ทหารไทย ใน
“สมรภูมิเวียดนาม”
ภาค ๓
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ The Canberra Times ของออสเตรเลีย รายงานเรื่องสหรัฐฯ มอบจรวดให้กับกองทัพไทยเป็นการแลกเปลี่ยนการส่งทหารไปรบในเวียดนามใต้
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กต๙๐.๓.๑.๓.๑.๑/๔ ปึก ๑
ฉากที่ ๙
ก่อน “เสือดํา” รับไม้
รัฐบาลไทยเริ่มรับรู้ว่าสหรัฐฯ
กำลังเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับ
เวียดนามช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๖๘
แต่การเดินหน้าส่ง
กองพลเสือดำไปเวียดนามใต้
กลายเป็นกระบวนการที่
ไม่สามารถย้อนกลับได้แล้ว
หากดูข้อมูลฝั่งอเมริกา จะพบเรื่องที่น่าแปลกใจยิ่งขึ้นคือ วอชิงตันตระหนักดีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๖ (ตอนที่ทหารอเมริกันในเวียดนามใต้แตะระดับ ๕ แสนคน) ว่ากำลังเดิมพันอยู่กับรัฐบาลเวียดนามใต้ที่อ่อนแอโดยไม่มีหลักประกันว่าจะบรรลุเป้าในการทำสงครามแต่อย่างใด แม้จะมีกำลังถึง ๕ แสน และระดมทิ้งระเบิดอย่างหนัก
เอกสาร “ลับ” กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ บันทึกบทสนทนาระหว่างรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับเวียดนามใต้ว่า ไทยได้ข่าวจากวุฒิสมาชิกอเมริกันว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวภายใน ค.ศ. ๑๙๗๐ ถามเวียดนามใต้ตรง ๆ ว่ามีแผนอย่างไร เพราะ “สหรัฐฯ คงจะไม่อยู่ในเวียดนามใต้ตลอดไป”
ท่าทีของอเมริกันชัดเจนขึ้นอีกเมื่อประธานาธิบดีนิกสันประกาศ “หลักการนิกสัน” (Nixon doctrine) เริ่มถอนทหารเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มต้านสงครามในประเทศพร้อมกับพยายามให้เวียดนามใต้รับผิดชอบการรบมากขึ้น เรียกด้วยภาษาการทูตว่าทำให้สงครามครั้งนี้ “เป็นเรื่องของคนเวียดนาม” (Vietnamization) มากขึ้น ซึ่งกลายเป็นยืนยันโดยไม่ได้ตั้งใจว่าก่อนหน้านี้สงครามเป็น “เรื่องของอเมริกัน” (Americanization)
สหรัฐฯ เปิดการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสคู่ขนานกับการระดมทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือเพื่อกดดันให้เวียดนามเหนืออ่อนข้อบนโต๊ะเจรจาและเริ่มโครงการติดอาวุธกองทัพเวียดนามใต้เพื่อให้พร้อมรับภาระต่อ
รัฐบาลไทยรู้เรื่องเหล่านี้ดีทั้งหมด แต่กลับแสดงท่าทีราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ
เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๘ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและตะวันออกไกลของสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Asia and the Far East - ECAFE) วิเคราะห์ว่า หากสันติภาพเกิดขึ้นในเวียดนามใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทยอาจได้รับผลกระทบ เพราะที่ผ่านมาสงครามทำให้ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าขายได้เป็นจำนวนมาก การส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดด “...ถ้ามีการเจรจาสันติภาพ สินค้าจะล้นตลาดและราคาตก...”
ช่วงเดียวกันระหว่างที่กองพลเสือดำเตรียมตัวในค่ายฝึกที่เมืองไทย หลักฐานฝ่ายเวียดกงบอกว่า ในสมรภูมิลองถั่นห์สถานการณ์ไม่ได้สงบราบเรียบ กองกำลังเวียดกงยังปฏิบัติการตลอดเวลาและบางครั้งอยู่ในสถานะได้เปรียบเหนือกรมจงอางศึกและทหารชาติพันธมิตรในพื้นที่
“ประวัติศาสตร์คณะกรรมการพรรคคอมมิว-นิสต์แห่งอำเภอลองถั่นห์ฯ” บันทึกว่า ปลาย ค.ศ. ๑๙๖๗ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๖๘ พวกเขาทำลายบังเกอร์ฐานปืนใหญ่แห่งหนึ่ง ทำลายฐานทหารไทยในสวนยางพารา โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่าง ๆ เช่นสะพาน และต่อสู้กับตำรวจเวียดนามใต้
ยิ่งช่วง “การรุกใหญ่ในเทศกาลตรุษญวน” (Tet Offensive/Sự Kiện Tết Mậu Thân 1968) ที่กองกำลังเวียดกงทั่วประเทศระดมโจมตีเมือง ๑๐๐ แห่งพร้อมกันช่วงกลางดึกวันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ที่อำเภอลองถั่นห์มีการโจมตีเป็นวงกว้าง เพียงแต่ไม่หนักเท่ากับในเมืองใหญ่
การรุกใหญ่ในเทศกาลตรุษญวนจะยืดเยื้อไปจนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๘
ภาพทหารไทยขณะกำลังสำรวจอาวุธที่ยึดได้จากกองกำลังเวียดกง ภาพนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่อำเภอเญินแจ๊ก อดีตสนามรบสำคัญระหว่างทหารไทยกับเวียดกง
ภาพ : พิพิธภัณฑ์อุโมงค์เญินแจ๊ก
การรุกรบรุนแรงตามเมืองใหญ่ของเวียดนามใต้รอบนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวอเมริกันที่เห็นการสู้รบและความตายของทหารอเมริกันจากโทรทัศน์สีในห้องรับแขกที่บ้านเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สงคราม
ผมพบบันทึกเกี่ยวกับบทบาทหน่วยจงอางศึกช่วง “การรุกใหญ่ในเทศกาลตรุษญวน” เพียงสั้น ๆ ในเอกสารไทยชิ้นหนึ่งว่า หน่วยจงอางศึกลาดตระเวนตามลำน้ำและกำจัดคนบนเรือลำหนึ่งที่เป็นเวียดกง “ชาวเวียดนามจึงไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้น พวกราษฎรหันกลับมาช่วยเหลือทหารไทยโดยคอยเป็นหูเป็นตาให้”
ทว่า “ประวัติศาสตร์คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอำเภอลองถั่นห์ฯ” ให้ภาพที่ต่างออกไป
หลักฐานชิ้นนี้เล่าว่าเวียดกงได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๘ ปะทะกับทหารไทยหลายจุด พวกเขาพบว่าทหารไทยและอเมริกันพยายามตัดถนนและขยายฐานที่มั่นลงมาทางทิศใต้
เอกสารชิ้นนี้เล่าว่าเวียดกงโจมตี “หมู่บ้านลองเฟื้อก (Long Phước) ร่วมกับคนท้องถิ่น ทำลายถนน วางสิ่งกีดขวาง เมื่อคนเข้าร่วมมากศัตรูก็ลังเลใจ... กองพันที่ ๓ และ ๔ ซุ่มโจมตีสามแยกไทย ยิงปืน ๘๒ มม. เข้าไปในค่ายทำลายเฮลิคอปเตอร์สองลำ อาคารแถวหนึ่ง กระท่อมรักษาความปลอดภัย ทหารศัตรูเสียชีวิต”
การจับเชลยศึกเวียดกง
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum
.
