แม่สะเรียง-เดะปูโหนะลมหายใจ
กะเหรี่ยงสาละวิน
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ (น่อพอแอ้)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“รัฐกะเหรี่ยง” ในความรู้ของคนทั่วไป เป็นแผ่นดินลึกลับ ข่าวคราวไม่พ้นเรื่องสงครามกับเมียนมาและการอพยพลี้ภัย
มักใช้เส้นทางสองทิศที่เชื่อมต่อไทย คือ ตะวันออกติดจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก ทิศใต้ติดจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจุดเริ่มต้นของ “เส้นทางอพยพ” เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำไร่หมุนเวียนตามป่าเขาจนเกิดข้อพิพาทมากมาย
ปลายปี ๒๕๖๒ และต้นปี ๒๕๖๓ มีโอกาสย้อนรอยเส้นทางอพยพผ่านพรมแดนแม่ฮ่องสอน โดยความช่วยเหลือของสองพี่น้องหนุ่ม-สาวกะเหรี่ยงสะกอ สารภาพอย่างไม่บิดเบือน วิถีทางที่ใช้เข้าบ้านเมืองพวกเขาไม่ต่างจาก “ผู้หลบหนีเข้าเมือง” ทำให้ได้เห็นเรื่องราวแบบคลุกคลีตีโมงที่นักเดินทางอื่นไม่อาจพบ
กว่าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟัง สงครามกะเหรี่ยง-เมียนมาก็อุบัติอีก
อยากแบ่งปันวันที่ชนกลุ่มน้อยผู้มีนิสัยขี้อายและรักสงบต้องประสบชะตากรรมหนีตาย ซึ่งในอดีตไทยเคยมีการจัดการที่ดีกว่าผลักดันผู้โชคร้ายพลัดถิ่นให้กลับไปตายยังแผ่นดินเกิด เผื่อการเดินทางจะช่วย “เปิดพรมแดนความรับรู้” ให้อยู่ร่วมกันวันที่พวกเขายังเหลือลมหายใจ
เพราะมนุษยธรรมเป็นเรื่องรีรอไม่ได้ พรุ่งนี้ก็อาจสายเสียแล้ว
หลบหนี
เข้าเมือง
เช้าตรู่ของวันคริสต์มาสอีฟ ปี ๒๕๖๒
เราตั้งต้นที่หย่อมบ้านคิดถึง (บ้านอูหลู่เหนือ) ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าบ้านเป็นชาวสะกอ (ปกาเกอะญอ) นับถือคริสต์ อพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยงก่อนขยับรกรากมาปลูกบ้านที่หมู่บ้านบนเนินเขา เส้นทางชุมชนเป็นถนนลูกรังเลาะเขาสูงชัน ปรกติจากอำเภอแม่สะเรียงมาหมู่บ้านหากเป็นรถยนต์ยังใช้เวลาค่อนวัน มอเตอร์ไซค์ทั้งวัน ฤดูกาลที่ฟ้าฝนไม่เอื้อต่อการสัญจรอาจใช้เวลาถึง ๒ วัน
ระยะเดินเท้าไม่ไกลจากบ้านนักมีทางให้ไต่ลงจากภูเขาสูงเข้าสู่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน” ที่มีอาณาเขตติดกับอุทยานแห่งชาติสาละวิน หมุดหมายแรกของเราคือปลายป่าทางทิศตะวันตกจดลำน้ำสาละวิน ที่เป็นเส้นแบ่งแนวเขตประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่นั่นมีชุมชนตั้งอยู่ริมน้ำในชื่อเรียกหย่อมบ้านออเลาะ (บ้านอูหลู่ใต้) และมีเรือรับจ้างที่สามารถนำเราข้ามฟากสู่อีกประเทศ
“ปรกติเวลาพ่อหรือชาวบ้านฝั่งนี้ไปฝั่งนู้นจะส่องไฟฉายออกจากบ้านตั้งแต่ตี ๕ เพราะต้องขนของกันด้วย ยิ่งหน้าแล้งไม้ใหญ่ในป่ากำลังผลัดใบร่วง ถ้าออกสายพอแดดร้อนจะยิ่งเดินเหนื่อยมาก”
ตะวิ เด็กสาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ บัณฑิตหมาดจากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าพลางนำทางไปเที่ยวบ้านญาติที่รัฐกะเหรี่ยงโดยเส้นทางป่าซึ่งครั้งหนึ่งครอบครัวและเครือญาติใช้เป็นหนทางโยกย้ายมาฝั่งไทย ทุกวันนี้ก็ยังยึดเป็นทางหลักเมื่อจะกลับไปเยี่ยมญาติ
มีบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอพยพของกะเหรี่ยงในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อกองทัพพม่ายึดเมืองหงสาวดีชาวมอญถูกเรียกเก็บภาษีอย่างหนัก บังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ เผาบ้านเรือน กะเหรี่ยงกลุ่มที่มีถิ่นอาศัยทับซ้อนต่างได้รับผลกระทบ ทำให้ตัดสินใจหนีภัยตามมอญมาทางตะวันออก แต่ “การอพยพครั้งใหญ่” เกิดในปี ๒๓๑๘ สมัยกรุงธนบุรี เมื่อพม่าขยายอิทธิพลยึดมอญอีก คราวนี้ยังเกณฑ์ให้ชาวมอญบุกตีทัพสยามด้วย มอญ-กะเหรี่ยงหลายหมู่บ้านในเมืองเมาะตะมะที่ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำสาละวินจึงข้ามช่องเขาในทิวเขาตะนาวศรีมุ่งสู่พื้นที่ใต้อิทธิพลของสยาม
ผู้นำกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งเลือกทาง “ด่านเจดีย์สามองค์” เขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พาตั้งถิ่นฐานอยู่ไล่โว่ ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อีกกลุ่มตั้งหลักอยู่ชุมชนศรีสวัสดิ์ อำเภอหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มที่เหลือไปใช้เส้นทาง “ด่านแม่ละเมา” เขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แล้วตั้งรกรากริมห้วย บ้างขึ้นเขาไปไล่ผล้าอั่วในบ้านเลตองคุ-ที่ตั้งสำนักฤๅษี ปัจจุบันคือตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
คือหลักฐานว่า ชุมชนกะเหรี่ยงปรากฏก่อนสถาปนากรุงเทพฯ ปี ๒๓๒๕
ชะตากรรมของกะเหรี่ยงไม่สิ้นสุด มีผู้อพยพข้ามภูเขาจากเมืองทวายมาสมทบอีก รัฐสยามจัดถิ่นฐานให้อยู่ตามลำน้ำ เช่นลำห้วยคอกควาย ปัจจุบันอยู่ในอำเภอบ้านไร่ของอุทัยธานี เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย บ้างอยู่ลำห้วยตะเพินคี่ ในอำเภอด่านช้างของสุพรรณบุรี ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติพุเตย และยังมีที่อยู่ในราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ
มาถึงปี ๒๓๙๕ พม่าได้หลักฐานว่ากะเหรี่ยงพยายามขอความช่วยเหลือจากกองกำลังอังกฤษจึงโจมตีเผาหมู่บ้านกะเหรี่ยงรอบเมืองย่างกุ้ง เข่นฆ่าไม่เว้นแม้เด็กเล็กและคนชรา ทำให้พวกเขาต้องอพยพมาทางตะวันออกอีก
และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา
เคยสงสัยว่าเหตุใดตำราประวัติศาสตร์จึงไม่บันทึกการอพยพตามเส้นทาง “แม่น้ำ-ป่าสาละวิน” กระจ่างใจว่าเพิ่งมีไม่นานต่อเมื่อพบกะเหรี่ยงสะกอกลุ่มแรกที่ใช้เส้นทางนี้ หนึ่งในนั้นคือครอบครัวที่ให้พักอาศัย และลูกสาวกำลังนำทางเรา
“ที่จริงก่อนปู่กับพ่อของหนูจะอพยพมาอยู่ฝั่งไทย พวกเขาเคยข้ามสาละวินมาเมื่อปี ๒๕๑๘ แต่เป็นการมาทำงานในยุคที่สาละวินยังทำสัมปทานป่าไม้ พอเสร็จงานก็กลับบ้านที่กะเหรี่ยง พ่อหนูเคยเป็นครู แต่เพราะบ้านพ่อมีลูกชายมากกว่าหนึ่งคน พ่อเป็นพี่ใหญ่เลยตัดสินใจเดินเข้ากองทัพ KNU ก่อนจะมีจดหมายมาเรียกตัว พ่อได้อยู่ฝ่ายปกครองเป็นผู้นำ แม่เป็นหมอในกองทัพและได้แต่งงานกับพ่อ”
นับแต่ปี ๒๓๙๐ อังกฤษใช้ป่าสาละวินเป็นพื้นที่ทำไม้สัก มีทั้งที่ได้สัมปทานอย่างถูกกฎหมายและลักลอบตัด แม่น้ำสาละวินถูกใช้เป็นเส้นทางล่องไม้สักไปเมืองมะละแหม่ง แม้ถูกผลาญทรัพยากรต่อเนื่องหลายสิบปี แต่ยังน่าทึ่งว่าทุกวันนี้ป่าสาละวินคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้มากที่สุดแห่งหนึ่ง
“เมื่อปู่ป่วยหนักขึ้นทุกวันจึงขอให้พ่อพาไปยังดินแดนที่ญาติบรรพบุรุษเคยอยู่ในป่าสาละวินฝั่งไทย เพื่อใช้ลมหายใจสุดท้าย เป็นความยากลำบากที่จะต้องตัดสินใจ สิ่งที่ทุ่มเท ไม่เป็นดังหวัง ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังก็แทบสลาย...”
เส้นทางสุดป่าทิศตะวันตกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เหนือหัวคือที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าสบแงะ ริมน้ำสาละวินฝั่งไทย
ขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยถือเป็นปัญหาสำคัญสุดของรัฐบาลเมียนมานับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษปี ๒๔๙๑ รัฐบาลเมียนมาต้องการให้ชนกลุ่มน้อยกว่า ๑๐ ชาติพันธุ์อยู่ใต้การปกครอง อย่างกะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ ว้าแดง คะเรนนี ฯลฯ ใครไม่ยินยอมก็ส่งกองกำลังบุกอย่างป่าเถื่อน จุดไฟแค้นให้ชาวรัฐเล็กรัฐน้อยวางมีดดายหญ้าในไร่นาลุกขึ้นจัดตั้งกองทัพเรียกร้องสิทธิ์ปกครองตนโดยแยกตัวเป็นรัฐอิสระ
กะเหรี่ยงตั้ง “สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง” (The Karen National Union : KNU) รู้จักในชื่อ “กะเหรี่ยงเคเอ็นยู” ปกครองอาณาเขตที่รัฐบาลกลางกำหนดให้เรียกว่า “รัฐคะยิน” (Kayin State) แต่คนกะเหรี่ยงสะดวกใจมากกว่าที่จะเรียกขานชื่อแผ่นดินเป็นภาษาตนว่า “ก่อทูเล” (Kaw Thoo Lei)
การสู้รบเพื่ออิสรภาพดำเนินกระทั่งปี ๒๕๓๗ กองกำลังส่วนหนึ่งที่นับถือพุทธเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในกองทัพเหมือนทหารกลุ่มนับถือคริสต์ จึงแยกตัวตั้ง “กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ” (Democratic Karen Buddhist Army : DKBA) หันไปเป็นพันธมิตรกับเมียนมาช่วยปราบปราม KNU เป็นเหตุให้คนกะเหรี่ยงคริสต์-พุทธเข่นฆ่ากันเอง จนทำให้ปี ๒๕๓๘ KNU สูญเสียฐานบัญชาการใหญ่ “มาเนอปลอว์” ที่เป็นดั่ง “เมืองหลวง” และศูนย์รวม “หัวใจคนกะเหรี่ยง”
“พอเริ่มเกิดเหตุไม่ลงรอยระหว่างกะเหรี่ยงพุทธกับคริสต์ พ่อจึงส่งแม่กับพี่ของหนูและคนอีกจำนวนหนึ่งมาอยู่ชายแดนริมน้ำสาละวิน ข้ามน้ำไปมาบ่อย ๆ ตามสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ วันหนึ่งพ่อกลับมาเยี่ยมแม่ที่ใกล้คลอดหนู ได้เห็นปู่กับย่าที่ล้มป่วย เห็นน้องสาวยายวัย ๕๐ ไม่สมประกอบ และลูกที่ยังไม่โตช่วยตัวเองไม่ได้ มองย้อนกลับไปกับหน้าที่เพื่อชาติที่ทุ่มเทหมดตัวเพื่อเป้าหมายคืออิสรภาพ แต่สุดท้ายคนในชาติกลับทำร้ายกันเอง
“เมื่อปู่ป่วยหนักขึ้นทุกวันจึงขอให้พ่อพาไปยังดินแดนที่ญาติบรรพบุรุษเคยอยู่ในป่าสาละวินฝั่งไทย เพื่อใช้ลมหายใจสุดท้าย เป็นความยากลำบากที่จะต้องตัดสินใจ สิ่งที่ทุ่มเทไม่เป็นดังหวัง ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังก็แทบสลาย...”
