หมู่บ้านบางกลอยล่าง (ทางขวาของภาพ) 
ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านโป่งลึก มีแม่น้ำเพชรบุรีคั่นกลาง 
หากเดินเท้าราว ๒ วัน จะถึงบ้านบางกลอยบน และเดินต่ออีกราว ๑-๒ วัน 
จะถึงบ้านใจแผ่นดิน สุดชายแดนไทย ทั้งหมดอยู่ในป่าแก่งกระจาน 
อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย 
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

คนอยู่กับป่า
การจากลาและคืนถิ่น
ของกะเหรี่ยงบางกลอย 

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

Image

◆ เรื่องราวการเดินทางกลับบ้านใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยลอยเข้าหูผู้คนตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๖๔  

◆ หลังปีใหม่ไม่กี่วันก็มีข่าวและภาพผู้คนขนข้าวของ สัมภาระ เดินเท้าเข้าป่าส่วนลึกสุดของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เรียกกันในภาษากะเหรี่ยงว่า “กะจื่อคุ” - “ใจแผ่นดิน” และ “คลี่หล่อ” - “บางกลอยบน”  ชาวบ้านร่วม ๔๐ คน มีทั้งเด็กเล็ก ผู้หญิง และคนตั้งครรภ์  

◆ ภาพการกินอยู่อย่างอัตคัดริมลำห้วยลำธาร นอนกลางดินกินกลางป่าหุงหาอาหารด้วยวิธีก่อกองไฟ อาจคล้ายคนเมืองเวลาท่องเที่ยวรอนแรมตามป่าเขา แต่สำหรับชาวบ้าน นี่คือชีวิตจริง  

◆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นมาพร้อมข่าวเจ้าหน้าที่ประกาศจุดยืนว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ผืนป่าต้นน้ำเพชร ตามด้วยเสียงสนับสนุนให้เร่งรัดจัดการก่อนเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศ สัตว์ป่า และป่าไม้ 

◆ หลังจากนั้นภาพผืนป่าถูกทำลาย ต้นไม้ถูกตัดฟัน ซากสัตว์ป่า ไร่กัญชา ก็ถูกปล่อยออกมาผสมปนเปกันชนิดไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนลวง ตอกย้ำว่า “กะเหรี่ยงบางกลอย” ไม่สมควรหวนกลับถิ่นป่าต้นน้ำ

Image

ป้ายบ้านบางกลอยที่เชิงสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเพชรบุรี หมู่บ้าน “บางกลอยล่าง” หรือบ้างก็เรียก “โป่งลึก-บางกลอย” แห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ทำกินเดิมของชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก

“ยุทธการ
บางกลอยบน”
(๒๕๓๕)

สำหรับคนรักป่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นป่าต้นน้ำชั้น ๑เอ (1A) ที่ไม่ควรมีกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอันเปราะบาง  ในสายคนรักป่าสาย “เขียวเข้ม” (dark green) แนวทาง “ป่าปลอดคน” คือทางออกของการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลงทุกที

แต่ในสายตานักมานุษยวิทยารวมถึงนักอนุรักษ์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า “คนอยู่กับป่า” ได้ และตามความจริงทุกวันนี้ก็มีคนอยู่กับป่าทั่วเมืองไทย พวกเขาอาศัยในป่ามาก่อนราชการประกาศเขตป่าอนุรักษ์  พื้นที่ตรงนั้นในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็เป็นชุมชนคนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มานานก่อนหน้าแก่งกระจานประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๒๔

ขณะที่ป่าในเมืองถูกทำลายป่นปี้ ผืนป่าแก่งกระจานยังเขียวขจี เป็นประจักษ์พยานว่าคนกะเหรี่ยงคือผู้ดูแลรักษาป่า ไม่ใช่ผู้ทำลาย

...

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ถือเป็นวันครบรอบ ๑๐ ปี เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์สามลำตกในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สองในสามตกในป่าลึกติดชายแดนไทย-พม่า อีกหนึ่งลำข้ามตะเข็บชายแดนไปตกเขตพม่า ห่างชายแดนราว ๓๐๐ เมตร

แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว ๑ ทศวรรษ แต่หลายคนน่าจะยังจำ “โศกนาฏกรรมต่อเนื่อง” ที่คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าวรวมกันถึง ๑๗ คน

แม้ความพยายามโยกย้ายคนกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนจากส่วนลึกสุดของป่าแก่งกระจานลงมายังป่าด้านล่างเกิดขึ้นมาตลอด ๓๐ ปี  แต่หลักไมล์สำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนรับรู้ว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีคนอยู่อาศัยและมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกครั้งนั้น

ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๓๕ เป็นครั้งแรกที่มีรายงานความพยายามผลักดันชาวบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนออกจากพื้นที่ ภายใต้ “ยุทธการบางกลอยบน” อันเป็นยุทธการด้านความมั่นคงเพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕

พื้นที่ตั้งของบ้านบางกลอยบน (เดิมเรียกว่า “บ้านบางกลอย” เพราะยังไม่มีการอพยพคนลงมาข้างล่าง ยังไม่มีชื่อเรียกแยกกันเป็น “บ้านบางกลอยบน” และ “บ้านบางกลอยล่าง”) มีชื่อในภาษาปกากะญอว่า “คลี่หล่อ” หมายถึงลำห้วยบางกลอย ตั้งอยู่ตรงสามแพร่งแนวริมน้ำที่แม่น้ำจากเขาพะเนินทุ่งรวมกับแม่น้ำบางกลอยไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่มีต้นกลอยขึ้นอยู่มาก  ส่วนบ้านใจแผ่นดินตั้งห่างออกไปด้วยระยะเดินเท้าประมาณ ๑-๒ วัน สุดชายแดนไทย-พม่า บริเวณยอดเขาสูงที่มีลักษณะเป็นช่องลมหรือปล่องภูเขา ภาษาปกากะญอเรียกว่า “กะจื่อคุ” หมายถึงยอดภูเขา  กลุ่มคนที่เคยมาสำรวจอาณาเขตบริเวณนี้ตั้งชื่อหมู่บ้านให้ว่า “ใจแผ่นดิน” ตามลักษณะพื้นที่และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นใจกลางของโลก

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นป่าทึบ มีทิวเขาสลับซับซ้อน ทำให้เจ้าหน้าที่ ตชด. เดินทางไปผิดตำแหน่ง คือไปที่เบอะปุครีทางฝั่งเมียนมา และเกิดปะทะกับทหารเมียนมาจนเสียชีวิต เหลือ ตชด. เพียงสามนายหลบหนีการปะทะเข้ามาพลัดหลงอยู่ในป่าฝั่งไทย  ทางการขอความร่วมมือให้ชาวบ้านช่วยกันออกตามหา  สองพี่น้องกะเหรี่ยง คือ หน่อแอะ มีมิ และ หน่อสะ มีมิ ลูกชายของ คออี้ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง ได้ออกค้นหาจนพบ ตชด. อยู่ในสภาพสิ้นเรี่ยวแรง แม้แต่ปืนก็ถือแทบไม่ไหว ทั้งสองคนเข้าไปช่วยเหลือและพาเจ้าหน้าที่ ตชด. เข้าหมู่บ้านอย่างปลอดภัย

ต่อมาในปี ๒๕๓๙ สามารถ ม่วงไหมทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนแรก (ดำรงตำแหน่งปี ๒๕๒๔-๒๕๔๒) เดินทางไปหมู่บ้านใจแผ่นดินเพื่อชี้แจงว่าทางอุทยานฯ มีความจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายชาวบ้านให้ออกมาอาศัยรวมกันด้านล่าง ตามโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” โดยจะจัดสรรพื้นที่ทำกินขนาด ๗ ไร่ และสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่ ๒ งาน ชาวบ้านหลายคนยังจำได้ว่าหัวหน้าสามารถโน้มน้าวว่า “ให้ลองลงไปอยู่ข้างล่างก่อน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ให้กลับขึ้นมา”

พื้นที่จัดสรร-หมู่บ้านใหม่ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตั้งฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านโป่งลึก มีแม่น้ำเพชรบุรีคั่นกลาง และเป็นพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านโป่งลึกมาก่อน

บ้านโป่งลึกเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเหมือนกัน แต่อยู่ใกล้เมืองใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมากกว่าหมู่บ้านบางกลอยบนและหมู่บ้านใจแผ่นดิน

พื้นที่จัดสรรที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยถูกอพยพลงมาถูกเรียกว่า “หมู่บ้านบางกลอยล่าง” หรือเรียกรวมกับหมู่บ้านโป่งลึกว่า “หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย”  ในครั้งนั้นชาวบ้านจำนวน ๕๗ ครอบครัว ยอมอพยพลงมาโดยมีอีกส่วนหนึ่งตัดสินใจย้ายไปอยู่กับญาติที่บ้านพุระกำ จังหวัดราชบุรี และมีบางส่วนข้ามไปอยู่กับญาติทางฝั่งเมียนมา

ชีวิตใน “พื้นที่จัดสรร” ไม่เป็นดังคาด ชาวบ้านส่วนหนึ่งปรารถนาหวนคืนสู่ถิ่นเก่าทุกวันนี้บางกลอยคือพื้นที่ขัดแย้งเรื่อง “คน” ใน “ป่า” แต่ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาการไล่ที่อยู่อาศัยและทำกินที่เกิดขึ้นในผืนป่าไทย

Image

ผลสำรวจสำมะโนประชากรของคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่บ้านบางกลอย ระหว่าง ๒๖-๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ บ้านบางกลอยล่างมีประชากร ๑๑๔ ครัวเรือน ๖๗๗ คน แบ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย ๖๐๘ คน บุคคลไม่มีสถานะ ๕๓ คน และบุคคลไม่มีสัญชาติ ๑๖ คน

“ยุทธการตะนาวศรี” (๒๕๕๓) 
และ “ยุทธการพิทักษ ์ป่า
ต้นนํ้าเพชร” (๒๕๖๔)

หลังจากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ได้รับที่ดินตามสัญญา บางคนได้รับที่ดินไม่ครบถ้วนเนื่องจากตามลงมาทีหลัง ประกอบกับพื้นที่ทำกินเป็นหินแข็ง ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนพื้นที่ข้างบน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงย้ายกลับขึ้นไปอาศัยในที่อยู่เดิม บางคนก็ขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนตามฤดูกาล

ปู่คออี้และหน่อแอะอยู่ข้างล่างได้เพียง ๓ เดือนก็ย้ายกลับขึ้นไป  หน่อแอะเล่าว่า “พ่อทนอากาศร้อนไม่ไหวและคิดถึงเสียงของป่า”

หลายปีต่อมา ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบินสำรวจป่าพบว่ามีพื้นที่ถูกบุกรุก จึงสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น ชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์  กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๔๔ เปิดปฏิบัติการพิเศษในพื้นที่ใจแผ่นดินบางกลอยบน ภายใต้ชื่อ “ยุทธการตะนาวศรี” หรือที่มีชื่อเต็มว่า “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”

ยุทธการตะนาวศรีเป็นปฏิบัติการต่อเนื่อง เกิดขึ้นหลายครั้ง ยกตัวอย่างครั้งแรกระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ ตามเอกสารสรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรีของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงข้อมูลและชุดภาพถ่ายที่ระบุว่า “ป่าถูกบุกรุกทำลาย มีการถางป่าและเผาป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ทำไร่ข้าว ข้าวโพด พริก” มีภาพและคำบรรยายว่า “ทีมเจ้าหน้าที่เจรจาและผลักดันให้ผู้กระทำผิดยอมโยกย้ายออกจากพื้นที่ได้เป็นผลสำเร็จ” และ “เจ้าหน้าที่พบชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน”

ยุทธการตะนาวศรีทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ จนถึงวันที่ ๕-๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เอกสารสรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรีระบุว่า การปฏิบัติการครั้งที่ ๔ มีการ “เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปรื้อถอน ทำลาย เมื่อดำเนินงานตามโครงการฯ ครั้งที่ ๑-๓ และไม่มีผู้อาศัยทั้งสิ้น ๙๘ หลัง แยกเป็นเพิงพักที่รื้อถอนไว้เมื่อปี ๒๕๕๓ จำนวน ๓๓ หลัง และเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ลักลอบปลูกใหม่จำนวน ๖๕ หลัง” รวมทั้ง “ถอนทำลายกัญชาที่ปลูกแซมพื้นที่ ประมาณ ๑ ไร่” พร้อมทั้งบันทึกเหตุการณ์ว่า “การบุกรุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่เลื่อนลอย เพื่อเข้ามาปลูกข้าว พริก คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณสะสมเสบียงสนับสนุนอาหารของกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ”

ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่แถบชายแดนไทย-พม่ามีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของชายแดน เรื่อยมา และได้รับการกล่าวถึงในหลักฐานต่างๆ เช่น วรรณกรรม จิตรกรรมฝาผนัง บันทึกของชาวต่างชาติ

Image

บ้านใจแผ่นดิน ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “กะจื่อคุ” หมายถึง ยอดภูเขา ปรากฏในแผนที่ของกรมแผนที่ทหารระบุว่าสำรวจในปี ๒๔๕๕  บนหัวแผนที่เขียนว่า “บ้านใจแผ่นดิน” แสดงความเป็นชุมชนดั้งเดิม ก่อนถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี ๒๕๒๔

ในรายงานจำแนกรายการของกลางที่ตรวจยึดว่าประกอบด้วยเคียว ขวาน มีดตะไบ เสียม ปืนแก๊ป แร้วดักสัตว์ ซากหัวเก้ง ซากหัวหมูป่า ซากเต่าหก เงินไทย เงินเมียนมา กระสุนปืนคาร์บิน

ยุทธการครั้งนี้ยังมีการจับกุม “ชาย ๑ คน ชื่อ หน่อเอะ มีมิ สัญชาติกะหร่าง อายุประมาณ ๔๕ ปี นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน” เป็นชาวกะเหรี่ยงคนเดียวกับที่เคยช่วยชีวิต ตชด. หลงทางเมื่อ ๒๐ ปีก่อน

หน่อแอะให้เหตุผลถึงการไม่หลบหนี ยอมให้ควบคุมตัวแต่โดยดีว่า “ผมไม่หนี เพราะไม่คิดว่าเขาจะจับเจ้าหน้าที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี พวกเขาแวะมาที่บ้านพ่อ (หมายถึง ปู่คออี้) อยู่บ่อย ๆ” หลังเหตุการณ์นั้น ร่างกายของหน่อแอะก็ค่อย ๆ แย่ลงจนกลายเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินเหินได้ตามปรกติ

ตลอดการสนธิกำลังผลักดันชนกลุ่มน้อยตามยุทธการตะนาวศรี นอกจากการเดินเท้าแล้วเจ้าหน้าที่อาศัยเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่พื้นที่ป่า ใช้วิธีโรยตัวและทำลานจอดชั่วคราว หลังเสร็จสิ้นภารกิจเตรียมเดินทางกลับ แต่เนื่องจากสภาพอากาศปิด มีฝนตก จึงมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งตกค้างในป่า รอเฮลิคอปเตอร์มารับ

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เฮลิคอปเตอร์รุ่นฮิวอี้บินไปรับเจ้าหน้าที่ตกค้างกลับที่ตั้ง ก่อนที่สัญญาณจะขาดหาย ประสบอุบัติเหตุตกกลางหุบเขาบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี มีผู้เสียชีวิตห้าคน  การนำศพผู้เสียชีวิตออกจากป่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ต้องทำลานจอดเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว เคลื่อนย้ายศพจากเนินหนึ่งไปอีกเนินหนึ่งเพื่อให้เฮลิคอปเตอร์มารับ

๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ แม้เมฆจะปกคลุมน้อยลง แต่สภาพอากาศยังแปรปรวน เฮลิคอปเตอร์รุ่นแบล็กฮอว์กซึ่งเข้าร่วมภารกิจเคลื่อนย้ายศพเกิดพลัดตกอีกลำในเขตประเทศเมียนมา มีผู้เสียชีวิตเก้าคน

ต่อมา ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เฮลิคอปเตอร์รุ่นเบลล์ซึ่งเข้าร่วมภารกิจก็เกิดเครื่องขัดข้องกลางอากาศ ตกแถบห้วยยายไพร มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกสามคน

ข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกติดต่อกันสามลำใน ๙ วันที่แก่งกระจานกลายเป็นข่าวดังที่สร้างความเศร้าไปทั่วทั้งประเทศ ทางกองทัพบกเองยอมรับว่าเหตุการณ์นี้ทำให้กำลังพลของกองทัพเสียขวัญ ต้องจัดพิธีทำบุญครั้งใหญ่

ในทางความเชื่อแล้วยังมีคนเชื่อว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากแรงอาถรรพ์ หลังจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่ามานานถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้าน เผายุ้งฉาง รวมถึงยึดเครื่องมือในการทำมาหากินเพื่อขับไล่

หนึ่งเดือนต่อมา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ขอให้สังคมช่วยกันหาทางแก้ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของชาวไทยกะเหรี่ยง  ชี้ว่าคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนที่จะถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น และคณะทำงานสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง นำมาสู่การฟ้องร้องคดีแพ่งและคดีปกครองต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ถัดจากนั้น “ความจริงอีกด้าน” ก็ค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้นในคำนำของหนังสือ ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดพิมพ์ในปี ๒๕๖๒ ตั้งข้อสังเกตว่า

“ข้อกล่าวอ้าง : เป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มกะหร่าง และเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ KNU (Karen National Union)

ความจริง : เป็นคนไทยดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่เกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ มีหลักฐานและเอกสารประจำตัวประชาชนคนไทยอย่างถูกต้อง

ข้อกล่าวอ้าง : บุกรุก แผ้วถาง อพยพจากนอกประเทศเข้ามา

ความจริง : เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม อาศัยในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ มาหลายร้อยปี มีหลักฐานชัดเจนปรากฏในแผนที่กรมแผนที่ทหาร ตั้งแต่ปี ๒๔๕๕”

บนหัวแผนที่เขียนว่า “บ้านใจแผ่นดิน” และในแผนที่เขียนว่า “บ. ใจแผ่นดิน” แสดงว่าเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัย ไม่ใช่เพียงหมุดหมายทางทหาร

“ข้อกล่าวอ้าง : เป็นกองกำลัง สั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์

ความจริง : พบเพียงปืนแก๊ป อาวุธยิงสัตว์ขนาดเล็กตามวิถีชาวบ้านในป่า

ข้อกล่าวอ้าง : ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวสะสมเสบียง สนับสนุนอาหารของกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ

ความจริง : ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งรักษาสภาพแวดล้อม จนไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงได้รับการประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี ๒๕๕๖ ปลูกข้าวจำนวนเล็กน้อยไว้
รับประทานในครอบครัว ตามวิถีชีวิตพึ่งตนเองและพอเพียง

ข้อกล่าวอ้าง : เผาทำลายเพิงพักชั่วคราว สิ่งปลูกสร้าง ๙๘ หลัง

ความจริง : เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านทั้งหมู่บ้านรวม ๙๘ หลัง เป็นบ้านที่มีเลขบ้านและทะเบียนบ้าน เดิมเป็นหมู่ที่ ๗ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปรับเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการเผาหมู่บ้านดั้งเดิมของคนไทยร่วม ๑๐๐ หลังทิ้ง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีหลักฐานเป็นภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์

การใช้เฮลิคอปเตอร์ไปเผาทำลายคนดั้งเดิมเป็นภาพเรื่องจริง ทำนองเดียวกับภาพยนตร์ อวตาร (Avatar) ซึ่งออกฉายก่อนหน้าปฏิบัติการตะนาวศรีไม่ถึงปี”

เนื้อหาของ อวตาร นำเสนอเรื่องราวของชนพื้นเมืองบนดวงจันทร์แพนดอราที่อุดมด้วยแหล่งแร่ที่มีค่ามหาศาล และถูกรุกรานโดยมนุษย์ที่หวังจะเข้าไปยึดครองพื้นที่ตรงนั้น

Image

ระหว่าง ๑๙-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหมู่บ้านบางกลอยล่าง ในช่วงคาบเกี่ยวกันคือ ๒๒-๒๔ กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่สนธิกำลังดำเนินยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร

...

คดีความที่เกิดขึ้นยังทำให้สังคมไทยรู้จัก โคอิ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” ชายชราอายุ ๑๐๑ ปี หนึ่งในชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกเผาบ้าน  ในอดีตปู่คออี้เคยเป็นพรานล่าสัตว์และเคยพากลุ่มนิยมไพรจากในเมืองเข้าป่าล่าสัตว์แถบเทือกเขาตะนาวศรี ในวันนี้ออกมาเรียกร้องสิทธิแทนชุมชนกะเหรี่ยงที่ถูกคุกคามขับไล่

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ ตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ให้กับปู่คออี้ ในฐานะที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายจากแผ่นดินบ้านเกิด ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่า

“เราไม่ได้โกงหรือแย่งชิงที่ดินของใครมา เพราะน้ำนมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่ ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่ รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่ เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”

พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ หลานสะใภ้ของปู่คออี้ ภรรยาของ พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิชาวกะเหรี่ยง ก่อนที่จะหายตัวไปอย่างลึกลับและพบว่าเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา เดินทางมารับรางวัลแทนปู่คออี้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง และนำคำพูดของปู่คออี้ที่ฝากมากล่าวในงาน

ต่อมาในกลางปี ๒๕๖๑ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกา-กะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” และ “การรื้อถอนทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น ไม่สมควรแก่เหตุ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการ” ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรื้อถอนเผาทำลายบ้าน สิ่งปลูกสร้าง และยุ้งฉางต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกคน เฉลี่ยคนละประมาณ ๕ หมื่นบาท

แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้สิทธิกลับแผ่นดินเกิด ศาลพิพากษายึดตามกฎหมาย พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ใจความว่า “ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นศาลจึงไม่อาจกำหนดบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้”

ปลายปีเดียวกันกับที่ศาลมีคำพิพากษา ปู่คออี้เสียชีวิตในวัย ๑๐๗ ปี โดยไม่มีโอกาสกลับไปเหยียบแผ่นดินบ้านเกิดตามความตั้งใจ

Image
Image

หน่อแอะ ลูกชายคนโตของ โคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยล่างเพียงลำพัง หลังผู้เฒ่ากะเหรี่ยงเสียชีวิต หน่อแอะไม่ซ่อมแซมบ้านที่ชำรุดทรุดโทรมมานานหลายปี เพราะตั้งใจว่าจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านบางกลอยบน
.
หน่อแอะแสดงบัตรประชาชนและทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคล ที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์สำรวจไว้เมื่อครั้งหน่อแอะ เพิ่งอายุ ๒๒ ปี ยังอาศัยอยู่กับพ่อ (โคอิ) แม่ (นอตะดี) และน้องชาย (หน่อสะ) ที่บ้านบางกลอยบน  ในเอกสารระบุชื่อหมู่บ้านว่า “บางกลอย ๔” ตามลักษณะชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างๆ กัน  ทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่า “กะเหรี่ยง” อาชีพหลัก “ข้าวไร่”



ต้นปี ๒๕๖๔ ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ระบาด ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยกลุ่มใหญ่ตัดสินใจเดินเท้าเข้าป่าลึก มุ่งสู่พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินที่พวกเขายืนยันว่าเป็นที่ทำกินดั้งเดิมของบรรพชน และชาวบ้านหลายคนก็เกิดและเติบโตที่นั่น ก่อนที่จะถูกบังคับโยกย้ายลงมา

