Urban Forest
นักจัดสวน-นักเลี้ยง

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ 

วิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง 
นักจัดสวน Little Tree Landscape 

Image

“คนรุ่นใหม่ยุคนี้เลี้ยงไม้ใบได้ดี เหมือนมีใจชอบก็จะดูแล รักษา  ไม่ใช่แค่เห่อหรือแค่อยากมีแล้วทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ  เขาเห็นไม้ใบเป็นของสะสม เป็นงานอดิเรก ก็เลยดูแลกันเก่ง

“จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดูแลไม้ใบ เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง  ถ้ามีความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ เข้าใจเรื่องของแสง เรื่องการให้น้ำ  เดี๋ยวนี้ยังมีปุ๋ย มีนวัตกรรม
ต่าง ๆ เข้ามาช่วย ทำให้ต้นไม้อยู่รอด การลองผิดลองถูกก็ง่ายขึ้น  การสังเกตทำได้ง่ายขึ้น รู้ว่าต้นไหนรอดต้นไหนไม่รอด หรือมีปัญหาที่ต้องเข้าไปช่วยดูแลแก้ไข  ไม่เหมือนสมัยก่อน คนเลี้ยงเหมือนต้องสุ่มว่าได้ต้นอะไรมาเลี้ยงแล้วจะรอดหรือไม่รอด  

“หลายคนเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ ก็เพราะมีความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วการดูแลไม้ใบก็ไม่ใช่เรื่องยาก  หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับ mindset หรือมุมมองแล้วว่าจะทำอย่างไรให้สวยงาม 

“การดูแลด้วยตัวเองทำให้รู้จังหวะ รู้ว่าให้น้ำไปกี่วัน ต้นนี้ให้น้ำแค่นี้พอนะ  ถ้าเลี้ยงกันหลาย ๆ คน คนโน้นรด คนนี้รดเรียบร้อย (หัวเราะ) ทั้ง ๆ ที่เป็นไม้ indoor เหมือน ๆ กันแต่เขาไม่ได้ทนเท่ากัน ต้นนี้ทนกว่าอีกต้น  ไม้ใบหลาย ๆ ชนิดชอบน้ำไม่เหมือนกัน แรก ๆ อาจจะต้องจดบันทึกว่าต้นนี้รดน้ำมาแล้วกี่วัน ต้องมีการเรียนรู้  ไม่นานจะเริ่มรู้แล้วว่าต้นนี้ไม่ชอบน้ำเยอะ ต้นนี้ผ่านมา ๑ สัปดาห์ถึงจะรอด หรือว่าต้องรอ ๒-๓ สัปดาห์

“ไม้ใบที่เอามาใช้งานในบ้านชั่วโมงนี้มีให้เลือกเยอะมาก เมื่อก่อนตระกูลพืชมีอยู่แล้ว แต่คนยังไม่กล้าหยิบจับมาใช้ หรือไม่คิดว่ามันจะอยู่ได้  ถึงยุคนี้คนนิยมใช้ มาทดลอง ทำให้รู้ว่าต้นไม้ก็มีการปรับตัว อยู่ที่การเซต การให้น้ำ ปุ๋ย แสง  เมื่อก่อนมีแค่จั๋ง หมากเหลือง หมากเขียว วาสนา พลูด่าง กวักมรกต แค่ไม่กี่ชนิดที่เราคิดว่าจะเอามาไว้ indoor ได้ แต่ปัจจุบันมีให้เลือกเยอะมาก เกินกว่า ๑๐๐ ชนิด แล้วมีพวกแซนซีเวเรียหรือลิ้นมังกรเข้ามาเกี่ยวข้องอีก  แต่ละชนิดเอามาไว้ indoor ได้เกือบทั้งหมด เพียงแต่ดูว่าตัวไหนทนกว่ากัน ตัวไหนอยู่ในร่มได้นานกว่ากัน แล้วก็ต้องรู้วิธีควบคุมน้ำ ไม้ใบบางชนิดใน ๑ อาทิตย์รดน้ำครั้งเดียวยังอยู่ได้สบาย ถ้าเรามีภาชนะใส่น้ำรองก้นกระถางไว้ ทำให้เกิดการดูดซับน้ำขึ้นไปเลี้ยงลำต้นมันก็ช่วยได้ ขอแค่มีเวลายกออกไปรับแสงข้างนอกบ้าง ตามธรรมชาติของต้นไม้ถ้าไม่มีแสงอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าคนเลี้ยงไม่พร้อมที่จะคอยยกออกไปดูแล หรือสับเปลี่ยนเพื่อให้ได้แสงข้างนอกบ้างก็เป็นเรื่องยาก  

