Urban Forest
ไม้ใบที่รัก ep.02

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ 

Image

Philodendron joepii

ฟิโลเดนดรอน โจปิอาย 

Live with Plants Nursery 

ค ล อ ง ห ก  ป ทุ ม ธ า นี

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปลูกต้นไม้ในบ้านกลายเป็นกระแสที่ผู้คนสนใจ เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากการที่เหล่านักแสดงคนดังโพสต์ภาพตนเองคู่กับต้นไม้ลงสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เรื่องไม้ใบที่เคยได้รับความสนใจเฉพาะกลุ่มถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง

คลื่นในทะเลมีหลายลูก แต่ในรอบปี ๒๕๖๓ ไม่มีคลื่นลูกไหนจะใหญ่และรุนแรงเท่าญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ นางเอกชื่อดัง โพสต์ภาพตัวเองคู่กับ ฟิโลเดนดรอน “พิงก์พรินเซส” (Philodendron “Pink Princess”) เมื่อภาพถูกเผยแพร่ออกไป ผู้คนพากันไถ่ถามว่านี่ต้นอะไร แล้วราคาของไม้ใบสีชมพูซึ่งมีผู้นำเข้ามาในประเทศไทยพร้อมไม้ประดับชนิดอื่น ๆ นานกว่า ๓๐ ปีก็สูงขึ้นจนน่าใจหาย  จาก ๓๕๐ บาท ดีดขึ้นไปสู่ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ และเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นอีกหลายลูกที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของเธอคู่กับมอนสเตอรา ไทรใบสัก ยางอินเดีย กล้วยด่าง

มาริโอ้ เมาเร่อ พระเอกชื่อดังจากช่องเดียวกันให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวล้อเลียนเพื่อนนักแสดงสาวว่า ขอให้เธอหยุดถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ เพราะเป็นต้นเหตุให้ราคาสูงขึ้นมากจนตนเองตามซื้อไม่ไหว

ตรงกันข้ามกับที่พ่อค้าแม่ค้าร้านขายส่งต้นไม้บอกว่าอยากให้ญาญ่าอุ้มทุกต้น เพราะเธออุ้มต้นไหน ต้นนั้นราคาพุ่งพรวดขึ้นทันที

และที่ขำ (ไม่ออก) คือมีชาวเน็ตออกมาเสนอแนะดาราสาวให้ถ่ายคู่กับยางพาราหรือมันสำปะหลังบ้าง เผื่อราคาจะดีดตัวขึ้นมา ;)

ไม้ใบหลายชนิดเพาะเลี้ยงและซื้อขายกันมาเป็นเวลานาน ถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นสินค้าขายดีที่ราคาไม่ลดลงกว่าเดิม

ราคาไม้ใบขึ้นอยู่กับขนาด ความสวยของลวดลาย และสายพันธุ์ กระแสความนิยมในช่วงนั้น ๆ รวมถึงความพึงพอใจของผู้ขายผู้ซื้อ เป็นไปตามหลักการตลาดเรื่องอุปสงค์-อุปทาน

บทความ “ทำไมธุรกิจ ‘ขายต้นไม้’ ถึงงอกงามได้ในสภาวะวิกฤติ” จากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (www.bangkokbiznews.com) วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ วิเคราะห์ธุรกิจขายต้นไม้ที่เติบโตสวนกระแสวิกฤตโรคระบาดโควิด-๑๙ ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ว่าไม่ได้มาจากแค่การจำหน่ายต้นไม้ตามปรกติ แต่มีลูกเล่นจากการทำการตลาด และการเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่กำลังอยู่ในกระแสนิยม จนทำให้การปลูกต้นไม้กลายเป็นกระแสชีวิตวิถีใหม่

“กระแสนิยมในการปลูกต้นไม้ทำให้ดีมานด์ตลาดต้นไม้สูงขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจต้นไม้เติบโตและเจริญงอกงามได้คือการปรับตัวและโมเดลธุรกิจที่สร้างสรรค์”