ทหารไทยกับนายทหารอเมริกันกับศพทหารฝ่ายตรงข้ามที่ตำบลเฟื้อกกาง ปรกติในการรบจะมีการ “นับศพ” (body count) หลังการสู้รบจบลงตามนโยบาย “ค้นหาและทำลาย” (search & destroy)
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒
ช่วงเดียวกันเวียดกงยังโจมตีฐานทหารไทยที่วัดเนื้อกหญี (Nước Nhĩ temple) ตำบลเฟื้อกลอง (Phước Long) สังหารทหารได้ ๒๗ คน อีกพื้นที่หนึ่งคือที่บิ่งห์เซินสังหารทหารไทย ๕ คน
ปลายกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ เวียดกงพบว่าหน่วยจงอางศึกตั้งฐานที่อำเภอเญินแจ๊ก ในหมู่บ้านเฟื้อกเถี่ยน (Phước Thiền) บริเวณเฟื้อกหวา (Phước Hòa) ตำบลเฟื้อกลอง (Phước Long) ตำบลเฟื้อกเถาะ (Phước Thọ) ตั้งฐานปิดเส้นทางในอำเภอบิ่งห์เซิน (Bình Sơn) พื้นที่ทั้งหมดเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามควบคุมเพื่อตัดการเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม
ทว่ารายละเอียดนี้กลับไม่ปรากฏในสื่อไทย สื่อไทยยุคนั้นรายงานเพียงว่าหลัง “การรุกใหญ่ในเทศกาลตรุษญวน” เวียดกงอยากแก้แค้นต้องเพิ่มกำลังดูแลสถานทูตในกรุงไซ่ง่อนเป็นพิเศษ นอกจากนั้นก็มีรายงานจากแนวหน้าที่ “สงสัย (ว่าทำไม) ของขวัญ (ที่แนวหลังส่งมาจึง) ได้รับน้อย” (หลักเมือง ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘)
เมื่อกองพลเสือดำมาถึงลองถั่นห์ พวกเขารับภารกิจต่อจากกรมจงอางศึก โดยสหรัฐฯ ให้อิสระในการปฏิบัติการมากขึ้นเพราะมีกำลังรบในระดับกองพลน้อย
ตัวอย่างการแบ่งเขตปฏิบัติการ (Area Operation - AO) ในพื้นที่รับผิดชอบของกองพลเสือดำ
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒
ฉากที่ ๑๐
การรบของ “เสือดํา”
หนังสือ กองพลเสือดำ
๒๕๑๑-๒๕๑๒
(ค.ศ. ๑๙๖๘-๑๙๖๙)
บันทึกการปะทะครั้งสำคัญ
ในระยะที่กองพลเสือดำ
ไปประจำการช่วงปีนี้
ไว้ทั้งหมดหกครั้ง
ทุกครั้งมีลักษณะเด่นคือ
เวียดกงเข้าตีฐานไทย
ซึ่งมีกำลังน้อยกว่า
การรบที่ทางการไทยให้ความสำคัญได้แก่
“วีรกรรมแห่งบินห์สัน” เกิดในพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนสาย ๑๕ จากการสำรวจพื้นที่จริงผมพบว่าน่าจะเป็นบริเวณอำเภอบิ่งห์เซิน (Bình Sơn) ซึ่งทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยสวนยางพาราเหมือนที่ทหารไทยสมัยนั้นพบเห็น ทว่าสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปคือเส้นทางเข้าพื้นที่ที่กลายเป็นถนนลาดยางสองเลน
ริมทางหลวง ผมพบอนุสรณ์สถานรำลึกถึงทหารเวียดกงที่ “ปลดปล่อยประเทศชาติ”
หนังสือ กองพลเสือดำฯ เล่าว่า เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วบริเวณนี้ กองร้อยที่ ๒ และ ๓ ของกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑ ตั้งฐานปฏิบัติการป้องกันสนามบินบิ่งห์เซินแล้วโดนเวียดกง หนึ่งกองพันเข้าตีตั้งแต่ ๐๓.๐๐ ถึง ๐๗.๐๐ น. ของวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ ผลคือทหารไทยเสียชีวิต ๕ คน นับศพทหารเวียดกงได้ ๖๕ คน
ทางการไทยมองเป็นชัยชนะด้วยทหารไทยสูญเสียน้อยกว่า
ต่อมาคือ “วีรกรรมแห่งเฟื้อกกาง” ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๙
บัตรประจำตัวของพันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ไปรบในเวียดนามใต้ในฐานะ “เสือดำ” ผลัดแรก
