Urban Forest
การดูแลไม้ใบสำหรับมือใหม่หัดปลูก

รายการ Sarakadee Live ไม้ใบที่รัก  “นก” นภารัตน์ จุ่มศรี เจ้าของร้าน Philo By Me “ว่าน” จิตรทิวัส พรประเสริฐ ช่างภาพ ดำเนินรายการ “ต้น” สุรศักดิ์ เทศขจร ชมทั้งรายการคลิกลิงก์  https://www.youtube.com/watch?v=EJUibdvV2WM

ไม้ใบ-ขยายพันธุ์
รวมข้อควรรู้เรื่องการดูแลไม้ใบ
สำหรับมือใหม่หัดปลูก

แม้จะดูบอบบาง หายาก และมีราคาแพง แต่ความจริงแล้วไม้ใบมีให้เลือกหลายราคา และเป็นไม้ประดับที่พบปัญหาน้อยมาก ขอเพียงได้อาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โอกาสเกิดปัญหาทั้งเรื่องโรคและศัตรูทำลายจะน้อยลง สามารถมีอายุยืนนานได้หลายสิบปี และสามารถขยายพันธุ์ออกลูกออกหลาน  ต่อไปนี้คือปัจจัยพื้นฐาน ข้อควรรู้สำหรับผู้ที่คิดจะเพาะเลี้ยงไม้ใบ

Image

ตำแหน่งการปลูก

ก่อนนำไม้ใบมาปลูกควรหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม  ควรปลูกหรือวางกระถางไม้ใบในพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท  ไม้ใบจะเติบโตได้ดีกว่าปลูกในห้องทึบและอับลม ผู้เลี้ยงควรทำความเข้าใจธรรมชาติของไม้ใบแต่ละชนิดเพื่อเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม 

Image

แสงแดด

ตำแหน่งวางไม้ใบควรอยู่บริเวณที่มีแสงส่องผ่านเข้ามาเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ไม้ใบที่ต้องการแสงน้อย เช่น ฟิโลเดนดรอน หน้าวัวใบ กวักมรกต พลูด่าง ลิ้นมังกร เงินไหลมา ควรวางไว้ในที่มีแสงสว่างธรรมชาติส่องถึงเล็กน้อย เช่น ตามมุมห้อง ห้องน้ำ หรือหน้าต่างที่หันไปทางทิศเหนือ

ไม้ใบที่ต้องการแสงปานกลาง เช่น ปาล์มจีบ คล้า บีโกเนีย ไทรใบสัก ยางอินเดีย อากาเว่ อะโลคาเซีย ควรวางไว้ในที่มีแสงสว่างที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกหรือตะวันออก ใกล้หน้าต่าง ประตู ระเบียง หรือห้องที่เปิดไฟนีออนตอนกลางวัน

ไม้ใบที่ต้องการแสงมาก เช่น เล็บครุฑ ปรง จันทน์ผา จันทน์หอม เฟิน โกสน ควรวางใกล้หน้าต่าง บริเวณที่ได้รับแดดโดยตรง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือใต้หลังคาใส อย่างไรก็ตามควรติดตั้งสแลนหรือตาข่ายพรางแสงไม่ให้ไม้ใบรับแดดแรงเกินไป

ทั้งนี้ถึงแม้ไม้ใบจะปรับตัวกับสภาพแสงที่ค่อนข้างร่มภายในบ้านได้ดี แต่ก็ควรหาโอกาสนำออกไปรับแสงข้างนอกบ้านเป็นครั้งคราว

Image

วัสดุปลูก

วัสดุปลูกที่เหมาะสมสำหรับไม้ใบคือดินร่วนผสมกับวัสดุปลูกอื่น ๆ เช่น กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว แกลบขาว ใบก้ามปูที่ย่อยสลายแล้ว หินภูเขาไฟ เพอร์ไลต์ (perlite) เวอร์มิคูไลต์ (vermiculite) เพื่อช่วยให้ดินโปร่ง ระบายน้ำได้ดี  การใช้วัสดุ เช่น ถ่านทุบ กาบมะพร้าวสับชิ้นใหญ่ รองก้นกระถาง จะช่วยให้ดินระบายน้ำและระบายอากาศได้ดีขึ้น

ไม้ใบที่นิยมปลูกหลายชนิดเป็นพืชอิงอาศัย เช่น ฟิโลเดนดรอน หน้าวัวใบ พลูด่าง ต้องการวัสดุปลูกที่โปร่ง ชื้น ระบายน้ำดี วัสดุปลูกที่ใช้จะมีกาบมะพร้าวสับเป็นหลัก ทั้งนี้ในกาบมะพร้าวสับมีสารแทนนิน ควรนำมาแช่น้ำก่อนใช้ ๑-๒ วัน ให้น้ำยางสีน้ำตาลละลายออกมา  กาบมะพร้าวมีอายุการใช้งานสั้นประมาณ ๑-๒ ปีจะย่อยสลายกลายเป็นขุยละเอียด ทำให้วัสดุปลูกแน่น รากพืชเติบโตไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี

สำหรับดินธรรมชาติมีข้อดีคือมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แต่ก็มีข้อเสียคืออาจมีเชื้อราปะปนมา อาจทำให้เกิดโรคกับต้นไม้ ก่อนนำต้นไม้เข้าบ้านจึงควรรดสารกันราไว้ก่อน หรือนำดินไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงต่าง ๆ ที่อาจปะปนอยู่ในดิน  หากมีเวลาและใช้ดินไม่มากนัก ให้นำดินไปอบฆ่าเชื้อ หรือใช้เตาไมโครเวฟประมาณ ๙๐-๑๒๐ วินาที

Image

น้ำ

ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน  ความชื้นมากไปทำให้รากเน่า  ไม้ใบส่วนใหญ่มักตายเพราะผู้เลี้ยงให้น้ำมากเกินไปมากกว่าขาดน้ำ  อาจใช้วิธีสเปรย์น้ำทุกวันแทนการรดน้ำโดยตรงก็ได้ และควรปล่อยให้วัสดุปลูกในกระถางแห้งก่อนรดน้ำครั้งต่อไป

การรดน้ำที่ถูกต้องคือรดจนเห็นว่าน้ำระบายออกทางก้นกระถาง  สำหรับวัสดุปลูกที่โปร่งเกินไป เช่น มีกาบมะพร้าวสับผสมอยู่ในดินมากจนมีช่องวางในวัสดุปลูก ทำให้น้ำระบายออกเร็วและดินไม่ได้อุ้มน้ำไว้ ก็มีส่วนทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำ ให้เติมดินใหม่ลงไปและใช้จานรองกระถางหล่อน้ำช่วย รวมทั้งสเปรย์น้ำที่ผิวดินเพิ่มเติม  สิ่งสำคัญคือระวังอย่าให้ดินแฉะตลอดเวลา

Image

ปุ๋ย

นิยมใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ ควรให้ปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง  ที่สำคัญคือปุ๋ยเม็ดแบบละลายช้า เช่นออสโมโคต (Osmocote) สามารถใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นไม้ได้ ให้ทุก ๓ เดือน การปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างช้า ๆ ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารสม่ำเสมอ ไม่เข้มข้นจนเป็นอันตราย การให้ปุ๋ยมากไปจะทำให้ต้นไม้ยืดยาว บอบบาง เสียรูปทรง ถ้าหากห้องได้รับแสงน้อยยิ่งต้องใส่ปุ๋ยน้อย

Image

กระถาง

กระถางควรมีขนาดเหมาะสมกับต้นไม้ กระถางขนาดใหญ่เกินไปจะสร้างความชื้นส่วนเกินในวัสดุปลูก ขณะที่กระถางเล็กเกินไปจะจำกัดการเจริญเติบโตของพืช  สัดส่วนของขนาดกระถางและต้นไม้ไม่มีข้อกำหนดตายตัว  สำหรับไม้ประเภททรงสูง อาจคำนวณคร่าว ๆ ว่าความกว้างของกระถางควรอยู่ที่ประมาณ ๒ : ๓ ของความสูงของต้นไม้ เช่น ต้นไม้สูง ๑๕ นิ้ว ความกว้างของกระถางควรประมาณ ๑๐ นิ้ว  ถ้าเป็นต้นไม้ทรงพุ่ม ระยะกิ่งที่กว้างที่สุดกับ

กระถางอยู่ที่ประมาณ ๓ : ๒ เช่น ทรงพุ่มกว้าง ๑๘ นิ้ว กระถางควรมีความกว้าง ๑๒-๒๐ นิ้ว เป็นต้น 
กระถางใหญ่ควรรองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟ ถ่านทุบ หรืออิฐมอญทุบ หนาประมาณ ๑-๒ นิ้ว จะช่วยไม่ให้รากจมน้ำก้นกระถางอยู่ตลอดเวลา

เปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสมของขนาดต้นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ไม้ใบได้รับธาตุอาหารและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Image

การดูแลต้นไม้

- ต้นไม้ที่ย้ายลงกระถางใหม่ ๆ ต้องการเวลาปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  ควรตั้งไว้ในที่ชุ่มชื้น ไม่โดนแดดโดยตรงประมาณ ๒ สัปดาห์ ก่อนนำไปวางในตำแหน่งที่ต้องการ

- การปลูกพืชที่ชอบสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันรวมกลุ่มไว้ด้วยกันจะช่วยให้ง่ายต่อการดูแล
ไอน้ำจากดินที่ระเหยขึ้นมาช่วยเพิ่มความชื้นบริเวณนั้น ทำให้ต้นไม้ไม่แห้งเกินไป

- เมื่อวางกระถางต้นไม้ไว้บริเวณใดแล้วต้นไม้เติบโตได้ดี ไม่ควรย้ายไปตำแหน่งอื่นหรือเปลี่ยนมุมบ่อย ๆ เนื่องจากต้นไม้ต้องคอยปรับสภาพตัวเอง