นอกจากซื้อขายกันที่ร้าน ทุกวันนี้ยังมีไลฟ์ประมูลต้นไม้กันผ่านโซเชียลมีเดีย

“เสน่ห์ของการไลฟ์ขายสินค้าและประมูลสินค้า คือการที่ลูกค้าและผู้ค้ามีส่วนร่วมกันอยู่ตลอดเวลา สามารถตอบโต้กันได้ทันทีทันใด เหมือนการซื้อขายโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่ลูกค้าทุกคนต่างเห็นปฏิกิริยาของลูกค้าคนอื่น ๆ ที่อยากได้สินค้าชิ้นเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่า ‘ต้องรีบซื้อ’ หรือ ‘ต้องสู้ราคา’ ก่อนจะหลุดลอยไปเป็นของคนอื่น

“การไลฟ์ที่มีคนดูอยู่มากมายและมีคนแย่งกันซื้อ จึงทำให้เกิดความอยากซื้อที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นตัวบ่งชี้ว่าสินค้าเหล่านั้นขายได้และขายดีจริง ๆ”

ผมขอให้คุณสรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์ นักค้นหาพันธุ์ไม้แปลกจากทั่วทุกมุมโลก ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการต้นไม้มาร่วม ๓๐ ปี และเป็นผู้นำเข้าสับปะรดสีและไม้ใบหายากจากต่างประเทศคนสำคัญ เจ้าของ Live with Plants Nursery โรงเรือนเพาะเลี้ยงไม้ใบ ย่านคลองหก ปทุมธานี ช่วยถ่ายทอดบรรยากาศการประชันราคากันของเหล่าคนรักต้นไม้  เขายกตัวอย่างการประมูล ฟิโลเดนดรอน โจปิอาย ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๓

ฟิโลฯ โจปิอาย เป็นพืชที่มีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษา นักสะสมต้นไม้รู้ดีว่ามูลค่าของไม้ใบชนิดนี้เป็นเท่าใด เหมือนเป็นดาราหน้าใหม่ที่กำลังมาแรงไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้น แต่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วทั้งโลก นี่จึงไม่ใช่ต้นไม้ที่จะเปิดประมูลด้วยหลักพัน

สรรพสิริเล่าว่าฟิโลฯ โจปิอายไม่ใช่ต้นไม้ที่ตน “must have” (ต้องมี) แต่เป็น “wish list” (รายการสิ่งที่ปรารถนา) และเป็นต้นไม้ในฝันของนักสะสมทั่วโลก

“ไม่นานตัวเลขก็ดีดขึ้นไปถึง ๕ หมื่น ๖ หมื่น ราคาประมูลเป็นแบบก้าวกระโดด ไม่ใช่เพิ่มทีละพันสองพัน  พอราคาประมูลถึง ๑ แสนบาท ผมก็ยิงโทมาฮอว์กลูกแรกไปที่ ๒ แสนบาท  ปรากฏว่ามีคนยอมจ่ายมากกว่าที่ ๒๑๐,๐๐๐ ผมคิดในใจ เราต้องยิงลูก ๒”

สรรพสิริเคยมีฟิโลฯ โจปิอายไว้ในครอบครอง แต่เพิ่งขายไป ฟิโลฯ โจปิอายที่กำลังประมูลนี้เป็นต้นใหญ่ ใบแข็งแรงโดดเด่นประมาณเจ็ดใบ นำมาใช้จัดสวนได้ทันที เรียกว่าวางกระถางฟิโลฯ โจปิอายแล้วสวนสวยเด้งขึ้นทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา

สรรพสิริเล่าอย่างเมามันตามประสานักเลงต้นไม้ต่อไปว่า 

“ผมเสนอราคาไป ๒ แสน มีคนมาสู้ ตอนนี้เหมือนกองทัพเรือสู้กัน ยิงโทมาฮอว์กถล่มแล้วโดนยิงกลับ ผมต้องยิงลูกที่ ๒ อีกตูมหนึ่ง คราวนี้ ๒๕๐,๐๐๐ ราบคาบ โทมาฮอว์กสองลูกถึงสามารถพิชิตโจปิอายได้ ตู้มมม”

นอกจากประมูลออนไลน์หรือจัดไลฟ์กระตุ้นความสนใจลูกค้า คนขายต้นไม้ยังสร้างอาณาจักรต้นไม้ออนไลน์บนสื่อดัง ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
เว็บไซต์ต่าง ๆ มีการขายต้นไม้แบบให้บริการส่งต้นไม้ถึงบ้านหรือดิลิเวอรี ตอบโจทย์คนเมืองที่อยู่ห่างจากแหล่งต้นไม้ หรืออยู่ใกล้ แต่ไม่สะดวกออกไปซื้อหาต้นไม้ในสวนร้อน ๆ