ครั้งนี้เวียดกงหนึ่งกองพันเข้าตีฐานทหารไทยที่มีกำลังหนึ่งกองร้อยบนเนิน ๓๘ ใต้หมู่บ้านเฟื้อกกาง ตั้งแต่ ๐๒.๐๐ ถึง ๑๐.๐๐ น. ทหารไทยตั้งรับด้วยปืนใหญ่ มีเฮลิคอปเตอร์และยานเกราะยิงสนับสนุน
ถ้าดูในแผนที่จะเห็นว่าเนิน ๓๘ อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของค่ายแบร์แคต เป็นที่สูงเพียงแห่งเดียวในอำเภอลองถั่นห์ที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะพยายามเข้ายึดเพื่อชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๑๘) เนินนี้กลายเป็นที่ตั้งรีสอร์ตและสนามกอล์ฟหรูท่ามกลางดงโรงงานอุตสาหกรรม
ในศึกเฟื้อกกาง ทหารไทยเสียชีวิต ๑ คน เวียดกงเสียชีวิต ๕๗ คน ทางการไทยมองว่าเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งในการรบกับเวียดกง
ศึกต่อมาคือ “วีรกรรมแห่งล็อกแอน” ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ เป็นการรบในตำบลที่คนเวียดนามเรียกว่าหลกอาน (Lộc An) อยู่ห่างฐานแบร์แคตไปทางทิศใต้ บนแผนที่ตำบลนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของถนนสาย ๑๕ (ปัจจุบันคือถนนสาย ๕๑) และมีถนนสายหนึ่งตัดผ่านเข้าไป
เฮลิคอปเตอร์แบบชีนุกของสหรัฐฯ กำลังขนส่งยานพาหนะให้กับทหารไทยในพื้นที่สู้รบ
.
กลุ่มรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียงพลของไทยระหว่างออกปฏิบัติการช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๖๘
.
กลุ่มทหารไทยกำลังพักผ่อนในพื้นที่แห่งหนึ่งระหว่างออกปฏิบัติการ
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม/Vietnam Veterans Museum
สถานการณ์คือทหารเวียดกงหนึ่งกองพันเข้าตีฐานทหารไทยที่มีกำลังสองกองร้อย ทหารไทยตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ ได้กำลังเสริมจากเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกล รถสายพานลำเลียงพล รบกันตั้งแต่ ๐๒.๐๐ ถึง ๐๗.๐๐ น.
ผลคือ ทหารไทยเสียชีวิต ๒ คน เวียดกง ๑๑๖ คน ทางการไทยเห็นว่าเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง
แต่ถ้าอ่านเอกสารเวียดกงจะพบว่า เวียดกงให้ความสำคัญกับการรบแต่ละครั้งต่างกับไทย
๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เวียดกงบันทึกว่า
“...โจมตีข้าศึกทุกแห่งในลองถั่นห์ กองพันที่ ๒ ล้อมฐานปืนใหญ่ ๘๒ มม. แล้วทำลาย ๒๔๐ คนโจมตีฐานที่เฟื้อกเถาะ กองร้อยที่ ๑ และ ๒ ยึดสะพานกว่านถู่ (Quản Thủ bridge) สะพานดำ ปิดเขตบาวกา กองร้อยที่ ๓ กรมที่ ๔ โจมตีฐานทหารไทย...”
จากนั้นกองพลเสือดำ (Hắc Báo) มาแทนกรมจงอางศึกตั้งแต่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๘
“...ไม่ถึง ๑ สัปดาห์พวกเขามาบิ่งห์เซิน ปิดพื้นที่เฮเลนา (Helena) เฟื้อกฮวา (Phước Hòa) ...โจมตีเฟื้อกทาย (อยู่ด้านทิศใต้ของถนนสาย ๑๕ ใกล้ตำบลเญินแจ๊ก) ...ในการรบคืนหนึ่ง ประชาชนทั้งเขตบาดเจ็บจากจรวดและปืนใหญ่อเมริกัน มีผู้เสียชีวิต ๙๖ คน บาดเจ็บ ๑๓๗ คน บ้านถูกทำลาย ๒๐๐ หลัง คนท้องถิ่นเรียกเหตุการณ์คืนนั้นว่า ‘ค่ำคืนอันยาวนาน’ ...”
กลาง ค.ศ. ๑๙๖๙ เวียดกงบันทึกว่าส่งคนไปทำงานในหมู่บ้านต่าง ๆ ลำเลียงอาหารได้ ๒,๐๐๐ ตัน ยารักษาโรคอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนจะกระตุ้นให้ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านอำนาจรัฐ
ทหารไทยกำลังพักผ่อนรับประทานอาหารในพื้นที่ปฏิบัติการ
.