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานระดมสรรพกำลังตาม “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ใช้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายตัวชาวบ้านส่วนหนึ่งลงมาได้สำเร็จ  แต่เมื่อชาวบ้านในหมู่บ้านข้างล่างรู้ข่าวก็ตามขึ้นไปสมทบ จนมีคนในพื้นที่ด้านบนมากกว่า ๘๐ คน  คราวนี้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังหลายหน่วยงานตามภารกิจเคลื่อนย้ายคนทั้งหมดตามหมายศาล ใช้เวลาลำเลียงชาวบ้านออกจากพื้นที่ราว ๘-๙ ชั่วโมง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่าปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับคำแนะนำและปรึกษาจากอัยการจังหวัดเพชรบุรี  ระหว่างดำเนินการยังพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มอีก จึงรวบรวมหลักฐานจนศาลออกหมายจับ  มีชาวบ้านอยู่ในหมายศาล ๒๒ คน ไม่อยู่ในหมายศาล ๖๕ คน ทั้งหมดถูกควบคุมตัวลงมาด้านล่าง

ผู้กระทำผิดส่วนหนึ่งอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ส่วนหนึ่งถูกนำตัวส่งหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย  ส่วนที่มีหมายจับ หลังสอบปากคำจึงถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขคือห้ามกลับไปบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตซ้ำอีก มีผู้ถูกหมายเรียกเพิ่มอีก ๖ คน รวมทั้งหมดเป็น ๒๘ คน

“เราไม่ได้โกงหรือแย่งชิงที่ดินของใครมา เพราะน้ำนมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่ ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่ รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่ เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”

บ้านเล็กในป่าใหญ่

บ้านของหน่อแอะเป็นบ้านไม้ไผ่ในหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอย ขนาดเล็กกว่าบ้านหลังอื่น เพราะที่ผ่านมาอาศัยอยู่กับพ่อเพียงสองคน--ปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงที่เสียชีวิตขณะอายุ ๑๐๗ ปี

นอกจากบ้านแล้วยังมีศาลาที่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับชาวบ้านสร้างไว้ให้ปู่คออี้ได้เดินออกกำลังจากตัวบ้านมานั่งมานอนพักผ่อนในบรรยากาศที่โปร่งขึ้นในช่วงกลางวัน  ศาลาหลังน้อยมุงด้วยใบตะคร้อ ปู่คออี้เคยบอกว่าเหมือนที่บ้านใจแผ่นดิน

ในสายตาคนเมืองที่มีวิถีชีวิตอยู่ห่างจากป่าไม้ สิ่งจำเป็นในชีวิตมีมากมาย

แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยง ชีวิตในป่าทำให้พวกเขาไม่อาจเข้าถึงปัจจัยอื่น ๆ เหมือนคนในเมืองหรือคนพื้นราบ  พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ภายใต้กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกับป่า  ขอเพียงได้รับผลตอบแทนทางการเกษตรเพียงพอในแต่ละรอบปี

...

ว่ากันว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินทางกลับเข้าป่าใจแผ่นดินครั้งนี้มีด้วยกันสองข้อ

ข้อแรก การขาดแคลนอาหารและที่ทำกินมานาน หลังถูกบังคับอพยพลงมาจากบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๑ และ ๒๕๕๓-๒๕๕๔  มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดิน ส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ แต่มีอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในพื้นที่ใหม่ได้ รวมทั้งมีคนที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน หรือถึงมีที่ทำกินที่ได้รับก็เป็นหินแข็ง ขาดความอุดมสมบูรณ์ และขาดแคลนน้ำ

การเพิ่มจำนวนประชากรทำให้บ้านบางหลังต้องอยู่กันอย่างแออัด ประกอบกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้ชาวบ้านที่ออกไปทำงานรับจ้างในเมืองตกงาน เมื่อกลับสู่หมู่บ้านก็ไม่มีงานทำ

ผู้อาวุโสคนหนึ่งในหมู่บ้านเล่าในกิจกรรม “จากชาวเลอันดามัน...ถึงกะเหรี่ยงบางกลอย” เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ว่า “หลังโควิดรอบ ๒ ระบาด มีเด็ก ๆ กลับมาจากในเมืองกันมากเพราะตกงาน มาอยู่ที่หมู่บ้าน หากอยู่เฉย ๆ ก็อดตาย ส่วนชาวบ้านเดิมก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะแทบไม่มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว เลยพากันขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่เคยทำ  เมื่อไปถึงก็รีบลงมือถางป่าทันที เพราะฝนกำลังจะมา ต้องรีบถางป่าทำไร่ให้ทันฝน เพื่อให้ได้ข้าวทันช่วงปลายปี ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็อดตาย”

ข้อ ๒ เพื่อทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้กลับไปยังบ้านใจแผ่นดินให้เสร็จสมบูรณ์  หลังปู่คออี้เสียชีวิต แม้จะมีพิธีกรรมที่วัด แต่ก่อนตายปู่คออี้ฝากกับลูกหลานว่าให้ทำพิธีศพตามความเชื่อชาวกะเหรี่ยง  ขั้นตอนสำคัญคือลูกหลานต้องปลูกข้าวไร่ด้วยตัวเองในพื้นที่บรรพบุรุษ ใช้ข้าวที่ปลูกประกอบพิธีกรรมและเลี้ยงผู้มาร่วมงาน  ถ้าทำครบเชื่อว่าดวงวิญญาณจะไปสู่สุคติ

ตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ชาวกะเหรี่ยงสมัยก่อนที่ได้สร้างเจดีย์ ถือศีล ทำบุญบริเวณกะจื่อคุหรือใจแผ่นดิน ยังใช้กะจื่อคุเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้านและอาศัยน้ำบริสุทธิ์จากตาน้ำมาประกอบพิธีกรรม

หน่อแอะมีความตั้งใจเดียวกับปู่คออี้คือขอกลับไปตายที่แผ่นดินบ้านเกิด

หลังปู่คออี้เสียชีวิต บ้านค่อย ๆ ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา หลังคาบ้านเริ่มผุพังจนกระทั่งแทบจะไม่คุ้มแดดคุ้มฝน พื้นบ้านก็เสียหาย แต่หน่อแอะไม่ซ่อมแซม เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าบั้นปลายชีวิตจะกลับขึ้นไปอยู่บ้านใจแผ่นดิน

ปู่คออี้เกิดปี ๒๔๕๔ บริเวณต้นน้ำลำภาชี รอยต่อจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดราชบุรี ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านที่จัดทำขึ้นโดยกรมประชาสงเคราะห์ ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือ “โครงการสิงห์ภูเขา” ซึ่งเป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๗ ระบุชื่อของปู่คออี้ ถูกเขียนว่านายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดที่จังหวัด “เพชรบุรี” ประเทศ “ไทย” พ่อชื่อ “มิมิ” แม่ชื่อ “พินอดี” ทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่า “กะเหรี่ยง” และนับถือ “ผี”

ในวัยหนุ่มปู่คออี้เคยเป็นพรานล่าสัตว์และหาของป่า เคยเดินทางมาขายนอแรดและของป่าอื่น ๆ ซึ่งใช้ประกอบการทำยาที่ร้านยาสมุนไพรของชาวจีนในตัวเมือง เช่น ร้านยาไทยสมบูรณ์ ของขุนพรรคพานิช (ก๋งบ่งเตีย) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และร้านยาในอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้ถ่ายภาพเก็บไว้ นอกจากนี้ยังเคยนำทางนักท่องไพรจากในเมืองที่นิยมการเที่ยวป่าล่าสัตว์ ก่อนที่จะมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

ก่อนตายปู่คออี้เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ (๑๐ มกราคม ๒๕๕๘) ว่า “มีคนในเมืองมาขอให้เราพาเข้าไปเที่ยวในป่าอยู่หลายครั้ง เขาอยากได้เก้ง กวาง บางคนก็อยากได้อุ้งตีนหมี แต่จำไม่ได้แล้วว่าใครบ้าง หากดูรูปคงพอจำได้”

ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีดำรงชีวิตในป่ามานานกว่า ๑๐๐ ปี  ข้อมูลงานวิชาการต่าง ๆ ที่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยืนยันถึงถิ่นฐานคนกลุ่มนี้ที่ตั้งอยู่ในเขตป่าเขา โดยเฉพาะบริเวณป่ารอยต่อชายแดนไทย-เมียนมา ก่อนหน้าการแบ่งแยกอาณาเขตของประเทศในยุครัฐชาติสมัยใหม่

“เราอยากจะยืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเราไม่ควรต้องติดคุก ถ้าถอนคดีได้ก็อยากให้ถอน แล้วปัญหาของเราไม่มีอะไรมากเลย เราก็แค่อยากจะกลับไปอยู่ในที่ทำกินเดิม เราไม่ได้ท้าทายอำนาจของใครหรือท้าทายกฎหมายของใคร เราเพียงต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมที่เราอยู่มาก่อนเท่านั้น”

งานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ  ต้นตระกูลหลักมีสามสายตระกูล ได้แก่ ตระกูลเลอคอ ตระกูลเกลจี และตระกูลมีมิ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของปู่คออี้ ทั้งสามสายตระกูลมีสายสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน แต่ละครอบครัวมักมีลูกห้าถึงเจ็ดคน ก่อนที่จะขยายครอบครัวออกไปบริเวณใกล้เคียง ดำรงชีวิตด้วยวิถีการผลิตแบบยังชีพเป็นหลักเช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย

ปี ๒๔๙๙ มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรทั่วราช-อาณาจักรเป็นครั้งแรก ทว่าในทางปฏิบัติแล้วกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างไกลอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา  ปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ มีการสำรวจการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบน นายอำเภอท่ายางแจก “เหรียญชาวเขา” ให้กับชาวบ้านไว้เป็นที่ระลึก เหรียญเงินที่ด้านหน้าเป็นพระบรม-ฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๙ ด้านหลังเป็นตัวอักษรย่อ พช. ระบุตัวเลขไทย

เหรียญชาวเขาของพ่อเป็นสิ่งที่หน่อแอะเห็นมาตั้งแต่จำความได้  พ่อเคยเล่าให้หน่อแอะฟังว่า “ประมาณ ๑-๒ ปีหลังเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จใหม่ ๆ (เขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จในปี ๒๕๐๙) นายอำเภอท่ายางสมัยนั้นเรียกชาวบ้านไปรับเหรียญชาวเขาจากทางอำเภอ”

หมู่บ้านบางกลอยได้รับการประกาศให้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการของกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี ๒๕๑๘ เดิมเป็นหมู่ที่ ๗ ขึ้นกับตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปรับเป็นหมู่ที่ ๑ ขึ้นกับตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน  ขณะที่ป่าแก่งกระจานได้รับประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ ครอบคลุมเนื้อที่ ๑,๕๔๘,๗๕๐ ไร่ ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย

การประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ฯลฯ เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดี เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ แต่ในความเป็นจริงพื้นที่สีเขียวเหล่านี้มีคนอยู่อาศัย  ทันทีที่ราชการประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์  ชาวบ้าน คนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่มาก่อนกลายเป็นคนทำผิดกฎหมาย กลายเป็นคนบุกรุกป่าในทางนิตินัย ไม่เว้นแม้แต่ปู่คออี้ ผู้เฒ่ากะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจานที่เกิดปี ๒๔๕๔ ก่อนหน้ามี พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ฉบับแรก ๕๐ ปี และก่อนหน้าประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถึง ๗๐ ปี--บ้านของปู่คออี้อยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

หลังประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ผลกระทบที่ตามมาคือความกังวลว่าชุมชนในเขตป่าจะยังอาศัยในที่อยู่เดิมได้หรือไม่ อยู่ในสถานะใด หรือจะต้องอพยพโยกย้ายออกนอกเขตป่า

ถ้าเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ชายป่าก็มักเกิดปัญหาเส้นแนวเขตบนแผนที่กับความชัดเจนในสภาพพื้นที่จริงว่าบริเวณใดคือพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งกฎหมายคุ้มครอง บริเวณใดชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้

ปัญหาคนกับป่าจึงเป็นภัยคุกคามจากความขัดแย้งอันยาวนาน ตัวอย่างชุมชนที่อาศัยในป่ามานานกว่าร้อยสองร้อยปี ก่อนที่ทางการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น ชุมชนกะเหรี่ยงที่อุ้มผางและอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนกะเหรี่ยงที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ในสายตาชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในป่ามาก่อนตั้งคำถามว่าทำไมก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าไม่สำรวจก่อนว่ามีคนอยู่ก่อนแล้ว