ร้านขายต้นไม้แบบดิลิเวอรีเปิดให้บริการมาหลายปี แต่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วง ๑-๒ ปีมานี้ เมื่อมีกระแสแต่งบ้าน ปลูกต้นไม้ในคอนโดมิเนียม รวมทั้งหลังเกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จึงเกิดการตามหาต้นไม้ฟอกอากาศ  ความนิยมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในช่วงที่ผู้คนต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) อันเนื่องมาจากโควิด-๑๙

ความนิยมพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ บอนไซ โป๊ยเซียน กระบองเพชร ชวนชม จนแทบจะกลายเป็น “ต้นไม้ที่มีทุกบ้าน” สนนราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักล้าน คงไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ของคนปลูกหรือการปลูกตามกระแสของคนซื้อ แต่บอกไลฟ์สไตล์ของผู้เพาะเลี้ยง และกระแสความนิยมก็อาจผลัดเปลี่ยน

หลังเดินเข้าเดินออกตลาดต้นไม้ เนิร์สเซอรีหรือโรงเรือนเพาะเลี้ยงไม้ใบ รวมทั้งสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ผมพบราคาอันน่าตื่นตะลึงของไม้ใบในปี ๒๕๖๓ ดังนี้

พลูด่าง 
(Epipremnum aureum) 

ราคากระถางละ
๑๕ บาท ยืนยงคงราคานี้มาหลายปีแล้ว

กลุ่มพลูชนิดต่าง ๆ 
เช่น พลูฉลุ (Monstera adansonii) 

ราคา ๕๐ บาท เป็นราคาของพลูฉลุที่มีใบเขียวตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นพลูฉลุด่าง คุณค่าและราคาจะเปลี่ยนไป ยิ่งถ้าเป็นด่างสองสี คือด่างเหลืองกับด่างขาว ราคาอาจตก “ใบ” ละ ๑ หมื่นบาท

นี่คือ “กฎของความด่าง”

ความด่างที่เราเห็นใบเป็นสีขาว ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปรกติของสายพันธุ์  ไม้ด่างมักเติบโตช้า เพราะส่วนสีเขียวที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงมีน้อย อย่างไรก็ตามจุดด้อยได้กลายเป็นจุดเด่น เนื่องจาก
ใบของไม้ด่างมักมีเส้นสายและสีสันสวยงามแปลกตา เหมือนใบไม้เล่นละเลงสีกัน  ถ้าด่างทั้งใบหรือด่างครึ่งใบที่เรียกว่า “ด่างฮาล์ฟ” ก็ยิ่งมีราคาสูง การด่างของต้นไม้จึงแตกต่างจากด่างพร้อย

ยางอินเดีย (Ficus elastica), ไทรใบสัก (Ficus lyrata) 

ต้นละ ๑๕๐-๒๐๐ บาท ราคาจะสูงขึ้นตามขนาด ความสูงของต้น ถ้าใบด่างและต้นใหญ่อาจขายได้ต้นละหลายพันบาท 

มอนสเตอรา ดีลิซิโอซา (Monstera deliciosa)

ราคาหลักร้อย ถ้าด่างราคาหลักพัน

มอนสเตอรา ดูเบีย 
(Monstera dubia) 

ราคาประมาณ ๒,๐๐๐ บาท

ฟิโลเดนดรอน “โกลเดนดรากอน” ด่าง (Philodendron sp. “Golden Dragon” variegated)

ราคา ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท 

ฟิโลเดนดรอน บิลเลียเต หรือ “ฟิโลฯ ก้านส้ม” ด่าง (Philodendron billietiae Croat variegated)  

กำลังฮิตและดังมาก ไม่กี่ปีก่อนเคยมีราคา ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ตอนนี้อยู่ที่ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท

ฟิโลเดนดรอน แพทริเซีย
(Philodendron patriciae) 

ขนาดใบยาวได้ถึง ๑-๒ เมตร ราคาประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท

ฟิโลเดนดรอน ลองกิโลบาตัม (Philodendron longilobatum)

ขาย “ใบ” ละประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าต้นหนึ่งมีห้าใบก็ ๕๐,๐๐๐ บาท

มอนสเตอรา โอบลิกัว (Monstera obliqua)