มุมหนึ่งในค่ายแบร์แคต
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม/Vietnam Veterans Museum
สื่อไทยรายงานว่า ในสมรภูมิ สิ่งที่กองพลเสือดำกังวลคือข้าศึก “ขุดรูซุ่มซ่อนลึกลงไปใต้พื้นดินประมาณ ๓ เมตร ติดต่อถึงกันหมดเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร...ยากแก่การกวาดล้าง แม้ยิงด้วยปืนใหญ่ขนาดหนักติดต่อกันแทบทั้งวันทั้งคืน” (พิมพ์ไทย ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๘)
พันตรีพุทธินาถซึ่งเวลานั้นคือสิบตรีพลขับยานเกราะเล่าว่า รูปแบบการรบที่พบบ่อยคือการปะทะประปรายระหว่างลาดตระเวน ซุ่มโจมตี น้อยครั้งที่จะเป็นการปะทะกันด้วยกำลังขนาดใหญ่
“ครั้งหนึ่งผมไปดักโจมตีข้าศึกกับทหารราบซุ่มในป่ายางตอน ๑๘.๐๐ น. มืดสนิทมองฝ่ามือตัวเองยังไม่เห็น สักพักเห็นเงาตะคุ่ม ๆ พวกนี้เดินในช่วงเคอร์ฟิวจึงเป็นเวียดกงแน่ เดินไว แทบไม่มีเสียง เราได้จังหวะก็เปิดฉากยิงหูดับตับไหม้เป็นร้อย ๆ นัด พอเสียงปืนสงบ ปืนใหญ่ที่แนวหลังยิงพลุส่องสว่างมาให้เราไม่เห็นอะไรเคลื่อนไหวก็ไปเคลียร์พื้นที่ ผมพบคนชุดดำนอนอยู่ เราถูกรุ่นพี่สอนว่าต้องไม่ประมาท ต้องซ้ำให้ตายจริง”
สิบตรีพุทธินาถจึงตัดสินใจยิงก้นเวียดกงคนนั้น ๒๐ นัด แต่แล้วขณะที่เขาเติมกระสุน “จู่ ๆ เขาหันมายิงเรา ผมก้มหลบ กระสุนเฉียดหัว หมวกเหล็กทะลุ ผมผลักปืนเขาแล้วคลานถอยหลังเร็วที่สุดในชีวิต เพื่อนผมขว้างระเบิดมือใส่ ปืนกลรถสายพานลำเลียงพลก็ยิงซ้ำเขา ๒๐๐ นัด... สุดท้ายเขากลายเป็นเศษเนื้อ”
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒
ตอนนั้นเองที่สิบตรีพุทธินาถนับถือศัตรูจับใจ “เขาเป็นนักรบ โดนยิงไม่ร้อง ผมดูปืนอาก้าเขานับกระสุนก็พบว่าเขายิงครั้งหนึ่งแค่หนึ่งถึงสองนัด เรานี่เหนี่ยวไกแหลก ผมคิดว่าเขาคือครูทางทหารของผม”
ความเห็นของพุทธินาถสอดคล้องกับสิ่งที่ทหารในกองพลเสือดำหลายคนรู้สึก คือการใช้อาวุธในเวียดนามต่างจากในไทย เพราะอเมริกันให้เบิกกระสุนใช้กันแบบไม่อั้น “แมกกาซีนมีสนิมนิดเดียวเปลี่ยนได้เลยทั้งสาย...ใหม่เอี่ยม ของเก่าโยนทิ้งไป”
สอดคล้องกับนายทหารปืนใหญ่อย่าง บัญชร ชวาลศิลป์ ที่อธิบายว่า ในสงครามเวียดนาม
“เรายิงปืนใหญ่แบบไม่กลัวเปลือง ตำราเขียนไว้แบบไหนลองยิงได้หมด ในเมืองไทยทำไม่ได้เพราะต้องประหยัด ยิงปืนใหญ่ในเวียดนามยังต้องยิงรอบทิศ ยิงนอกแบบ เพราะไม่มีแนวรบชัดเจน”
ส่วน วิทยา ตัณฑะรัตน์ จำได้ว่าเวลาว่างครั้งหนึ่งเห็นเพื่อนยิงปืนเล่นทางโน้นทีทางนี้ที
“บางทีพนันกันว่าพระเครื่องขลังหรือไม่ด้วยการลองกับปืนก็มีคนหนึ่งเอาปืนกลยิงใส่ พนันกับคนล่อเป้าว่าไม่ตายจะยอมเสียเงินเดือนทั้งเดือน ซึ่งปรากฏว่าไม่ตาย หลบได้จริง มันก็เสียพนันไป”
จึงเป็นที่ชัดเจนว่าทหารไทยรบแบบ “อู้ฟู่” ด้วยทุนอเมริกัน ขณะที่เวียดกงต่อกรด้วยยุทธวิธีของคนเสียเปรียบที่ด้อยกว่าในเชิงอาวุธ
สงครามระหว่างกองพลเสือดำและเวียดกงดำเนินไปในลักษณะนี้ตลอดเวลา
ภาพ : พิพิธภัณฑ์
ทหารผ่านศึกเวียดนาม /
Vietnam Veterans Museum
กองพลเสือดำขณะทำพิธีสวนสนามต่อหน้าผู้บัญชาการทหารอเมริกันท่านหนึ่ง ในภาพจะเห็น “ธงชัยเฉลิมพล” ของกองพลเสือดำ
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม /Vietnam Veterans Museum
ฉากที่ ๑๑
แนวรบมวลชน
ช่วง “จงอางศึก” และ
“เสือดํา” อยู่ที่อำเภอลองถั่นห์
นอกจากการรบ
งานสำคัญคือปฏิบัติการ
จิตวิทยาและจูงใจมวลชน (pacification)
เพื่อขจัดอิทธิพลฝ่ายเวียดกงและ NLF
เอกสารราชการไทยหลายฉบับกล่าวถึงการสร้างศูนย์พยาบาล แจกของให้โรงเรียน สร้างสนามกีฬาให้ชุมชนโลกเสรี ระบุว่าทหารไทยสร้างถนน ๓๐ กิโลเมตร สะพานสองแห่ง โรงเรียนหนึ่งแห่ง สนามเด็กเล่น รักษาพยาบาลคนเวียดนาม ๘,๐๐๐ คน แจกจ่ายอาหารอีก ๔,๐๐๐ กิโลกรัม