“ถ้าไม่เคยเลี้ยงต้นไม้แล้วอยากเลี้ยงไม้ใบ แนะนำว่าเลี้ยงอะไรก็ได้ที่ราคาไม่แพงก่อน ถ้าเลี้ยงรอดค่อยเขยิบไปทีละสเตป”

“การใช้ไม้ใบตกแต่งสถานที่หรือจัดสวน ถ้าคิดว่าเซตแล้วอยู่ถาวรเลยเป็นไปไม่ได้  บางคนไม่เข้าใจ เห็นไม้ใบสวย ๆ หรือดูในรูปถ่ายแล้วอยากได้ แต่ภายในบ้านไม่มีแดดเลย คิดว่าวางไว้แล้วจะคงอยู่อย่างนี้ ความจริงคือมันต้องมีเรื่องการดูแลตามมา  การตกแต่งสถานที่เมื่อคำนึงถึงพื้นที่แล้วเราต้องมาดูว่าสไตล์หรือต้นไม้ที่เราชอบว่ามันเหมาะกับพื้นที่หรือเปล่า เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ หรือสไตล์ของบ้านไหม หรือด้วยขนาดด้วยไซซ์ มันเข้าได้กับพื้นที่ตรงนั้นไหม ชนิดของไม้ใบก็จะค่อย ๆ แคบลง ๆ “ไม้ใบแต่ละชนิดมีคาแรกเตอร์นะ รูปทรงของเขา texture ของเขา สี ขนาด ที่เชื่อมโยงกันกับ

การออกแบบภายใน  เมื่อเรารู้ลักษณะเบื้องต้นของไม้ใบแต่ละชนิด เราก็ต้องรู้ขนาดของต้นที่จะเลือกไปใช้งาน  พื้นที่กว้างเอาต้นเล็กก็จม พื้นที่แคบเอาต้นใหญ่ก็รู้สึกอึดอัด สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความชอบและสไตล์ของแต่ละคน  บางคนอาจจะอยากอัดเข้าไปให้เขียวเป็นป่าเลยก็อีกอารมณ์หนึ่ง แต่บางคนอยากวางแค่ต้นสองต้นให้รู้สึกว่าเป็นของตกแต่ง เป็น prop ดูเป็นส่วนหนึ่งของงาน interior ก็ต้องมีความเหมาะสมของไซซ์ ของรูปร่าง นี่คือสิ่งที่ต้องคำนึง แต่ว่าเวลาเลือกก็ต้องคิดควบคู่ไปกับเรื่องการดูแล  คนที่จะเอาต้นไม้ไว้ข้างในบ้านหรือเลี้ยงภายในอาคารต้องเข้าใจธรรมชาติพอสมควร แต่ถามว่ายากไหมก็ไม่ยาก 

“ถ้าไม่เคยเลี้ยงต้นไม้เลยแล้วอยากเลี้ยงไม้ใบ แนะนำว่าเลี้ยงอะไรก็ได้ที่ราคาไม่แพงก่อน เพราะว่าไม้ใบมีตั้งแต่หลักสิบจนตอนนี้หลักแสน  ถ้าคนไม่เคยเลี้ยงอย่าไปเสี่ยงเล่นไม้แพง เล่นไม้ราคาถูกก่อน แล้วถ้าเลี้ยงรอดค่อยเขยิบไปทีละสเตป