กะเหรี่ยงร่างบางชวนคุย เธอไม่ได้สวมเชวาสีขาวมาเดินป่าอย่างอุดมคติ เสื้อยืดคู่กางเกงยีนคือสิ่งที่ได้เห็น แต่ยังไม่ทิ้งความเป็นลูกภูเขาที่ใช้ตีนคุ้มค่าเช่นเดียวกับเด็กเล็กจำนวนมากที่เดินข้ามภูเขานับสิบกิโลเมตรไปโรงเรียนได้ทุกวัน เส้นทางกลับรัฐกะเหรี่ยงจึงอาจมีความหมายแค่บ้านกับหน้าปากซอย
“ตอนเด็ก ๆ ที่พ่อพาเดินหนูรู้สึกว่ามันไกลมาก จำได้ว่าป่าดูร่มรื่น แต่เส้นทางเดินเป็นระเบียบกว่านี้ เพราะชาวบ้านใช้เป็นถนนสายหลัก เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้งานจริงจังก็คืนเป็นป่ารก ใบไม้คลุมดินจนไม่เห็นทาง พอโตมาใช้เวลาเดิน ๒ ชั่วโมงกว่าก็ถึงริมแม่น้ำ ส่วน ‘คนนั้น’ เขายิ่งเดินเร็วกว่า ใช้เวลาชั่วโมงเศษก็ถึง เขาเคยออกจากบ้านหนูตอน ๗ โมงเช้า ถึงริมแม่น้ำแล้วได้เจอเรือพอดี ไปถึงรัฐกะเหรี่ยงก็มีรถชาวบ้านให้ขอติดไปด้วย บ้านเขาต้องเดินขึ้นดอยไปอีกไกล แต่เที่ยงวันเขาก็ถึงบ้านแล้ว เพราะเดินเร็วมาก”
ตะวิหมายถึง “พะเกะ” พี่ชายลูกพี่ลูกน้อง พ่อไหว้วานให้มาดูแลความปลอดภัยพวกเรา การนัดหมายหลานชายมีหนทางเดียว คือพ่อต้องใช้เส้นทางที่เรากำลังเดินไปรัฐกะเหรี่ยงเพื่อนัดหมายให้
“ยังไม่ทันไรเลย จะไหวเรอะ !” แปลเป็นไทยได้ประมาณนั้น ตามด้วยเสียงถอนใจหลายรอบของเด็กหนุ่มที่เห็นเราลื่นล้มก้นจ้ำเบ้าตั้งแต่เริ่มเข้าป่า หลายครั้งเดินกระงกกระเงิ่นขาสั่นเกร็งเมื่อต้องผ่านทางแคบช่วงสันเขา เป็นเหตุให้เจ้าถิ่นบ่นอุบเป็นภาษากะเหรี่ยงนับไม่ถ้วนทำนองว่าเดินช้าเหลือเกิน นับเป็นการต้อนรับเพื่อนใหม่ที่ไม่เลว
พะเกะอายุมากกว่าตะวิไม่กี่ปี ชำนาญป่าสาละวิน เพราะข้ามไปมาระหว่างบ้านตนกับบ้านลุง-พ่อของตะวิแต่เด็ก แบกพืชผลท้องถิ่นที่แม่ฝากให้เอามาแบ่ง บ้างเป็นเขาที่อยากข้ามมาเที่ยวแม่สะเรียง แม้เอาจริงก็ไม่กล้าไปไหนไกลบ้านญาติให้เสี่ยงถูกจับฐานะผู้หลบหนีเข้าประเทศโดยช่องทางธรรมชาติ ซึ่งคงเอาตัวรอดยาก เพราะพูดไทยไม่ได้ เช่นเดียวกับที่พ่อของตะวิห่วงใยพวกเรา แม้ลูกสาวฟัง-พูดกะเหรี่ยงเป็น แต่ก็เป็นกะเหรี่ยงฉบับสยาม และที่นั่นไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เป็นดินแดนที่มีการเมืองแปรปรวนตลอดเวลา พะเกะ-หนุ่มกะเหรี่ยงแท้จึงเป็นที่พึ่งและเพื่อนร่วมทางที่มีความหมายกับพวกเรามาก
แม่ของตะวิเดาถูกว่าพวกเราคงใช้เวลาเดินป่านานกว่าปรกติจึงตื่นเช้ามาห่อข้าวกับไก่ทอดให้ติดย่ามไว้กินกลางทาง ราวบ่ายครึ่งที่เพิ่งเดินได้ครึ่งทางจึงพากันแวะริมธารเล็ก ๆ ในป่าเพื่อพักเหนื่อยให้เต็มที่ สูดอากาศสดชื่นให้เต็มปอด และกินข้าวให้เต็มพุง เพราะไม่รู้ว่าชะตากรรมมื้อต่อไปจะเป็นเช่นไร
น้ำใสจนเห็นกรวดชัดแจ๋วสายนี้ตะวิเตือนความจำไว้ในบันทึกส่วนตัวว่าคือ “ออเลาะโกล” (แม่น้ำออเลาะ) หนึ่งในลำน้ำสาขาย่อยที่ปลายทางจะไหลบรรจบสาละวิน หลายสิบปีก่อนเคยเป็นที่อาศัยพักพิง-ยื้อเวลาชีวิตแก่นักศึกษาเมียนมาที่หลบหนีการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมจากรัฐบาลทหาร
ต่อเมื่อนั่งเต็มก้น กินข้าวเต็มคำ แหงนหน้ามองรอบตัวเต็มตา จึงได้เห็นว่าสาละวินสวยแค่ไหน นกป่าขับขานไพเราะอย่างไร อันที่จริงระหว่างทางที่ผ่านก็ควรพบสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่มากมายที่ไม่ค่อยมีโอกาสเห็น แต่ความที่พะวงกับการเดินมองพื้นโปรยกรวดจึงไม่ได้ชื่นชมอะไรนอกจากซากสมบูรณ์ของแมลงทับที่สงบนิ่งอยู่บนพื้นหญ้า เจ้าของร่างไร้ลมหายใจแล้วแต่ยังปรากฏสีเขียวเงาวาวราวอัญมณีหล่นอยู่กลางไพร
ในป่าไม่ได้มีแค่พวกเรา เพราะที่นี่เป็นบ้านของสัตว์ป่า น่ายินดีที่ได้รู้ว่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้นอกจากมีทรัพยากรสัตว์อย่างหมีควาย เสือ กวางผา ฯลฯ ยังมีช้างป่าของพ่อตะวิร่วมอาศัย
ถัดลงเขามาด้านล่างของฐานปฏิบัติการบ้านออเลาะคือแม่น้ำสาละวินเขตชายแดนไทย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขตหมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง
“ตอนหนูยังเด็กทันเห็นชาวบ้านเลี้ยงช้างบ้านละสี่ห้าเชือก พามาปล่อยในป่าให้หากินตามธรรมชาติ พวกเขาเลี้ยงไว้ขนไม้ ลากซุง ไม่ก็ขนสินค้าข้ามฝั่งมาขาย ส่วนคนจะเดินเคียงช้าง แต่เดี๋ยวนี้คนในหมู่บ้านขายช้างไปหมด ตัวหนึ่งได้เงินเป็นล้านแล้วก็เอาไปจ่ายหนี้สิน ในป่านี้จึงน่าจะเหลือแต่ช้างของพ่อหนู”
ครอบครัวของเลโข่-พ่อตะวิมีฐานะในรัฐกะเหรี่ยง กระทั่งมาเป็นพลเมืองชั้น ๒ ในต่างถิ่น ฟังแล้วใจหนึ่งก็อยากเจอช้างป่า แต่อีกใจแย้งว่าเราต่างมีรอยทางที่ไม่บรรจบกันอาจดีกว่า
หลังอิ่มท้องถึงเวลาต้องขยับเป้กระชับบ่าเดินทางต่อ
สวนทางกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งขนสัมภาระมา
“คนฝั่งนู้นเขาเดินข้ามภูเขาหาเห็ดเผาะมาเรื่อย ๆ บางคนเพิ่งกลับจากบ้านที่ฝั่งนู้น ช่วงนี้เพิ่งเกี่ยวข้าวเสร็จก็ถือโอกาสเยี่ยมญาติ ไปเอาหมากพลูจากฝั่งนู้นมาขายฝั่งนี้ก็มี เส้นนี้เป็นทางหลักสมัยที่อพยพ ถึงทุกวันนี้จะมีทางอื่นเข้าออกสะดวกกว่า แต่คนที่อยู่ติดแม่น้ำสาละวินหรือไม่มีบัตรประชาชนก็ยังชอบใช้ บางทีคนฝั่งนู้นก็ข้ามมาซื้อข้าวสารหรือซื้อสินค้าอื่น ๆ ที่หย่อมบ้านออเลาะ หรือถ้าคนฝั่งนี้จะเข้าอำเภอแม่สะเรียงก็ต้องมาทางนี้ก่อน ค่อยนั่งเรือไปแม่สามแลบแล้วต่อรถยนต์เข้าตัวอำเภอแม่สะเรียง”
เบ็ดเสร็จพวกเราใช้เวลาเกือบ ๔ ชั่วโมง กว่าจะเดินสุดป่าทิศตะวันตก
มีเวลาพักเหนื่อยชั่วครู่ที่หย่อมบ้านออเลาะ (บ้านอูหลู่ใต้) บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าสบแงะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ที่ตั้งอยู่ริมน้ำสาละวินฝั่งไทย รอพะเกะช่วยดูต้นทางว่ามีเรือข้ามฟากพร้อมให้บริการไหม เพิ่งเดินดุ่มจนได้ที่เหมาะนั่งยองฉี่ พลันเสียงตะวิก็ตะโกนเรียกรวมพลด่วน
“เรือมาแล้วค่ะพี่ !”
เรือจ้าง
กลางไพร
สุดทางหย่อมบ้านออเลาะคือเนินทรายขนาดใหญ่ลาดสู่แม่น้ำสาละวิน
ความคุ้นเคยทำให้พะเกะกับตะวิคะเนได้ว่าต้องใช้น้ำหนักบวกความเร็วในการวิ่งเพียงใดไม่ให้สองเท้าจมทรายลึก ส่วนมือใหม่เกาะราวไม้ไผ่ก็แล้วไม่วายซวนเซและปล่อยร่างให้กลิ้งแทนเดิน
เรือหางยาวนำข้ามฝั่งในราคาคนละ ๑๐ บาท สู่บ้านโขะเกะ ชุมชนหนึ่งของเขตหมื่อตรอในรัฐกะเหรี่ยง ขึ้นจากท่าคือที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการขนาดเล็กของทหารกะเหรี่ยง เมื่อก่อนใช้เป็นท่าขนส่งสินค้าและมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรตรวจตราเรือทุกลำให้ต้องแวะลงชื่อ-จ่ายค่าผ่านทาง
พวกเขายินดีต้อนรับสู่ “รัฐคะยิน” ไหมไม่รู้ แต่เราก็ยืนอยู่แผ่นดินเดียวกันแล้ว
นับแต่เสียเมืองมาเนอปลอว์ KNU ก็สถาปนาเขต “พะอัน” ขึ้นเป็นเมืองหลวง แบ่งการปกครองเป็นเจ็ดเขต ได้แก่ กองพลน้อยที่ ๑ เขตดูตะทู ทับซ้อนจังหวัดสะเทิมตอนบนของรัฐมอญ, กองพลน้อยที่ ๒ เขตตออู อยู่รัฐกะเหรี่ยงตอนบน ทับซ้อนจังหวัดพะโคด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา, กองพลน้อยที่ ๓ เขตเกลอะ-ลวีทู ทับซ้อนจังหวัดพะโคด้านตะวันออกของเมียนมา, กองพลน้อยที่ ๔ เขตบลิเตอแหว่ อยู่เขตตะนาวศรีของเมียนมา, กองพลน้อยที่ ๕ เขตหมื่อตรอ อยู่ตอนบนของรัฐกะเหรี่ยง บางทีชาวบ้านก็เรียกตามชาวเมียนมาว่า “ผาปูน”, กองพลน้อยที่ ๖ เขตดูปลายา อยู่ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง ทับซ้อนจังหวัดมะละแหม่งทางตอนใต้ของรัฐมอญ และกองพลน้อยที่ ๗ เขตพะอัน อยู่ตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง
อันที่จริงรัฐกะเหรี่ยงมีสนามบินสองแห่ง คือ สนามบินหมื่อตรอและสนามบินพะอัน แต่ใช้คมนาคมเฉพาะในกิจกรรมทางทหาร ส่วนชาวบ้านเลือกข้ามแดนได้สามทาง สะดวกสุดคือนั่งรถยนต์ยังด่านแม่สามแลบแล้วลงเรือล่องน้ำสาละวิน อีกทางคือเดินเลาะป่าอย่างเราแล้วลงเรือเล็กที่หย่อมบ้านออเลาะขึ้นบ้านโขะเกะค่อยต่อเรือลำใหญ่ไปปลายทาง หากขี่มอเตอร์ไซค์เก่งก็อาจเลือกทางสุดท้ายคือจ่ายค่ามอเตอร์ไซค์ลงเรือข้ามฟาก พอขึ้นท่าบ้านโขะเกะก็ขี่ขึ้นภูเขาต่อได้เลย ประหยัดค่าเรือมาก แต่เสี่ยงตกเหวตลอดทางชัน
“คนนอกไม่มีใครมาเองหรอก มันไม่ใช่เส้นทางที่มาง่าย พวกฝรั่งที่เข้ามาทำกิจกรรมอาสาสมัครก็ต้องเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล สมัยก่อนครูฝรั่งต้องนั่งเรือมาจากแม่-สามแลบ ระหว่างทางพอเจอด่านตรวจของพม่าต้องช่วยหาอะไรคลุมไว้ไม่ให้เจ้าหน้าที่เห็นถึงจะพาเข้ากะเหรี่ยงได้”
ก่อนปี ๒๕๓๕ การสัญจรและขนส่งสินค้าตามน้ำสาละวินเคยเป็นไปอิสระ แต่หลังกองทัพเมียนมาเข้ามาตั้งฐานที่มั่นอยู่ริมแม่น้ำสาละวินหลายแห่งทำให้ชาวบ้านกลัว
ที่ท่าเรือบ้านโขะเกะมีเพิงเล็ก ๆ สร้างขึ้นอย่างง่ายเป็นร้านขายของชำ รวมสินค้าจำเป็นแก่ผู้ผ่านทางที่รอโบกเรือรับจ้าง มีอาหารพอประทังหิวอย่างก๋วยเตี๋ยว ผลไม้ ขนม เครื่องดื่ม
เหนือร้านค้าขึ้นเขาไป ๓๐๐ เมตร เดินเท้า ๕-๑๐ นาที เป็นที่ตั้งวิทยาลัยฝึกหัดครูกะเหรี่ยงหรือ Karen Teacher Training College (KTTC) เป็น “สถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวของรัฐกะเหรี่ยง” ออกแบบหลักสูตรโดยคณะทำงานครูกะเหรี่ยงเองซึ่งเน้นการเรียนการสอนที่คำนึงถึงด้านวัฒนธรรม
ท่ามกลางสงคราม ชาวกะเหรี่ยงมองเห็นการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของความอยู่รอด
“จะเปิดฝึกอบรมครูทุกปี เรียน ๒ ปี ฝึกสอนอีก ๒ ปี ก็นำใบรับรองไปขอออกวุฒิปริญญาได้”
แมเดอทึ เป็นครูมา ๔๐ ปีแล้ว ปัจจุบันสอนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านแมนึท่า ที่เรากำลังมุ่งหน้าไป