ในสายตาหน่อแอะที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนหลังถูกตั้งข้อหาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน (๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔) ว่า

“เราอยากจะยืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ควรต้องติดคุก ถ้าถอนคดีได้ก็อยากให้ถอน แล้วปัญหาของเราไม่มีอะไรมากเลย เราก็แค่อยากจะกลับไปอยู่ในที่ทำกินเดิม เราไม่ได้ท้าทายอำนาจของใครหรือท้าทายกฎหมายของใคร เราเพียงต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมที่เราอยู่มาก่อนเท่านั้น”

Image

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ วันแรกของยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานสนธิกำลังตรวจยึดพื้นที่ป่าซึ่งถูกบุกรุก แผ้วถาง  ตลอดทั้งวันชาวบ้านไปเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ที่หน่วยพิทักษ์ กจ. ๑๐ บ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เคลื่อนย้ายชาวบ้านร่วม ๘๐ คน ลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน 

“ป่าปลอดคน” 
หรือ 
“คนอยู่กับป่า”

ตามความเห็นของภาคี #SAVEแก่งกระจาน กลุ่มอนุรักษ์ที่รวมตัวกันเพื่อพิทักษ์รักษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกอบด้วยตัวแทนชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี องค์กรอนาคตเพชรบุรี คนเมืองเพชร และคนรักธรรมชาติอีกหลายภาคส่วน เห็นว่าป่าแก่งกระจานไม่ใช่สมบัติของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของส่วนรวม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าของคนไทยและคนทั้งโลก

ในสายตา สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเพชรบุรี ให้ความเห็นในเวทีเสวนา #SAVEแก่งกระจาน ป่าของโลก เพื่อคนทั้งโลก เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ คัดค้านการอนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับขึ้นไปอาศัยอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบาง-กลอยบน (เผยแพร่ในสยามรัฐออนไลน์) ว่า

“คนในพื้นที่ต้องตระหนักว่าทรัพยากรป่าแก่งกระจานที่ถูกตัดเผาทำลายอยู่นั้น เป็นการเผามรดกของมวลมนุษยชาติของโลก หากปล่อยไว้เช่นนี้จะไม่เหลือป่าไว้ให้ลูกหลานเราจึงรวมตัวกันแสดงจุดยืน #SAVEแก่งกระจาน ป่าของโลก เพื่อคนทั้งโลก และคัดค้าน MOU ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ลงนามไปในประเด็นการอนุญาตให้กลับขึ้นไปอยู่อาศัยที่บ้านใจ-แผ่นดิน เราต้อง SAVE ป่าแก่งกระจาน ไม่ใช่ SAVE บางกลอย

“หากกลุ่มชาติพันธุ์บอกว่าพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้การช่วยเหลือจัดสรรพื้นที่เพิ่ม หาอาชีพ ให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น แต่ชาวบ้านต้องกลับมาอยู่ในที่ซึ่งรัฐจัดให้ ไม่บุกรุกแผ้วถางทำลายป่า ไม่ล่าสัตว์ และที่สำคัญผู้ได้รับสิทธิต้องเป็นชาวบ้านเดิมหรือครอบครัวดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่บุคคลที่อพยพมาจากที่อื่น” สุมลตั้งข้อสังเกตว่าชาวบ้านที่เรียกร้องกลับไปบ้านใจแผ่นดินอาจไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในจังหวัดเพชรบุรี

การปกป้องผืนป่าแก่งกระจานสอดคล้องกับทิศทางทำงานของทางอุทยานแห่งชาติ  เนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผืนป่าแก่งกระจาน ตาม “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรบุรี” เมื่อวันที่ ๒๒-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ (เผยแพร่ในผู้จัดการออนไลน์) ว่า “เราไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้าน เราแค่ต้องการรักษาผืนป่าแก่งกระจานที่เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ หาจุดตรงกลางให้เราสามารถเดินต่อไปได้ ผืนป่าไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แม้แต่ของกรมอุทยานฯ แต่เป็นของคนไทยทุกคน ถ้ามองถึงเจตนารมณ์เราเพียงแค่ไม่อยากให้ผืนป่าถูกทำลายไม่ว่าจะจากฝีมือใครทั้งนั้น เมื่อทุกฝ่ายได้คุยและหาทางออกร่วมกัน สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับผืนป่าที่สำคัญ เป็นป่าต้นน้ำของจังหวัดเพชรบุรี

“ผู้คนทุกหมู่เหล่าในประเทศล้วนแล้วแต่ต้องปรับตัว ผืนป่าต้องคงอยู่ เป็นบ้านของน้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า เพื่อรักษาชีวิตของคนทั้งชาติ”



ต้นแบบการบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยคืออุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการตรา พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ครอบคลุมพื้นที่สี่จังหวัด คือ นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี และนครนายก โดยมีการอพยพโยกย้ายผู้คนที่อาศัยอยู่บนภูเขาให้ทั้งหมดย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง

การบริหารจัดการป่าเขาใหญ่จำลองแนวทางมาจากอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellow Stone) ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของสหรัฐฯ และของโลก เป็นอุทยานแห่งชาติที่ “ถูกทำให้ไม่มีคนอยู่อาศัย” การจัดตั้งอุทยานฯ ดังกล่าว สหรัฐฯ ใช้กำลังทหารเข้าบริหารพื้นที่เป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี ขับไล่ชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่มายาวนานไม่น้อยกว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ สร้างโมเดล “ป่าปลอดคน” ก่อนที่จะถ่ายโอนอำนาจให้กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติ

จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้งในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย และในหลายพื้นที่ทั่วโลกจึงเป็นประวัติศาสตร์ของการเบียดขับทางชนชั้นที่รุนแรง หนักหน่วง และเต็มไปด้วยการต่อสู้ของกลุ่มชนพื้นเมืองที่สูญเสียแผ่นดินบ้านเกิด

ต่อมามีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ป่าปลอดคนจริง ๆ เพราะหลังจากขับไล่คนท้องถิ่น คนพื้นเมือง ออกจากป่า ทางราชการจะเปิดพื้นที่อนุญาตให้คนอีกชนชั้นหนึ่งได้ไปเที่ยวพักผ่อน

Image
Image
Image

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ศาลาพอละจี หมู่บ้านบางกลอยล่าง ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน ทั้งนี้ชาวบ้านมีทั้งกลุ่มที่ปักหลักในบ้านบางกลอยล่างแล้วและกลุ่มที่ยืนยันว่าจะกลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน
.
เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ร่วมนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาบางกลอย
.
คณะทำงานฯ ช่วยกันพิจารณาแผนที่แสดงการสำรวจถือครองที่ทำกินในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๖๔ 

ตามทัศนะรองศาสตราจารย์ ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าโมเดลป่าปลอดคนเป็นประวัติศาสตร์อัปยศของการบริหารจัดการป่าไม้  การก่อตั้งอุทยานแห่งชาติในประเทศไทยถือกำเนิดจากรัฐราชการใช้อำนาจช่วงชิงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นจากประชาชนมาไว้ในมือกลุ่มข้าราชการและเทคโนแครต  ชุมชนอยู่กันมาก่อนที่ผืนป่าจะถูกประกาศเป็นป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติ

๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งที่บ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนกำลังล่อแหลม  เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายที่เรียกร้องให้เร่งคืนสิทธิชาวกะเหรี่ยงบางกลอย กับผู้ที่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐเตรียมใช้กฎหมายจัดการขั้นเด็ดขาด  อาจารย์ปิ่นแก้วให้ความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “กรณีความขัดแย้งระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ยืดเยื้อมานานนับทศวรรษ รากเหง้าของปัญหานั้นมีอยู่เพียงประการเดียวคือ ความล้าหลังตกยุคของการจัดการอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ที่ยังคงใช้แนวทางที่วางอยู่บนการใช้ความรุนแรงในการขับไล่และกีดกันชนพื้นเมืองออกจากป่า ตัวแบบการจัดการป่าอุทยานฯ ที่เป็นศัตรูกับประชาชนประเภทนี้ ไม่มีที่ทางอยู่ในการจัดการป่าอุทยานฯ ของโลกอีกแล้ว แต่กลับเป็นใจกลางสำคัญของวิทยาศาสตร์การจัดการป่าอุทยานฯ ในไทย”

อาจารย์ปิ่นแก้วให้รายละเอียดว่า ป่าปลอดคนเป็นโมเดลจัดการป่าไม้ในศตวรรษที่แล้ว ที่แทบไม่มีประเทศไหนในโลกใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการป่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่  ในการประชุมอุทยานโลกครั้งที่ ๕ (5th World Parks Congress - WPC) จัดโดย IUCN เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๓ ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางการจัดการอุทยานแห่งชาติทั่วโลก คือมีการประกาศใช้ “กระบวนทัศน์ใหม่ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์” (New paradigm for protected areas) ที่วางอยู่บนหลักการยอมรับสิทธิชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอนุรักษ์ เรียกว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน (Indigenous and Community Conserved Areas ICCAs) ไม่เพียงยอมรับสิทธิตามประเพณีและความรู้ของชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นที่ดูแลและจัดการป่ามาก่อน แต่ยังให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในการจัดการป่าอนุรักษ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในท้องถิ่น 

“จริง ๆ แล้วทิศทางการจัดการป่าอุทยานโดยชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น แพร่ขยายในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกก่อนที่ IUCN จะริเริ่มโมเดลแบบ ICCAs นานหลายปี ในออสเตรเลีย ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองหรือที่เรียกว่า Indigenous Protected Areas - IPAs มีจำนวนกว่า ๗๒ แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ในขณะที่ในแคนาดามีการจัดรูปแบบการจัดการป่าแบบ ICCAs ในหลากหลายลักษณะ มีตั้งแต่ร่วมกันจัดการระหว่างรัฐกับชนพื้นเมือง ไปจนถึงที่มอบให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วยตนเอง  ในฟินแลนด์ก็มีความพยายามในการใช้โมเดลของ ICCAs ในการจัดการป่าใหญ่ดึกดำบรรพ์ (old growth forest) ที่อยู่ในความดูแลของชนพื้นเมือง” อาจารย์ปิ่นแก้วระบุพร้อมกับชี้ว่าแนวทางการกระจายอำนาจการจัดการป่าอุทยานฯ ในพื้นที่ที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่คือแนวทางหลักในการจัดการป่าอุทยานฯ ของโลกในปัจจุบัน

“ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของไทย มีการออกกฎหมายรับรองสิทธิในการจัดการพื้นที่ของชนพื้นเมืองหรือที่เรียกว่า Tribal Self Governance Act (1994) ซึ่งเปิดให้ชนพื้นเมืองสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง เช่น Yosemite, Redwood, Mount Rainier ที่มีความสำคัญตามประเพณีของชนพื้นเมือง โดยชนพื้นเมืองสามารถยื่นเรื่องขอเข้าบริหารจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมของตนเองได้ ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานของโมเดลการจัดการอุทยานแห่งชาติชนเผ่า หรือที่เรียกว่า Tribal National Parks  แนวทางดังกล่าวนับเป็นแนวทางใหม่ในการจัดการป่าอุทยานฯ ของสหรัฐอเมริกา ที่ให้สิทธิแก่ชนพื้นเมืองของประเทศได้สามารถบริหารจัดการป่าด้วยตนเอง  อุทยานแห่งชาติแห่งแรกที่ริเริ่มนำโมเดลนี้มาใช้คือ Badlands National Park ในเซาท์ดาโคตา ที่ได้ริเริ่มมอบสิทธิให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองในการจัดการป่าบางส่วนของอุทยานฯ ที่แยกออกจากการบริหารของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ก้าวหน้าอย่างมากนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์การจัดการป่าแบบ Yellow Stone เมื่อศตวรรษก่อนหน้า”

๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลว่า ผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศไทยที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ จำนวน ๒๗๗ เเห่ง เกือบทั้งหมดมีคนอยู่อาศัย จำแนกเป็น

