Image

Little Fact
in Little Prince

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ, สุชาดา ลิมป์ 

เจ้าชายน้อย
เคยหัวล้านและมีคิ้ว

วงหน้าของเจ้าชายน้อยที่คุ้นเคยกัน คือมีผมม้าตัดสั้นเต่อปรกหน้าผาก เส้นขีดจมูกคั่นกลางวงกลมสองวงแทนลูกตา แต่ไม่มีคิ้ว

อันที่จริงรูปวาดในร่างแรก ๆ ที่แซ็งแต็กซูว์เปรีออกแบบไว้ เจ้าชายน้อยเคย “หัวล้าน” มี “ผมสามเส้น” และ “คิ้วหนาดก” มาก่อน

คิ้วของเจ้าชายน้อยมีทั้งแบบหนาทึบ และเส้นบางเฉียง หัวคิ้วเกือบชนกัน

ถึงอย่างนั้นหากสังเกตในเล่ม บางรูปก็มีเส้นคิ้ว เพื่อสื่ออารมณ์เคร่งเครียด อย่างเวลาอยู่กับดอกกุหลาบ ขูดเขม่าในปล่องภูเขาไฟ ฉากแรกพบสุนัขจิ้งจอก หรือตอนนั่งบนกำแพงคุยกับงู

แต่รูป “เด็กชายหัวล้านมีผมสามเส้น” ไม่ปรากฏในหนังสือเลย

Image

นักบินกับเจ้าชายน้อยพบกันที่ไหน

ฉากที่ว่ามีข้อมูลทางภูมิศาสตร์บอกว่าทะเลทรายสะฮารากว้างถึง ๙ ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศแอลจีเรีย ชาด อียิปต์ ลิเบีย มาลี มอริเตเนีย โมร็อกโก ไนเจอร์ ซูดาน และตูนิเซีย กินเนื้อที่หนึ่งในสามของแอฟริกาทั้งทวีป โดยทิศตะวันตกจดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศเหนือคือเทือกเขาแอตลาสและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกจดทะเลแดงและประเทศอียิปต์ ทิศใต้จดประเทศซูดานและหุบเขาของแม่น้ำไนเจอร์ 

บรรดาพื้นที่นั้นหากนับจาก ค.ศ. ๑๙๔๒ ที่แซ็งแต็กซูว์เปรีเริ่มเขียน เจ้าชายน้อย ถอยหลังไป ๖ ปี ถึง ค.ศ. ๑๙๓๖ ก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เขาตั้งใจบินจากปารีสไปไซ่ง่อน แต่เครื่องบินเกิดขัดข้องต้องลงจอดกลางทะเลทรายประเทศลิเบีย และมีบันทึกว่าห่างจากกรุงไคโรราว ๒๐๐ กิโลเมตร

กลางสะฮาราที่อาจเป็นจุดพบของนักบินกับเจ้าชายน้อยจึงน่าจะใช่ “ทะเลทรายลิเบีย” (Libyan Desert) ทางตะวันออกของลิเบีย เป็นหนึ่งในสถานที่แสนระอุสุดโหดของสะฮารา สภาพส่วนใหญ่เป็นเนินทรายและที่ราบหิน มีแอ่งน้ำขนาดเล็กบ้าง และมีประชากรน้อยมาก เป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนไปตามทะเลทรายที่ทอดยาวถึงอียิปต์ เพียงแต่ในโลกวรรณกรรมเขาเลือกให้นักบินนำเครื่องลงจอดในจุดซึ่งอยู่ไกลจากผู้คนอาศัยมากกว่านั้น 

“...คืนแรกฉันนอนหลับบนพื้นทรายห่างไกลจากผู้คนนับพันไมล์ โดดเดี่ยวยิ่งกว่าคนที่รอดจากเรือแตกแล้วลอยแพเคว้งคว้างกลางมหาสมุทรเสียอีก…”

Image

ตัวละครที่ไม่มีภาพวาดในหนังสือ

แทบทุกบทในเรื่อง เจ้าชายน้อย มีภาพวาดของตัวละครสำคัญในบทนั้นแทบทุกตัว ยกเว้นเพียงบทที่ ๗, ๒๒ และ ๒๓

บทที่ ๗ เจ้าชายน้อยตั้งคำถามว่า หนามของดอกไม้มีไว้ทำไม แต่นักบินไม่สนใจ เพราะการซ่อมเครื่องบินเวลานั้นเป็นสิ่งสำคัญกว่า เจ้าชายน้อยโกรธมาก และยกตัวอย่างพฤติกรรมของผู้ใหญ่ว่า

“...ผมรู้จักชายหน้าแดงก่ำบนดาวดวงหนึ่ง เขาไม่เคยเชยชมดอกไม้ ไม่เคยแหงนดูดาว ไม่เคยรักใคร ไม่เคยทำอะไรนอกจากคิดเลข ตลอดวันเอาแต่พูดซ้ำซากว่า ‘ฉันเป็นคนเอาการเอางาน ! ฉันเป็นคนเอาจริงเอาจัง !’ นั่นทำให้เขาตัวพองด้วยความเย่อหยิ่งจองหอง แต่เขาไม่ใช่มนุษย์ เขาเป็นเห็ด !”