ขอบใบบาง มีรูกว้างเป็นพิเศษ ถ้าโตเต็มวัยใบแทบจะฉีกเป็นเส้น ประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท

มอนสเตอรา “ไวต์มินต์” (Monstera “White Mint”)

มีสีมินต์อยู่บนพื้นสีขาว ต้นที่มีแค่สองสามใบ ราคาประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท

ฟิโลเดนดรอน สปิริตัส แซงก์ติ (Philodendron spiritus sancti) 

เป็นไม้ใบหายากมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ถิ่นกำเนิดอยู่ในส่วนลึกของป่าแอมะซอน ใบละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท หากต้นหนึ่งมี ๑๐ ใบก็ราคาเหยียบล้าน 

และมีไม้ใบบางต้นที่ถึงมีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้...

Philodendron spiritus sancti

ฟิโลเดนดรอน สปิริตัส แซงก์ติ 

ค ล อ ง ห ก  ป ทุ ม ธ า นี 
แ ล ะ บ า ง เ ล น  น ค ร ป ฐ ม 

“คนเลี้ยงไม้ใบน่าจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เลี้ยงเพื่อประดับบ้าน จะเป็นคนเลี้ยงต้นไม้ทั่วไป ไม่ต้องเป็นต้นไม้หายาก ไม่ต้องเป็นต้นพิเศษ ขอแค่มีต้นไม้หนึ่งต้นในห้อง แค่เห็นสัญญาณของการมีชีวิต เลี้ยงไม่ตาย แตกใบใหม่ หรือทำให้บ้านสวยขึ้นก็ชื่นใจ  จากคนที่ไม่เคยปลูกต้นไม้ มาเลี้ยงมาดูแลแล้วมันอยู่ได้ก็มีความสุข

“อีกกลุ่มคือพวกคอลเลกเตอร์หรือนักสะสมต้นไม้ กลุ่มนี้มีหลายประเภท เช่น ประเภทที่ได้ต้นไม้หายากมาแล้วภูมิใจ ฉันเก็บไว้คนเดียว  หรือเป็นนักสะสม ต้นนี้ฉันยังไม่มีนะ ตอนนี้ได้มาแล้ว มีครบสามตัวแล้ว ภูมิใจจัง  หรือเป็นประเภทที่อยากขยายพันธุ์ อยากทำให้ไม้ใบชนิดนั้น ๆ มีจำนวนมากขึ้นเพื่อที่จะนำไปขาย ทำได้แล้วก็ภูมิใจ มีหลายแบบ”

ภวพล ศุภนันทนานนท์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับคนเล่นต้นไม้  เมื่อการปลูกเลี้ยงไม้ใบกลายเป็นกระจกสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม และผู้คน ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เขาเล่าว่าต้นไม้บางต้นเดินทางมาจากป่าลึกของแอมะซอน เป็นต้นไม้หายาก  บางคนไปขอแบ่งปันมาจากพี่ ๆ ในวงการ  ต้องพูดคุย ต้องถูกชะตากันถึงจะให้  เจ้าของต้นไม้บางต้นอาจยังหวงแหนอยู่ เพราะกว่าจะได้มาก็ยากลำบาก ต้นไม้บางต้นถึงแม้มีเงินก็ไม่อาจหาซื้อได้

“อย่างเอสเอส (ชื่อเรียกฟิโลเดนดรอน สปิริตัส แซงก์ติ) ที่ยังเป็นไม้ใหม่สำหรับคนไทย  ความจริงมันเข้ามานานแล้ว แต่รู้จักกันในวงแคบ ๆ  เมื่ออยู่ในวงแคบ ๆ ก็อยู่ในมือคอลเลกเตอร์ไม่กี่คน  คอลเลกเตอร์บางคนไม่ได้เพาะพันธุ์ เขาแค่เลี้ยงเอาไว้ ไม่อยากตัดยอดไปขยายพันธุ์ เพราะถ้าตัดก็เสี่ยงที่ต้นไม้จะตาย หรือเขาอยากจะเก็บไว้ชื่นชมเป็นต้นใหญ่ ๆ สวย ๆ เต็มฟอร์มมากกว่า 

“ขณะที่คนขายหลาย ๆ คนก็เริ่มต้นมาจากการเป็นคอลเลกเตอร์ และก็มีความเป็นคอลเลกเตอร์ในตัวสูงมาก  ด้วยความที่ไม้ใบมีหลากหลายชนิด บางต้นก็ไม่ทำขาย เขาเลือกเฉพาะต้นที่ทำขายได้ บางต้นเขาหวงแหนก็เก็บไว้”