ชายวัยเกษียณเล่า ครูกะเหรี่ยงไม่มีการเกษียณอายุ จะเลิกสอนเมื่อไรก็ได้ เขาเองทำอาชีพครูแบบหยุดพักเป็นช่วง และแม้ขณะที่เป็นครูก็ยังทำเกษตรไปด้วย
“เพราะเงินเดือนของครูน้อยมาก สมัยที่ผมเริ่มเป็นครูได้เงินรายปี ๔,๐๐๐ บาท ปีนะ ไม่ใช่เดือน ไม่ว่าจะเป็นครูชั้นผู้น้อยหรือครูใหญ่ก็ได้เท่ากัน เดี๋ยวนี้ปรับเป็นปีละ ๙,๐๐๐ บาท ครูส่วนใหญ่จึงไม่ได้สอนหนังสืออย่างเดียว ต่างก็มีไร่ของตนเองที่ต้องทำควบคู่กันไป
“เด็กกะเหรี่ยงมีความมุ่งมั่นสูง เขาเห็นคุณค่าของการเดินทางข้ามน้ำข้ามภูเขามาฝั่งไทย บางคนฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นครูภาษาไทย เป็นนักธุรกิจ บางคนพ่อแม่มีทุนเขาก็อยากเรียนภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารทางธุรกิจ เราเองก็หวังจะเห็นเขาประสบความสำเร็จ แต่ต้องรอดูไป เพราะเด็กกะเหรี่ยงรุ่นแรกที่ได้เรียนหนังสือในไทยเพิ่งเริ่มทยอยจบการศึกษา”
“โรงเรียนที่ผมสอนอยู่มีทั้งเด็กกะเหรี่ยงคริสต์และพุทธ มีหลักสูตรการสอนถึงชั้น ป. ๔ เด็กจะได้เรียนภาษาอังกฤษ ต้องฝึกฝนจนสื่อสารคล่องถึงจะได้เรียนจบ ไม่อย่างนั้นต้องสอบตกซ้ำชั้นไปเรื่อย ๆ ถ้าจบจากโรงเรียนประถมฯ แล้วอยากเรียนต่อก็มีโรงเรียนที่สอนจนถึงหลักสูตรชั้น ม. ๔ จบแล้วก็หางานทำได้ หรือถ้าอยากเรียนต่อระดับสูงขึ้นก็เข้าไปเรียนในเมืองพม่า”
เพราะได้เกิดฝั่งไทย วัยเด็กของตะวิจึงได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านโพซอในอำเภอแม่สะเรียง
เคยมีโอกาสคุยกับ ก่อเกียรติ สอนสอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพซอ เขาสะท้อนน่าสนใจ
“เด็กกะเหรี่ยงมีความมุ่งมั่นสูง เขาเห็นคุณค่าของการเดินทางข้ามน้ำข้ามภูเขามาฝั่งไทย บางคนฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นครูภาษาไทย เป็นนักธุรกิจ บางคนพ่อแม่มีทุนเขาก็อยากเรียนภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารทางธุรกิจ เราเองก็หวังจะเห็นเขาประสบความสำเร็จ แต่ต้องรอดูไป เพราะเด็กกะเหรี่ยงรุ่นแรกที่ได้เรียนหนังสือในไทยเพิ่งเริ่มทยอยจบการศึกษา”
ตะวิก็นับเป็นเด็กกะเหรี่ยงรุ่นแรกที่อพยพมาตามเส้นทางสาละวินและได้รับโอกาสบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์โดยสองมือของครู
ครูแมเดอทึเสริมว่า ในโลกที่ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งต่างดิ้นรนเพื่อเอกราชทางสังคมและการศึกษา จึงมีแม่ไม่น้อยที่คิดว่าจะหลบหนีไปอยู่ศูนย์อพยพฝั่งไทยเพื่อรอคลอดลูกจะได้มีใบเกิดช่วยให้มีโอกาสได้รับการศึกษาและสัญชาติไทยง่ายขึ้น
“การอพยพยังมีเหตุผลมากกว่านั้น มีเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบในรัฐกะเหรี่ยงหรือเมืองพม่าแล้วอยากข้ามไปอยู่ศูนย์อพยพฝั่งไทยเพื่อรอวันไปเป็นพลเมืองประเทศที่ ๓ เขาเห็นผู้ใหญ่ไปแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเงินกลับมาพัฒนาความเป็นอยู่ให้ครอบครัวที่บ้านเกิดและเป็นโอกาสส่งต่ออนาคตให้ลูกหลาน ผมมีลูกห้าคนก็ไปอยู่ต่างประเทศ ใช้ทุนตัวเองไม่ใช่ของ UNHCR โชคดีที่ผมมีญาติอพยพไปอยู่ประเทศที่ ๓ หลายคน ทั้งออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์”
ตะวิช่วยเสริมเรื่องครอบครัวของเธอและพะเกะในช่วงที่รัฐกะเหรี่ยงเกิดสถานการณ์ไม่สงบ ต้องมาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณริมแม่น้ำสาละวินในอำเภอแม่สะเรียงว่า
“อยู่ได้เดือนเดียว พอสถานการณ์ดีขึ้นครอบครัวพะเกะก็ย้ายกลับ แม่เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเขา ไม่สบายใจเหมือนได้กลับมาอยู่บ้านตัวเอง ส่วนครอบครัวหนูเลือกอยู่ต่อ ตอนนั้นมีทางเลือกให้พวกเราลงชื่อว่าอยากไปอยู่ประเทศที่ ๓ อย่างอเมริกา แคนาดา หรือออสเตรีย ก็มีคนอยากย้ายไปเยอะนะ ต่อให้วันนี้ถามคนรุ่นพ่อแม่ว่าถ้าย้อนเวลาได้ยังจะเลือกกลับกะเหรี่ยงไหม หนูว่าพวกเขาคงเลือกอย่างเดิม แต่ถ้าถามเยาวชนที่โตมากับเหตุการณ์นั้น หลายคนคงอยากให้พ่อแม่เลือกอยู่ศูนย์พักพิงเพื่อรอวันเดินทางไปมีชีวิตที่ดีกว่าในประเทศที่ ๓”
ครูแมเดอทึเล่าว่า แม้คนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยวางใจคนเมียนมา เพราะยากจะแยกออกจากเรื่องการเมือง แต่เด็กกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ก็อยากมีบัตรประชาชนออกโดยทางการเมียนมา เพื่อจะได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
ซึ่งกะเหรี่ยงในเมียนมาขอทำบัตรประชาชนเมียนมา ง่ายกว่ากะเหรี่ยงในไทยขอเป็นคนไทย
“จะทำบัตรประชาชนพม่าแค่เขียนชื่อตัวเองถูก บอกชื่อพ่อแม่ก็ทำได้ แต่กะเหรี่ยงในไทยกว่าจะได้บัตรประชาชนรอนานมาก ใครว่าเด็กชาติพันธุ์เกิดในไทยขอสัญชาติไทยได้เลยไม่จริงเสมอไป จะได้เฉพาะเด็กที่คลอดในโรงพยาบาล หนูเกิดในไทยปี ๒๕๓๘ โดยหมอตำแย ต่อมาย้ายบ้านไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับคนอื่นที่อพยพมาจึงไม่มีหลักฐานใบเกิด พ่อต้องพาทำเรื่องย้อนหลัง ให้ผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านใกล้สุดช่วยรับรองว่าเวลานั้นแม่คลอดที่บ้านไหน ผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร ใครเป็นผู้ทำคลอด พอได้ใบเกิดค่อยทำเรื่องขอสัญชาติต่อ แต่ก็ต้องดูคุณสมบัติเราเข้าเกณฑ์ใช้สิทธิ์ตามมาตราไหน หนูมีแต่ชื่อไทยอย่างเดียวและรอมา ๒๐ ปี เพิ่งได้นามสกุลและบัตรประชาชนเป็นคนแรกของครอบครัวเมื่อปีที่แล้วเอง (๒๕๖๑)” ตะวิเล่าที่มาของตนเอง
“ส่วนพี่สาวหนูคลอดลูกที่โรงพยาบาล หลานได้ใบเกิด แต่ยังไม่ได้เป็นพลเมืองไทย เพราะติดปัญหาว่าพี่สาวถูกจำหน่ายเลขประจำตัว ผู้อพยพจะมี ‘เลขประจำตัวหกหลัก’ ไว้ติดต่อราชการและต้องไปรายงานตัวต่ออายุเลขทะเบียนทุกปี พี่สาวไม่ได้เรียนและไม่ค่อยมีธุระติดต่อราชการ พอขาดการเคลื่อนไหวเลขประจำตัวของเขาอาจถูกจำหน่ายจากระบบทั้งที่เราไปรายงานตัวด้วยกันตลอด กระทบถึงลูกของเขาให้ไม่ได้รับสัญชาติทันทีที่เกิด”
ไม่ใช่เรื่องผิดพลาดที่เกิดบ่อย แต่เมื่อเกิดแล้วบางคนใช้วิธี “สวมบัตรคนตาย”
บ่อยครั้งที่เราได้รับความวางใจจากหนุ่มสาวชาติพันธุ์อื่น ๆ เล่าความลับของพวกเขาให้ฟังว่า เป็นคุณครูตามโรงเรียนชายแดนที่ห่างไกลการแจ้งเกิดแจ้งตายนั่นละที่แนะนำวิธีนี้ และชาวบ้านก็เต็มใจร่วมมือปกปิดเพื่อเปิดโอกาสให้คนพลัดถิ่นผู้โชคร้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ได้มีอนาคต มีชีวิตอยู่ต่อในนามของผู้อื่น
เรายังไม่มีโอกาสเดินเที่ยวในวิทยาลัยฝึกหัดครูกะเหรี่ยง เพราะกลัวคลาดเรือให้ต้องกลับไปค้างคืนที่หย่อมบ้านออเลาะ และเอาแน่กับหมู่บ้านกลางป่าเขาลำเนาไพรแบบนี้ไม่ได้
ว่าจะมีเรือจ้างลำใดผ่านมาเห็นใจผู้โดยสารตกหล่นอีกไหม
สายเลือด
สาละวิน
พรมแดนเป็นเพียงเส้นสมมุติ กว่า ๒ ศตวรรษมาแล้วที่บรรพบุรุษไทย-กะเหรี่ยงใช้มหานทีสีน้ำตาลเป็นทางสัญจรไปมาหาสู่และค้าขาย
อยากสัมผัสประสบการณ์เดินทางจึงรอเรือประจำทาง
ขนาดเท่าเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ ค่าบริการชาวกะเหรี่ยงคนละ ๑๐๐ บาท คนต่างถิ่น ๒๐๐ บาท ไม่รวมค่าสัมภาระใหญ่อย่างมอเตอร์ไซค์ ระหว่างทางคนขับอาจรับผู้โดยสารตามหาดต่าง ๆ
ครั้นแดดบ่ายโรย เจ้าถิ่นแนะให้เหมาเรือดีกว่า เป็นเรือหางยาวลำใหญ่แบบโดยสารคลองแสนแสบ ราคาตามตกลง คนกะเหรี่ยงอาจจ่าย ๑,๕๐๐ บาท แม้ส่งพะเกะไปเจรจา แต่เจ้าของเรือรู้ทันว่าพาคนไทยมาจึงคิด ๑,๗๐๐ บาท แลกกับการเดินทางสู่ท่าเรือ “แมนึ” เขตหมื่อตรอให้ทันตะวันตกดิน
สองพันแปดร้อยยี่สิบกิโลเมตรของสาละวินเป็นแม่น้ำสายยาวติดอันดับที่ ๒๖ ของโลก ตั้งต้นธารบนเทือกเขาหิมาลัยไหลทักทายหุบเขาน้อยใหญ่ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน ผ่านมณฑลยูนนาน เข้ารัฐฉาน รัฐคะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง บรรจบทะเลอันดามันในเมืองมะละแหม่งของรัฐมอญ รวมระยะทอดยาวกั้นแดนไทย-เมียนมากว่า ๑๐๐ กิโลเมตร ช่วงผ่านพรมแดนไทยมีลำน้ำสาขาหลายสายในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และกาญจนบุรี ซึ่งล้วนเป็นถิ่นอาศัยชาวกะเหรี่ยง
สำหรับชาวกะเหรี่ยงพวกเขารู้จักเส้นเลือดใหญ่นี้ในชื่อ “โคโหล่โกล” หรือ “น้ำคง”
แต่คนไทยเรียกสาละวินตามชาวอังกฤษที่ฟังเพี้ยนจากเสียงชาวเมียนมาว่า “ตานลวิน”
เดือนธันวาคมที่เรามาเป็นหน้าหนาวต่อฤดูแล้ง ระดับน้ำจะลดไปจนเดือนมีนาคม-เมษายนจนเห็นหาดหิน หาดทราย ชาวบ้านอาศัยธรรมชาติสมบูรณ์ของพื้นที่ทำเกษตรริมน้ำ ปลูกพืชผักนานาโดยไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ย เพราะเป็นหาดทรายที่มีอินทรียวัตถุจากการทับถมอย่างดีในฤดูฝน ไม่เฉพาะมนุษย์ได้ประโยชน์ หมู่สัตว์ทั้งนก มดง่าม จักจั่น หิ่งห้อย ตัวแลน หมูป่า ตะพาบ ฯลฯ ล้วนใช้เป็นแหล่งอาหาร ทำรัง วางไข่
ขณะเรือหางยาวขับเคลื่อน ลมโกรกหน้าจนต้องแหงนบ่อย พลอยได้มองรอบตัวเต็มตาทึ่งในความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำสาละวินที่แทรกระหว่างหุบเขาสูงชันอันปกคลุมด้วยป่าสมบูรณ์สองฝั่ง บางช่วงเป็นคุ้งน้ำมีหาดทรายละเอียดปนโคลน ธรรมชาติสวยจริง แต่ไม่มีใจเพลิดเพลินกับแมกไม้เปลี่ยนสีตามฤดู ด้วยสติจดจ่ออยู่แต่สภาพน้ำ คนขับเรือยังต้องระวังพิเศษ คนนั่งจึงยิ่งเกร็งตลอดทางที่เรือผ่านแก่งโขดหินน้อยใหญ่ นึกถึงข่าวปี ๒๕๖๑ เรือรับจ้างชาวกะเหรี่ยงสูญหายกลางน้ำสาละวินพร้อมผู้โดยสาร ไม่นับเวลามีสงครามระหว่างเมียนมา-กะเหรี่ยง ระเบิดน้อยใหญ่ก็ร่วงสู่ผืนน้ำนี้ ในความสง่างามของภูมิประเทศจึงแฝงความพรั่นพรึงให้ต้องอธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