บทที่ ๒๒ เจ้าชายน้อยพบกับพนักงานสับรางรถไฟที่แบ่งคนเดินทางออกไปทางซ้ายบ้างและทางขวาบ้าง แต่ทุกคนก็ไม่รู้ว่ากำลังเดินทางไปตามหาอะไร แม้แต่พนักงานขับรถ บทนี้ไม่มีภาพวาดใด ๆ ทั้งรถไฟหรือพนักงานรถไฟ

บทที่ ๒๓ เจ้าชายน้อยพบพ่อค้าขายยาเม็ดสำหรับแก้กระหายน้ำ ช่วยให้ประหยัดเวลาได้ ๕๓ นาทีต่อสัปดาห์ แต่เจ้าชายน้อยเห็นว่าเวลา ๕๓ นาทีนั้นน่าจะใช้สำหรับการเดินไปหาธารน้ำ บทนี้ก็ไม่มีภาพวาดของพ่อค้าขายยาเม็ด

ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ไม่มีภาพวาดปรากฏก็คือ เครื่องบินและนักบิน 

Image

จริงหรือเปล่าที่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อย B 612 ใน ค.ศ. ๑๙๐๙

จากการค้นหาในกูเกิล พบบทความชื่อ “Asteroid Names” เขียนโดย ฮิวจ์ เอส. ไรซ์ (Hugh S. Rice) ตีพิมพ์ในวารสาร Popular Astronomy ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ (http://articles.adsabs.harvard.edu/full/1941PA.....49..243R) เล่าว่าการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยในยุคนั้นประกอบด้วยชื่อหมายเลขดาวเคราะห์และตามด้วยชื่อเรียก เช่น 1282 Utopia พร้อมกับแจกแจงรายชื่อดาวเคราะห์น้อยที่พบในขณะนั้น ๑,๔๑๐ ชื่อ

และมีชื่อหนึ่งที่มีหมายเลขตรงกับ ๖๑๒ จริง ๆ ก็คือดาวเคราะห์น้อย 612 Veronika

แต่เมื่อค้นหาข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ต่อก็พบว่า มันได้รับการค้นพบเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ โดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ชาวตุรกีตามในเรื่อง

เท่าที่มีข้อมูลจึงพอจะสรุปได้ว่า การค้นพบดาวเคราะห์น้อยชื่อ บี ๖๑๒ โดยนักดาราศาสตร์ชาวตุรกีไม่ได้เกิดขึ้นจริง

Asteroid B 612 เป็นอีกชื่อหนึ่งจาก เจ้าชายน้อย ที่มีคนในประเทศต่าง ๆ นำไปตั้งเป็นชื่อของสิ่งต่าง ๆ เช่น เพลง วงดนตรี โรงแรม ฯลฯ และยังมีสถาบันด้านดาราศาสตร์ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลกด้วย ชื่อ B612 Foundation

Image

มีดาวเท่าไรบนท้องฟ้า

๕๐๑,๖๒๒,๗๓๑ คือจำนวนดวงดาวส่องประกายที่นักธุรกิจคิดว่าเขาเป็นเจ้าของ

แต่จริง ๆ บนท้องฟ้ามีดาวอยู่เท่าไร 

ถ้านับเฉพาะดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกแห่งเดียวก็มีดาวอยู่ราว ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดวง (หนึ่งแสนล้าน) แต่ถ้านับดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อยด้วยคงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

หากนับเฉพาะดาวที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในท้องฟ้าค่ำคืนก็มีราว ๕,๐๐๐ ดวงอย่างสูงสุด

สิ่งสำคัญที่มองไม่เห็นด้วยดวงตาจึงมีมากมาย

ดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อเทียบเคียงได้กับ B 612

ไม่เพียงกลุ่มดาวรังสีแกมมา “The Little Prince” ที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ตั้งชื่อให้ตามวรรณกรรมชื่อดังของแซ็งแต็กซูว์เปรีในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๘  ย้อนไปเมื่อ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ก็มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยซึ่งตอนแรกได้รับการตั้งชื่อตามลำดับการค้นพบในปีนั้นว่า 1993 TQ1 โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น คิน เอ็นดาเตะ (Kin Endate) และ คาซูโระ วาตานาเบะะ (Kazuro Watanabe) ที่หอดูดาวคิตามิ (Kitami) ทางตะวันออกของฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น 

Image

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๐๖๔ กิโลเมตร และมีองค์ประกอบเป็น “หิน” 

