ความทรงจำของความทรงจำ
ของเสือดำ จงอางศึกและทหารไทย
ในสงครามเวียดนาม
นิตยสาร สารคดี ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมแบ่งปันความทรงจำของบุคคลในครอบครัวของท่านที่มีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามในกิจกรรมที่เราจัดขึ้นบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Sarakadee Magazine โดยการติดแฮชแท็ก #สงครามเวียดนาม #นิตยสารสารคดี บันทึกและภาพถ่ายของทุกคนนี้ถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างสูงในฐานะส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่จะได้ส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไป
พลทหารสื่อสารประจำการรบที่เวียดนามครับ...#พ่อผมเองครับ พ่อสมัครไปรบสงครามเวียดนามพร้อมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน บางคนกลับบ้านมาครบ ๓๒ บางคนกลับมาไม่ครบ ๓๒ และบางคนไม่ได้กลับ... #มีเหตุการณ์หนึ่งพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า... “เพื่อนพ่อออกไปลาดตระเวนตามปรกติ แต่สิ่งที่ไม่ปรกติคือเพื่อนพ่อโดนสะเก็ดระเบิดจนหูดับ” พ่อบอกว่าเหมือนเวรกรรม เพราะเพื่อนพ่อคนนี้เวลาออกไปลาดตระเวนจะได้หูไอ้กงกลับมาที่ค่ายตลอด เพื่อไปแลกดอลลาร์กะพวกทหารอเมริกัน สุดท้ายเพื่อนพ่อคนนี้ก็หูดับตลอดชีวิต และเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อนครับ...
ณัฐชาติ นนทกรณ์สกุล
แม่เล่าให้ฟังว่า ก๋งหลิ่ม น้องชายแท้ ๆ ของก๋ง (ซึ่งตามหลักแล้วก็ต้องเรียกก๋งเหมือนกัน ) เคยไปรบสงครามเวียดนามสมัยแม่ยังเด็ก สมัยนั้นบ้านก๋งค่อนข้างลำบาก พี่ชายคนโตอย่างก๋งแท้ ๆ ของนันก็แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก๋งหลิ่มเลยอาสาไปรบ
ครอบครัวญาติพี่น้องทั้งหมดของก๋งจะอยู่ที่สุพรรณบุรีกัน แต่ก๋งกับม่าตอนนั้นอยู่นครพนม (ม่าเป็นคนอุบลฯ) ยังไม่ย้ายไปอุบลฯ มีแต่ทหารจีไอเต็มไปหมด ม่าจะคอยไล่ไม่ให้แม่เข้าไปแถว ๆ ที่เขาอยู่กัน แต่แม่ก็จะแอบไปส่อง
ตอนนั้นแม่อายุไม่กี่ขวบเอง แม่เล่าว่าสมัยนั้นป่าทึบ น่ากลัวกว่าสมัยนี้ มีเด็กเลี้ยงควายแถวบ้านไปเอาระเบิดมาเล่นแล้วมันดันระเบิดบึ้ม คนไปดูกันเพียบ แต่แม่ไม่ไป ได้ยินแต่คนเล่าว่าสยองมาก เละเป็นเศษเนื้อกระจายเลย น่าสงสารเขา เหล่าก๋งก็มาเสียช่วงที่ก๋งไปรบ เลยต้องเก็บไว้รอก๋งกลับมาค่อยทำพิธี
ตอนอยู่เวียดนามก๋งเป็นทหารคุมเสบียง พกพระเครื่องพวงเบ้อเร่อแทบบังหัวมิด ก๋งรอดกลับมา แต่เพื่อนก๋งที่เสียไปก็เยอะ หลังจากนั้นมีสงครามในลาวต่อด้วยแต่ก๋งไม่ไป เพื่อนอีกส่วนที่รอดจากเวียดนามไปลาวต่อแล้วก็ไปเสียที่นั่นอีกหลายคน ผ่านมาหลายสิบปีพอพูดเรื่องนี้ หรือได้ดูหนังสงครามอย่าง Platoon นี่ก๋งน้ำตาซึมเลยนะ เพราะหนังทำมาเหมือนจริงมาก (แน่ละ ผู้กำกับการแสดง อย่าง Oliver Stone ก็เคยไปรบในเวียดนามด้วย) หูแกก็ไม่ค่อยดี เพราะสมัยไปรบได้ยินแต่เสียงระเบิดทุกวัน
ตอนไปเวียดนามก๋งก็จะเขียนจดหมาย ซื้อของฝากหลานส่งมาให้ก๋งกับม่าแท้ ๆ ของนันตลอด (มีศักดิ์เป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้) โชคดีที่ม่าเองก็เป็นคนชอบเก็บ จดหมายเลยยังอยู่มาให้หลาน ๆ เห็นจนทุกวันนี้ ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟัง
Asitnan Tnim
อิฉัน สาวน้อยผมสั้น...