ช่วงหนึ่งเรือล่องผ่านแก่งเว่ยจีที่ยังปักป้าย NO DAM คัดค้าน “โครงการเขื่อนเว่ยจี” ที่ถูกกำหนดให้สร้างเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นหนึ่งใน “โครงการเขื่อนสาละวิน” โดยมีไทยเป็นผู้รับซื้อไฟรายสำคัญ เป็นการจับมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมา และบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในจีน
ท่ามกลางจุดยืนชัดเจนของกะเหรี่ยง KNU ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ
ด้วยรู้ว่าจะสร้างความเดือดร้อนแก่พลเมืองกะเหรี่ยงที่ผูกพันกับแม่น้ำสาละวิน ที่สำคัญคือรู้ทันว่าทั้งโครงการเขื่อนเว่ยจี เขื่อนดา-กวิน (ใกล้หมู่บ้านท่าตาฝั่ง) และเขื่อนฮัตจี (ใกล้อำเภอสบเมย) ล้วนเป็นโอกาสให้เมียนมาช่วงชิงพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ใช้อำนาจเคลียร์ทาง ชาวบ้านเหนือและท้ายเขื่อน ๔๔๐ ครอบครัวถูกต้อนให้ไปอยู่แปลงอพยพ ไม่อาจทำเกษตรตามแก่งน้ำ และลำบากราวค่ายกักกันทาส ถูกบังคับสร้างถนน ทำงานในเหมือง หรืองานอื่นที่สร้างรายได้ให้กองทัพเมียนมา
นาทีที่เรือล่องผ่านแก่งเว่ยจีจึงภาวนาให้การต่อสู้ของพวกเขาได้รับความเป็นธรรมบ้าง แต่หากวันใดโครงการสำเร็จ ทุกครั้งที่คนไทยกลุ่มใหญ่ใช้ไฟฟ้าน่าจะสำนึกสักนิดว่าแต่ละวัตต์มีส่วนที่ประกอบขึ้นจากคราบเลือด-หยาดน้ำตาของชาวชาติพันธุ์ที่หลั่งลงน้ำสาละวิน ในที่สุดก่อน ๔ โมงเย็น เรือหางยาวลำใหญ่ก็เทียบท่าเรือ “แมนึ” ของหมู่บ้าน “แมนึท่า”
สองคำแรกเป็นชื่อของแม่น้ำสายหนึ่ง ส่วนคำหลังแปลว่าปลายน้ำ-ที่ตั้งของแม่น้ำสายนั้น ที่นี่เป็นชุมชนใหญ่นับร้อยครัวเรือนและมีร้านค้าเยอะ แต่ละหลังปลูกกระจายกันเป็นหย่อม แต่ไม่ถึงกับห่างมาก
ขึ้นพ้นเรือต้องแบกเป้ใบเขื่องเดินขึ้นเนินทรายใหญ่แบบเดียวกับที่ออกจากหย่อมบ้านออเลาะ กว่าจะลากสังขารไปสุดเนินได้เล่นเอาหอบ มิวายถูกเร่งให้รีบเข้าที่พัก-บ้านญาติของหนุ่มสาวกะเหรี่ยง จัดแจงหาที่นอนก่อนฟ้ามืด เพราะเกือบทุกบ้านไม่มีไฟฟ้า คนไทยจากเมืองสะดวกซื้ออาจใช้ชีวิตไม่สะดวก
เดินผ่านกลุ่มชายหญิงที่ประแป้งจนหน้าเหลืองด้วยสมุนไพร “ทานาคา” นั่งสนทนายามเย็น พากันชะงักเมื่อเห็นผู้แปลกหน้า หนึ่งในนั้นส่งอัธยาศัยทักทายด้วยภาษาที่เราฟังไม่เข้าใจ
ครั้นขมวดคิ้วส่งไปเขาก็สวนยิ้มกลับมา ยกมือเกาหัวแกรก ๆ แล้วบ้วนน้ำหมากปรี๊ดลงพื้นจนผืนทรายเปรอะสีแดง
หมู่บ้าน “แมนึท่า” คือชุมชนท่าเรือขนาดใหญ่ของเขตหมื่อตรอ เป็นจุดลงเรือของฝูงวัวที่เจ้าของเตรียมพาไปขายต่อยังแม่สามแลบฝั่งไทย ยามบ้านเมืองพักสงครามคนกะเหรี่ยงจะมารอซื้อของที่นำเข้าจากแม่สามแลบ เป็นที่นิยมมากกว่าสินค้าจากเมียนมา
บาดแผล
ของนักรบ
หลังอาทิตย์ลับฟ้าชุมชนบนภูเขาก็มืดเร็ว ไฟฉายคือเพื่อนนำทางสำรวจหมู่บ้านยามเย็น
เกือบลืมว่าวันนี้เป็น “วันคริสต์มาสอีฟ” ที่มีความหมายกับชาวกะเหรี่ยงคริสต์ ต่อเมื่อผ่านบ้านหลังหนึ่งที่มีชาวบ้านรวมตัว ๑๐ กว่าราย อีกจำนวนหนึ่งรวมหมู่ทำพิธีสวดมนต์ขอพรในโบสถ์ที่ตั้งอยู่สูงสุดบนภูเขาของหมู่บ้าน ค่อยกลับมาขับร้องบทสวดข้ามคืนกันต่อที่บ้านตนหรือรวมตัวที่บ้านญาติ
ผิวเผินนี่คือ “เย็นแรกของวันคริสต์มาส” ที่จะเริ่มต้นนับเป็นวันแรกของปีใหม่เมื่อพระอาทิตย์ตก ตามธรรมเนียมการนับปีของคริสเตียน และมีกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการประสูติของพระเยซู
ลึกลงไป วันนี้มีความหมายกรีดหัวใจพวกเขามากกว่าเรื่องราว “การเกิดความสว่างกับความมืด” ในปฐมกาล แต่หมายถึง “ความตายและสงครามแห่งความเกลียดชัง” ในความเป็นศัตรูคู่แค้นกับทหารเมียนมา หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมียนมาอาศัย “วันคริสต์มาสอีฟ” สังหารชาวกะเหรี่ยงเกือบ ๒๐๐ คน ขณะทำพิธีในโบสถ์
ก่อนเข้านอนพะเกะพาตะวิไปพบผู้นำหมู่บ้านเพื่อออกหนังสือรับรองการเดินทางอย่างถูกต้องตามระเบียบ ตะวิกลับมาพร้อมกระดาษที่ฉีกจากสมุดทั่วไป มีตราประทับกำกับเหนือกระดาษที่ใช้เป็นใบรับรอง รายละเอียดที่บันทึกด้วยอักษรดัดแปลงจากเมียนมานั้นระบุว่า
ใครเป็นผู้พาคนแปลกหน้ามาในพื้นที่ พ่อแม่ชื่ออะไร อยู่บ้านไหน พาใครมาบ้าง จำนวนกี่คน มาทำอะไร จะพักที่ไหนบ้าง กับใคร อยู่กี่วัน วันที่เท่าไรถึงเท่าไร ฯลฯ
“หนูบอกว่ามาเที่ยวบ้านน้าซึ่งก็คือแม่ของพะเกะ มีคนไทยตามมาด้วยสองคน ผู้หญิงกับผู้ชาย”
เอกสารลายมือมีสองชุด ชุดหนึ่งผู้นำหมู่บ้านเก็บเป็นหลักฐานการมาถึงสถานที่นั้นเป็นจุดแรก อีกชุดให้คนต่างถิ่นเก็บไว้หากคนหมู่บ้านอื่นขอตรวจเพื่อคัดกรองความปลอดภัยซึ่งถือเป็นเรื่องเด็ดขาดที่ชาวชุมชนต้องช่วยเป็นหูเป็นตา เพราะหมายถึงความปลอดภัยของคนกะเหรี่ยงเอง
“ปรกติหนูไม่เคยต้องทำเอกสาร เพราะมากับพ่อซึ่งเป็นที่รู้จักของคนที่นี่ คราวนี้ถึงมีพะเกะนำทางมา แต่ก็มีคนไทยมาด้วย และถึงหนูจะเป็นกะเหรี่ยงก็ไม่ได้เกิดหรืออยู่อาศัยที่นี่ บางคนจึงไม่เชื่อสนิทใจ ขนาดหนูพูดและฟังเขาออก แต่เขาก็บอกว่าสำเนียงหนูไม่เหมือนคนกะเหรี่ยง”
อย่างไรก็ตามกระดาษสมุดขนาด A4 แผ่นนี้ก็ทำให้เธอยิ้มมีความสุข คล้ายได้การยอมรับสัญชาติกะเหรี่ยงบนแผ่นดินเกิดของพ่อแม่เป็นของขวัญคริสต์มาสอีฟ ก่อนที่พวกเราจะแยกย้ายหลับนอนบนเรือนไม้ที่ใช้เป็นครัวแยกออกจากตัวบ้าน ท่ามกลางเสียงสวดมนต์สลับขับร้องเพลงอวยพรจากบนเรือนอาศัยของเจ้าบ้านกับญาติ ๆ ที่ประสานเสียงขับกล่อมข้ามคืน
หนังสือรับรองการเดินทางเข้าเขตแดน ประทับตราโดยผู้นำหมู่บ้านแรกที่ไปถึง สำคัญขนาดใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้ถือหนังสือนี้ไม่ใช่ “สายลับศัตรู”
โรงเรียนประถมศึกษาประจำหมู่บ้านแมนึท่า มีหลักสูตรถึงชั้น ป.๔ บางส่วนอาจเรียนต่อยังโรงเรียนที่มีสอนถึงชั้น ม.๔ จบแล้วจึงหางานทำ หรือไปเรียนต่อในเมียนมา
พะเกะมาหาตั้งแต่ ๖ โมงเช้า เมื่อคืนเขาแยกไปนอนที่บ้านของคนรู้จักกันอีกหลัง
ขณะที่เรากำลังแปรงฟันในครัว เขาเล่าให้ตะวิฟังว่าเมื่อคืนเกิดเสียงปืนดังมาก เช้านี้ชาวบ้านจึงคุยกัน มีบางคนตั้งข้อสังเกตการมาถึงของเรากับช่างภาพด้วยคำถามทำนองว่า
“ไอ้คนไทยสองคนนั้นเป็นสายลับพม่าหรือเปล่า”
แทบสำลักน้ำบ้วนปาก อาจเพราะพวกเขาหวั่นจะเกิดเหตุซ้ำรอยคืนวันคริสต์มาสอีฟ
“หลายครั้งที่สายลับศัตรูแฝงตัวเข้ามาทำลายความปลอดภัย ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมและทิ้งแผลความเจ็บแค้นไว้ หลายปีก่อนน้าของหนูก็สูญเสียลูกสาววัย ๘ ขวบ ขณะฝ่ายตรงข้ามไล่จี้ให้ต้องวิ่งหนี เด็กน้อยพลาดท่าตกน้ำและจากไปอย่างน่าสงสาร คนเป็นพ่อแม่ได้แต่มองการจากไปของลมหายใจลูกช้า ๆ”
ตะวิอธิบายเหตุผลที่ชาวบ้านชิงชังทหารเมียนมาและระแวงคนแปลกหน้าที่เข้ามาหมู่บ้าน
ก่อนรถรับจ้างจะมาช่วงสาย ยังมีเวลาสำหรับเดินเล่นทำความรู้จักคนในหมู่บ้าน แม้บางขณะจะรู้สึกเกร็งกับสายตาบางคู่ที่กำลังจับจ้องยื่นบทให้เป็นผู้ต้องสงสัย
ที่บริเวณสนามเด็กเล่นของโรงเรียนประจำหมู่บ้านบนภูเขา ชายนุ่งโสร่งยาวพรางร่างไร้ขาข้างหนึ่ง ใช้ไม้ค้ำยันประคองเดินกะโผลกกะเผลกสวนทางมา ตะวิกระซิบให้รู้ว่าเขาเป็นอดีตทหารนักรบ KNU พร้อมกับพ่อของเธอซึ่งอยู่ฝ่ายการปกครอง ส่วนเขาอยู่หน่วยรบ อวัยวะที่หายไปคือผลจากสงคราม
“ตอนนี้ผมอายุ ๖๑ ปี เป็นทหารหน่วยรบ ๔๐ ปี ตั้งแต่เกิดทุกคนก็ตกอยู่ในภาวะสงครามทุกรุ่น มีแต่คนตั้งคำถามว่าเมื่อไรสงครามจะสิ้นสุด แต่ไม่มีใครตอบได้ครอบครัวไหนที่ลูกชายไม่ยอมเป็นทหารต้องส่งลูกสาวเป็นตัวแทน บางคนจึงหนี เพราะไม่อยากเป็น กองทัพก็ส่งทหารไปจับกลับมา”
แต่แรกเราคิดว่ากะเหรี่ยงทุกคนล้วนภูมิใจในความเป็นนักรบก่อทูเล เห็นจากคนหนุ่มที่พบตามรายทางนิยมสวมเสื้อลายพราง แขนเสื้อของบางคนยังประดับอาร์มรูปธงชาติกะเหรี่ยง จนเมื่อได้สนทนากับชายตรงหน้า
วาทกรรมที่ว่าเด็กหนุ่มต่างสมัครเข้าเป็นทหารเพื่อต่อต้านเมียนมาและชำระหนี้แค้น จึงอาจเป็นอุดมการณ์ของคนที่เกิดทันประสบเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ และเหตุการณ์วันคริสต์มาสอีฟ ส่วนคนที่เกิดหลังจากนั้นไม่ใช่ทุกคนที่เต็มใจเป็นนักรบก่อทูเล ในจำนวนผู้อพยพหนีตายข้ามสู่ประเทศไทยจึงมีไม่น้อยที่เป็นทหารกะเหรี่ยงเอง
“ไม่มีทางเลือกว่าจะเป็นหรือไม่เป็น ทหารกะเหรี่ยงไม่มีสวัสดิการ มีข้าวมีน้ำให้กินเท่านั้น เป็นแล้วออกไม่ได้นอกจากจะหนีออกจากรัฐไป ทุกวันนี้ผมก็ยังถือเป็นทหารอยู่เพราะไม่มีปลดประจำการ แต่อยู่กลุ่มผู้บกพร่อง ไม่ต้องไปรบแล้ว”
อดีตทหารประจำหน่วยรบของ KNU อวัยวะที่หายไปคือผลจากสงคราม เช่นเดียวกับชายกะเหรี่ยงอีกจำนวนมากผู้มีหน้าที่ต้องเสียสละตนเพื่อแผ่นดินเกิด
“ถ้าเลือกได้ผมอยากอยู่ฝั่งไทย อย่างน้อยก็เป็นแผ่นดินที่ปลอดภัยกว่า ประเทศของหนูดีนะ...สงบ”
เขาหันมาสบตาเรา ฟังแล้วแอบหน้าม้าน แต่ก็ส่งยิ้มแห้งกลับไปพร้อมคำขอบคุณ
“ฝั่งนี้ดุเดือดมาก ต้องอยู่อย่างเตรียมพร้อมหนีตายตลอดเวลา สมัยก่อนนอกจากปลูกบ้านบนดินแล้วคนกะเหรี่ยงจะสร้างบ้านอีกหลังบนแพริมน้ำด้วย พอมีสงครามก็ย้ายแพไปอยู่ฝั่งไทย จบสงครามค่อยกลับมาสร้างบ้านใหม่ เมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อนที่หมู่บ้านนี้เคยโดนทหารพม่ามาเผา ชาวบ้านหนีไปฝั่งไทยเยอะ ที่ไปแล้วรอดก็ถือว่าโชคดี ที่ถูกส่งกลับมาก็เยอะ เพราะต่อให้ข้ามสาละวินไปถึงฝั่งไทยได้ก็จะมีทหารไทยป้องกันเขตแดนอีก แต่ทหารไทยยังดีกว่า เพราะถึงไม่อยากให้อยู่ แต่เขาก็ไม่ได้ฆ่าพวกเรา”