ต่อมาจึงมีผู้เสนอชื่อทางการว่า 46610 Bésixdouze เพื่ออ้างอิงถึงดาวเคราะห์น้อยบ้านเกิดของเจ้าชายน้อย B 612  โดยเลขฐานสิบ 46610 แปลงเป็นเลขฐานสิบหกได้เท่ากับ B 612 และการอ่านออกเสียง B 612 ในภาษาฝรั่งเศสคือ Bésixdouze (be.sis.du:z) 

ทั้งนี้เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เคยมีผู้ค้นพบครั้งแรกมาก่อนหน้านั้นใน ค.ศ. ๑๙๘๖ เช่นเดียวกับ B 612 ในเรื่องที่การค้นพบครั้งแรกกับการประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการห่างกันหลายปี 

แก้ต่างให้ “เบาบับ”

ต้นเบาบับ (baobab) ใน เจ้าชายน้อย ถูกตั้งข้อกล่าวหาและเป็นที่รังเกียจไม่น้อย เพราะรากของมันจะขึ้นรุงรังและชอนไชลงดินจนดาวเล็ก ๆ ระเบิดได้

เบาบับจึงต้องถูกกำจัดตั้งแต่ยังเล็ก ๆ 

โลกเรามีเบาบับทั้งหมดเก้าชนิด หนึ่งชนิดอยู่บนแผ่นดินแอฟริกา คือเบาบับแอฟริกา (Adansonia digitata) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและอายุยาวนานที่สุด บางต้นมีอายุกว่า ๒,๕๐๐ ปี  ส่วนอีกหกชนิดพบบนเกาะมาดากัสการ์ และหนึ่งชนิดพบในทวีปออสเตรเลีย

Image

ชนพื้นเมืองใช้ประโยชน์เบาบับนานัปการ ใบต้มกินคล้ายผักโขม เมล็ดคั่วเป็นเครื่องดื่มคล้ายกาแฟ หรือสกัดทำน้ำมันปรุงอาหาร หรือเครื่องสำอาง  เนื้อผลเบาบับมีวิตามินซีสูงกว่าส้ม นิยมทำน้ำดื่ม แยม หรือหมักทำเบียร์  ต้นกล้ามีรากที่กินได้คล้ายแครอต รากทำสีแดงย้อมผ้า เปลือกใช้ทำเชือกและตะกร้า 

ในธรรมชาติ เบาบับมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศแบบสะวันนา ด้วยเบาบับเป็นพืชอวบน้ำ 
มันจึงช่วยรักษาความชุ่มชื้น ให้ผืนดิน เป็นอาหารและที่พักพิงของสัตว์นานาชนิด ตั้งแต่นก แมลง กิ้งก่า ลิง หรือแม้กระทั่งช้าง โดยเฉพาะใน ฤดูกาลแล้งจัดที่แหล่งน้ำทั้งหลายเหือดแห้ง การกินเปลือกเบาบับช่วยให้สัตว์ได้รับความชุ่มชื้นประทังชีวิต

ระยะหลังนี้เบาบับเก่าแก่หลายต้นต้องตายลงเพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Image

อสรพิษกลางทะเลทราย

มีงูสีเหลืองตัวเล็ก ๆ ที่หยุดชีวิตคุณบนโลกนี้ได้ใน ๓๐ วินาทีจริงไหม

ในทะเลทรายสะฮารา มีงูพิษร้ายแรงมากสองจำพวก คือ งูไวเปอร์เกล็ดเลื่อย (Saw-scaled vipers) และงูเห่าพ่นพิษนูเบียน (Nubian spitting cobra) 

งูไวเปอร์เกล็ดเลื่อยมีถึง ๑๑ ชนิด เป็นงูขนาดเล็กที่มีพิษร้ายถึงตายติดอันดับโลก 

ส่วนงูเห่าพ่นพิษนูเบียนเป็นงูเห่าขนาดเล็ก มีเกล็ดสีน้ำตาลถึงดำ พิษถึงตายได้เช่นกัน และเป็นงูที่พ่นพิษทำให้ศัตรูหรือเหยื่อตาบอดได้ด้วย

จากภาพวาดในหนังสือ เจ้าชายน้อย ตอนที่เจ้าชายน้อยนั่งบนกำแพงนัดแนะเวลากับงู หัวงูมีแม่เบี้ยซึ่งคล้ายกับลักษณะของงูเห่า ทำให้งูในภาพไม่ใช่งูไวเปอร์เกล็ดเลื่อย แต่งูเห่าพ่นพิษนูเบียนก็ไม่ได้มีสีเหลือง

งูเห่าพ่นพิษที่มีสีเหลืองกลับพบในเมืองไทยนี่เอง มีชื่อว่างูเห่าพ่นพิษสีทอง (Equatorial spitting cobra) ขณะที่งูเห่าชนิดเดียวกันนี้ในมาเลเซียและอินโดนีเซียจะเป็นสีดำ

Image