Image

นก-นภารัตน์ จุ่มศรี เจ้าของร้าน Philo By Me และ Light Green Garden Tropical House โรงเรือนเพาะเลี้ยงไม้ใบย่านบางเลน นครปฐม ให้ความเห็นว่าวงการต้นไม้คล้ายวงการพระเครื่อง

“มันมีสิ่งที่เราให้มูลค่าตามความพึงพอใจ อย่างเราเชื่อว่าพระองค์นี้ หลวงพ่อองค์นี้ หรืออะไรก็แล้วแต่หายาก มีคุณค่ามาก ขลัง เป็น rare item จะกี่ล้านก็ซื้อ  อย่างไม้ใบหายาก ในป่ามีไม่กี่ต้น บอกราคาใบละแสนเราก็ซื้อเหมือนกัน บางครั้งมันคือเรื่องของความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา

“ในทางตรงกันข้าม  ไม้ใบต้นหนึ่งมีแค่สองสามใบราคาเป็นแสน  ไวต์มินต์ราคา ๑๕๐,๐๐๐ บาท ถ้าไม่รักจริง ๆ ปล่อยให้เขาตาย ใบละแสนก็ละลายหายไปหมด”

คำแรกของชื่อร้าน Philo By Me ของพี่นกมาจากฟิโลเดนดรอน (Philodendron) ไม้ใบสกุลที่เธอรักมากที่สุด

ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๘ ปีก่อน เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเพาะเลี้ยงและขายต้นไม้ ก่อนหน้านั้นเธอก็เริ่มต้นจากคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไม้ใบมาก่อน

“ตอนนั้นเรารู้จักแค่ไม้ตัดใบ หมายถึงพรรณไม้ที่มีรูปทรงใบสวยงาม คนตัดใบมาใช้ปักแจกันร่วมกับดอกไม้ชนิดอื่น ๆ  เราเห็นซานาดู [ฟิโลเดนดรอน ซานาดู (Philodendron xanadu Croat, Mayo & J.Boos)] คนบอกว่าเป็นฟิโลฯ เราก็งง ฟิโลฯ คืออะไร เข้ามาแรก ๆ รู้สึกว่ามันเหมือนกันไปหมดทุกอย่าง ต่างกันยังไง ทั้งที่จริงมันต่าง เวลาเรามองซานาดูก็เหมือนมะละกอ [หมายถึงฟิโลเดนดรอน ไบพินนาติฟิดัม (Philodendron bipinnatifidum Schott ex Endl.)] ต่างกันแค่ไซซ์เล็กไซซ์ใหญ่ แล้วมันต่างกันยังไง  โชคดีที่เราเป็นคนช่างสังเกต ใช้เวลาเรียนรู้ คลุกคลีกับมัน จากคนไม่รู้เรื่องเลยก็รู้มากขึ้นเรื่อย ๆ อะไรที่ก้ำกึ่ง ถ้าเห็นของจริงก็จะตอบได้”

Image

Monstera subpinnata มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ 
ตั้งแต่โคลอมเบียไปจนถึงโบลิเวีย  เมื่อต้นยังเล็กใบแฉกลึก 
ทรงใบป้อม เมื่อโตเต็มที่ใบแฉกแหลมยาวและแผ่กว้าง

นับตั้งแต่ลาออกจากงานประจำมาขายไม้ใบ ร้านของพี่นกไม่เคยเปลี่ยน “หน้าไม้” เธอหมายถึงลักษณะที่ทำกับสินค้า

“ต้นไม้ที่เราสนใจมาตั้งแต่แรกก็คือไม้ใบ เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์  เราไม่ใช่คนหน่อมแน้ม เพราะฉะนั้นจะไม่ชอบไม้ดอก  รู้สึกว่ากุหลาบมันสวย แต่เราไม่ได้ love ดอกกุหลาบ  กระบองเพชรมันเจ็บมันมีหนาม เราก็ไม่ไปเหลียวแล  ของพวกนี้มันเหมือนกับเราชอบอะไรเราก็เลือกแบบนั้น  เรารู้สึกว่าไม้ใบเนี่ยมันเท่ ดูแค่ใบก็สวยนะ  ชนิดนี้กับชนิดนั้น กลุ่มเดียวกัน แต่ใบไม่เหมือนกัน มีใบมีสี  มีใบเป็นรูปหัวใจ มีใบมีรู มีใบหยัก ใบกลม ใบมีก้านทรงพัด ใบมีขน ไม่มีขน  ดูสิ มันเยอะแยะ วุ่นวาย หลากหลาย สวยดี...และไม่ร้อน ไม่ต้องไปทำงานกลางแดด อย่างน้อยก็อยู่ใต้สแลน จริง ๆ มันไม่มีคำว่าไม่ร้อนหรอก แต่ก็ยังดีกว่าไปเน้นไม้แดดที่เราต้องไปอยู่กลางแจ้ง”