จวบทุกวันนี้ชายแดนไทย-เมียนมายังปรากฏเหตุการณ์ชาวกะเหรี่ยงลี้ภัยข้ามพรมแดนสาละวินเสมอ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ทั้งที่ทยอยมาไม่กี่คนและอพยพมากลุ่มใหญ่
“คนที่อพยพสำเร็จและรู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน ไปแล้วมีหนทางให้ทำกินก็ไป แต่ผมไปไม่ได้ เพราะไม่มีญาติอยู่ที่นั่น ไม่ใช่คนไทยทุกคนจะยอมรับพวกเรา บางคนไปแย่งที่ทำกินเขาถูกทำร้ายจนตายก็มี”
แดดเช้าเริ่มสาดแสง เขาพยายามทรงตัวยืนคุยกับเราบนพื้นภูเขาขรุขระ ยังพอใจที่มีเพื่อนคุยและได้แบ่งปันเรื่องในอก ก่อนพาลงทางภูเขามาแยกกันที่ย่านชุมชนด้านล่าง แม่บ้านหลายคนจับกลุ่มคุยหน้าบ้านพลางดูลูกน้อยวิ่งเล่นฟุตบอลหนังเทียมสีขะมุกขะมอม พลอยนึกถึงบทสนทนาสุดท้าย
“ถึงทุกคนจะมีหวังว่าวันหนึ่งสงครามจะจบ แต่วันนี้ก็ยังเป็นฝันรางเลือน ที่พวกเราต้องสู้ไม่ใช่เพื่อเอกราชอย่างเดียวเราทำเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและครอบครัว ไม่มีใครอยากถูกเกณฑ์เป็นแรงงานในกองทัพพม่า ไม่มีใครอยากให้ผู้หญิงในบ้านโดนฉุด ถ้าไม่มีใครคุ้มครองก็มีโอกาสถูกข่มเหง ปล้นบ้านเอาผลผลิตทุกอย่างที่พวกเรามีไป แต่สิ่งที่ทำให้ไม่อยากเป็นทหารคือความกลัวตาย เรารักแผ่นดินเกิดก็จริง แต่ถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่ารักแล้วไม่ได้อะไร รักอย่างไรก็ต้องตาย”
เพราะในชีวิตของคนคนหนึ่งไม่ได้มีแค่ชาติ พวกเขายังมีครอบครัวด้วย
แผ่นดินทอง
ของก่อทูเล
ตั้งใจนั่งรถประจำทางที่เมื่อถึงเวลาจะมาจอดรอผู้โดยสารหน้าหมู่บ้านแมนึท่า
แต่โชคไม่เข้าข้าง รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่มี ต้องอาศัยหารไปกับรถปิกอัปที่คนอื่นเหมา
ปรกติแล้วที่นั่งคู่คนขับเป็นที่นั่งดีที่สุด เวลานี้ยกสิทธิ์ให้ผู้เหมารายแรก รองลงมาคือที่นั่งหลังคนขับ ซึ่งเป็นเราเบียดกับช่างภาพและตะวิ ด้วยสภาพถนนหนทางค่อนข้างสมบุกสมบัน ผ่านป่าฝ่าดงไม้ลัดเลาะไหล่เขาลูกแล้วลูกเล่า เป็นป่าสมบูรณ์ที่มีแต่พืชพรรณใบไม้ขนาดใหญ่ ชนิดที่นักเล่นไม้ใบราคาแพงมาเห็นคงตาวาว การเดินทางข้ามหมู่บ้านในเมืองเดียวกันจึงใช้เวลานาน
เราลงหมู่บ้านระหว่างทางเท่าที่จะไม่รบกวนเส้นทางมุ่งหน้าของผู้เหมารายแรก มีเวลาพักได้เพียงแป๊บพะเกะก็พาต่อมอเตอร์ไซค์ของคนในชุมชนที่จ้างให้ช่วยไปส่งหมู่บ้านเดะปูโหนะ
ถ้าดูแผนที่ GPS หมู่บ้านเดะปูโหนะของเขตหมื่อตรอ ตั้งอยู่ห่างจากบ้านของตะวิที่อำเภอแม่สะเรียงเพียง ๓๐ กว่ากิโลเมตร สามารถเดินทางจากแม่สามแลบมาถึงที่นี่โดยรถยนต์ การติดต่อซื้อสินค้ามาขายในชุมชนจึงไม่ยากเย็น
การพัฒนาเมืองของที่นี่ดูเจริญกว่าชายแดนไทย อย่างน้อยถนนหนทางก็เข้าถึงชุมชนมากกว่า มีไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แบบทำเองใช้ทั่วถึง อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย แต่มีบ้านหนึ่งเปิดให้บริการในราคาเหมา ๒๐ บาท บ้านเรือนหลายหลังมีขนาดใหญ่และสร้างด้วยไม้สักอย่างดี ชาวบ้านดูมีฐานะกว่าหมู่บ้านอื่นที่ผ่านมา อันที่จริงการปลูกบ้านด้วยไม้สักทั้งหลังถือเป็นธรรมดาของคนที่นี่ ถ้าจะนับว่ารวยจริงต้องปลูกด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
บ้านหลังใหญ่ของลุงตะวิที่เรามาตั้งอยู่ติดถนนลูกรังที่รถสวนได้แบบเบียด ๆ แต่มีฐานะเป็น “ถนนสายหลัก” ใช้สัญจรไปมาระหว่างแม่สามแลบ-ประเทศไทย
ลุงของตะวินับถือนิกายคาทอลิกเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชุมชน ต่างจากชาวกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านแมนึท่าซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ฝ่ายโปรเตสแตนต์
ชายผู้ชอบเคี้ยวหมากตรงหน้าเป็นคนอารมณ์ดี หัวเราะง่าย และมีลูกหลายคน ส่วนใหญ่แต่งงานมีครอบครัวจึงย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น แต่อาภัพเมื่อลูกคนโตออกเรือนแล้วเสียชีวิตจากการจมน้ำ ส่วนคนต่อมาเกิดอุบัติเหตุจนพิการเป็นเหตุให้สูญเสียคนรักจึงผูกคอตาย ปัจจุบันลุงอาศัยอยู่กับลูกสาวคนหนึ่ง ส่วนภรรยาแยกไปอยู่บ้านลูกอีกคนเพราะอยากช่วยเลี้ยงหลาน ชายวัยหลังเกษียณอาศัยทุนรอนที่พอมีเปิดร้านขายของชำขนาดเล็กใต้ถุนบ้าน มีขนม อาหารแห้ง ของใช้ประจำวันเล็กน้อยที่นำมาจากเมืองไทยกับเมียนมา ขนมเมียนมาหลายยี่ห้ออร่อยดีและมีราคาถูก โดยเฉพาะพวกขนมถั่วตัดและขนมปังอบกรอบ
“ร้านค้าในชุมชนฝั่งนี้มีทั้งที่ไปซื้อสินค้าพม่าจากในอำเภอหมื่อตรอ และซื้อสินค้าไทยจากแม่สอด แม่สะเรียง แล้วนำลงเรือที่ท่าแม่สามแลบ คนกะเหรี่ยงนิยมใช้ของจากฝั่งไทยมากกว่าพม่าและจะไปรอซื้อของที่นำเข้ามาจากแม่สามแลบกันที่แมนึท่า ส่วนสินค้าของกะเหรี่ยงผลิตเองแทบไม่มี ที่หนูเคยเห็นมีแค่หมากหวาน คล้ายลูกอม ผสมนู่นนี่นั่นจนได้รสหวาน สีแดง ขายอันละบาท”
สาวกะเหรี่ยงตั้งข้อสังเกต คนที่มีร้านค้าไม่ได้แปลว่ามีฐานะ จะมีกำไรมากต่อเมื่อเปิดร้านใหญ่มีของเยอะ เพราะนอกจากได้ขายปลีกก็ยังมีคนมารับเหมาทีละเยอะ ๆ นำไปขายต่อในชุมชนเล็กอีกทอด ส่วนร้านเล็ก ๆ ที่มีของให้เลือกไม่กี่อย่าง รายได้ก็แค่อยู่ไปวัน ๆ บางทีก็ไม่ค่อยคุ้มทุน
แม้เมืองหมื่อตรอจะถือเป็นเขตชนบท และหมู่บ้านเดะปูโหนะก็เป็นชุมชนชายขอบของรัฐกะเหรี่ยง แต่ความเห็นส่วนตัวเราว่าที่นี่สะดวกสบายกว่าชุมชนกะเหรี่ยงในชายแดนไทยหลายแห่ง อย่างที่หย่อมบ้านคิดถึงที่ตั้งบ้านของตะวิในอำเภอแม่สะเรียง แม้มีไฟฟ้าใช้ แต่การปล่อยกระแสไฟก็ติด ๆ ดับ ๆ ถนนหนทางสู่ชุมชนบนภูเขายังเป็นเรื่องยากเข็ญ และทั้งหมู่บ้านก็มีร้านขายของแค่สองร้าน หนึ่งในนั้นเป็นร้านของพี่สาวตะวิที่เริ่มจากเงินลงทุนพันกว่าบาท อดออมจนซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่ไปขนของจากในเมืองแม่สะเรียงกลับมาขายในชุมชน เก็บหอมรอมริบต่อจนซื้อรถกระบะเพื่อบรรทุกของได้มากขึ้นและสามารถไปเลือกของได้ไกลขึ้นถึงแม่สามแลบ เวลาจะออกจากหมู่บ้านทีต้องขับรถลงภูเขาตั้งแต่ตี ๒ ตี ๓ เพื่อให้ไปถึงที่หมายแต่เช้าจะได้มีเวลาเลือกข้าวของดี ๆ นำกลับไปขายในชุมชน
ถึงอย่างนั้นคนกะเหรี่ยงก็ยังชอบค้าขาย และรู้จักทำการค้าชายแดนกับไทยมาเนิ่นนานนับแต่รู้ว่าแม่น้ำสาละวินเป็นทั้งเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าทางน้ำ คนไทยอย่างเราติดภาพอุดมคติเองว่าสังคมกะเหรี่ยงเป็นสังคมเกษตรกรรม ดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกิน ผู้คนยึดวิถีแลกเปลี่ยนมากกว่าซื้อขาย
ตามจริงเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เงินก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของคนทุกสังคม
“ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีที่ให้ทำไร่ทำนา เพราะพื้นที่ราบบนภูเขามีน้อย คนไม่มีนาจึงมีมากกว่า พวกเขาต้องซื้อข้าวกิน และข้าวสารก็เป็นสิ่งมีราคาสำหรับคนที่ต้องซื้อ ครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินจึงต้องค้าขาย”
ตะวิเล่าขณะที่ลุงของเธอต้อนรับหลานรักด้วยการพาเดินเที่ยวชุมชน
วันปรกตินอกจากรอลูกค้ามาซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ ภารกิจยามว่างคือหุงหาอาหารให้เจ้าพวกหมูตัวใหญ่ในคอกและฝูงไก่ที่ชอบเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารเองนอกเล้ามากกว่า พอวันนี้มีหลานมาเยี่ยมเยียนค้างคืนด้วยจึงมีความสุขเป็นพิเศษ ยอมฝากร้านค้าให้ลูกสาว-แม่ลูกอ่อนเฝ้าชั่วคราว ทั้งที่ปรกติแสนจะห่วงใย
แม้หมู่บ้านเดะปูโหนะจะอยู่ในการปกครองของกองพลน้อยที่ ๕ แต่ที่นี่ก็อยู่ไม่ไกลเมืองหมื่อตรอซึ่งใกล้จุดที่มีแผนสร้าง “เขื่อนเว่ยจี” ของสาละวินตอนบน ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารเมียนมาที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ หลังพระอาทิตย์ตกดินรู้กันว่าควรอยู่แต่ในบ้าน เพราะแม้ชุมชนจะดูเหมือนเงียบสงบ แต่ความจริงก็แฝงด้วยภัยตลอดเวลา
เสน่ห์ของ “รัฐกะเหรี่ยง” คือแผ่นดินที่เรื่องราวของผู้คนยังคงมีมนตร์ขลังและความลี้ลับ เช่นเดียวกับยอดภูผาและป่าไพรอันอุดมสมบูรณ์ทว่าเร้นลับ ยากที่คนนอกจะเข้าถึง
จังหวะที่ลุง-หลานพูดคุย หากมีประเด็นน่าสนใจตะวิจะคอยแปลเป็นไทย
สองสามวันที่อยู่ในชุมชนมีหลายเรื่องที่ได้เห็นได้ฟังแล้วตื่นใจ หนึ่งในนั้นคือตอนที่ลุงพาไปเดินเล่นแถวแม่น้ำ “ปเว-โลโกล” หรือที่ชาวเมียนมาเรียก “ยูนซะลิน” แม่น้ำสาขาที่มีต้นน้ำจากชายแดนรัฐกะเหรี่ยงบริเวณที่ติดรัฐคะเรนนี ส่วนปลายน้ำจะไหลไปบรรจบแม่น้ำสาละวิน ได้รู้ว่าสมัยก่อนเคยมีการ “ร่อนทอง”
“ทุกวันนี้ในเมืองหมื่อตรอบริเวณพื้นที่ภูเขาติดแม่น้ำก็มีเหมืองทองที่ยังขุดอยู่ เจ้าของที่ร่ำรวยทั้งนั้น ชาวบ้านที่รับจ้างร่อนทองเป็นอาชีพเลยก็มี จะตกลงค่าแรงกับเจ้าของเหมืองว่าต้องการค่าแรงเป็นเงินหรือจะแบ่งจากทองที่ร่อนได้ไป บางคนร่อนทองจนสร้างบ้านซื้อรถได้ ถ้าใช้รถแบ็กโฮขุดแป๊บเดียวก็เจอทองแล้ว วันหนึ่งหาได้ ๒-๓ กิโลกรัม แต่ถ้าใช้คนขุดก็นานหน่อย”
ชายวัยเกษียณเล่าว่าปีที่แล้วเขาไปรับจ้างอยู่ ๔-๕ วัน ได้ค่าแรงเป็นเศษทองที่ยังไม่ได้หลอม นำไปขายได้เงิน ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท ฟังแล้วหูผึ่ง รู้สึกเหมือนลูกตากำลังเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นประกายทอง
แม้จะอยู่บนแผ่นดินต้นน้ำที่มีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเอื้อมถึงทรัพยากรในรัฐเล็ก ๆ แห่งนี้
“หนูเคยคุยกับพี่คนหนึ่ง พ่อเขาเป็นนายพล ตัวเขาทำเหมืองทองเข้าปีที่ ๖ ใครจะทำเหมืองทองต้องมีเงินทุน แค่ค่าขอใบอนุญาตประกอบการก็ประมาณ ๒ แสนบาท แล้วไปหาซื้อที่ดินของชาวบ้านที่จะทำเหมือง ราคาที่ดิน ๑ เอเคอร์ขายราว ๑ ล้านบาท แต่ไม่ได้สงวนไว้ให้เฉพาะคนกะเหรี่ยงหรอก นักธุรกิจไทย พม่า จีน แค่มีเงินมาลงทุนก็ได้สิทธิ์แล้ว”