อุทยานแห่งชาติ

๑๒๖ แห่ง 

มีชุมชนอยู่อาศัยและทำกิน 

๒,๗๔๕ 
หมู่บ้าน 

รวมพื้นที่ทำกิน 

๒,๕๕๐,๐๔๔.๑๘ 
ไร่

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

๖๐ แห่ง

มีชุมชนอยู่อาศัยและทำกิน

๑,๐๐๓ 
หมู่บ้าน 

รวมพื้นที่ทำกิน 

๑,๔๗๑,๙๐๘.๓๗
ไร่

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

๔๐ แห่ง

มีชุมชนอยู่อาศัยและทำกิน 

๔๔๔ 
หมู่บ้าน

รวมพื้นที่ทำกิน 

๒๗๓,๕๔๘.๖๙
ไร่

จะเห็นได้ว่ามีหมู่บ้านมากกว่า ๔,๐๐๐ หมู่บ้านอยู่ในเขตป่า ซึ่งที่ผ่านมาการประกาศพื้นที่อนุรักษ์เพื่อให้เป็นมรดกของคนไทยทั้งชาติทำให้ชาวบ้านในป่าได้รับผลกระทบ เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

กมล นวลใย ผู้เคยทำงานในฐานะหัวหน้าเขตป่าอนุรักษ์หลายแห่งและเคยเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ฉายภาพความจริงที่สัมผัสมาตลอดชีวิตราชการไว้ในหนังสือ เมื่อหัวใจเป็นมิตรกับผืนป่า ในโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก เพื่อแสวงหาแนวทางปกป้องผืนป่าบนพื้นฐานของการสร้างความมีส่วนร่วมและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน ดำเนินงานโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า “ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าวันนี้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือในเขตอุทยานแห่งชาติมีชุมชนอยู่จริง มีหมู่บ้านจริง มีคนอยู่จริง  พอมีคน เขาก็ต้องกินต้องอยู่ ต้องใช้ประโยชน์จากป่า ไม่ว่าการทำไร่หมุนเวียนหรือขยายพื้นที่การเกษตรออกไปโดยรอบชุมชน”

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับหลายหน่วยงานหาทางแก้ปัญหา เน้นการพัฒนาและสร้างความเข้าใจ  ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังอพยพ พัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่จัดสรรที่ทำกิน แหล่งน้ำ สาธารณูปโภค ยืนยันว่าไม่ได้ทอดทิ้งใครแต่ต้องใช้เวลา และต้องหันหน้ามาคุยกัน

Image

ภาพแสดงตำแหน่งของแปลงบุกรุก คิดเป็นพื้นที่รวมกันกว่า ๑๐๐ ไร่ ผู้กระทำมีความผิดตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๑๙ ฐานยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม 
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ไร่หมุนเวียน 
มรดกทางวัฒนธรรม
บนเศษกระดาษ ?

เมื่อมองลงมาจากเฮลิคอปเตอร์  พื้นที่ตรงนั้นเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าไผ่  ผืนป่าริมน้ำและเนินเขาที่มีความลาดชันน้อยถูกแผ้วถางจนโล่งเตียนเป็นหย่อม ๆ บางแปลงมีร่องรอยของการเผาป่า  ตามซอกเขายังพบการบุกรุกแผ้วถางลักษณะเดียวกันอีกหลายจุด ประเมินพื้นที่ถูกบุกรุกรวมกันมากกว่า ๑๐๐ ไร่ เป็น “รอยแหว่ง” ขนาดใหญ่ในผืนป่าแก่งกระจาน  ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ ผู้กระทำมีความผิดตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๑๙ ฐานยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม

เมื่อมองจากพื้นดินข้างล่าง ในสายตาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย การถางป่าเกิดขึ้นบนที่ดินแปลงเดิมของบรรพบุรุษ ก่อนหน้าจะถูกบังคับอพยพออกจากบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ไม่ได้มีการรุกพื้นที่ใหม่  การถางป่าเป็นการเตรียมทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ไร่ซากหรือไร่เหล่า  หลังถางแล้วเมื่อต้นไม้แห้งต้องจุดไฟเผาซึ่งต้องรีบทำก่อนฝนตกเพื่อไม่ให้พื้นดินเปียก  ถ้าไม่ได้ทำไร่หมุนเวียนปลายปีก็จะไม่มีข้าว ถ้าจะดำเนินคดีก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิในที่ดินแปลงเดิมของพวกตนก่อน

กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกบังคับอพยพจากบ้านบางกลอยบนตั้งแต่อายุ ๓๒ ปี และเป็นหนึ่งในชาวบ้าน ๒๒ คนที่ถูกนำตัวเข้าห้องขังของเรือนจำกลางเขากลิ้ง เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เล่าว่า “เมื่อก่อนเราสามารถปลูกข้าวไร่ได้ปริมาณตามที่ต้องการ ในไร่หมุนเวียนของเรายังปลูกพืชล้มลุกต่าง ๆ เช่น ฟัก ฟักทอง มะเขือ ถั่ว งาดำ มัน เผือก รวมทั้งพริกกะเหรี่ยงที่เคยเป็นอาหารสำคัญ บางบ้านก็ปลูกไม้ยืนต้นอย่างทุเรียนและหมาก ในไร่มีต้นนุ่นให้เราเก็บเกี่ยวเอาใยมาใช้ทำหมอน ด้ายสำหรับทอผ้าก็มาจากต้นฝ้าย เราไม่ได้ถางป่าจนเป็นทะเลทรายหรือเขาหัวโล้นอย่างที่คนชอบพูดกัน ถ้าเราทำลายป่า ปู่ย่าบรรพบุรุษอยู่มานานทำไมป่าไม่หาย แต่คนกรุงเทพฯ ป่าหายไปไหนหมด”

กิ๊ปเล่าความรู้สึกหลังถูกปล่อยตัวชั่วคราวว่า “ออกจากเรือนจำครั้งนี้เราก็จะกลับขึ้นไปอีก เป็นพื้นที่บรรพบุรุษ ขึ้นไปอีกถ้าจะจับก็ยิงเลย ไม่ต้องเอามาติดคุกให้ทรมาน รู้สึกโกรธแค้นมาก ลูกต้องอดนม”

การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงแตกต่างจากรูปแบบการเกษตรของคนเมืองหรือคนพื้นราบที่เป็นเกษตรแบบถาวร

ขณะที่ระบบเกษตรแบบถาวรหรือไร่ถาวรต้องใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า มีการเปิดหน้าดินตลอดเวลา เป็นรูปแบบเกษตรที่ทำลายผืนดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงที่สุด แต่ระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ใช้วิธีไถพรวน หรือเปิดหน้าดิน ที่ดินแปลงที่เว้นระยะพักฟื้นไว้จะได้รับการฟื้นฟูและปรับสภาพดินโดยธรรมชาติ

ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วิทยา ทฤษฎีสังคม การพัฒนา ระบบกรรมสิทธิ์ การจัดการทรัพยากร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ครูใหญ่” ด้านมานุษยวิทยา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ส่วนหนึ่งกล่าวถึงการที่ป่าลดลงว่า “...ไม่ใช่ลดลงเพราะคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำไร่หมุนเวียนหรอก แต่เพราะการขยายตัวของเกษตรถาวร...การไปโทษเกษตรหมุนเวียนว่าตัวทำลาย ทั้งที่ตัวการสำคัญคือเกษตรถาวร มันเป็นการกลบเกลื่อนปัญหาใหญ่ ๆ

“...ถามว่าใครได้ประโยชน์จากเกษตรถาวร ก็คือคนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คนปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว ผักที่ชนชั้นกลางชอบบริโภค คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคที่อยู่ในเมือง เจ้าของระบบธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ แล้วรัฐกับกลุ่มทุนก็เข้ามาสนับสนุนให้เกิดเกษตรถาวรกับคนในพื้นที่สูงในพื้นที่ป่า

“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการกินเนื้อสัตว์มาก ชอบกินกันมาก ไม่ว่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ฯลฯ แล้วมันก็ตามมาด้วยการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพราะข้าวโพดเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารสัตว์  การพูดคำว่า ‘เขาหัวโล้น’ มันพูดง่าย แต่เราไม่เคยตั้งคำถามกันว่าทำไมมันโล้น

“ไร่หมุนเวียนที่อยู่ได้ วงรอบหมุนเวียนต้อง ๗-๘ ปีขึ้นไป แต่รัฐบาลจับมือกับกลุ่มทุนไปบีบให้เขาเหลือรอบต่ำกว่า ๓ ปี ซึ่งมันหมุนไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่มีการหมุน สิ่งนี้ทำให้ระบบล่มสลาย กลายเป็นระบบเกษตรถาวรที่ทำลายพื้นที่สูงในปัจจุบัน

“แล้วในที่สุดคนเหล่านั้นก็มาดูถูกการเกษตรหมุนเวียน เพราะพวกเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากระบบเกษตรที่ชาวบ้านพึ่งตนเอง ก็เลยกล่าวหาว่าเป็นรูปแบบการเกษตรที่ทำลาย ทั้งที่การทำเกษตรถาวรนั้นเป็นรูปแบบเกษตรที่ทำลายผืนดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงที่สุด

“เวลาเรามองปัญหาที่เกิดขึ้นบนภูเขา เพราะมันเป็นเรื่องที่ห่างจากตัวเรา และเราก็ปกป้องประโยชน์ของตัวเราเอง...เรามองเห็นคนไร้อำนาจ คนชายขอบเป็นคนอื่น เราก็จะโทษเขาเพื่อไม่โทษตัวเอง เพราะการโทษคนอื่นมันโทษง่าย”

แม้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายในป่า ไม่จำเป็นต้องบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเกินความจำเป็น แต่ก็ต้องได้รับผลตอบแทนทางการเกษตรที่เพียงพอ โดยเฉพาะข้าวที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต และมีความสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี

...
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีแรก ไร่หมุนเวียนที่ถูกทิ้งให้พักตัวจะยังมีต้นถั่ว มัน เผือก ฟักทอง ฟักเขียว ฯลฯ ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้วเหลือให้เก็บกิน หญ้าจะค่อย ๆ งอกขึ้นปกคลุมผืนไร่ทีละน้อย ในปีที่ ๒ หญ้ารกขึ้นจนเดินแทบไม่ได้ ชาวปกากะญอเรียกว่า “ไร่เหล่าขาว” เพราะมักจะมีต้นสาบเสือออกดอกชูช่อขาว ต้นไม้ที่เคยตัดเหลือตอสูง ๆ เริ่มผลิใบใหม่ ต้นไผ่งอกโผล่พ้นพื้นดิน สัตว์เล็ก ๆ เช่น ตุ่น อ้น หนู นก พากันมาอาศัยอยู่

ปีที่ ๓ พืชไร่เติบโตสูงพ้นต้นหญ้ารก สัตว์ป่าประเภทเม่น เก้ง หมูป่า เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่หรือหากิน  ปีที่ ๔ พืชไร่เติบใหญ่ ต้นไผ่สูงขนาดเท่าข้อมือข้อเท้า มีร่มเงาปกคลุม ต้นหญ้าเริ่มตายเพราะไม่ได้แดด เกิดเป็นพื้นโล่งตามธรรมชาติ ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกเขา พากันมาเกาะคอนพักอาศัย  ปีที่ ๕ ไม้ในไร่โตเท่าโคนแขนโคนขา มีลูกไม้ผลไม้ มีเศษหญ้าเน่าเปื่อยผุพัง ไร่เหล่ากลายเป็นป่าย่อม ๆ บางครั้งมีเก้ง กวาง มากินลูกไม้ ปีที่ ๖ พืชไร่สูงใหญ่กว่าโคนแขนโคนขา ใช้มือสองข้างกำลำต้นไม่รอบ เศษหญ้า ใบไม้ ลูกไม้ ทับถมเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยหมักอย่างดี ดินอุดมสมบูรณ์เต็มที่ สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้วถือว่าเหมาะสมที่สุดในการทำไร่ข้าว  ในปีต่อมาไร่เหล่าแปลงนี้จะถูกถางและเผา เศษขี้เถ้ากลายเป็นปุ๋ยที่คืนแร่ธาตุเป็นอาหารให้กับดิน

การทำไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่การปล่อยที่ดินให้รกร้างเสื่อมโทรม ไร่ที่กำลังฟื้นตัวจะมีต้นไม้ขึ้นเติบโตตามระยะเวลาที่พักฟื้น เป็นป่าเหล่าหรือไร่ซากซึ่งภาษาปกากะญอเรียกว่า “ซิ” และเรียกพื้นที่เพาะปลูกว่า “เควอะ”

กิ๊ปเล่าว่าเมื่อก่อนตอนอาศัยอยู่ที่บ้านบางกลอยบน แต่ละหย่อมบ้านจะตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน หย่อมบ้านหนึ่งมีบ้านสองถึงห้าหลัง  บ้านแต่ละหลังตั้งกระจายห่างกัน  ครอบครัวใดมีพื้นที่ทำไร่หลายแปลงก็ยิ่งทำให้ไร่เหล่าได้พักฟื้นนาน แต่ถ้าที่ดินแปลงใดอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ดินคุณภาพดี เว้นระยะแค่ ๒-๓ ปี ก็สามารถฟันไร่หรือ “แพเควอะ” เพื่อเริ่มการเพาะปลูกรอบใหม่

“หลังถูกอพยพลงมาการปลูกข้าวไม่ได้ผลอย่างเคย จากที่เคยได้ข้าวเปลือกปีหนึ่งหลายถัง พอมาอยู่ข้างล่างไม่พอกิน จากที่เคยเห็นต้นข้าวสูงท่วมหัว ปลูกข้างล่างได้ต้นข้าวสูงแค่ ๑ ศอก เพราะอากาศร้อนและดินไม่ดีเหมือนข้างบนที่เป็นแหล่งต้นน้ำ  เมื่อไม่ค่อยมีข้าว พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวอย่าง ‘กวิทอบึ๊’ หรือการขนข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉาง ‘แกวะบึกะลา’ หรือ พิธีเรียกขวัญข้าว ก็เงียบหายไป  พิธีขอบคุณพระแม่โพสพก็ไม่มี  อยู่ที่นี่ไม่มีพื้นที่พอทำไร่หมุนเวียนเหมือนข้างบน  นาขั้นบันไดที่หน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริมก็ไม่สำเร็จ เพราะดินไม่ดีและไม่มีน้ำ ดินมีแต่หิน เป็นดินที่ด้อยคุณภาพ แล้วการทำนาขั้นบันไดมันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การทอผ้าที่ต้องใช้ฝ้ายตอนนี้ก็ไม่มีให้ทำ ต้นฝ้ายเราปลูกไม่ได้เลยเพราะต้องใช้ดินที่ดี ความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ กำลังจะสูญหายไป ถึงตอนนี้ใคร ๆ ต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องของตัวเอง หลายคนต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน”

แม้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายในป่า ไม่จำเป็นต้องบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเกินความจำเป็น แต่ก็ต้องได้รับผลตอบแทนทางการเกษตรที่เพียงพอ โดยเฉพาะข้าวที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต และมีความสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี

งานวิจัยเรื่อง “ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง : ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” ของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ตีพิมพ์ในปี ๒๕๓๙ ศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทางนิเวศวิทยา มโนทัศน์ที่มีต่อธรรมชาติของชุมชนกะเหรี่ยงในสองหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านเกริงบอ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และหมู่บ้านจะแก ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งสองหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขียนถึงการผลิตแบบยังชีพของชาวกะเหรี่ยงว่าเป็นการทำไร่หมุนเวียนแบบผสมผสาน มีข้าวเป็นหัวใจของการผลิตผสมกับพืชอาหารชนิดอื่น ๆ การทำไร่ใช้พื้นที่ป่าไผ่เพาะปลูกเป็นเวลา ๑ ปี ปล่อยให้พักฟื้น ๗-๑๐ ปีก่อนจะย้อนกลับมาทำไร่ในพื้นที่เดิม  การปลูกข้าวประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เลือกพื้นที่ ถางที่ ตากไร่และเผาไร่ หยอดเมล็ดข้าว ควบคุมวัชพืชและโรค รับขวัญข้าว เกี่ยวข้าว ตีข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง และทำบุญข้าวใหญ่  ระบบการผลิตมีลักษณะหลากหลายในพันธุ์พืช (multiple cropping) คือมีข้าวมากถึง ๑๔ สายพันธุ์ รวมถึงพืชอาหารอื่น ๆ ถึง ๔๘ ชนิด

จากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรเมื่อปี ๒๕๖๑ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจจำนวนเกษตรกรและเนื้อที่ถือครองของแต่ละคนเพื่อจำแนกพื้นที่ การสำรวจระบุให้ “ระบบไร่หมุนเวียน” เป็นหนึ่งในรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืนร่วมกับ ๑) เกษตรอินทรีย์ ๒) วนเกษตร ๓) เกษตรผสมผสาน ๔) เกษตรทฤษฎีใหม่ และ ๕) เกษตรธรรมชาติ  ผลการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีเกษตรกรทำไร่หมุนเวียน
ทั่วประเทศจำนวน ๑๑๘,๒๙๗ ราย คิดเป็นเนื้อที่รวมกันประมาณ ๑.๒ ล้านไร่ หรือโดยเฉลี่ยเกษตรกรที่ทำไร่หมุนเวียนมีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ยคนละ ๑๐.๑๔ ไร่ 

Image

วัฏจักรชีวิตในไร่หมุนเวียน ๗ ปี

ภาพประกอบ : พจนา เกียรติประไพ

การทำไร่หมุนเวียนเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ลักษณะป่าที่เลือกทำไร่หมุนเวียนเป็นป่าฟื้นตัวเร็ว มีไม้ป่าขนาดเล็ก ใช้แรงงานน้อยจัดการพื้นที่ เช่น ป่าก่อ ป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะป่าไผ่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ ไม้ใหญ่มีไม่มาก  ชาวกะเหรี่ยงเรียกไร่ข้าวที่กำลังเพาะปลูกว่า “เควอะ” เรียกพื้นที่ไร่ข้าวซึ่งเก็บเกี่ยวแล้วปล่อยให้ฟื้นตัวว่า “ไร่เหล่า” หรือ “ซิ” การเพาะปลูกจะหมุนเวียนไปจนครบทุกแปลงที่ได้ทำพิธีบอกกล่าวขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะเป็นวิถีการผลิตและวัฒนธรรม ชาวกะเหรี่ยงยังใช้ไร่หมุนเวียนนับอายุคนหรือหมู่บ้าน เช่น คำนวณอายุลูกว่าเกิดตอนทําไร่แปลงไหนและเวียนมาทำไร่กี่ครั้งแล้ว  

Image

ไร่ข้าวที่กำลังเพาะปลูก
นอกจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ชาวกะเหรี่ยงยังปลูกพืชผักสวนครัวหลายชนิดในไร่ข้าว รวมถึงต้นนุ่น ต้นฝ้าย ที่ใช้เส้นใยทำหมอน ทอผ้า พืชแต่ละชนิดจะทยอยให้ผลผลิตไม่พร้อมกัน

Image

ไร่เหล่าพักฟื้น ๑ ปี
หลังเกี่ยวข้าวปีแรก เจ้าของไร่จะยังแวะเวียนมาเก็บผลผลิต เช่น ถั่ว มัน เผือก ฟักทอง ฟักเขียว พริก  สัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น กระต่าย ไก่ป่า หนู นกกระทา อ้น ก็เข้ามาอาศัยและหากินพืชผักที่ยังเหลือ ต้นหญ้าค่อย ๆ งอกปกคลุมผืนไร่ทีละน้อย

Image

ไร่เหล่าพักฟื้น ๒ ปี
หญ้าเริ่มขึ้นรกจนเดินแทบไม่ได้ ต้นไม้ที่ตัดจนเหลือแต่ตอเริ่มผลิใบ ต้นไผ่งอกผุดพ้นพื้นดิน  ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ไร่เหล่าขาว” เพราะมักมีต้นสาบเสือออกดอกชูช่อขาว รวมทั้งมีตอข้าวและฟางข้าวหลงเหลืออยู่ในไร่ 

Image

ไร่เหล่าพักฟื้น ๓ ปี
ต้นไม้เติบโตสูงพ้นต้นหญ้า สัตว์ป่าอย่างเก้ง กวาง หมูป่า เริ่มเข้ามาอาศัยหากิน เป็นช่วงที่ไร่เหล่าเอื้อให้เกิดการขยายพันธุ์ของพืชและสัตว์ป่าหลากหลายชนิดซึ่งไม่พบในป่าดั้งเดิม

Image

ไร่เหล่าพักฟื้น ๔ ปี
ต้นไม้เติบโตขึ้นจนเป็นต้นไม้ใหญ่  ลำไผ่ใหญ่เท่าท่อนแขนท่อนขา ต้นหญ้าใต้ต้นไผ่เริ่มตาย เพราะไม่ได้รับแสงแดด  ไร่เหล่ากลายเป็นที่อาศัยและหลบภัยของสัตว์ป่า  เก้ง กวาง มากินลูกไม้  ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกเขา มาเกาะคอนพักอาศัย 

Image

ไร่เหล่าพักฟื้น ๕ ปี
ไร่เหล่ากลายเป็นป่าย่อม ๆ ต้นไม้มีมากหลากชนิด ออกดอกออกผล มีลูกไม้ ผลไม้  ใต้ต้นไม้บางต้นโล่งเตียนขนาดคนและสัตว์เดินผ่านได้  สัตว์ป่าอาจไม่อยู่ประจำ เพราะพื้นป่าโล่งขึ้น แต่อาจเข้ามาหาลูกไม้กินตอนกลางคืน 

Image

ไร่เหล่าพักฟื้น ๖-๗ ปี หรือมากกว่านั้น
ต้นไม้ขนาดใหญ่กว่าโคนแขนโคนขา เศษหญ้า ใบไม้ ลูกไม้ ทับถมเน่าเปื่อยกลายเป็นดิน  ดินในไร่เหล่าอุดมสมบูรณ์เต็มที่ ชาวกะเหรี่ยงถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับทำไร่ข้าวในปีถัดไป เมื่อถางและเผาแล้วเศษขี้เถ้าจะกลายเป็นปุ๋ยคืนแร่ธาตุกลับสู่ผืนดิน

อ้างอิง
รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการ “ศึกษาไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงเพื่อเสนอเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” แบบเรียนภาษาไทยชุด “ภาษาเพื่อชีวิต” ตามหลักสูตรสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ ปี ๒๕๔๔



ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ มีการกำหนดแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงครอบคลุมห้าปัญหาหลัก คือ อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษา มีสาระสำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงเรื่องอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม  ในหัวข้อการจัดการทรัพยากรและการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ยังกำหนดให้การทำไร่หมุนเวียนเป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณา เพราะสำคัญต่อวิถีชีวิต เปรียบเสมือนสัญลักษณ์

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว  กระทรวงวัฒนธรรมจึงประกาศให้ภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี ๒๕๕๖ แต่จนถึงบัดนี้ความรู้เรื่องการทำไร่หมุนเวียนก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจของคนทั่วไป  ถึงแม้ว่าในสายตานักมานุษยวิทยาแล้วการทำไร่หมุนเวียนจะเป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับหลักนิเวศป่าไม้ เป็นภูมิปัญญาในการใช้ทรัพยากร แต่ขัดต่อความเข้าใจของคนทั่วไปในเมืองที่มองว่าไร่หมุนเวียนคือไร่เลื่อนลอย เป็นสาเหตุของการบุกรุกป่า อาจกล่าวได้ว่าทัศนคติที่ว่าชาวเขาเป็นผู้ทำลายป่าหรือแม้แต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่คนไทย ถูกปลูกฝังตั้งแต่แบบเรียนชั้นประถมศึกษาไปถึงพาดหัวหนังสือพิมพ์