Image

“ไม้ใบที่ราคาแพงมักจะเป็นไม้ที่ไม่ได้มีจำนวน บางชนิดอาจจะเพิ่งมีการนำเข้ามา หรือเพิ่งขยายพันธุ์  ไม้พวกนี้จะขายเร็ว มีความต้องการของตลาด พอมันไม่มีจำนวน ซื้อกันแบบตัดยอดหรือขุดเหง้ากันก็มี  คนเลี้ยงก็เอาไปเลี้ยงเอง ก็มีความเสี่ยงในการเลี้ยง ถ้าคนเลี้ยงไม่มีประสบการณ์ มันก็ไม่ง่ายนะ

“อย่างล่าสุดให้ต้นไม้น้องคนหนึ่งที่รู้จัก ให้มอนสเตอราไทยคอนฯ (Monstera deliciosa Thai constellation) ตัวด่างไป ให้ไปตอนนั้นไม้ใบก็ราคาหลักหมื่นแล้วนะ  เขาก็เอาไปเลี้ยง มันก็โต คนก็ยุให้ตัด ตัดเลย ๆ  เราสอนวิธีตัดไปนะ แต่เขาตัดแล้วเน่า กังวลว่าจะไม่รอดก็เลยส่งกลับมา สภาพตอนนั้นดูไม่ได้แล้ว  คือบางทีมันดูเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ง่ายนะ มันอยู่ที่ตัดแล้วปักชำแล้วจะเอาไปวางตำแหน่งไหน รดน้ำอย่างไร เอาไปโดนแสงมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องดูแลต่อ ไม่ใช่ตัดปุ๊บแล้วร้อยทั้งร้อยจะรอด

“ถ้าจะแนะนำคนที่ไม่เคยเลี้ยง ลองไปเล่นพวกพลูง่าย ๆ ก่อน พลูสนิม พลูอินโด พลูจีบ หรือมอนสเตอรา ง่ายที่สุดที่นิยมกันเยอะก็ไทรใบสัก คู่มากับยางอินเดีย แต่เทียบแล้วสองต้นนี้ไทรใบสักทนกว่า  เริ่มต้นจากง่าย ๆ ก่อนเป็นสเตปแรก” 

เคน-ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค
นักแสดง

Image

“ชอบไม้ใบตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด เพราะว่าว่าง อยู่บ้านเปิดดู Pinterest ไถ ๆ ไปเรื่อย เห็นพวกฝรั่งเวลาอยู่ในบ้านเขาจะมีต้นไม้แล้วมันดูสบายใจดี ก็เลยไปลองซื้อมาปลูกบ้างดีกว่า  ไปซื้อตามคลอง ๑๕ แถวตลาดเลียบด่วน จะมีพวกไทรใบสัก ยางอินเดีย มอนฯ เขียว เดหลี เริ่มจากพวกนี้  พอเดินดูเรื่อย ๆ ก็เห็นไทยคอนฯ ที่มีลายกระจาย ๆ สวยดี แต่คิดในใจว่าทำไมต้นไม้แพงจัง ซื้อไทยคอนฯ ต้นแรก ๔,๐๐๐ คิดหนักเหมือนกัน สี่พันเลยเหรอต้นไม้ ขนาดใบก็ไม่ใหญ่ มีประมาณสามใบ แพงมากเลย แต่ก็ซื้อ เพราะว่าชอบ สวยดี ถึงตอนนี้ต้นนั้นก็ใหญ่มากแล้ว  ก็ไปดูเรื่อย ๆ เข้าสวนโน้นออกสวนนี้  พอเลี้ยงมาเรื่อย ๆ ก็รู้จักพี่โฮม (สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์) ได้รู้จักไม้ใบใหม่ ๆ ที่มันแตกต่างและเราไม่รู้จัก  พี่โฮมเป็นนักหาพันธุ์ไม้แปลก เป็นคนรวบรวมพันธุ์ไม้หลายชนิดมาจากต่างประเทศ ก็จะมีเรื่องเล่า ทำให้เรารู้ว่าต้นไม้แต่ละต้นมันมี story ถ้าเรามีต้นที่มาจากประเทศที่อยู่ไกล ๆ แล้วเราได้เลี้ยง มันก็น่าจะเป็นเรื่องราวดี ๆ ก็เลยเก็บสะสมมาเรื่อย