ว่างจากฤดูทำเกษตรจึงมักมีนักหาทองสมัครเล่นด้วยเครื่องมือง่าย ๆ แม้รู้ว่าการนำทองขึ้นจากแหล่งธรรมชาติเป็นโอกาสที่แสนลำบากยากเย็น แต่ก็ยังคุ้มที่จะพยายามขุดหา-ร่อนทองตราบที่ยังไม่รู้เหนื่อย เพราะอาจเป็นหนทางพลิกชีวิตลำเค็ญของลูกหลาน “ก่อทูเล” ให้มั่งคั่งได้
ก่อ (kaw) คือแผ่นดิน ทู (thoo) แปลว่าทอง และเล (lei) หมายถึงหน้าผา
บางทีพวกเขาอาจเป็นคนดวงดีที่ธรรมชาติรอคอยให้มาพบ-กลั่นกรองเอาไป
หรือหากวันหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกให้ต้องอพยพพลัดถิ่นจะได้ไม่ลำบากเกิน
ปีใหม่
กะเหรี่ยงคริสต์
เพิ่งเข้าใจความหมาย
“Merry Christmas and Happy New Year”
ชินว่า ๒๕ ธันวาคม คือคริสต์มาส ๓๑ ธันวาคม คือสิ้นปี และ ๑ มกราคม คือปีใหม่ แต่สำหรับที่นี่ “เทศกาลปีใหม่” เริ่มตั้งแต่เย็นวันคริสต์มาสอีฟยาวจนสิ้นเดือนธันวาคมหรือต้นมกราคม ขึ้นอยู่กับปฏิทินข้างขึ้นข้างแรม ทุกชุมชนมีกิจกรรมเฉลิมฉลองตามอัตภาพ แต่กองทัพ KNU จะเป็นเจ้าภาพจัดงานรื่นเริงใหญ่ให้ประชาชน ปีที่แล้วจัดที่หมู่บ้านเดะปูโหนะ ปีนี้ย้ายไปจัดที่หมู่บ้านแมนึท่า
“เมื่อก่อนทางการจัดงานปีใหม่ให้นานเป็นสัปดาห์ เดี๋ยวนี้เหลือแค่วันเดียว ตอนเช้ามีพิธีสวดในโบสถ์ เลี้ยงอาหาร ตอนบ่ายแข่งกีฬา แจกขนม แจกของใช้ แต่ปีนี้คงไม่คึกคัก เพราะชาวบ้านแห่ไปฝั่งไทย”
รู้ภายหลังว่า ๒๖-๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ ชาวกะเหรี่ยงในไทยจัดกิจกรรม “ปีใหม่กะเหรี่ยงโลก ครั้งที่ ๑” ที่หมู่บ้านแม่ต๋อม ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นงานใหญ่ที่ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้ชาวกะเหรี่ยงในไทย เมียนมา และประเทศต่าง ๆ รับรู้ ชาวรัฐกะเหรี่ยงเมื่อรู้ว่าในงานจะมีรายการมวยดังจากช่อง ๗ ของไทย ซึ่งนักมวยหลายคู่เป็นชาวกะเหรี่ยง มีเวทีประกวดสาวงามที่ผู้สมัครเป็นกะเหรี่ยง ผู้ชนะจะได้มงกุฎพร้อมเงินสด ๑ แสนบาท อันดับ ๒ ได้สายสะพายกับเงินสด ๗ หมื่นบาท อันดับ ๓ ได้เงินสด ๕ หมื่นบาท จึงอยากพากันไปให้กำลังใจและถือโอกาสเที่ยวไทย เพราะในช่วงเวลาพิเศษแบบนี้การเข้าออกระหว่างดินแดนมักได้รับการผ่อนปรน
ถึงอย่างนั้นวันที่ ๒๖ ธันวาคม กองทัพกะเหรี่ยงก็ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านเหงาเกิน จึงได้เห็นกองกำลังขนาดเล็กที่มีนายพลมาร่วมสวัสดีปีใหม่ชาวบ้าน เด็ก ๆ ตื่นเช้าสวมชุดชาติพันธุ์พร้อมหน้าบริเวณโรงเรียนของหมู่บ้าน หวังได้รับแจกขนมและอาหารแห้ง เด็กโตถูกเกณฑ์มานั่งจดรายงานปราศรัยของผู้นำ บ้างช่วยนับจำนวนผู้ร่วมชุมนุม โดยแจกกิ่งไม้ให้คนละกิ่งเพื่อหย่อนลงกระสอบที่แขวนอยู่หน้าทางเข้าออกสองกระสอบเพื่อแยกเพศชาย-หญิง ราว ๙ โมงจึงเคลื่อนพลตบเท้าเข้าอาคารอเนกประสงค์ และไม่ช้าอาคารไม้มุงหลังคาสังกะสีที่จุผู้ชุมนุมได้กว่า ๕๐๐ คนก็แน่นขนัด หัวหน้าทหารออกมาพูดประวัติความเป็นมาของการจัดงานปีใหม่ บางจังหวะมีเสียงพลทหารขานรับแข็งขัน การปราศรัยเป็นไป ๑ ชั่วโมง
บรรดาเรื่องปราศรัยที่ฟังไม่ออก ตะวิช่วยจับความได้กระท่อนกระแท่น
“ผู้นำคนหนึ่งพูดว่ากองทัพกะเหรี่ยงมีแผนเตรียมสู้รบครั้งใหญ่กับพม่าในปี ๒๐๒๐ เพื่อเคลียร์เรื่องที่คาราคาซังให้จบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดเขตพื้นที่หรือถนนหนทาง พ่อหนูก็เคยบอกแบบนั้น ถึงเขาจะอยู่ฝั่งไทย แต่ติดตามฟังข่าวจากกองทัพกะเหรี่ยงตลอดและชอบเก็บมาเครียด กังวลว่าถ้าทหารสองฝั่งคุยกันไม่ลงตัวจะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง ซึ่งคงเกิดแน่ แค่ยังไม่รู้เวลาที่แน่ชัด”
หลังส่งสัญญาณบางอย่างถึงประชาชนก็ปิดท้ายด้วยความบันเทิง เยาวชนชาย-หญิงสวมชุดชาติพันธุ์ที่ใส่เป็นปรกติในชีวิตประจำวันออกมาแสดงการร้องเพลงประสานเสียงและเล่นดนตรีพื้นถิ่นประสาชนชาติที่หลงใหลในเสียงเพลง กระทั่งราว ๑๐ โมงครึ่ง กิจกรรมสวัสดีปีใหม่จากกองทัพก็จบลงออกจะเหงาเอาการสำหรับคนต่างถิ่นที่วาดฝันจะเห็นกิจกรรมรื่นเริงเอิกเกริกเช้าวันต่อมาเราพากันเก็บสัมภาระออกเดินทางไปเที่ยวปีใหม่ต่อที่บ้านพะเกะ
ในอดีต “วันคริสต์มาสอีฟ” เป็นทั้งความรื่นเริงและบาดแผล ครั้งทหารเมียนมาบุกสังหารชาวกะเหรี่ยงเกือบ ๒๐๐ คน ขณะทำพิธีในโบสถ์ ปัจจุบันแม้บรรเทาความเจ็บแค้น แต่การเติบโตของเด็กน้อยสักคนในแผ่นดินที่สงครามยืดเยื้อกว่า ๗ ทศวรรษก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายลมหายใจบริสุทธิ์ยังถูกสงครามพรากไปต่อหน้าต่อตาผู้ให้กำเนิดเสมอ
สี่ล้อบดขยี้น้ำหนักลงถนนดินแดงผสมฝุ่นดินหนาเตอะบนทางคดเคี้ยวสูงชันไต่ขึ้นเขา เมื่อมีรถวิ่งสวนฝุ่นดินจะฟุ้งตลบเหมือนหมอกลงจัด ต้องเปิดไฟหน้ารถส่องทางแม้เป็นเวลากลางวัน โอนซ้ายเอนขวากันไประยะใหญ่กระทั่งถึงจุดพักข้างทางคนขับจึงแวะให้ผู้โดยสารลงไปยืดเส้นยืดสายคลายเมื่อย
ถ้าคิดว่านั่นโหดแล้วให้รีบถอดใจก่อนไปต่อ เพราะถ้ายังไหวก็มีสิ่งท้าทายกว่ารอให้เผชิญ
พวกเราต้องเปลี่ยนรถ เพราะถนนบางสายไม่ได้มีไว้ให้สี่ล้อผ่าน ทางคมนาคมต่อจากนี้เป็น “ทางวัว” ที่อนุญาตให้คนเดินได้ หรือถ้าขี่มอเตอร์ไซค์เก่งมากและไม่กลัวตกเหวก็ร่วมทางได้ แต่รถยนต์หมดสิทธิ์ ยังดีว่ามีเจ้าของมอเตอร์ไซค์เป็นเด็กหนุ่มใจกล้าในหมู่บ้านระหว่างทางยอมรับจ้าง พาลัดเลาะเข้าป่าที่หน้าดินปรกด้วยซากใบไม้แห้งทับถมจนเป็นชั้นหนาไม่เหลือเค้าทางเดิน หลายช่วงเป็นซอกแคบระหว่างโขดหินต้องใช้ความใจถึงข้ามผ่าน คนซ้อนหลับตาปี๋หนีความเสียวขณะที่กำลังแขนทั้งหมดถูกใช้เกาะเกร็งท้ายรถจนแน่น ฝากชีวิตวางหัวใจไว้กับคนแปลกหน้าวัยคะนองซึ่งต้องเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงมาก
และนั่นก็ยังไม่ใช่ที่สุดสำหรับบ้านพะเกะ เพราะมอเตอร์ไซค์ก็ไปไม่ถึง
ที่สุดแล้วสองเท้าของมนุษย์คือพาหนะที่มีประสิทธิภาพสุด เป็นเหตุผลที่กายภาพของคนกะเหรี่ยงมีช่วงขาที่แข็งแรง มีฝ่าเท้าที่พร้อมมากสำหรับการเดินทางไกลด้วยเวลารวดเร็ว
ทางขึ้นเขาสู่พื้นที่ต้นน้ำเพื่อไปให้ถึงหมู่บ้านของพะเกะค่อนข้างสวย ด้วยทัศนียภาพของป่าหมากที่ปลูกกันมากจนเป็นพืชเศรษฐกิจ ขนาบเส้นทางเล็กที่กว้างพอเดินเพียงแถวตอนเรียงหนึ่ง มองลงด้านล่างค่อนข้างหวาดเสียว แต่ชื่นใจเมื่อเห็นธารน้ำสายเล็กไหลผ่าน ครั้นเข้าใกล้หมู่บ้านจึงสวนทางกับผู้คน บ้างแบกพืชผลใส่ตะกร้าไม้ไผ่ใบเขื่อง ใช้ผ้าคาดหน้าผากช่วยประคอง-แบ่งน้ำหนักจากหลัง
หมู่บ้าน “เลเซอโข่” ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านแมนึท่ากับเดะปูโหนะ แต่บ้านของพะเกะปลูกอยู่โดดเดี่ยวบริเวณต้นน้ำ “พะฉี่คี” ห่างจากหมู่บ้านเลเซอโข่ประมาณ ๑ กิโลเมตร พ่อของเขาตรองดีแล้วว่าคุ้มต่อการใช้ชีวิตบั้นปลายใกล้ชิดแหล่งน้ำสะอาดตลอดปี น่าเสียดายที่พ่อป่วยหนักและจากไปก่อนวัยชรามาเยือน ลูกชายคนหนึ่งก็ต้องไปเป็นทหาร จึงเหลือเพียงแม่และน้องสาวที่อยู่ร่วมเรือนกับพะเกะกลางไร่หมุนเวียนที่ธรรมชาติกำลังฟื้นฟูรอทำเกษตรในอีก ๓-๔ ปี เวลานี้จึงมองไม่ออกแล้วว่าเคยเป็นไร่ซาก เพราะรกครึ้มด้วยไม้ใหญ่
ยังไม่ทันก้าวขึ้นเรือน ลูกหมูก็วิ่งออกมาทักทายจากใต้ถุน ผอมจนขึ้นซี่โครง แต่ดูน่ารักเพราะมีลวดลายจุดสีดำตัดกับผิวสีชมพู และคล้ายแม่ไก่กลัวถูกหมูน้อยแย่งซีนหมดจึงนำฝูงลูกเจี๊ยบออกมาแสดงตัวด้วย เรือนไม้ที่ปลีกตัวมาตั้งอยู่ลำพังจึงไม่เปลี่ยวร้างเกินไป
ขณะที่พวกเรากำลังทิ้งร่างลงพื้นกระดานพักเหนื่อย พะเกะกุลีกุจอเข้าครัวก่อไฟหุงข้าวเตรียมสำรับอาหารเงียบ ๆ ทั้งที่เราต่างก็เหนื่อยล้ามาด้วยกัน แต่เหมือนไม่สำคัญเท่าภารกิจต้อนรับผู้มาเยือน
พะเกะทำอาหารอร่อย เป็นความอร่อยฉบับกะเหรี่ยง บนภูเขาไม่มีอาหารมากมายอย่างที่คิด มีแค่ผักสดจิ้มน้ำพริกกะเหรี่ยง และแกงจืดที่นำผักสดแช่น้ำต้มเดือด บ้านไหนพอมีฐานะอาจมีปลากระป๋อง ไข่เจียว มาม่า เป็นของดีไว้รับแขก น้อยมากที่จะได้กินเนื้อหมูหรือไก่ เพราะพวกเขาเลี้ยงด้วยความรัก จะได้กินต่อเมื่อมันตายเอง หากไม่ใช่งานเลี้ยงสำคัญจะไม่ฆ่าสัตว์เลี้ยงมากิน เครื่องปรุงก็มีเพียงพริกกะเหรี่ยงและเกลือ
ตกเย็นเมื่อครอบครัวพะเกะกลับจากงานไร่มาอยู่พร้อมหน้า บทสนทนาชุดใหญ่ก็บรรเลงต่อเนื่องหน้าเตาผิงไฟในครัว โดยเฉพาะคู่น้า-หลานที่นานทีมีโอกาสพบกัน แม่ของพะเกะเป็นน้องสาวของพ่อตะวิ เหตุผลที่เธอให้ไว้กับผู้นำหมู่บ้านตอนขอออกหนังสือรับรองการเดินทางจึงนับว่าเป็นความสัตย์แล้ว
ท่ามกลางอากาศเย็นจัดของฤดูหนาวปลายธันวาคม ชาวบ้านบนภูเขาต้นน้ำล้วนจำเป็นต้องอาศัยไออุ่นจากกองเพลิงหุงต้ม ยิ่งดึกยิ่งชวนให้อยากหนีเข้าห้องไปซุกตัวในถุงนอน แต่บรรยากาศของบ้านป่าที่น้องสาวพะเกะอุ้มลูกน้อยพลางเจื้อยแจ้วกับญาติผู้มาเยือนคลอเสียงลำธารไหลผ่านหน้าบ้านแทรกเสียงโหวกเหวกของแมลงราตรีก็สะกดให้ร่วมวงต่อ สักเดี๋ยวตะวิจึงเดินไปเปิดกระเป๋าเป้หยิบตุ๊กตาที่พกร่วมทางมาจากหย่อมบ้านคิดถึงออกมาฝากหลานตัวเล็ก จะนับเป็นของขวัญวันปีใหม่สำหรับเจ้าหนูไหมก็ไม่รู้ แต่เสียงหัวเราะบริสุทธิ์เมื่อได้ดึงทึ้งตุ๊กตาของตนถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่แสนเรียบง่ายสำหรับพวกเราที่ได้เห็น
วิถีชีวิตของชาวบ้านป่ายึดโยงกับสมบัติที่ผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า เลือกสรรให้แต่ละวัน-คืนในหมู่บ้านผ่านไปแบบเนิบนาบ อาศัยฟังเสียงร้องของกบ เขียด จิ้งหรีด จักจั่น ตามพงหญ้าแทนนาฬิกา เริ่มเข้าใจครั้งที่แม่ของพะเกะอุตส่าห์มีโอกาสหนีภัยสงครามและได้อยู่ศูนย์อพยพฝั่งไทยแล้ว กลับทิ้งความสะดวกในสถานที่ที่มีสิ่งจำเป็นครบทั้งสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาด และอาสาสมัครชาวต่างชาติ