มรดกโลก
บนคราบน้ำตา

ในสายตา พ้อเลป่า นักเขียนปกากะญอคนแรกของประเทศไทย ผู้เปิดโลกของชนเผ่าเหนือดงดอยให้คนข้างนอกได้รับรู้ บันทึกเรื่องราวของชนเผ่าไว้ในหนังสือ คนปกากะญอ (พ้อเลป่า เขียน กัลยา-วีระศักดิ์ ยอดระบำ แปลและเรียบเรียง) ว่า “ฉันเกิดบนภูเขา เติบโตบนภูเขา มีชีวิตอยู่บนภูเขาตลอดมา ฉันรู้ว่าเราเป็นคนไทย แผ่นดินของเราอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทย แต่คนพื้นราบจะรู้จัก จะเข้าใจพวกเราแค่ไหน ฉันไม่รู้”

ขณะที่ วีระศักดิ์ ยอดระบำ ผู้แปล ก็บันทึกความนึกคิดของตัวเองไว้ในส่วนคำนำว่า “คนปกากะญอเป็นชนเผ่าที่เคารพทะนุถนอมต่อแผ่นดิน ป่าไม้ สายน้ำ และขุนเขา อย่างนุ่มนวลอ่อนโยน รอบ ๆ หมู่บ้านของพวกเขายังมีป่าไม้และลำห้วยอันบริสุทธิ์ พวกเขาไม่ใช่ผู้ทำลายป่า แต่เป็นคนรักษาป่าเอาไว้ ถ้าไม่มีคนปกากะญออาศัยอยู่ตามภูเขา ป่าไม้หลายแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันตกจะถูกทำลายลงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่”

วีระศักดิ์เคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ตัดสินใจเข้าป่าหลังเหตุการณ์ตุลาฯ หฤโหดปี ๒๕๑๙ ใช้ชีวิตร่วมกับคนปกากะญอ เขาจึงกล้าจารึกถึงคนบนภูเขาผ่านประสบการณ์อันโชกโชนของตัวเองว่า “หลายปีที่เราผูกพันอยู่กับคนปกากะญอ เรายังไม่เคยพบเห็นพวกเขาทะเลาะทุบตีกันอย่างคนพื้นราบ เราไม่เคยเห็นพ่อแม่ดุด่าเฆี่ยนตีลูกอย่างรุนแรง เป็นชนเผ่าที่เคร่งครัดในระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว เด็ก ๆ และผู้หญิงได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน วิถีชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือดของชนเผ่า”

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิถีของคนกะเหรี่ยงเปลี่ยนไป ความเจริญแผ่เข้ามาในหมู่บ้านกลางป่ารวมถึงมีการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ และประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข้อกฎหมายใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ตลอดจน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตั้งแต่ฉบับแรกถึงฉบับปัจจุบัน บ่งบอกโลกทัศน์และนโยบายของรัฐต่อเรื่องคนกับป่าได้ชัดเจน เช่น มาตรา ๔๑ ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ “ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมในอุทยานแห่งชาติ...ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นับตั้งแต่ที่ป่าแก่งกระจานได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อนกลายเป็นคนทำผิดกฎหมาย และตกเป็นเป้าของการถูกอพยพโยกย้าย

ภาพถ่ายทางอากาศจากการบินสำรวจของเจ้าหน้าที่พบผืนป่าถูกบุกรุก  ชาวบ้านชี้แจงว่าเป็นการถางป่าเพื่อเตรียมทำไร่หมุนเวียนบนที่ดินแปลงเดิม 
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

...
ปลายปี ๒๕๖๓ รัฐบาลไทยเชิญคณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกแปดประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โอมาน บาห์เรน สเปน ไนจีเรีย รัสเซีย และบราซิล ลงพื้นที่ศึกษากิจกรรมและดูข้อเท็จจริงในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบการนำเสนอเป็นมรดกโลก ตัวแทนชาวบ้านได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่แทบไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงให้คณะทูตานุทูตได้รับฟัง การสื่อสารที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคทำให้ตัวแทนชาวบ้านไม่เข้าใจ แม้อยากอธิบายข้อเท็จจริงในสายตาตัวเอง

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยรวมถึงชุมชนกะเหรี่ยงอื่น ๆ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงทำหนังสือร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงคณะกรรมการมรดกโลกขอให้แก้ปัญหาชุมชนดั้งเดิมในอุทยานฯ ก่อนเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า

“พวกเราขอย้ำว่า ไม่เคยคิดขัดขวางการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก และพวกเรายินดีสนับสนุน เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือการเคารพสิทธิของพวกเราที่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตควบคู่กับป่าที่อุดมสมบูรณ์มายาวนาน เพราะต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลกันมาโดยตลอดจนสามารถรักษาผืนป่าแห่งนี้มาได้จนถึงปัจจุบัน

“แม้พวกเรายังไม่เข้าใจคำว่ามรดกโลกลึกซึ้งนัก แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นก่อนผืนป่าแก่งกระจานจะถูกยกระดับขึ้นสู่มาตรฐานโลกนั้นคือ ๑. การแก้ไขที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบันการแก้ปัญหาแทบตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ๒. พวกเราต้องการสืบทอดวิถีการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย ๓. พวกเราบางส่วนต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย”

ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จดหมายจากป่าลึกถูกส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก

ก่อนที่ต้นปี ๒๕๖๔ ชาวบ้านบางกลอยร่วม ๔๐ คนจะตัดสินใจเดินมุ่งสู่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน และตามขึ้นไปสมทบอีกจนมีจำนวนมากกว่า ๘๐ คน  ชาวบ้านหลายคนยอมรับว่ารู้ว่าทำผิดกฎหมาย แต่จำเป็นต้องไป เพราะชีวิตในพื้นที่จัดสรรทำให้พวกตนแทบกลายเป็นคนไร้ชีวิต  ที่สำคัญคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้สาบสูญไปพร้อมคำสั่งอพยพ  ไม่มีแล้วความทระนงอย่างคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในป่า สิ่งสำคัญคือถึงไม่ขึ้นไปตายดาบหน้าสมาชิกในครอบครัวก็อาจจะอดตายกันทั้งหมด

เวลานั้นบ้านหลายหลังในหมู่บ้านบางกลอยล่างกลายเป็นบ้านร้าง เพราะคนในบ้านพากันเดินทางไปทั้งครอบครัว แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงก็หอบกระเตงกันไป  แต่ละคนตัดสินใจว่าจะหวนคืนถิ่น ลงหลักปักฐานในผืนดินที่เคยอาศัยอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และหลายคนก็เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

หน่อแอะยืนยันมาตั้งแต่พ่อ (ปู่คออี้) ตายว่า ตนเองจะกลับไปตายที่บ้านใจแผ่นดิน ขอให้ลูกหลานช่วยกันแบกร่างที่พิการใส่กระสอบกลับขึ้นไป

กิ๊ป ต้นน้ำเพชร แม่ของลูก ๆ หลายคนร่ำไห้  ได้แต่ภาวนาในใจว่า “ถ้าจับก็จับให้หมด ยิงก็ยิงให้หมด เราจะได้ไม่ต้องลงมา  ตายที่บ้านยังดีกว่าเราต้องมาตายเพราะความลำบากในพื้นที่จัดสรร”

...

ต้นปี ๒๕๖๔ แม้มีคนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของชาวบ้านบางกลอย แต่แฮชแท็ก #SAVEบางกลอย ตลอดจน #ชาติพันธุ์ก็คือคน ที่ภาคีเครือข่ายพยายามจะสื่อสารเรื่องราวในป่าลึกออกสู่สาธารณะ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ ๑ ของประเทศไทย ทำให้ผู้คนพอจะเริ่มรับรู้ถึงปัญหาของบางกลอยบ้าง

สำหรับชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนรวมกันทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคน อาจกล่าวได้ว่าปัญหาบางกลอยทำให้คนเมืองได้เข้าใกล้กลุ่มชาติพันธุ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากตระหนักดีว่าความจริงปัญหาบางกลอยเป็นแค่เสี้ยวส่วนหนึ่งของปัญหาคนในป่าของประเทศไทย

แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยแล้วยังไม่รู้ว่าปลายทางการดิ้นรนหวนคืนสู่ถิ่นเก่าจะสิ้นสุดลงตรงไหน

ในวันที่โลกทัศน์และวิถีชีวิตของคนกับป่าไม้ได้แยกขาดออกจากกัน

บางทีจุดหมายปลายทางของการเดินทางกลับบ้านใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอาจมาถึงหลังสิ้นลมหายใจไปแล้ว

ภาพถ่ายจากโครงการสำรวจทะเบียนราษฎรชาวเขา หรือ “โครงการสิงห์ภูเขา” ราวปี ๒๕๒๘ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเดินป่าสำรวจตั้งแต่ลำภาชีถึงแม่น้ำบางกลอย พบชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน  ในภาพ ปู่คออี้ (วัยราว ๗๔ ปี) ยืนอยู่ทางขวามือ

Image

"ตรงนั้นเป็นพื้นที่อะไร อุทยานฯ ใช่มั้ย ต้นน้ำชั้น ๑ ใช่มั้ย และศาลมีคำสั่งแล้วใช่มั้ย วันนี้คนไทยทั่วไปไม่พอใจ เราก็ดูแลคนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด แต่ต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่นึกจะอยู่ตรงไหนก็อยู่ได้ คนที่ไปสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบ ไปสร้างความขัดแย้ง สร้างความไม่เข้าใจกัน แล้วทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน เราจำเป็นต้องรักษาป่าต้นน้ำไม่ใช่หรือ ถ้าย้ายมาก็ต้องหาพื้นที่ทำกินให้กับเขา พื้นที่ทำกินก็มีเพียงพอ แต่ไม่ใช่จะไปอยู่ในใจกลางอุทยานฯ ใช่มั้ย ผมไม่อยากจะพูด แต่ไม่ได้โทษเขา แต่ผมโทษไอ้คนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็รู้ว่าใคร”  

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
นายกรัฐมนตรี

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔/ ทำเนียบรัฐบาล

ภาพ : www.thaigov.go.th

Image

"ภาพที่ออกมาเป็นภาพที่สื่อบางสื่อหรือคนบางกลุ่มพยายามนำเสนอ มีความพยายามที่จะแตกประเด็น ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมา ท้ายที่สุดแล้วต้องเรียนว่าปัญหาเรื่องบางกลอยนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นคน ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย เป็นเพียงประเด็นที่ว่าพี่น้องประชาชนกลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันนี้ยังไม่พึงพอใจกับการที่รัฐบาลนั้นเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำกิน สาธารณูปโภค ระบบน้ำ ระบบประปาในการทำเกษตร ซึ่งสิ่งนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังยืนยันว่าเราจะเจรจาแล้วก็จะหาวิธีนำน้ำเข้าไป ตอนนี้เรากำลังดำเนินการอยู่แล้ว และมั่นใจว่าภายในปีนี้เราจะสามารถแก้ไขปัญหาที่บางกลอยได้สำเร็จ”  

วราวุธ ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล 
ภายหลังวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีการนำตัวชาวบ้านทั้ง ๘๕ คน

ลงมาจากพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

ภาพ : www.thaigov.go.th

Image

"ชาวบ้านบางกลอยต้องทนทุกข์ทรมานกับคำสัญญาของภาครัฐที่บอกว่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิตบอกว่าจะจัดหาที่ดินทำกินที่เหมาะสมต่อการเกษตรให้มีโครงการมากมายและงบประมาณกว่า ๓๐๐ ล้านบาทเข้าไปในพื้นที่ แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านบางกลอยเกือบทุกหลังคาเรือนมีหนี้ประมาณ ๑-๒ หมื่นบาท 