แต่เรื่องที่ไม่ค่อยถูกเล่าคือ ทหารไทยพบ “ปัญหาเฉพาะ” ด้วยพวกเขาไม่รู้ว่าใครกันแน่คือ “เวียดกง” และของที่นำไปแจกจะตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามหรือไม่
เสลา เรขะรุจิ รายงานใน พิมพ์ไทย ว่า ครั้งหนึ่งทหารไทยเลี้ยงข้าวผัดและโอวัลตินเย็นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งโดย “ใส่ถาดหลุมและถ้วยกระดาษ (ให้รับประทานต่อหน้า) พอกินเสร็จก็ทิ้งไปเลย” ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะไปพบว่าอาหารกระป๋องบางส่วนที่เคยแจกจ่ายกลับไปโผล่ในที่ซ่อนข้าศึกเมื่อการรบเสร็จสิ้น ทหารอีกรายหนึ่งเล่าว่าต้องคำนวณถึงขั้น “...ใช้สบู่สักเท่าไรที่จะให้แก่หมู่บ้าน... ถ้าเราให้ไปไม่พอชาวบ้านก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไร ถ้าเราให้มากเกินไปพวกเวียดกงก็จะแย่งชิงเอาไปเสีย”
มีการบันทึกถึงการออกหน่วยแพทย์โดยในทีมประกอบด้วยแพทย์อายุรกรรม ๑ คน ทันตแพทย์ ๑ คน พยาบาล ๓ คน แพทย์หนึ่งทีมรักษาผู้ป่วยได้วันละ ๑๕๐ คน นอกจากนี้ยังแจกเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเขียน ขนม โดยแพทย์ทหารยืนยันว่า “ชาวญวนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง ชอบทหารไทยมาก”
แพทย์ทหารไทยออกตรวจโรคให้กับประชาชนเวียดนามใต้
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum
หน่วยแพทย์ทหารไทยออกบริการประชาชนในอำเภอลองถั่นห์
ภาพ : เสรีภาพ ฉบับที่ ๓
แผนที่ที่ระบุถึงการทำงานของหน่วยจิตวิทยามวลชนของกองพลเสือดำ
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒
ช่วงจงอางศึกมาประจำการ ทหารไทยยังโปรยใบปลิวที่มีเนื้อหาว่า “...พวกเราเป็นทหารของกรมทหารอาสาสมัครแห่งประเทศไทยและเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย เป็นเพื่อนของพวกท่านชาวเวียดนามและเป็นเพื่อนในโลกเสรี มาที่นี่ก็เพื่อให้ความร่วมมือกับชาวเวียดนาม” โดยลงท้ายว่า “Queen’s Cobra”
แน่นอนว่าปฏิบัติการจิตวิทยาได้ผลบ้างเหมือนกัน นักข่าวไทยยุคนั้นรายงานว่าคนท้องถิ่นบางคนคอยส่งข่าวเวียดกงให้ทหารไทย ถ้ารถทหารไทยเข้าไปในหมู่บ้านแล้วมีเด็ก ๆ วิ่งออกมาทักทายปราศรัยหมายถึงเหตุการณ์ปรกติ “แต่ถ้าวันไหนเด็ก ๆ หายหมด ไม่ออกมาโบกไม้โบกมือวันนั้นก็จงระวังตัวให้ดี...”
ยังมีชาวบ้านที่บอกว่า “เขา (ทหารไทย) เข้าใจพวกเรา... หัดพูดภาษาของพวกเราและกินอาหารเราได้”
ชาวบ้านบางคนหัดพูดภาษาไทย กระทั่งเวียดกงก็ส่งคนเข้ามาหาข่าวด้วยการฝึกภาษาไทย (เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๕๔) จนปัจจุบัน ผมพบว่าจากการสัมภาษณ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม พวกเขาส่วนมากมีความทรงจำว่าความสัมพันธ์กับคนเวียดนามในอำเภอลองถั่นห์ “เป็นไปด้วยดี”
แต่ก็มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งปรากฏอยู่ด้วยเป็นธรรมดาว่าทหารไปนับหมื่น ย่อมมีคนร้อยพ่อพันแม่ อันนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นจนได้
คดีหนึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศที่สื่อสารถึงปลัดกระทรวงกลาโหมลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ เกิดเหตุทหารไทยในตำบลฟุกลายฆ่าชาวเวียดนามใต้ชื่อ เจิ่นวันโด๋ (Tran Van Do) อายุ ๑๙ ปี โดยไม่แจ้งข้อหา หลังยานเกราะทหารไทยคันหนึ่งถูกวางระเบิดใกล้กับถนนสาย ๑๕ แล้วทหารไทยพบเห็นเขาขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากหมู่บ้านจึงเข้าจับกุม
“พยาน (ทหารเวียดนาม) และพลทหารคนหนึ่งได้พยายามทำการขัดขวาง แต่ไม่ได้ผล นายตรันวันโซ (ออกเสียงตามเอกสาร หมายถึงคนคนเดียวกัน) ถูกทหารไทยนำขึ้นยานเกราะเข้าไปในป่าลึกในเขตนั้น ประมาณ ๑๕ นาทีต่อมา ยานเกราะไทยจึงได้กลับออกมาที่ทางหลวงสาย ๑๕ ในวันเดียวกัน เวลา ๑๗.๑๕ น.