“ช่วงที่อพยพไปฝั่งไทยต้องทิ้งที่นา หยุดทำเกษตร มันไม่ใช่ชีวิตเราเลย บางวันมีคนต่างชาติเอาขนมมาให้ลูก เราก็ยิ่งกลัวนั่นนี่ ระแวงว่าเขาจะคิดร้าย อยู่ศูนย์อพยพอาจสบายกาย แต่ไม่สบายใจ ได้แต่ขังตัวเองอยู่ในที่พัก พอเห็นว่าไม่มีสงครามแล้วจึงรีบกลับบ้านดีกว่า”
ตะวิช่วยเสริมว่า ไม่ว่าอย่างไรคนกะเหรี่ยงก็เชื่อใจคนกะเหรี่ยงด้วยกันที่สุด
“สมัยก่อนเวลาคนกะเหรี่ยงในแม่สะเรียงเกิดเจ็บไข้เขาจะอดทน ใช้สมุนไพรรักษาอาการหนักมากถึงยอมเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ก็เลือกเดินทางข้ามมารักษาที่รัฐกะเหรี่ยงมากกว่าจะไปที่แม่สะเรียง ถึงแม้โรงพยาบาลของกะเหรี่ยงจะเป็นกระท่อม แค่มีหมอสวมชุดกะเหรี่ยงเหมือนชาวบ้าน แต่สบายใจมากกว่า มั่นใจว่าจะมีคนดูแลรักษาให้ และถ้าไม่ได้ใช้ยาที่แพงเกินไปก็รักษาฟรี อีกอย่างชาวบ้านพูดไทยไม่ได้ ถ้าไปโรงพยาบาลไทยก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร และกลัวถูกทางการไทยจับตัว”
เราอาจหลับตาเพื่อไม่ให้มองเห็นในสิ่งที่ไม่อยากเห็น
แต่ไม่อาจปิดกั้นหัวใจของตัวเองไม่ให้รู้สึกในสิ่งที่รู้สึก
“สำหรับพวกเรา แม้ที่รัฐกะเหรี่ยงจะไม่ถึงกับปลอดภัยแต่ก็มีช่วงปรกติให้ได้ใช้ชีวิตธรรมดาเหมือนกัน”
…
ผ่านไป ๒ วัน เราเดินทางกลับบ้านแมนึท่าอีกครั้ง อยากสัมผัสเทศกาลปีใหม่ที่ทางกองทัพ KNU จัดให้ประชาชน แม้พะเกะจะอุตส่าห์ได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัวแล้ว เขาก็ยังยินดีเก็บสัมภาระติดตามไปดูแลพวกเราต่อจนกว่าจะหมดหน้าที่พี่ชายที่รับปากไว้กับพ่อของตะวิ
เจ็ดโมงเช้าของวันสุดท้ายแห่งปี ๒๕๖๒
มารวมตัวที่โบสถ์ริมหน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา บรรยากาศในโบสถ์ดูน่ารัก ประดับธง พู่สีสัน และต้นคริสต์มาสบนเวทียกพื้นเตี้ย ชาวบ้านขับขานบทสวดเป็นเพลงไพเราะ เด็ก ๆ ร้องเพลงเฉลิมฉลอง มีคนนำถุงผ้าเดินหาทุกคนในที่ชุมนุม เปิดโอกาสให้ได้ทำบุญคนละเล็กน้อย คนที่มีไม่มากยังพยายามแบ่งเหรียญออกมาหนึ่งเหรียญ สารภาพว่าห่างการทำบุญตามวัด แต่เมื่ออยู่ในพิธีนี้กลับรู้สึกเบิกบานอยากร่วมผูกบุญ
เสร็จจากพิธีกรรมในโบสถ์ ชาวบ้านชวนให้กินข้าวเช้าร่วมกันริมแม่น้ำ พวกเขาช่วยกันจัดตั้งเพิงชั่วคราวขึ้นเป็นโรงครัวและโรงทาน ตอกโต๊ะไม้เรียงยาวให้ชาวชุมชนทุกเพศวัยได้มาอิ่มท้องด้วยกันฟรีช่วงสายของวันไปจนบ่ายแดดมีกิจกรรมแข่งขันกีฬา แจกขนม อาหารแห้ง ให้ผู้ร่วมสนุกเป็นรางวัล ไม่มีใครสนใจเรื่องแพ้ชนะเท่ากับได้รับขนมอาหารตุนใส่ถุงย่ามกลับไปฝากครอบครัวให้มากที่สุด
เช้าแรกของคริสต์ศักราชใหม่ที่โบสถ์ของชาวกะเหรี่ยงโปรเตสแตนต์ บนหน้าผาสูงสุดของหมู่บ้านแมนึท่า ริมแม่น้ำสาละวิน รัฐกะเหรี่ยง
เสร็จจากพิธีกรรมในโบสถ์ ชาวบ้านจะพากันมากินข้าวเช้าใต้เพิงชั่วคราวที่ตั้งขึ้นเป็นโรงครัวและโรงทานริมแม่น้ำสาละวิน
บรรยากาศ
เทศกาลปีใหม่
ที่ทางกองทัพ KNU
จัดให้ประชาชน
ศาสนาคริสต์มีบทบาทต่อชาวกะเหรี่ยงนับแต่ยุคที่เมียนมาอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ กะเหรี่ยงสะกอหันมานับถือคริสต์มากกว่ากะเหรี่ยงกลุ่มอื่น เป็นจุดเริ่มของการศึกษาภาษาอังกฤษและทำให้พวกเขามีสถานะทางสังคมเด่นชัดกว่ากะเหรี่ยงกลุ่มอื่น
ภาษาเขียนของกะเหรี่ยงกำเนิดขึ้นโดยความพยายามของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ แต่แรกเป็นการพิมพ์วารสารเกี่ยวกับศาสนา ต่อมาปรากฏวรรณกรรมต่าง ๆ เคยมีนิตยสารภาษากะเหรี่ยงชื่อ วาทูกอ ก่อนถูกเมียนมายึดกิจการไป
แม้ชาวกะเหรี่ยงสะกอจะนับถือศาสนา-นิกายแตกต่าง แต่ทางกายภาพก็แทบแยกไม่ออก และพวกเขาล้วนเรียกตนว่า “กอเกอะญอ” (กอ หมายถึงชาติ และเกอะญอ หมายถึงคน)
เมื่อถึงวันแรกของปี ๒๕๖๓ ก็ได้เวลาอำลารัฐกะเหรี่ยงนั่งเรือหางยาวจากท่าเรือแมนึล่องแม่น้ำสาละวินมาจนเข้าเขตแม่สะเรียง เหมารถกระบะชาวบ้านขึ้นภูเขากลับเข้าบ้านอูหลู่เหนือ ส่งลูกสาวคืนอกพ่อแม่ที่หย่อมบ้านคิดถึง
แค่เห็นหน้าไกล ๆ ความคิดถึงของพ่อที่ล้นทะลักใจอยู่ก็พรั่งพรูทั้งภาษากายและภาษากะเหรี่ยง รีบเล่าว่าได้ยินชาวบ้านพูดกันว่าเกิดเสียงปืนดังที่ฝั่งรัฐกะเหรี่ยงวันที่พวกเราเดินทางไปอยู่ที่นั่น ผ่านมาหลายวันพวกเรายังไม่กลับก็ยิ่งกังวล ตั้งใจแล้วว่าพรุ่งนี้จะเข้าป่าแต่เช้า ออกเดินทางไปตามหาที่รัฐกะเหรี่ยง
หัวอกผู้พลัดพราก ยากเข้าใจในวันที่ยังไม่ประสบกับตัว
กว่าจะได้นอนคืนนั้น พวกเขาผลัดกันกอดหอมไม่จบสิ้น
สัญญา (ณ)
จากกองทัพ
๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ ตรงกับ “วันปฏิวัติรัฐกะเหรี่ยง” ครบรอบ ๗๑ ปี
มีงานที่หมู่บ้านเดะปูโหนะในเมืองหมื่อตรอ ที่ตั้งฐานปฏิบัติการของกองพลน้อยที่ ๕ เมื่อรู้ว่าจะได้กลับมานอนบ้านลุงตะวิอีกจึงอัดรูปจากหลายเหตุการณ์ที่พบกันคราวก่อนมาฝากเจ้าบ้าน
สืบมาว่ากิจกรรมจะเริ่มก่อนวันพิธีจริงครึ่งเดือน จึงเตรียมการออกจากไทยล่วงหน้า ๒ วัน มุ่งสู่ท่าเรือแม่สามแลบ ชุมชนท่าเรือขนาดใหญ่สุดของชายแดนด้านตะวันตก แล้วเหมาเรือหางยาวลำใหญ่ล่องแม่น้ำสาละวิน เป็นความสดชื่นอีกครั้งที่ใบหน้าได้สัมผัสกระเซ็นน้ำจากมหานทีสีน้ำตาล
รู้กันว่าสุดเขตประเทศไทยเรียบร้อย เมื่อถึงด่านหมู่บ้านท่าตาฝั่ง
คนขับเรือทุกลำที่จะเข้าออกชายแดนไทย-เมียนมาต้องแวะจอด ขึ้นไปลงชื่อต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านเพื่อขอสัญจรข้ามพรมแดน มีหลักฐานบันทึกว่าเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนค้าขายคึกคัก และยังเคยเป็นเมืองท่าหน้าด่านสำคัญทางตะวันตกไทยก่อนจะเปลี่ยนไปที่แม่สามแลบ มีเรือสินค้าล่องตามลำน้ำมาบ้านท่าตาฝั่ง บ้างมาจากขุนห้วยอุมดาฝั่งเมียนมาตรงข้ามกับ “สถานีตำรวจภูธรท่าตาฝั่ง” (สร้างขึ้นปี ๒๔๖๖) ที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ยังรักษาไว้บนหน้าหาดเป็นหลักฐานแห่งอดีต
ที่ท่าเรือแมนึคราวนี้คึกคักเป็นพิเศษ รถกระบะหลายคันรอรับส่งถึงปากทางหมู่บ้านเดะปูโหนะ เพราะพรุ่งนี้มีงานวันปฏิวัติรัฐกะเหรี่ยง พี่น้องที่กระจายอยู่ทั่วสารทิศในเมืองอื่น ประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ จะทยอยมายังพื้นที่จัดงานเพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารกล้าที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติ
หน้าเรือนตามรายทางล้วนประดับธงชาติกะเหรี่ยง คือสิ่งยืนยันว่าเรากำลังยืนอยู่บนผืนดิน “ก่อทูเล” อีกครั้ง ธงที่ปลิวไสวด้วยแรงลมฤดูแล้งปรากฏแถบสามสีประกอบด้วยแดง ขาว น้ำเงิน สื่อสารถึงความกล้าหาญ ยุติธรรม และสันติภาพ มุมซ้ายบนมีกลองมโหระทึกสะท้อนตัวตนในวัฒนธรรมของชนชาติ ซ้อนบนดวงอาทิตย์ที่ส่งนัยถึงความหวังในเสรีภาพและการต่อสู้เพื่อเอกราช กำลังฉายแสงเก้าสาย ดั่งชาวกะเหรี่ยงจากเก้าเมือง คือ อิระวดี ตายวดี ฮันดาวดี กันทรวดี เมียวดี ดอยวดี ซียะวดี ตันยะวดี และมอระวดี หลายคนที่มีความภาคภูมิใจในรัฐตนเป็นพิเศษแสดงออกด้วยการทาสีตัวบ้านตามสีธงชาติ
โรงเรียนซึ่งเคยจัดงานสวัสดีปีใหม่เมื่อเดือนก่อนปรับเป็นลานกิจกรรมแข่งกีฬาสากลอย่างวอลเลย์บอล ฟุตบอล ตะกร้อ กีฬาพื้นบ้าน ประกวดการแสดงเชิงวัฒนธรรมเพื่อส่งต่อศิลปะเผ่าชน รอบสนามหญ้าที่กว้างราวสนามหลวงแบ่งด้านหนึ่งจัดซุ้มให้ความรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ บุคคลสำคัญผู้นำปฏิวัติ ปัญหาสิทธิมนุษยชนในหมู่กะเหรี่ยง ความรู้เรื่องสุขภาพ ความสำคัญของการศึกษาเด็ก ไปจนรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
หลังตะวันตกดินหลายคนกลับไปอาบน้ำผลัดชุดทันสมัยมาหน้าเวทีใหญ่ริมสนาม ชมดนตรีศิลปินกะเหรี่ยงที่กระหึ่มด้วยแสงสีเสียง รอดู “นางงามกะเหรี่ยงโลก” จากเวทีปีใหม่ที่อำเภออมก๋อยเมื่อเดือนก่อน กองทัพเชิญผู้ชนะเลิศและรองอันดับ ๑ ร่วมงาน คนหนึ่งเป็นสาวลำพูน จบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ ๑ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ่วงดีกรีนักศึกษาปริญญาโทปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกคนเป็นสาวอำเภออมก๋อย ทั้งคู่เป็นดั่งของขวัญที่สร้างความชื่นใจให้พลเมือง ลึกกว่าความงาม พวกเธอเป็นดั่งตัวแทนสตรีกะเหรี่ยงที่ได้รับโอกาสชีวิตและรู้จักขอบคุณช่องทางนั้นด้วยการสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้คนเป็นพ่อแม่ได้ตระหนักว่าลูกสาวสามารถเป็นอะไรก็ได้มากกว่าแค่เติบโตไปเป็นแม่หรือเป็นเมีย
ทางทอดยาวสู่ซุ้มประตูที่ประดับไฟสีสันเดียวกับสีธงชาติกะเหรี่ยง ป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่ซุ้มประตูมีข้อความแปลไทยว่า “งานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ครบรอบ ๗๑ ปี” ชาวบ้านพากันแต่งกายด้วยชุดทันสมัยมาร่วมราตรีรื่นเริง ชมการแสดงดนตรีจากศิลปินกะเหรี่ยงและการปรากฏตนของผู้ชนะจากเวที “นางงามกะเหรี่ยงโลก”
เหล่าพลทหารที่มาร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ปีที่ ๗๑ หลายคนยังเป็นหนุ่มน้อยอายุไม่ถึงวัยเกณฑ์ทหาร
วันฟ้าใหม่ กลั้นใจกลืนความง่วงฝ่าลมหนาวมายังบริเวณจัดงานตั้งแต่ตี ๓