จนถึงวันที่กระแสไม้ใบเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการเลี้ยงของไม้ประดับประเภทนี้ค่อนข้างตอบโจทย์คนเมืองสมัยใหม่ เลี้ยงอยู่ในร่มได้ ชอบแดดรำไร ที่สำคัญคือใบสวย เอาไว้ภายในอาคารก็ยืนระยะอยู่ได้นาน ขณะที่ไม้แดดนำไปวางในร่ม ๓-๔ วันใบก็ร่วงหล่น

“สิบแปดปีที่ผ่านมา ร้านอื่นอาจจะเปลี่ยนหน้าไม้ แต่เราไม่เคยเปลี่ยน  เรายืนพื้นกับฟิโลฯ มานานมาก การเปลี่ยนหน้าไม้หมายความว่าร้านนี้แต่เดิมเขาขายไม้ด่าง พวกไม้ต้น ๆ ที่มีใบด่าง ๆ ถึงช่วงหนึ่งก็เปลี่ยนจากไม้ด่างมาเป็นไม้อวบน้ำ พวกกระบองเพชร แค็กตัส ซึ่งห้ามโดนฝน ชอบอากาศร้อน ก็ต้องทำโรงเรือนอีกลักษณะหนึ่ง  บางคนเคยทำไม้แขวนก็เปลี่ยนประเภทเพื่อให้รองรับกับตลาด แต่สวนของเราไม่เคยเปลี่ยน ยืนระยะมาเรื่อย ๆ  ซึ่งช่วงขายไม่ดีก็มี แต่พอขายไม่ดี เหลือน้อยคน เรายืนพื้น คนก็จะนึกถึงเรา ถ้าจะหาไม้ใบฟอร์มใหญ่ต้องมาที่นี่ ถ้าจะหาไม้ใบหน้าตาหลากหลายก็ต้องมาหา”

Image

Amydrium medium ลวดลายบนใบคล้ายใยแมงมุม  ผู้ที่นำเข้ามาจึงตั้งชื่อทางการค้าให้ว่า spider ก่อนจะเพี้ยนไปจนกลายเป็น spiderman ถือเป็นไม้ใบหายากพิเศษ แตกต่างจากไม้ใบในสกุล Amydrium อื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีลาย  

คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าไม้ใบได้รับความนิยมช่วงต้นปี ๒๕๖๓ หลังเกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ และมีดารา ศิลปิน ถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ แต่เจ้าของร้าน Philo By Me ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากมุมมองของผู้ขาย

“จริง ๆ มันเริ่มบูมมาตั้งแต่ ๓-๔ ปีที่แล้ว เพียงแค่โควิด-๑๙ มาเป็นตัวกระตุ้น  สิ่งที่วัดก็คือความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ และดูจากบ้านเรา ถือว่านาน และตอนนี้กลายเป็นคนไทยเล่นแล้ว ภายในประเทศเล่นแพงกว่านอกประเทศ จากเมื่อก่อนวัตถุประสงค์ที่เราส่งต้นไม้ขายต่างประเทศ เพราะราคามันดีกว่า แพงกว่า ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่รวมค่าส่ง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ คนไทยเองซื้อแพงกว่า ยิ่งแพงยิ่งซื้อ ในขณะที่ตลาดนอกก็ยังต้องการของอยู่ ตอนนี้ก็เลยเหมือนกับตลาดในก็เดิน ตลาดนอกประเทศก็เดิน ราคาก็เลยสูงขึ้น ๆ  ช่วงนี้คือช่วงพีกสุดตั้งแต่ขายมา”