เด็กชาวเวียดนามใต้ยืนอยู่หน้าป้ายจารึกใกล้กับสนามเด็กเล่นริมแม่น้ำไซ่ง่อนที่มีรายละเอียดบอกว่า “สนามเด็กเล่นบั๊คดั่ง” สร้างโดยกองกำลังทหารไทยในเวียดนามแด่เด็ก ๆ ชาวเวียดนาม
ภาพ : เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๑
“เมื่อหน่วยกำลังทหารไทยกลับไปแล้ว พยานได้ออกตรวจบริเวณที่แห่งนั้นกับนายทหารชั้นร้อยโท ผู้บังคับหมวด ๕๕๒ และที่ปรึกษาอเมริกัน พบศีรษะคนใส่ถุงพลาสติกทิ้งไว้ในซากยานเกราะที่ถูกระเบิด วันรุ่งขึ้นพยานนำทหารหนึ่งหมวดเข้าไปในป่าแห่งนั้นและพบศพไม่มีศีรษะของนายตรันวันโซ”
เอกสารชิ้นนี้ให้รายละเอียดว่าบิดาผู้ตายเรียกร้องค่าเสียหาย ๒๖๒,๕๐๐ ด่ง ค่าชดใช้ทรัพย์สินเสียหาย ๕,๐๐๐ ด่ง กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามอ้างการสอบสวนของตำรวจท้องที่ที่สรุปว่าฆาตกรคือ “ทหารไทยในหน่วยยานเกราะที่เข้ามาปฏิบัติการในเขตนั้น” ขอให้ทางการไทย “ลงโทษผู้กระทำผิด มิให้เกิดอาชญากรรมเช่นนี้ขึ้นอีก”
ทว่าผมไม่พบหลักฐานอื่นที่จะบอกได้ว่าคดีจบลงอย่างไร เบาะแสสุดท้ายที่พบคือหนังสือของ กระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ส่งเรื่องไปยังกองพลเสือดำเพื่อ “ดำเนินการตามที่กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามร้องขอ”
อีกคดีหนึ่งคือเหตุการณ์ทหารไทยเปิดฉากยิงกับทหารเวียดนามใต้กลางกรุงไซ่ง่อน
เรื่องนี้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เวียดนามใต้สามฉบับ เอกสารกระทรวงการต่างประเทศลงวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ประมวลเหตุการณ์ว่าเริ่มจากเจ้าหน้าที่เวียดนามใต้เข้าจับกุมโสเภณี แต่กลับพบว่ามีทหารไทยอยู่ด้วย ทหารไทยจึงยิงปืนขึ้นฟ้าขู่ เจ้าหน้าที่เวียดนามยังพยายามตามมาถึงที่พักทหารไทย “ต่างฝ่ายต่างเข้าใจผิด คงคิดว่าเวียดกงโจมตี คือทหารไทยก็คงจะยิงป้องกันตัว เจ้าหน้าที่เวียดนามใต้ใกล้เคียงพากันมาช่วย...ยิงกันอีก”
สื่อเวียดนาม Saigon Daily News รายงานว่า ตำรวจพบทหารไทยกับโสเภณีสองคนอยู่
ด้วยกันในบ้านที่ผิดกฎหมายจึง “พยายามนำสตรีสองคนไปสอบสวน ทหารไทยโกรธเลยยิงปืนไรเฟิล ARI-5 และออกจากสถานที่นั้น” ตำรวจจึงติดตามโดยแจ้งไปยังกองบัญชาการร่วมของทหารพันธมิตรด้วย
สื่อเวียดนาม Saigon Daily News รายงานว่า ตำรวจพบทหารไทยกับโสเภณีสองคนอยู่ด้วยกันในบ้านที่ผิดกฎหมายจึง “พยายามนำสตรีสองคนไปสอบสวน ทหารไทยโกรธเลยยิงปืนไรเฟิล ARI-5 และออกจากสถานที่นั้น” ตำรวจจึงติดตามโดยแจ้งไปยังกองบัญชาการร่วมของทหารพันธมิตรด้วย
ทหารไทยออกไปแจกของให้กับเด็กๆ เวียดนามใต้
ภาพ : เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๑
เมื่อตามไปถึงตึกเลขที่ ๖๐๖ ถนนฟานแท็งห์-ส่าน (Phan Thanh Giản)
“ทหารไทยก็เปิดฉากยิงจนทหารอากาศเวียดนามบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่เวียดนามอีกสองคนวิ่งเข้าไปยิงตอบโต้” จากนั้น “ทหารไทยก็เอาปืนกลตั้งกลางถนนแล้วยิงไปที่ Nga Bay จนมีผู้เสียชีวิตคือ On Ai Nhan และรถจี๊ปตำรวจเสียหาย”
เหตุการณ์นี้จบลงเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายเวียดนามใต้และไทยเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุกรณีนี้กลายเป็นเรื่องยาว เพราะหลังจากนั้นมีเจ้าของบ้านชาวเวียดนามใต้คนหนึ่งซึ่งได้รับผลจากการยิงกันจนทรัพย์สินเสียหายร้องเรียนกับกองบัญชาการทหารไทยในเวียดนาม แต่เมื่อไม่ได้รับคำตอบเขาจึง “มีหนังสือร้องทุกข์ถวายฎีกา ขอพึ่งพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้า-อยู่หัว (รัชกาลที่ ๙)”
หนังสือฎีกาของเขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แปลได้ว่า หลังเหตุการณ์ ทหารไทยมาสำรวจความเสียหายที่บ้าน แต่เวลาผ่านไปแล้วเดือนหนึ่ง “ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้รับคำตอบที่เจ้าหน้าที่ไทยสัญญา ไม่รู้จะทำเช่นไร จึงถวายฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณทำให้ความจริงปรากฏ” (หนังสือกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๙) ทั้งนี้ในแฟ้มเอกสารกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ปรากฏรายงานว่าผลเป็นอย่างไร แต่น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยปวดหัวพอสมควร
นอกจากนี้ยังมีกรณีทหารไทยค้าฝิ่นจนถูกส่งกลับมาดำเนินคดีในประเทศ รวมถึงกรณีอุบัติเหตุก็มี เช่นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ รถทหารไทยชนสามล้อในอำเภอลองถั่นห์จนมีผู้เสียชีวิตสี่คน ทำให้ญาติผู้ตายเรียกร้องค่าเสียหายและกองบัญชาการทหารไทยในเวียดนามต้องดำเนินการชดใช้ให้
ฉากที่ ๑๒
ไซ่ง่อน-ตลาดมืด
ในแนวหลัง
ยามว่างจากการรบ
ทหารผ่านศึกหลายคนเล่าว่า
ความเป็นอยู่ในค่ายสำหรับ
“เสือดำรุ่นแรก” ค่อนข้างดี
เพราะสาธารณูปโภคทุกอย่างเป็นของใหม่ หากกองพันไหนมีหน่วยสูทกรรม (ประกอบอาหาร) อาหารจะยิ่งถูกปาก เพราะ “อาหารที่อเมริกันเตรียมให้ไม่คุ้นลิ้นทหารไทยเป็นพวกแอปเปิล มันฝรั่งกระป๋อง ไข่ไก่ เนื้อ ฯลฯ”
พลทหารอย่างวิทยาที่เป็นทหารราบมีเวลาพัก ๕ วันต่อเดือน ตามสิทธิตลอด ๑ ปีที่ประจำในเวียดนามจะลากลับเมืองไทยได้สองครั้ง ครั้งละ ๗ วัน โดยได้บินด้วยสายการบินพาณิชย์ ทว่า “ส่วนมากทหารระดับล่างไม่ได้ไปไหน บางทีก็ขายวันลารับจ้างรบแทนเพื่อน คนที่มีเงินอยากหยุดเขาก็จ้าง หมู่หนึ่งมี ๑๒ คน หายไป ๒ คน ผู้บังคับหมู่เขาก็ไม่ว่าผลัดเปลี่ยนกันไป” วิทยาเล่า
สวัสดิการพลทหารก็ค่อนข้างมีปัญหา พิชัย รัตตกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชา-ธิปัตย์ที่ไปเยี่ยมทหารไทยระบุว่า ทหารชั้นผู้น้อยร้องเรียนว่า “เสบียงอาหารได้ไม่ครบ” (ชาวไทย ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๐)
ทหารไทยยังนิยมฆ่าเวลาด้วยการลองปืนเพราะมีกระสุนให้ใช้แบบไม่จำกัด พุทธินาถเล่าว่า “มันจะมีช่วงฟรีประมาณ ๓๐ นาที ยิงให้เต็มที่ อาวุธอะไรก็ได้ เป็นช่วงซ้อมมือ มีของให้เบิกไม่อั้น ก็ยิงเล่นกันแหลก”
พลทหารคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าการไปเวียดนามยังทำให้เขาพบ “ของที่ไม่เคยเห็นอย่างครีมโกนหนวด น้ำยาบ้วนปาก โลชั่นสำหรับทาหลังโกนหนวด” (Bangkok Post ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘)
ในค่ายมีระบบการใช้เงินรูปแบบคูปองที่เรียกว่า military payment certificate (MPC) มีหลายราคาคล้ายธนบัตร ใช้ซื้อของในร้าน Army & Air Force Exchange Service (Exchange) ที่ทหารอเมริกันเรียกว่า “PX” ภายในค่ายได้
เงินที่ใช้ภายในค่ายแบร์แคต เรียกว่า military payment certificate (MPC)
ที่มา : พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา
ร้าน PX นี้เองก็กลายเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งของทหารไทย
อธิบายอย่างย่อ ร้าน PX ที่ว่านี้จะติดตามหน่วยทหารอเมริกันไปทั่วโลก ทำหน้าที่ขายสินค้าของอเมริกันทุกชนิดให้แก่กำลังพลกองทัพสหรัฐฯ และด้วยความที่เป็นสินค้าปลอดภาษี ราคาจึงถูกกว่าตามท้องตลาด โดยปรกติจะมีรายการสินค้ามากมายให้เลือกโดยมีเจ้าหน้าที่บริการ
แน่นอนว่าเมื่อทหารไทยไปรบในเวียดนาม ทางสหรัฐฯ ก็ถือว่าทหารไทยเป็นทหารชาติพันธมิตรที่ได้สิทธิ์ใช้ PX ในค่ายแบร์แคต โดยแต่ละชั้นยศมีโควตาซื้อของที่ PX ได้ไม่เท่ากัน เช่น ระดับจ่าขึ้นไปถึงมีสิทธิ์ซื้อเหล้าได้ แต่พลทหารไม่สามารถซื้อได้ เป็นต้น
ทหารผ่านศึกเวียดนามทุกคนยืนยันว่าสินค้าที่ได้รับความนิยม คือ บุหรี่ กล้องถ่ายรูป วิทยุ-กระเป๋าหิ้ว ที่ซื้อบ่อยคือเบียร์กระป๋องหลากยี่ห้อจากหลายประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นของหายากและราคาแพงในเมืองไทยยุคนั้น
ช่วงเช้าที่สิบตรีพุทธินาถอยู่ค่าย เขาเคยเห็นปรากฏการณ์ “ทหารไทยต่อแถวยาวเหยียด เข้า PX แม้ว่าจะมีเสียงปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดกงยิงโจมตีในระยะใกล้ ตูม ๆ แถวก็ยังคดงอเป็นงู รอกันอย่างเข้มแข็ง”
นี่กลายเป็นเรื่องปรกติที่แบร์แคต
เมื่อมีของถูกจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีของหลายอย่างที่ทหารไทยไม่ต้องการ ในขณะที่คนเวียดนามใต้นอกค่ายล้วนมีฐานะยากจน ปากกัดตีนถีบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ตลาดมืด” (black market)