ตลอดทางเดินที่ทอดยาวถูกกั้นเป็นช่องสำหรับต้อนรับขบวนพาเหรดของทหารและเป็นรั้วรอบกันผู้ร่วมงานทะลักล้นขวางหน้าขบวนในตัว ทางเข้าได้รับการตกแต่งเป็นซุ้มให้เดินลอด ขึงป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่มีข้อความภาษากะเหรี่ยงแปลเป็นไทยว่า “งานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ครบรอบ ๗๑ ปี” ขนาบข้างด้วยธงชาติกะเหรี่ยง ยิ่งความสว่างมาเยือนผู้คนก็มาถึงงานมากขึ้น จนในที่สุดก็เบียดเสียดกันด้วยความสนุก
ฝูงชนพร้อมใจสวมชุดชาติพันธุ์ มีบ้างที่สวมเสื้อสกรีนชื่องานเป็นที่ระลึก งานเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อลูกโป่งได้รับการปลดปล่อยขึ้นฟ้า ตามด้วยเสียงพลุกังวานทั่วบริเวณดั่งการประกาศก้องของอิสรภาพ ครั้นเริ่มขบวนพาเหรดของเหล่าพลทหารสับเท้าเป็นระเบียบเข้างานยิ่งเพิ่มความตื่นตาให้ผู้ร่วมงานคึกคัก ก่อนกรูเข้าจับจองพื้นที่เหมาะยืนชมนอกวงล้อมที่กำหนดให้เหลือพื้นที่ส่วนกลางสำหรับพิธีสวนสนาม
เหตุการณ์ในวงล้อมสะกดตาผู้ชมด้วยภาพทหารสามนายถือธงนำหน้าขบวน คนกลางถือธงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ขนาบข้างด้วยนายทหารที่ถือธงองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organization, KNDO) และธงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army, KNLA)
“สงครามไม่ใช่แค่หยิบปืนขึ้นมายิงใส่กัน ยังทำได้ด้วยการเขียน การพูด ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับความตายที่เราไม่ได้ตายเพราะถูกยิงอย่างเดียว ยังอาจตายได้ด้วยท่อนไม้ มือเปล่า หรือยุงตัวเล็ก แม้แต่การหกล้มเพียงเล็กน้อย ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะทำสงคราม”
พลตรี ซอหมื่อแฮ ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ ๕ รับการเคารพจากกองทหารเกียรติยศ
พลเอก บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) สร้างขวัญ สัญญา และส่งสัญญาณบางอย่างถึงผู้ร่วมงาน
ชายชาตินักรบผู้นี้เกิดในเมืองหมื่อตรอ รู้เห็นการรุกรานของทหารเมียนมาแต่เด็ก เกิดฝันแน่วแน่ที่จะปลดปล่อยอิสรภาพ เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมฯ ก่อทูเล ครั้งอยู่ในเขตมาเนอปลอว์ ก็สมัครใจเป็นทหารร่วมกองทัพ KNLA ศึกษาแนวคิดจากนายพลโบเมียะ ผู้นำสูงสุดของ KNU เวลานั้น
ตลอดระยะเวลา ๗๑ ปีของการต่อสู้ เขารู้ว่าชาวกะเหรี่ยงได้รับบทเรียนมากมาย ในสนามรบไม่มีพื้นที่สำหรับความเหนื่อยล้า หลายความผิดพลาดดั่งแส้อาบเกลือที่โบยผิวกายให้แสบถึงหัวใจ สั่งสอนให้ต้องหลาบจำ หากจะไปให้ถึง “เสรีภาพ” ต้องเรียนรู้ประสบการณ์อดีตเพื่อแก้ไขสู่ทางที่ถูกต้อง
“เกอญอโพ...ทุกคนจงกลับมาคำนึงถึงชีวิตของเกอญอโพ”
นายพลผู้นำกองพลน้อยที่ ๕ เรียกขานชนชาติปกาเกอะญอ
“ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดจงรักและสามัคคี ทำในสิ่งที่ตนถนัด เพื่อให้ชนชาติของเรามีความมั่นคง มีสิทธิ เสรีภาพ ได้รับอิสรภาพ วันหนึ่งเราจะต้องได้รับความเคารพ การยอมรับ และความปลอดภัย”
คำกล่าวของผู้นำกองกำลังวัยเกษียณ ส่งกำลังใจให้พลเมืองฮึกเหิม ก่อนปิดท้ายงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงอย่างเป็นทางการด้วยขบวนสวนสนามกองเกียรติยศ
ที่ซุ้มประตูทางเข้า-ออก ทหารชั้นผู้ใหญ่รอมอบของขวัญเป็นนาฬิกาข้อมือขอบคุณน้ำใจแก่พลทหารที่มาร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ แม้ใบหน้าและผิวพรรณจะกร้าน แต่พอดูออกว่าหลายคนยังเป็นหนุ่มน้อยอายุไม่ถึงวัยเกณฑ์ทหาร
นอกจากธงชาติกะเหรี่ยง สิ่งยืนยันว่าเรายืนอยู่บนผืนดิน “ก่อทูเล” คืออาร์มติดแขนเสื้อของทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA arms) มีสามสี สีแดง-กล้าหาญ สีขาว-บริสุทธิ์จริงใจ และสีน้ำเงิน-ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ สะท้อนตัวตนของชนชาตินักรบ KNU
หนึ่งในช่วงเวลาที่ชาวบ้านรอคอย คือขบวนสวนสนามกองเกียรติยศอันฮึกเหิม เชิดชูธงสัญลักษณ์ KNU KNLA และ KNDO
พี่น้องกะเหรี่ยงที่อาศัยในเมืองอื่น ประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ พร้อมใจมาร่วมงานรำลึกเกือบทุกคนสวมชุดชาติพันธุ์ บ้างคลุมด้วยเสื้อแขนยาวป้องกันลมหนาวในสิ้นเดือนแรกของปี
ชาวบ้านแยกย้ายกลับเรือนใช้วิถีปรกติ นักเดินทางจากเมืองอื่นทยอยกลับไปเก็บสัมภาระ ลุงของตะวิเป็นธุระหารถกระบะที่ผ่านหน้าบ้าน วานให้พวกเราติดไปท่าเรือแมนึ
ท้ายกระบะมีข้าวของถูกจัดวางเป็นระเบียบสูงท่วมแผงข้างขึ้นไปเล็กน้อย นานแค่ไหนไม่รู้ที่พวกเราต้องยืนเกาะราวที่แผงรถอย่างอดทน หลบกิ่งไม้ต่างขนาดที่คอยยื่นปะทะหน้าเบียดแขนข่วนมือ แมกไม้แต่ละกิ่งก้านขะมุกขะมอมด้วยผงฝุ่นเกรอะกรัง มันคงต้องใช้ความอดทนอย่างไร้ขีดจำกัดเพื่อพาชีวิตยืนหยัดรอดฝุ่นตลบตลอดฤดูแล้ง ไม่ต่างจากชีวิตของชนรากหญ้าในรัฐเล็กรัฐน้อยที่ดำรงอยู่ในม่านหมอกมาทั้งชีวิตจนแทบไม่มีสิทธิ์ใฝ่ฝันถึงสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์
นานนักหนาที่ชาวกะเหรี่ยงถูกกดขี่หลากรูปแบบ ถูกเผาหมู่บ้าน ยุ้งฉาง ครอบครัวที่หนีไม่ทันก็ตายในเพลิง ที่รอดต้องกระเสือกกระสนหนีข้ามแดน ไม่อย่างนั้นพ่ออาจถูกจับเป็นลูกหาบ แม่ถูกข่มขืน จำนวนมากที่อุตส่าห์หนีข้ามชายแดนได้แต่ถูกผลักดันกลับแผ่นดินอีกก็จำต้องดิ้นรนอยู่อย่างผู้พลัดถิ่น ย้ายที่หลับนอนในป่าไปเรื่อย ๆ ด้วยความหวาดผวา เพราะมีผู้คนถูกฆ่าทิ้งไม่เว้นวัน พวกเขามีสิ่งติดตัวเพียงตะกร้าไม้ไผ่บรรจุเสื้อผ้าเก่า ๆ ข้าวสารถุงเล็ก และหม้อข้าวสำหรับตื่นมาหุงหาอาหารตอนตี ๒ ตี ๓ ป้องกันศัตรูเห็นควันไฟและติดตามจนพบ ทุกคนต้องเตรียมอาหารให้เพียงพอถึงมื้อค่ำ ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากกว่าก้อนข้าวเหนียว ถั่วเหลือง และเกลือ ไม่มีใครกล้ากลับหมู่บ้าน และถึงกลับไปก็อาจไม่มีบ้านให้อยู่อีก
ไม่อาจห้ามความคิดพรั่งพรูระหว่างทางที่คดโค้งไปตามภูมิประเทศ ข้ามกิ่วดอย เหมือนงูยักษ์ทอดเลื้อยบนสันเขาเลียบริมเหวสูง
การ “จำลองเส้นทางอพยพ” ในแบบที่หอบสัมภาระติดตัวได้เท่าที่ใจอยาก มีคนนำทาง มีรถรารับส่งบนเส้นทางที่ปลอดภัยและสะดวกสบายเท่าที่เจ้าถิ่นจะหาได้ มีที่พักหลับนอนและอาหารให้กินอิ่มทุกมื้อ โดยไม่มีใครไล่ล่าหรือเสือกไสไล่ส่งกลับประเทศ ไม่อาจเทียบได้กับชีวิตหนักหน่วงของผู้ลี้ภัยตามชายแดนที่ทุกอย่างคือ “ความเป็นความตายของจริง”
“สงครามไม่ใช่แค่หยิบปืนขึ้นมายิงใส่กัน ยังทำได้ด้วยการเขียน การพูด ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับความตายที่เราไม่ได้ตายเพราะถูกยิงอย่างเดียว ยังอาจตายได้ด้วยท่อนไม้ มือเปล่า หรือยุงตัวเล็ก แม้แต่การหกล้มเพียงเล็กน้อย ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะทำสงคราม”
วิถีปรกติของกลุ่มชาติพันธุ์สะกอที่อาศัยในหลายหมู่บ้านของเมืองหมื่อตรอ วันที่พักสงครามพวกเขาก็มีลมหายใจปลอดโปร่งไม่ต่างจากผู้คนทั่วโลก
ช่วงบ่าย เรือลำใหญ่ล่องไปบนผืนน้ำสาละวิน ขนนักเดินทางกะเหรี่ยง-ไทยกลับแผ่นดินรูปขวานยังปลายทาง-แม่สามแลบ แดดจัดส่องกลางลำเรือที่มีฝูงชนนั่งพิงสัมภาระ บ้างกางร่มหลบแดด เป็นร่มที่เพิ่งซื้อจากงานรำลึกวันปฏิวัติฯ บนผืนผ้าไนลอนออกแบบให้เป็นรูปธงรัฐกะเหรี่ยง
บางจังหวะที่ผู้คนถือด้ามร่มหุบเข้าหุบออก แวบหนึ่งนึกถึงการอพยพ
แม้เปลวไฟแห่งความหวังถูกเป่าให้ริบหรี่อยู่หลายครั้ง ใจไม่เคยวูบดับ
กลางปี ๒๕๖๔ ขณะเขียนบทความพลางติดตามข่าวสาร
ยังมีชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านเดะปูโหนะและหมู่บ้านอื่น
นับพันนับหมื่นชีวิตหนีการสู้รบมาอยู่ริมน้ำสาละวินฝั่งไทยในหมู่บ้านที่มีบรรพบุรุษกะเหรี่ยงเป็นผู้บุกเบิกอาศัย โดยเฉพาะบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขตหมื่อตรอ
สงครามบังคับให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมเขียนประวัติศาสตร์ และความปลอดภัยในชีวิตมนุษย์เพื่อนบ้านก็เป็นสิทธิพื้นฐานที่พวกเขาพึงได้รับ
ถ้ารัฐบาลไทยให้อยู่พวกเขาก็ได้อยู่ ถ้าถูกผลักดันให้กลับก็ต้องกลับ
ทว่าความรุนแรงในรัฐยังทวีขณะที่ไม่มีบ้านแล้ว จะให้กลับไปที่ไหน
หมายเหตุ
สารคดีเรื่องนี้ใช้คำว่า “เมียนมา” ในข้อความสื่อความหมายถึงรัฐและประเทศ และ “พม่า” ในบทสนทนาทั่วไป
ขอขอบคุณ
ตะวิ ล่ามภาษากะเหรี่ยง และร่วมบรรณาธิการต้นฉบับ
ครอบครัวคุณลุงเลโข่, ผอ. สายัญ โพธิ์สุวรรณ และคณะครูโรงเรียนบ้านแม่ลิด อนุเคราะห์ที่พักขณะลงพื้นที่ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ครอบครัวพะเกะ และอีกหลายครอบครัว อนุเคราะห์ที่พักขณะลงพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยง
อ้างอิงประกอบการเขียน
กองบรรณาธิการ. “สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน”. โครงการแม่น้ำเพื่อ
ชีวิต โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า ศูนย์
ข่าวสาละวิน. เชียงใหม่, ๒๕๕๑.
คณะวิจัยปกากญอสาละวิน. “วิถีแม่น้ำ วิถีป่า ของปกากญอสาละวิน”.
ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน. แม่ฮ่องสอน, ๒๕๔๘.
มนตรี จันทวงศ์ และ ลัลธริมา หลงเจริญ. “สาละวิน : บันทึกแม่น้ำ
และชีวิต ในกระแสการเปลี่ยนแปลง”. มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและ
ธรรมชาติ เชียงใหม่, ๒๕๕๐.
วันดี สันติวุฒิเมธี. “นักรบชายขอบ การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยชายแดน
ไทย-พม่า”. สารคดี ๑๖, ๑๘ (มีนาคม ๒๕๔๓) : ๑๑๙-๑๒๑.
สมโชค สวัสดิรักษ์. “ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า-กะเหรี่ยง”. สำนัก
งานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กรุงเทพฯ, ๒๕๔๐.