยินพ่อแม่ด่าทักษิณตลอดเป็นเหตุให้ตัวเองไม่อยากรับข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะจากทางบ้านหรือกลุ่มเพื่อน แพรวบอกว่าครอบครัวเธอมีชายเป็นใหญ่ ทุกคนต้องเชื่อฟังพ่อและทำตามพ่อตลอด และด้วยความรุนแรงที่เคยสัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้สึกกลัวที่จะโต้เถียงหรือแลกเปลี่ยนกับคนในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

แต่เมื่อมีโอกาสไปใช้ชีวิตที่อังกฤษทำให้รู้สึกเหมือนเห็นโลกในอีกมุมมองหนึ่ง เห็นความแตกต่างของคุณภาพชีวิต

“จริง ๆ เราก็ตั้งคำถามนะตอนอยู่ไทย แต่ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไร ที่อังกฤษเราเห็นภาษีที่ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเรื่องง่าย ๆ รถบัส ทำไมเขามีป้ายบอกทางที่เข้าใจง่ายและออกตรงเวลา แต่พอกลับมาที่บ้าน เรามักได้ยินเสมอว่า ที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ก็ดีแค่ไหนแล้ว”

เมื่อเธอกลับมาเมืองไทย ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็เริ่มแลกเปลี่ยนความเห็นกับที่บ้าน ซึ่งบางเรื่องแลกเปลี่ยนได้ตรงไปตรงมา แต่เมื่อใดที่เริ่มแตะการเมืองหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบการพูดคุยด้วยเหตุผลก็จะถูกปิดทันที

ครั้งหนึ่งแพรวเคยชวนพูดคุยเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเธอเริ่มเชื่อว่าการที่คนออกมาเรียกร้องมาก ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ แต่พ่อเห็นแย้งว่าคนพวกนี้คือพวกเห็นแก่ตัว สร้างความลำบากให้ผู้อื่น และพวกที่ลามปามสถาบันกษัตริย์เป็นพวกไม่รู้จักกตัญญูและไร้ความเป็นมนุษย์  พ่อของแพรวขู่ว่าถ้าไปเข้าร่วมม็อบเมื่อไรก็ไม่ต้องกลับมาบ้านและจะขายคอนโดฯ ทิ้ง

แพรวบอกว่าโชคดีที่เป็นการสนทนาผ่านโทรศัพท์ มิเช่นนั้นคงไม่ได้ให้สัมภาษณ์แน่ แพรวต้องแบกรับความรู้สึกนี้ไว้ตลอด ไม่ว่าจะความกลัว ความกังวลใจ และความเสียใจ

Image

/ ๔ /

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายครอบครัวที่เผชิญปัญหาความรุนแรงเหล่านี้ในมิติที่ต่างกัน แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้ควรเกิดขึ้นภายในสถาบันครอบครัวหรือเปล่า

ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยความรุนแรงในสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะในมิติทางการเมือง

อาจารย์เริ่มต้นด้วยความเห็นว่า

“นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่คนอายุน้อยนั้นตื่นตัวทางการเมือง ในจำนวนและระดับที่มากขนาดนี้

“หากย้อนไปในอดีต การเมืองเป็นเพียงเรื่องนามธรรมนโยบายของรัฐบาลแทบไม่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เป็นผลให้คนที่เติบโตมาในสมัยนั้นมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว และเมื่อผนวกกับชุดความสัมพันธ์ของครอบครัวในอดีตเป็นลักษณะอำนาจนิยม เด็กที่เกิดมาต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ห้ามคิดนอกกรอบ

“ถ้ามองรุ่นผู้ใหญ่ในสมัยปัจจุบัน เราสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือประเภทที่มาจากยุคสงครามเย็น (cold war) กับยุคระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (In-between)” คนที่เติบโตท่ามกลางยุคสงครามเย็นมักแสวงหาความมั่นคง เมื่อลงหลักปักฐานแล้วจึงไม่จำเป็นต้องปรับตัวตามโลก พวกเขาจะเลือกข้างชัดเจนและเชื่อมั่นในระบบผู้นำและผู้ตาม การเมืองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และภัยคุกคามหลักทางการเมืองคืออเมริกาและทักษิณ ขณะที่คนยุคระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจขยายตัวและการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ พวกเขาจึงไม่ค่อยติดตามการเมือง ไม่พร้อมแลกเปลี่ยน เนื่องจากไม่มีชุดข้อมูลที่จะถกเถียงกับคนรุ่นใหม่เพียงพอ สิ่งที่คนยุคนี้ต้องการคือชีวิตที่สมดุล กลัวการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าสิ่งที่มีมาตลอดไม่ได้มีปัญหา โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระบบราชการ แม้ว่าอยากเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาก็แพ้อยู่ดี จึงจำนนอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ ยิ่งกว่านั้นคนรุ่นนี้ที่ถูกสอนภายใต้คนยุคสงครามเย็น การชวนตั้งคำถามจะเป็นเรื่องยากมาก

