วิตามิน “ยิ่งมากยิ่งดี”
จริงหรือ
holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
ช่างภาพหญิงรุ่นน้องคนหนึ่งบ่นว่าทำงานหนัก เธอเหนื่อยและเพลียมากจนต้องเจียดเงินที่มีไม่มากนักไปซื้อวิตามินมากินบำรุงร่างกาย ขณะเพื่อนอีกคนบอกว่าอายุมากขึ้นผิวพรรณไม่สดใสเหมือนก่อน เธอจะไปซื้ออาหารเสริม คอลลาเจนมากินเพื่อให้ผิวพรรณยืดหยุ่นเด้งดึ๋งเหมือนวัยสาว
ดูเหมือนนี่คือวิธีคิดสำเร็จรูปของคนยุคนี้ เมื่อร่างกายขาดสิ่งใดต้องหาสิ่งนั้นมาเติมผ่านวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำเร็จรูปที่มีให้เลือกนับชนิดและยี่ห้อไม่ถ้วน ทว่าเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องหรือไม่ วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางขายในท้องตลาดมีคุณภาพน่าเชื่อถือและเป็นไปตามคำโฆษณาเพียงใด ที่สำคัญยิ่งกว่าคือร่างกายสามารถนำไปทดแทนสิ่งที่ขาดหายแบบทันทีทันใดดังที่เชื่อกันหรือไม่
กรณีความน่าเชื่อถือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยว่า ผลตรวจเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมวิตามินซี ๘ จาก ๔๗ ตัวอย่าง ไม่มีวิตามินซีตามคำกล่าวอ้าง และผลิตภัณฑ์ ๓๗ ตัวอย่างมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามฉลาก ขณะเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซีชื่อดังรายหนึ่งเผยว่า ทางบริษัทได้ใส่วิตามินซีครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในฉลาก แต่เนื่องด้วยวิตามินซีสลายได้เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ความร้อน แสง และความชื้น
คำชี้แจงข้างต้นจึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดเครื่องดื่มผสมวิตามินซีดังกล่าวจึงไม่มีวิตามินซีตามที่ระบุไว้ในฉลากหรือไม่พบเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเมื่อวิตามินซีสลายตัวง่ายเช่นนี้ เราจะซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินซีมากินทำไม
ส่วนประเด็นความจำเป็นในการรับวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำเร็จรูปเข้าสู่ร่างกาย บทความเรื่อง “คุณต้องการอาหารเสริมประจำวันจริงหรือ” ของโรงเรียนการแพทย์แห่งฮาร์วาร์ดระบุว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีแรงขับเคลื่อนมาจากภาคธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ธุรกิจอาหารเสริมในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึง ๓ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และลูกค้าสำคัญคือผู้สูงอายุ จากการสำรวจผู้ที่อายุเกิน ๖๐ ปี จำนวน ๓,๗๐๐ คน พบว่ามีผู้กินอาหารเสริมทุกวันถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ ๕๔ เปอร์เซ็นต์กินอาหารเสริมหนึ่งถึงสองชนิดต่อวัน และ ๒๙ เปอร์เซ็นต์กินอาหารเสริมวันละมากกว่าสี่ชนิด
“สาเหตุที่วิตามินเหล่านี้ยังได้รับความนิยม เพราะผู้คนมักคิดว่าสิ่งที่มากกว่าย่อมพิเศษกว่าและดีกว่าสิ่งปรกติธรรมดา กินเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างพอเพียง และผู้คนมักรู้สึกสุขภาพดีถ้าทำบางอย่างที่เชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดีหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ยาหลอกนั่นเอง”
ศาสตรา-จารย์ ดอกเตอร์โจแอนน์ แมนสัน
จากโรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ดกล่าว
“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนอาหารดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ และดึงเราไปจากแนวปฏิบัติที่ทำให้สุขภาพดีซึ่งให้ประโยชน์มากกว่ากินวิตามินและอาหารเสริมสำเร็จรูป” เธอบอกว่าการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อเมริกาเกี่ยวกับโรคหัวใจ (Journal of the American College of Cardiology) พบว่าวิตามินที่เรารู้จักกันทั่วไปสี่ชนิด คือ มัลติวิตามิน วิตามินดี แคลเซียม และวิตามินซี ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจเลย
ด้านนักวิจัยจากสถาบันจอห์นส์ฮอปกินส์ทบทวนหลักฐานจากการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตีพิมพ์บทความ “พอก็คือพอ : หยุดเสียเงินกับวิตามินและอาหารเสริมเสียที” ในวารสารการแพทย์ที่น่าเชื่อถือระดับโลก Annals of Internal Medicine ระบุว่า จากการวิเคราะห์งานวิจัยที่เก็บข้อมูลคน ๔.๕ แสนคน พบว่ามัลติวิตามินไม่ได้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคมะเร็ง จากการติดตามการทำงานของสมองและมัลติวิตามินในผู้ชาย ๕,๙๔๗ คน เป็นเวลา ๑๒ ปี พบว่ามัลติวิตามินไม่ได้ลดความเสี่ยงจากการเสื่อมของสมอง เช่น ความจำเสื่อมหรือคิดช้าลง และในการศึกษาผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจวายที่กินมัลติวิตามินปริมาณสูงเป็นเวลา ๕๕ เดือน เมื่อพิจารณาอัตราการเกิดหัวใจวายในภายหลัง การผ่าตัดหัวใจ และอัตราการตาย พบว่าเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้กินมัลติวิตามิน
“ผมไม่ได้กินวิตามินเม็ดทุกวัน ผมพยายามกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพวันละสามมื้อเพื่อให้ได้วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารอื่น ๆ ที่ร่างกายต้องการ”
นายแพทย์แลร์รี แอปเพล
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจอห์นส์ฮอปกินส์เวลช์ เพื่อการป้องกัน ระบาดวิทยา และการทดลองทางคลินิก กล่าวปิดท้าย
อย่างไรก็ตามนักวิจัยและผลการศึกษาเหล่านี้มีข้อสรุปตรงกันว่า ในวิตามินบางชนิดมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น หญิงตั้งครรภ์ต้องการกรดโฟลิก เป็นต้น ฉะนั้นการกินวิตามินที่จะส่งผลดีต่อร่างกายและเสียเงินน้อยที่สุดก็คือกินตามแพทย์สั่ง มิใช่ซื้อหาตามร้านขายยาหรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งนอกจากไม่รู้แหล่งที่มาและส่วนผสมแล้วยังเสียเงินโดยใช่เหตุ
แทนที่จะบำรุงกลับกลายเป็นทำลายและทำร้ายร่างกาย