แม่อุ้ม...ไปส่งอา ไปเวียดนาม ๒๕๑๒
Kai Fah
สงครามเวียดนาม กองพลอาสาสมัคร “เสือดำ” ผลัด ๑ กองพันทหารช่างสนาม กาญจนบุรี (ร้อยตรี สถิตย์ เหมือนจิตต์)
Orapun Boonmapub
เอกสารราชการที่สงบเก็บไว้เป็นอย่างดี
วีรบุรุษสงครามเวียดนาม : สงบ เริงจิตร
“ลุงหงบ” ชื่อที่เพื่อนบ้านโคกสมี อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เรียกขานชายที่ดูสติสตังไม่สมบูรณ์นัก โดยทราบผิวเผินว่าลุงหงบได้ผ่านเรื่องร้าย ๆ ในสงครามเวียดนามมาอย่างยากลำบาก... ขอย้อนกลับไปเมื่อ ๕๐ ปีก่อน...
สงบ เริงจิตร เป็นคนหนึ่งที่ใฝ่ศึกษา เป็นลูกหม้อโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่สระบุรี ทั้งประถมฯ และมัธยมฯ กระทั่งเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนารักษ์ หลักสูตรเหล่าแพทย์เร่งรัด จบการศึกษาช่วงกลางปี ๒๕๑๑ มียศเป็นนายสิบเหล่าแพทย์ เข้าใจว่าเวลานั้นคงทำงานอยู่ในส่วนกองพันเสนารักษ์ กรมสนับสนุน
ช่วงเวลาที่ สงบ เริงจิตร ประจำการอยู่ เป็นเวลาเดียวกันกับทางรัฐบาลไทยยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร มีนโยบายสนับสนุนการรบในเวียดนามเพื่อต่อต้านลัทธิการเมือง อันเป็นปรปักษ์ ราวเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ สงบถูกส่งตัวไปช่วยราชการที่เวียดนาม ในฐานะกองพลทหารอาสาสมัครผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๒ ในตำแหน่งนายสิบอายุรกรรม ซึ่งโดยตำแหน่งในเวลานี้ดูจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการรบแนวหน้ามากนัก
อย่างไรก็ดีพบเอกสารว่า เวลานั้นได้มีการส่งตัวนายสิบพยาบาลไปประจำหน่วยอื่น ซึ่งสิบโท สงบ เริงจิตร คือหนึ่งในห้าที่ถูกส่งตัวแปรสภาพเป็นกองร้อยจู่โจม และอาจเป็นครั้งนี้เองที่สงบได้อยู่ในพื้นที่การรบแนวหน้าและอาจมีผลต่อสภาพจิตใจในเวลาต่อมา
มีเรื่องเล่าจากลูกหลานใกล้ชิดว่า ลุงหงบเคยเล่าถึงประสบการณ์ในเวียดนาม ว่าเคยเจอข้าศึกปิดล้อมจนเกิดการปะทะรุนแรง เป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เองอาจสร้างความหวาดกลัวและมีผลต่อจิตใจสืบมาจนถึงวัยชรา...
หลังกลับจากเวียดนาม สงบได้เลื่อนยศเป็นสิบเอก ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิและเครื่องหมายเปลวระเบิด จากนั้นได้ย้ายไปรับราชการอีกหลายแผนก กระทั่งออกจากราชการ
หลังกลับจากเวียดนามเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าสงบจะได้รับผลกระทบทางจิตใจรุนแรง และต้องเข้าพบแพทย์อยู่เสมอจนถึงบั้นปลายของชีวิต กระทั่งปี ๒๕๖๑ นี้เองที่ลุงหงบได้จากญาติพี่น้องไปอย่างไม่มีวันกลับ หลายเสียงคาดว่าอาจเป็นเพราะกินยาติดต่อกันนานหลายสิบปีจนไตทำงานหนัก บ้างกล่าวว่าเป็นเพราะ “สงคราม” ที่ทำให้ลุงหงบเป็นเช่นนี้
ข้อเขียนสั้น ๆ นี้ลูกหลานขอสื่อถึงการที่ลุงหงบเป็นผู้เสียสละ ทำเพื่อชาติและบ้านเมือง ให้พวกเรามีวันนี้อย่างปรกติสุข
เอ็ม เสาไห้
ภาพเครื่องบิน RF-4C ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา สมัยที่มาประจำการอยู่ฐานบินอุดรฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม ภาพปี ๒๕๑๐ กำลังร่อนลงสนามบินอุดรฯ กำลังมองว่าบ้านที่เห็นนั่น “บ้านใคร” เพราะบ้านผมอยู่ตรงแนวเครื่องบินพอดี แต่น่าจะเลยต้นไม้ใหญ่ไป คือตอนแรกจะมองว่า...ถนนที่เห็นคือถนนในกองบิน ๒๓ ปัจจุบันบ้านที่เห็นเป็นบ้านพักและสถานที่ทำงานในค่ายประจักษ์ศิลปาคม สองคนที่ขี่รถเครื่องนั้นคือทหารอากาศสหรัฐฯ คนถ่ายยืนอยู่ที่ลานหญ้าซึ่งเป็นสนามฟุตบอลเล็ก ๆ หน้าหอพระ กองบิน ๒๓ ในปัจจุบัน