“คนอายุน้อยกว่า รู้น้อยกว่า” “อาบน้ำร้อนมาก่อน” คือประโยคที่มักได้ยินจากคนกลุ่มนี้

จริงอยู่ช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นต่างในแต่ละยุคสมัย อย่างไรก็ตามอาจารย์ให้ความเห็นว่า

“ไม่ใช่ปัจจัยหลัก หากมองในอดีต เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่สองระดับ ระดับที่ ๑ คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำที่เคยเกิดเมื่อปี ๒๔๗๕ หรือวันปฏิวัติสยาม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ และระดับที่ ๒ คือเกิดการแบ่งแยกของมวลชน (mass polarization) ซึ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี อย่างการเกิดขึ้นของพรรคกรีน (Green Party) จากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่พอใจกับระบบอำนาจที่เต็มไปด้วยคนสูงวัย ไม่ว่าจะขั้วการเมืองฝั่งไหนก็ตาม เพราะต่างไม่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เพศสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตั้งคำถามของยุคหลังอุตสาหกรรม ซึ่งการก่อตัวของพรรคก็เกิดจากการที่คนรุ่นใหม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย”

อาจารย์ชวนให้มองว่า จากการประเมินคนที่ไปม็อบและคนที่แสดงออกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย สะท้อนถึงชุดความคิดที่แตกต่างจากคนยุคก่อนในทุกมิติ ไม่ว่าจะโครงสร้างทางสังคม บรรทัดฐาน กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ เพศสภาพ เศรษฐกิจ ศาสนา และความเชื่อถึงโครงสร้างอำนาจ ทำให้สังคมเกิดการแบ่งแยกทางความคิดอย่างสุดขั้ว (deeply polarization society)

“ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเคลื่อนไหวคือโซเชียลมีเดีย ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปเห็นชุดความคิดอีกด้านที่เต็มไปด้วยคำตอบหลากหลาย เขารู้สึกว่ามีพื้นที่ของตัวเองในสังคมออนไลน์ เปลี่ยนแปลงจากผู้รับฟังมาเป็นผู้พูด แคมเปญของพวกเขาจะล้ำกว่าและเร็วกว่า ไม่เหมือนสมัยกลุ่มคนเสื้อแดงหรือพันธมิตรฯ ไม่ใช่แค่ขับไล่รัฐบาล แต่คือการพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างตรงไปตรงมา เช่น ตั้งคำถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มทุนผูกขาดและรัฐบาล”

ขณะที่คนรุ่นใหม่มีโลกทัศน์ใหม่ ๆ ต่อสถานการณ์และโลกที่กำลังเปลี่ยน แต่ในความคิดของพ่อแม่ พวกเขาคือคนที่ตนเองเพิ่งสอนกินข้าวหรือพาไปโรงเรียน ทำให้เกิดความหวาดกลัว และยากจะยอมรับ

Image

อาจารย์มองว่าอย่างไรก็ตามหากคนรุ่นใหม่ต้องการจะเปลี่ยนสังคม การสร้างพันธมิตรกับพ่อแม่เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เรื่องง่าย

“คนรุ่นใหม่มีการปรับตัวสูงกว่าคนรุ่นเก่า และส่วนใหญ่แค่ต้องการให้พ่อแม่เข้าใจแล้วยอมรับ ขอที่ยืนเล็ก ๆ ให้ยืนในบ้านก็พอ แต่ปัญหาคือพ่อแม่ต้องการเปลี่ยนเรา

“ความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยทั่วไปมีหลายแบบ แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแบบเดียว คือต้องเป็นแบบที่พ่อแม่ต้องการ ซึ่งคนรุ่นใหม่ต้องทำให้เขารู้ว่ามีได้หลายแบบ แต่ขณะเดียวกันในบางมิติอย่างวิถีการใช้ชีวิต การเคารพผู้ใหญ่ เราอาจจะต้องยอมรับ ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิ์ของเรา

“สิ่งที่เราควรแสดงให้เห็น คือเราไม่ใช่ปีศาจ บางเรื่องเราอาจไม่จำเป็นต้องเปิดศึกต่อชุดความคิดของพ่อแม่ แม้เห็นต่างแต่ก็ยอมรับ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา

“ในระยะยาว พ่อแม่ยังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ คือเปิดใจแล้วพูดคุยทีละเรื่อง ปฏิกิริยาของพ่อแม่ส่วนมากที่เกิดขึ้นคือความหวาดกลัว ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็หวาดกลัวกับอนาคตของตัวเอง เกิดเป็นวงจรของความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ คือความรู้สึกไม่ปลอดภัยของพ่อแม่ เป็นที่มาของความรุนแรงในสถาบันครอบครัว

“เมื่อชุดความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นแบบไหน การเมืองจะเป็นแบบนั้น และเมื่อการเมืองเป็นแบบไหน ครอบครัวก็จะเป็นแบบนั้น”

การจะนึกถึงความเปลี่ยนแปลง การเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน การเห็นคนเท่ากัน ต้องเกิดขึ้นภายในครอบครัว  

วันสัมภาษณ์ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