หากเปรียบเทียบกับหน้าวัวที่เคยบูมเมื่อช่วง ๑๐ ปีที่แล้ว 

“หน้าวัวบูมอยู่ ๒-๓ ปีเหมือนกัน แต่กระแสไม่แรงเท่าไม้ใบตอนนี้  สาเหตุหนึ่งเพราะมันเล่นกันแค่อาเซียน และแต่ก่อนคนไม่ได้ใช้สื่อออนไลน์กันมาก กระแสมันก็ไม่ได้ไปไกลทั่วโลก แต่ตอนนี้ไม้ใบมันไปทั่วโลกจริง ๆ  เหมือนเมื่อก่อนเรามีสินค้า ๑๐ ชิ้น มีตลาดสามประเทศ เราก็ส่งไปขายประเทศละสามชิ้น  ตอนนี้เรามีสินค้า ๑๐ ชิ้น แต่ความต้องการของทั่วโลกมันอาจจะ ๒๐ ประเทศ หรืออาจจะมีสินค้าเพิ่มเป็น ๒๐ ชิ้น แต่ความต้องการมี ๕๐ ประเทศแล้ว เราก็ไม่พอส่ง มันก็ทำให้ราคาขึ้น ทำให้คนเห็นช่องทาง ซื้อตัวนี้มาเลี้ยงโปรโมตตัวนั้น

“อย่างหลายคนเข้ามาเล่นไม้ใบปุ๊บ ฉันมีมอนสเตอร์ ในหนังสือสมมุติว่ามี ๓๐ ตัวก็อยากเก็บให้ครบ ๓๐ ตัวที่เขาว่ามา มันก็เลยทำให้ซื้อหามาเล่นต่อไปอีกเรื่อย ๆ  เมื่อมีแล้วก็อยาก up level ตอนแรกอาจจะแค่ซื้อมาเพราะชอบ จะเป็นแค่คนเล่นต้นไม้ แต่พอโพสต์รูปแล้วมีคนทักมา ขอซื้อได้มั้ย เมื่อตอนที่ซื้อมาราคา ๑,๐๐๐ บาท ตอนหลังราคาตลาดขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ อีกคนมาขอซื้อ ๓,๐๐๐ เขาก็ขาย กลายเป็น

“พ่อค้าทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นพ่อค้า ขายไปแล้วก็อาจจะไปซื้อหาต้นใหม่มาเลี้ยง ถึงวันหนึ่งก็ขาย กลายเป็นอาชีพของคนทั่วไป  จากคนเป็นผู้ซื้อพัฒนามาเป็นผู้ขาย มีเพจ มีเว็บไซต์มารองรับ ทำให้ขายได้ทุกช่องทาง”

Image

Monstera borsigiana Aurea variegated

Syngonium podophyllum Schott

ซิงโกเนียม โพโดฟิลลัม 

ล า ด ก ร ะ บั ง

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าแบบเรียนชั้นประถมศึกษาจำแนกประเภทของพืชออกเป็นพืชดอกกับพืชไม่มีดอก บางวิชา (หรือบางบท ?) ก็แบ่งต้นไม้ออกเป็นไม้ดอก ไม้ผล ไม้ใบ

ในบรรดาต้นไม้ทั้งหลาย ที่ผ่านมาผมน่าจะให้ความสำคัญกับ “ไม้ใบ” น้อยที่สุด

เพิ่งจะมาสนใจก็เมื่อลงมือเขียนงานสารคดีชิ้นนี้

จากร้าน Philo By Me ที่สวนจตุจักร ถึงงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. ๙ 

จากโรงเรือนเพาะชำไม้ใบย่านคลองหก ปทุมธานี ถึงหอพักคนรักไม้ใบซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างกัน

ผมยังมีโอกาสเดินทางไปอีกหลายแห่งหลายหนที่มีคนเลี้ยงไม้ใบ

ในช่วงท้าย ๆ ของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสารคดี ผมถามว่านว่าไม้ใบที่เขาชอบมากที่สุดสามอันดับแรกคืออะไร ว่านให้คำตอบว่า

Image
Image

มอนสเตอรา เอสคิวเลโต (Monstera esqueletoหรือ “พลูฉลุยักษ์” ไม้เลื้อยต้นใหญ่ที่มีใบเป็นรูกว้าง