“เขาทำให้เรา
อยากตื่นมาดูทุกวัน
ทั้ง ๆ ที่
ก็ดูทั้งวันอยู่แล้ว”

Image

“ต้นไม้ทำให้เราเปลี่ยนแปลง  ไม่น่าเชื่อ เขาทำให้เราอยากตื่นมาดูทุกวัน ทั้ง ๆ ที่ก็ดูทั้งวันอยู่แล้ว  บางต้นช่วงแรก ๆ ผมยกขึ้นยกลง เห็นคนบอกว่าเขาชอบเย็น ๆ เราก็ยกขึ้นไปนอนห้องแอร์กับเรา ตอนเช้าก็เอาลงมา ตอนกลางคืนก็ยกขึ้นไป สรุปเขาก็ไม่โต ก็เลยเอาไปวางไว้ใต้ต้นไม้ที่มีพวกกาบมะพร้าวสับ เป็นวัสดุเก่าที่เราเทไว้  สรุปมันโต ก็เลยปล่อยไว้กับธรรมชาติ ย้ายไปย้ายมาไม่เวิร์ก  ศึกษาไปเรื่อย ๆ ว่าต้นไหนควรเลี้ยงยังไง เลี้ยงแบบไหนถึงจะได้ฟอร์มที่สวยที่สุด ซื้อต้นโน้นต้นนี้เข้ามาเพิ่ม ทำโรงเรือนที่บ้าน ทีนี้ก็ยาวแล้วครับ  ทำรายการ ‘We Plant’ เพราะอยากให้คนได้รู้จักไม้ใบมากขึ้น

“ความรู้สึกตอนเขาแตกใบครั้งแรกคือดีใจนะ รู้สึกว่าต้นไม้โตแล้ว มีใบใหม่ แล้วใบใหม่ออกมาเป็นยังไง ทุกวันนี้ก็ยังลุ้น เลี้ยงไม้ใบมีอะไรให้ลุ้นตลอด ยิ่งเลี้ยงไม้ด่างยิ่งลุ้นหนักกว่าอีก เพราะไม้ด่างออกมาลายไม่เหมือนกันทุกใบ ลุ้นแล้วว่าใบนี้ออกมาจะเป็นยังไง ใบจะด่างสวยหรือเปล่า

“พวกไม้เขียวก็ได้เห็นฟอร์มที่มันโต ใบใหญ่ขึ้น แล้วเขาไม่ได้มีแค่ฟอร์มเดียว บางต้นมีสามฟอร์ม บางต้นมีห้าฟอร์ม บางทีเราเลี้ยงตั้งแต่ใบยังไม่แตกแฉก เลี้ยงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเริ่มแตกแฉก เริ่มโตก็เปลี่ยนไปอีกแฉกหนึ่ง โตไปอีกก็เปลี่ยนไปอีกแฉกหนึ่ง “ไม้ใบที่บ้านตอนนี้เพิ่งขายไปแค่ประมาณ ๑๐ ต้น เรายังไม่ค่อยมี อยากเลี้ยงก่อน อยากเป็นเจ้าของให้เยอะ ๆ  อยากมีและอยากดูก่อนที่เราจะขายไป เราจะได้พูดเต็มปากได้ว่าต้นนี้เป็นแบบนี้ ต้นนี้เราเลี้ยงมาหลายใบ  ถ้าเราซื้อมาเลี้ยงใบเดียวแล้วขายเลยก็จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าต้นนี้เป็นยังไง”