เครื่องบินลำเลียงแบบ C-123K ซึ่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ให้กองทัพอากาศไทยยืมใช้ในภารกิจของหน่วยบิน “วิกตอรี” โดยติดเครื่องหมายธงชาติไทย (ที่ดูแปลกตา) ให้ไว้ใช้งาน (ในบางภารกิจของ C-123K ชุดนี้ กลับถึงฐานบินพร้อมรอยกระสุนที่ปีกหลายรู)
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๗ รัฐบาลตกลงใจให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามในกรณีสงครามเวียดนาม โดยอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดส่งนักบินและเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติการในสาธารณรัฐเวียดนาม มีนาวาอากาศตรี ไวพจน์ สุกุมลจันทร์ เป็นหัวหน้าหน่วยบินลำเลียง ทหารอากาศชุดแรกนี้ไปปฏิบัติการที่สาธารณรัฐเวียดนามตั้งแต่วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๐๗ หน่วยบินลำเลียงทหารอากาศไทยประจำสาธารณรัฐเวียดนาม (บล.ทอ.วน.) โดยเรียกว่า “หน่วยบินวิกตอรี” (Victory Flight) Royal Thai Air Force detachment to the Republic of Vietnam (RTAF det RVN) ในช่วงแรกกองทัพอากาศได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปใช้เครื่องบินแบบ C-47 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และฝูงบินลำเลียงที่ ๔๑๓ กองบิน ๓๓ กองทัพอากาศเวียดนามใต้ ต่อมากองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้มอบเครื่องบินลำเลียงแบบ C-123K จำนวนสองเครื่องของกองทัพอากาศสหรัฐฯ แต่ติดเครื่องหมายสัญชาติไทย เพื่อให้นักบินไทยทำการบินสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ในสงครามเวียดนาม และประหนึ่งการฝึกบินเตรียมความพร้อมก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะมอบเครื่องบินแบบนี้ให้กองทัพอากาศไทย ตามความช่วยเหลือทางทหารแบบให้เปล่า
ภาพผมอายุไม่ถึงขวบดี ส่งตาไปรบที่เวียดนาม ที่ท่าเรือคลองเตย เมื่อปี ๒๕๑๑ สมัยช่วงปี ๒๕๑๑-๒๕๑๘ ตาผมเป็นทหารบกประจำอยู่ในค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี ช่วงแรกตาเป็นอาสาสมัครไปรบที่เวียดนาม ช่วงหลังทหารบกส่วนใหญ่เมื่อกลับมาบ้านเราแล้วจะสมัครไปรบในประเทศลาว เพื่อป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์รุกล้ำเข้าไทยนั่นเอง...
ช่วงที่ตาไปรบที่เวียดนาม นอกจากสมุดบันทึกและจดหมายที่เขียนกลับมาบ้าน ตาจะบันทึกเรื่องเล่าลงเครื่องบันทึกเสียง ในม้วนเทปเสียงกลม ๆ ก่อนถึงยุคเทปคาสเซต เพื่อส่งมาทางบ้านกับ บ.เมล์ และจดหมายเหมือนคนอื่น ๆ แทนการเขียนจดหมาย ทางบ้านก็จะอัดเทปเล่าเรื่องต่าง ๆ นานาส่งกลับไปให้ท่านฟัง ถ้าเป็นสมัยนี้คงใช้มือถือคุยกัน 5555
สมุดบันทึกที่ตาบันทึกไว้เป็นเล่มขนาดฝ่ามือ แม่เคยจะยกให้ แต่ผมบอกให้แม่เก็บรักษาไว้ดีกว่า ในนั้นตาบันทึกไว้ค่อนข้างละเอียดแบบทหาร สถานที่ลาดตระเวน พิกัด แผนที่ ตำบล ฯลฯ ระบุขนาดว่ายิงข้าศึกไปยังไง มีเสียชีวิตกี่ศพ มีใครฝ่ายเราบาดเจ็บหรือเสียชีวิตชื่ออะไร ฯลฯ
พ่อผมเป็นทหารอากาศ ตาเป็นทหารบก บ้านผมอยู่ใต้แนวร่อนเครื่องบิน F-4 ของสหรัฐฯ ที่ขึ้นลงที่อุดรฯ ทุกวัน บางทีเวลาเราคุยกับใครเราจะติดนิสัยตะโกนคุย คิดว่าคนอื่นไม่ได้ยิน แต่จริง ๆ ตัวเอง “หูตึง” เลยทำให้ผมสนใจว่าเครื่องบินเหล่านั้นคือเครื่องอะไร... ถ้ามีรูปตาที่ชัดและดีกว่านี้จะส่งมาให้อีกครับ
ยินดีที่ได้แบ่งปันความรู้
รัชต์ รัตนวิจารณ์