แอนทูเรียม คลาริเนอร์เวียม (Anthurium clarinervium Matuda) พืชในสกุลหน้าวัว ทรงใบเป็นรูป หัวใจป้อม เส้นใบสวยชัด ผิวใบเป็นเหมือนกำมะหยี่ เมื่อโดนแสงแดดจะวิบวับเหมือนกากเพชร  ใบอ่อนออกใหม่เป็นสีแดงแกมน้ำตาล

และลำดับที่ ๓ ว่านชอบไม้ใบทุกชนิดที่มีใบใหญ่ ๆ

สำหรับผมจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก 

อะโกลนีมา พิกตัม ไทรคัลเลอร์ (Aglaonema
pictum tricolor) หรือ “เสือพรานสามสี” มีสีเขียวเข้ม
เขียวสด และสีขาว ปะปนอยู่บนใบรูปไข่เดียวกัน
ดูเท่ไม่เหมือนใคร คล้ายลายพรางกางเกงทหาร

ฟิโลเดนดรอน บิลเลียเต (Philodendron billietiae
Croat) หรือ “ฟิโลฯ ก้านส้ม” โดดเด่นที่ก้านใบสีส้มที่ผมเห็นทีไรก็นึกถึงหลอดดูดน้ำ ขนาดใบอาจใหญ่ยาวได้ถึง ๑ เมตร

และผมชอบซิงโกเนียม โพโดฟิลลัม (Syngonium podophyllum Schott) ไม้ใบสีเขียวเข้มที่มีชื่อบ้าน ๆ ว่า “เงินไหลมา” ชอบเพราะมันเป็นไม้ใบที่ขึ้นอยู่ที่บ้านตั้งแต่วันที่ผมยังเป็นเด็ก เช่นเดียวกับพลูด่าง และมันยังมีชีวิตอยู่รอด หรืออย่างน้อยก็ออกลูกออกหลานอยู่ตรงตำแหน่งเดิมจนถึงทุกวันนี้

นับแต่อดีต ไม้ประดับหลายชนิดถูกจิตรกรบันทึกลงบนหน้ากระดาษ กลายเป็นภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ที่มีรายละเอียดให้ผู้คนได้ศึกษา  ไม้ใบหลายชนิดยังคงได้รับความสนใจต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

Little Tree Garden  และ Whispering Cafe ร้านอาหาร-คาเฟ่ ย่านสวนสามพราน จังหวัดนครปฐม ประดับตกแต่งร้านด้วยไม้ใบนานาชนิด  

Image

ไม้ใบมีมากหลากชนิด บางชนิดต้องการแสงมาก บางชนิดต้องการแสงน้อย  บางชนิดชอบแสงมาก แต่ต้องได้รับน้ำเพียงพอ  บางชนิดไม่ชอบแสง ต้องปลูกในพื้นที่ร่มรำไรเท่านั้น

ไม้ใบที่ผมกับว่านหลงรักคงเป็นเพียงไม่กี่ชนิดในโลกแห่งไม้ใบ

ถ้าให้ใครเลือกก็คงยากที่จะออกมาซ้ำกัน

จากไม้ประดับที่เคยมีสถานะเป็นเพียง “ไม้ประดับ” เท่านั้น วันนี้ไม้ใบออกมายืนเด่นอยู่แถวหน้า และน่าจะยังมีอีกหลายต่อหลายชนิดถูกนำเสนอออกมา

เพื่อตอกย้ำว่าวันนี้และนาทีนี้ ในตลาดต้นไม้ไม่มีอะไรร้อนแรงเท่า “ไม้ใบ” อีกแล้ว

Image

เอกสารประกอบการเขียน
จิตรทิวัส พรประเสริฐ. “Houseplants ไม้ใบ ในกระแสชีวิตวิถีใหม่”. V magazine ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓๖ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๓) : ๔-๑๑.

ภวพล ศุภนันทนานนท์. ไม้ใบ Foliage Plants. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, ๒๕๖๓. 

ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และ จาตุรงค์ ขุนกอง. Everyday with
plants ทุกวันมีต้นไม้. กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, ๒๕๖๐.

ขอขอบคุณ
คุณโฮม-สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์, คุณวิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง, คุณโอห์ม-ภวพล ศุภนันทนานนท์, คุณนก-นภารัตน์ จุ่มศรี,
คุณจิ๋ว-ปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง, คุณสุรัตน์ วัณโณ, คุณธง-ธงชัย สีฟ้า และคุณว่าน-จิตรทิวัส พรประเสริฐ