- ใช้วัสดุอุ้มน้ำเช่นกาบมะพร้าวสับคลุมผิวดินเพื่อลดภาระการรดน้ำ จานรองกระถางใช้หล่อน้ำ เป็นวิธีให้น้ำอีกทางหนึ่งเวลาไม่อยู่บ้าน

- หมั่นหมุนกระถางเพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดทั่วถึง จะแตกใบสม่ำเสมอรอบด้าน  แม้ต้นไม้ที่เข้ามาอยู่ในบ้านจะปรับตัวกับสภาพแสงที่ค่อนข้างร่มได้ดี แต่ก็ควรนำออกไปรับแสงด้านนอกบ้าง


- ไม้ใบที่ตั้งประดับบ้านนาน ๆ มักมีฝุ่นหรือคราบน้ำเกาะบนใบ ใช้น้ำฉีดพ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำ
เช็ดเบา ๆ เพื่อทำความสะอาดจะช่วยให้ใบไม้ดูมันวาว อาจใช้น้ำสบู่อ่อน ๆ ล้างแมลงที่เกาะอยู่  ถ้าเช็ดไม่สะดวกให้ยกมาล้างในห้องน้ำ ต้นเล็กล้างในอ่างล้างหน้า ต้นใหญ่ใช้น้ำจากฝักบัวล้าง ทั้งนี้ ไม้ใบบางชนิดก็ไม่ควรเช็ด เพราะอาจทำให้ขนใบหลุดหายไป

Image

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ไม้ใบทำได้หลายวิธี ทั้งแบบอาศัยเพศคือเพาะเมล็ด และแบบไม่อาศัยเพศ เช่น ปักชำ แยกหน่อ  หลังขยายพันธุ์แล้วจะนำไปขายต่อหรือมอบให้คนที่เรารักก็ย่อมได้

เพาะเมล็ด
นิยมใช้กับหน้าวัวใบ ลิ้นมังกร วาสนา อะโกลนีมา จันทน์ผา ปาล์มต่าง ๆ  นำผลแก่ที่ไม่มีร่องรอยโรคหรือแมลงทำลายมาทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง ปลูกในกระถางด้วยดินผสมขุยมะพร้าวอัตราส่วนประมาณ ๑ : ๑ กดเม็ดลงไปแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะ รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอ วางในที่มีแสงแดดรำไร ๗-๑๐ วันเมล็ดจะเริ่มงอก แตกใบ ขึ้นอยู่กับชนิดพืช

ปักชำกิ่ง
เหมาะกับไม้ใบที่มีลำต้นทอดเลื้อยหรือแตกกิ่งก้านได้มาก เช่น ฟิโลเดนดรอน มอนสเตอรา พลูชนิดต่าง ๆ หมากผู้หมากเมีย  ไม้ใบที่ปักชำได้มักจะแตกรากใหม่ออกมาตามข้อ ซึ่งมักเป็นตำแหน่งที่มีก้านใบ มีตาให้ยอดใหม่แตก ให้เลือกข้อที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ยาวประมาณ ๑๕-๒๕ เซนติเมตร เพาะในกระบะหรือกระถาง สัดส่วนดินร่วนกับขุยมะพร้าว ๑ : ๑ ปักกิ่งที่เตรียมไว้ลงไป ให้ตำแหน่งข้ออยู่ต่ำกว่าวัสดุปักชำ รดน้ำให้ชุ่ม วางในที่มีแสงแดดรำไรประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ถ้ากิ่งยังสดอยู่แสดงว่ากำลังแตกราก รอจนผลิใบใหม่จึงย้ายไปปลูกที่อื่น

ไม้ใบบางชนิด เช่น กวนอิม โกสน เล็บครุฑ พลูด่าง พลูฉลุสามารถตัดกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมาปักลงแจกันใส่น้ำ ไม่นานจะแตกราก เมื่อรากแน่นจึงย้ายไปปลูกลงดินได้

แยกหน่อ
เหมาะกับไม้ใบที่เจริญเติบโตทางด้านข้าง เช่น คล้า อะโรคาเซีย อะโกลนีมา ลิ้นมังกร จั๋ง  ไม้ใบเหล่านี้เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีใบแน่นกระถาง ให้นำไม้ใบที่กำลังแตกกอออกจากกระถางเก่า ใช้มีดหรือกรรไกรตัดแบ่งกอให้มีเหง้าและหน่อใหม่ติดอยู่ ใส่ดินปลูกลงในกระถางใหม่ รดน้ำให้ชุ่ม วางในที่มีแสงแดดรำไร เมื่อต้นแข็งแรงจึงย้ายมาไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ 

เรียบเรียงจากหนังสือ ไม้ใบ Foliage Plants โดย ภวพล ศุภนันทนานนท์
และ Everyday with plants ทุกวันมีต้นไม้ โดย ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และ จาตุรงค์ ขุนกอง สำนักพิมพ์บ้านและสวน