“ต่อมาเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-๑๙ ชาวบ้านบางกลอยไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตได้ จึงตัดสินใจกลับขึ้นไปยังบ้านบาง-กลอยเดิมหรือใจแผ่นดิน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันให้ลงมาสร้างข้อกล่าวหาว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีสัญชาติไทย ทำลายป่า ซ่องสุมกำลัง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อที่ผิด และยังมีชาวบ้านบางกลอยที่ถูกคุกคามจากภาครัฐจนถึงขั้นเสียชีวิต 
“พี่น้องบางกลอยคือตัวอย่างของคนตัวเล็กตัวน้อยที่สุดในสังคมที่กำลังลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ อภิสิทธิ์ชนเหมือนกับที่พี่น้องคนในเมืองกำลังเผชิญ  พี่น้องบางกลอยกำลังลุกขึ้นมาต่อสู้กับคนที่ตัวใหญ่ที่สุดในสังคม ทั้งที่เขาถูกกดขี่ ลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็นจนกลายเป็นคนที่ตัวเล็กที่สุดในสังคม

“ฉะนั้นวันนี้ ผมขอขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่ออกมาติดแฮชแท็ก #SAVEบางกลอย ช่วยเหลือพวกเรา ไม่เคยมีเวลาไหนตลอด ๓๐ ถึง ๕๐ ปี ที่พี่น้องชาติพันธุ์เข้าใกล้กับคนในเมืองมากขนาดนี้” 

พชร คำชำนาญ
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ คณะทำงานแก้ไขปัญหา
ความเดือดร้อนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี
ภาคี #SAVEบางกลอย 


กล่าวในกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็น
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๔

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

นับตั้งแต่ยุทธการบางกลอยบน ปี ๒๕๓๕ จนมาถึงยุทธการตะนาวศรี ปี ๒๕๕๓ คนกลางที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานกับชาวบ้าน พร้อมทั้งให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์กับหน่วยงานราชการคือ ทัศน์กมล โอบอ้อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อาจารย์ป๊อด” นักการเมืองท้องถิ่นที่เข้าถึงพื้นที่และปัญหาความทุกข์ยาก

ในยุทธการบางกลอยบน ที่มีตำรวจตระเวนชายแดนสามนายรอดชีวิตจากการปะทะกับทหารพม่า เหตุการณ์ครั้งนั้นชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคนยิงเจ้าหน้าที่ ถึงขนาดจะมีทหารไทยเข้ามาดำเนินการกับชาวบ้านอาจารย์ป๊อดคือผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้านและทหารไทยจนเกิดความเข้าใจกัน

ความตายของ 
“อาจารย์ป๊อด” ทัศน์กมล โอบอ้อม 
และ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ

Image

ทัศน์กมล โอบอ้อม

ในการอพยพโยกย้ายชาวบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินลงมาอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่จัดสรรข้างล่าง ตรงข้ามหมู่บ้านโป่งลึก ตามโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ปี ๒๕๓๙ โดยทางอุทยานฯ สัญญาว่าจะเตรียมพื้นที่สำหรับทำกินและสร้างบ้านใหม่ให้ อาจารย์ป๊อดเป็นคนกลางที่ชาวบ้านไว้ใจ ร่วมเดินทางเข้าไปในบ้านใจแผ่นดินร่วมกับ สามารถ ม่วงไหมทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเวลานั้น

ต่อมาอาจารย์ป๊อดมีบทบาทในการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องความเป็นชุมชนดั้งเดิมของบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินที่มีมาก่อนหน้าการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในกรณีต่าง ๆ เช่น ช่วยประกันตัว หน่อแอะ มีมิ ที่ถูกดำเนินคดีข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง  การเตรียมการถวายฎีกาผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านที่ถูกบังคับให้อพยพโยกย้าย  รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในพื้นที่
อุทยานฯ ทำให้สถานะตัวแทนชาวบ้านที่เป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้น  จนกลายเป็นบุคคลที่ถูกติดป้ายประกาศห้ามเข้าเขตอุทยานฯ และกลายเป็นเป้าหมายในการถูกปองร้าย

๑๐ กันยายน ๒๕๕๕ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ทัศน์กมลถูกยิงเสียชีวิตในรถของตัวเองระหว่างขับรถอยู่ที่อำเภอบ้านลาด เพื่อกลับบ้านที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยที่ยังไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จนถึงทุกวันนี้

คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญเกิดขึ้นอีกครั้งกับผู้ที่เข้ามารับหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” หลานชายแท้ ๆ ของ โคอิ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นที่เคารพของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย  ด้วยความเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขชาวกะเหรี่ยงที่เกิดและเติบโตอยู่ที่บ้านบางกลอยบน บิลลี่จึงมีสถานะเป็น “คนใน” ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเต็มตัว รวมถึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่ง-กระจาน จังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย

พอละจี รักจงเจริญ 
ภาพ : ณัฐพล เมฆโสภณ

บิลลี่เป็นชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ดี และมีความต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวการถูกกดขี่ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้สังคมภายนอกได้รับรู้ ครั้งหนึ่งเคยใช้กล้องวิดีโอถ่ายทำหนังสารคดีขนาดสั้นความยาวประมาณ ๑๘ นาที ชื่อ วิถีชีวิต The Way of Lives เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของปู่คออี้และพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ความพยายามของบิลลี่ในการสื่อสารเรื่องราวจากชุมชนในป่าสู่ภายนอกยังปรากฏในการร่วมกิจกรรมของเครือข่ายกะเหรี่ยงภูมิภาคต่าง ๆ  ดังที่ เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวถึงบิลลี่ว่า “บิลลี่เป็นผลผลิตของเครือข่ายฯ ที่คอยช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยง ทั้งเรื่องการทำสื่อ การถ่ายภาพ และงานวิชาการ เขาเป็นความภาคภูมิใจของเรา”

บิลลี่ยังมีความสำคัญในฐานะผู้รวบรวมข้อมูล จัดทำเอกสาร เป็นล่าม และเป็นพยานในคดีที่ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อศาลปกครอง

๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ บิลลี่หายตัวไปอย่างลึกลับในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  หัวหน้าอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ขณะขี่มอเตอร์ไซค์กลับลงมาจากบ้านบางกลอยล่างมุ่งหน้าออกจากอุทยานฯ  เจ้าหน้าที่ให้การว่าได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ที่ด่านเขามะเร็ว เนื่องจากครอบครองของป่าคือน้ำผึ้งป่าหกขวด แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว

ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษชี้ว่าบิลลี่ถูกฆาตกรรมเผาทำลายศพ ทุกวันนี้ยังไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เป็นประเด็นหลักที่ถูกนำมาสื่อสารเพื่อชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีความอยุติธรรมในผืนป่าแก่งกระจาน

เมื่อครั้งยังมีชีวิต บทบาทของอาจารย์ป๊อดและบิลลี่เป็นที่ยอมรับนับถือจากชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เป็นอย่างมาก ชาวบ้านวาดหวังว่าทั้งสองคนจะทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงให้กับชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเดือดร้อน เผชิญความไม่เป็นธรรม รวมทั้งบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่จัดสรรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อคราวอาศัยอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน โดยเฉพาะเรื่องการดำรงชีพและการทำมาหากินของชาวบ้าน

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

"ผมก็รักและสงสารชาวบ้าน พูดตรง ๆ เผลอ ๆ มากกว่าบางคนที่มาที่นี่อีก พวกที่มาอย่างฉาบฉวย ผมกล้าพูดเลยถ้าจะวัดกันผมก็มีหัวใจ  นอกจากเป็นข้าราชการแล้วผมก็มีฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ของเขาด้วย ฉะนั้นต้องเปิดใจฟังผมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ตาม คิดตรงกันหรือไม่ตรงกันก็แล้วแต่

“ถามว่าป่าคืออะไร  ป่าไม่ใช่แค่ต้นไม้  ป่าในความคิดผมคือระบบนิเวศ  ความสัมพันธ์ของต้นไม้กับสัตว์ป่า แมลง จุลินทรีย์ นี่คือป่า  อย่าไปถามหาป่าในเมือง นั่นมันแค่ที่ที่ต้นไม้ขึ้น  เวลาเราไปป่า เห็นต้นไม้ก็เฉย ๆ แต่ถ้าเห็นผีเสื้อ เห็นนกกำลังจิกกิน ล่าแมลง นั่นคือป่า มันคือระบบนิเวศที่เอื้อสัมพันธ์กันของสิ่งมีชีวิต นกชนิดนี้ต้องอยู่กับป่าบริเวณนี้เท่านั้น ป่าที่ราบลุ่มจะพบได้แค่นกกลุ่มนี้ พอขึ้นไปที่สูงบนภูเขาก็พบนกอีกประเภทหนึ่ง มีสัตว์ป่าอีกประเภทหนึ่งที่ชอบอาศัยอย่างนั้น นั่นคือความหลากหลายของป่า

“เรื่องสัตว์ป่า ถ้าชาวบ้านขึ้นไปเขาก็ต้องกินสัตว์ป่านะ อันนี้ใครเถียงเอาตีนถีบหน้าผมได้เลย  ถ้าบอกว่าคุณเข้าไปแล้วไม่กินปลา เจอเก้งแล้วไม่กิน เอาตีนมาถีบหน้าผม

“บทพิสูจน์มันชี้ชัดว่ามนุษย์เป็นตัวล้างผลาญทุกสปีชีส์บนโลกใบนี้ แล้วยิ่งประชากรเพิ่มขึ้นแบบนี้ ไม่มีทางเลยที่สัตว์ป่าจะอยู่ได้

“ฉะนั้นที่บอกว่าคนอยู่กับป่าได้ คุณเคยถามป่ามั้ย ที่ผ่านมาคุณถามในมิติของคนอย่างเดียว คุณถามในมิติของสัตว์ป่าหรือยังว่าสัตว์ป่ามันอยู่กับคนได้หรือเปล่า ป่าอยู่กับคนไม่ได้ ยกตัวอย่างปลาในแม่น้ำ ถ้าบอกให้เขาอยู่แต่ในวัง ถ้าออกนอกวังเราจะจับเลยนะ อย่างนี้แฟร์  แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ล่อจนหมดลำน้ำ ไม่เหลือสัตว์อะไรเลย เหลือแค่น้ำกับต้นไม้ ผมถึงบอกว่าป่าตรงนี้ไม่ใช่ป่า เป็นแค่พื้นที่ที่มีต้นไม้ขึ้น แต่เป็นป่ามั้ย ผมว่ามันไม่ใช่”

ให้สัมภาษณ์วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ ที่บ้านบางกลอยล่าง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เอกสารประกอบการเขียน
ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์. ใจแผ่นดิน แผ่นดิน
กลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน. จัดพิมพ์โดย มูลนิธิผสานวัฒน-
ธรรม (Cross Cultural Foundation), ๒๕๖๒.

นิตยสาร สารคดี ในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด. เมื่อหัวใจเป็นมิตรกับผืนป่า. โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และธนาคารไทย, ๒๕๕๘.

พ้อเลป่า เขียน, กัลยา-วีระศักดิ์ ยอดระบำ แปลและเรียบเรียง. คนปกากะญอ. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : ปัจจุบัน, ๒๕๓๖.

เพ็ญพรรณ อินทปันตี. วิถีแห่งผืนป่า รักษาป่าตะวันตก. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนการพิมพ์ โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) (ส่วนสนับสนุนการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม), ๒๕๕๒.

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. หลังม่านต้นไม้. กรุงเทพฯ : สานใจคนรักป่า, ๒๕๔๘.

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรี โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔.

บทความอิเล็กทรอนิกส์
ชนากานต์ ลักษณะ. “ภาษาพาที” แบบเรียนภาษาไทยชุด “ภาษาเพื่อชีวิต” ในมุมมองของศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา” เข้าถึงจาก https://blog.startdee.com

ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ. “วิกฤตชาติพันธุ์-รัฐ-ป่า” ผ่านกรณี “บางกลอย” ในมุมมอง “อานันท์ กาญจนพันธุ์” เข้าถึงจาก https://greennews.agency/?p=22848

ขอขอบคุณ
สุนี ไชยรส, ภาสกร จำลองราช, ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ, สุรพงษ์ กองจันทึก, จัน ต้นน้ำเพชร, ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์, รศ. ดร.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, เครือข่ายเด็กเท่ากัน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews, สำนักข่าวชายขอบ และสำนักข่าว The Reporter