กล้องยี่ห้อ Nikomat และเครื่องวัดแสง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมที่ทหารไทยซื้อติดมือจากร้าน PX
ทหารไทยจำนวนหนึ่งเอาของไปขายคนท้องถิ่น เรียกกันว่า “โยกของ” นำสินค้า PX พวกบุหรี่ เหล้า เบียร์ ไปขายให้พ่อค้าที่จะนำไปเก็งกำไรอีกต่อโดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ชาวเวียดนามใต้ใน PX “ที่บางส่วนก็มีความสัมพันธ์กับทหารไทย”
เอกสารเวียดกงระบุการเข้าถึงของเหล่านี้ว่า
“คนในตำบลเก็บเสบียงไว้ให้เรา (เวียดกง) สาขาเราที่นั่นจัดผู้หญิงไปเรียนภาษาไทยเพื่อติดต่อกับทหารไทย ซื้อพริก มะนาว กระเทียม ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของพวกเขา เราค้าขายกับพวกเขา... บางทีหญิงสาวของเรานั่งรถไปกับทหารไทย ทหารเวียดนามใต้ก็ค้นรถยากขึ้น พี่น้องของเราที่บิ่งห์เซินจึงสามารถขนส่งข้าวจากลองถั่นห์ไปยังหมู่บ้านได้”
ข้าวเหล่านั้นจึงตกไปถึงกองกำลังเวียดกง ขณะที่สินค้า PX เดินทางไปสู่ตลาดมืดในกรุง
ไซ่ง่อน
นักข่าวไทยหลายสำนักที่ไปเยือนไซ่ง่อนช่วงนั้นรายงานตรงกันว่ามี “ตลาดมืด” ทั่วทุกหัวระแหง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นถึง ๖๐๐ เท่าเนื่องจากสงคราม อัตราแลกเปลี่ยนเงิน piastre เวียดนามใต้อยู่ที่ ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๑๒๕ เปียสในตลาดมืด ขณะที่อัตราทางการของรัฐบาลอยู่ที่ ๗๔ เปียส
การที่แหล่งผลิตอาหารและพืชผลบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงกลายเป็นสนามรบยังทำให้ราคาอาหารในเมืองถีบตัวสูงขึ้นไปอีก พิมพ์ไทย รายงานว่า “ถนนเหงวียนเหวะ” คือที่ที่ “สินค้า PX หลั่งไหลไปวาง ทั้งเหล้าและบุหรี่มากมายด้วยราคาถูก ๆ” สยามนิกร รายงานในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ ว่า สินค้าเถื่อน PX “มหาศาล...เดินตามย่านการค้าริมทางจะพบบุหรี่ เหล้า เครื่องกระป๋อง เสื้อกางเกง ระบุว่า ‘เมดอินยูเอสเอ’ (Made in USA) หรือไม่ก็ ‘มิลิทารียูส’ (Military use/ใช้ในกองทัพ)”
สันติ เศวตวิมล ผู้สื่อข่าว พิมพ์ไทย รายงานว่าของพวกนี้ราคาถูกกว่าราคาในสหรัฐฯ ร้อยละ ๔๐ และรัฐบาลเวียดนามใต้ทราบเรื่องดี แต่ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะเศรษฐกิจแย่ แต่ถ้าปล่อยให้ขายก็โดนข้อหาคอร์รัปชันจึงแก้ไม่ตก เมื่อทหารสหรัฐฯ ร้องเรียนบ่อยเข้าก็ประกาศห้ามขายริมทาง “เว้นแต่จะเข้าไปขายในตลาดที่ทางการเทศบาลกำหนดให้”
สินค้า PX ในตลาดเทศบาลจึงกลายเป็นของถูกกฎหมายไป
นอกจากเป็นตลาดปล่อยสินค้าเถื่อนไซ่ง่อนยังเป็นสถานที่พักผ่อน ที่เที่ยวของทหารที่พักรบ แต่ไม่ได้เดินทางกลับเมืองไทย หรือไปเมืองตากอากาศที่หวุงเตา แม้ว่าบรรยากาศจะไม่สู้ดีนัก
นักข่าวไทยหลายคนรายงานว่าพวกเขาต้องนั่งรถที่กั้นตาข่ายตรงหน้าต่างเพื่อป้องกัน พวกเวียดกงปาระเบิดเข้ามา เสียงปืนใหญ่จากนอกเมืองดังอยู่ตลอดเวลา อาคารหลายแห่งในเมืองมีร่องรอยความเสียหายจากการโจมตีของเวียดกง ที่ทำการรัฐบาล สะพานมีป้อมปืนมีทหารยืนรักษาการณ์เข้มงวด มีการตั้งด่านบนเส้นทางเข้า-ออกจากเมือง การลอบฆ่า “เกือบเป็นของธรรมดา” มีการฆาตกรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยการปาระเบิดและลอบยิง ขณะที่ตำรวจไม่มีประสิทธิภาพและคอร์รัปชัน
ไซ่ง่อนช่วงนั้นมีคนประมาณ ๓ ล้านคน ส่วนหนึ่งหนีภัยสงครามเข้ามาจากชนบทและเชื่อว่ามีไม่น้อยที่เป็นแนวร่วมเวียดกง นักข่าวไทยประเมินว่าประชาชนในเมืองหลวงถึงร้อยละ ๖๕ สนับสนุนเวียดกง ยังมีรายงานด้วยว่าผู้ชายลดจำนวนลงมาก เพราะถ้าไม่ถูกเกณฑ์ทหารก็ไปเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ ทำให้อัตราส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายมีมากถึงเจ็ดต่อหนึ่ง และบางส่วนต้องหันไปทำงานเป็น “ภรรยารับจ้าง” ทหารอเมริกันโดยมีรายได้เดือนละ ๑-๒ หมื่นเปียส
เมื่อพลทหารวิทยาไปพักผ่อนในไซ่ง่อน เขาพบว่าถนนสายหนึ่งไม่ห่างจากบ้านพักประธานาธิบดีมีภรรยาทหารเวียดนามใต้ยศนายร้อยนายพันต้องออกมาหาลำไพ่เพราะสามีไม่ส่งเงินเดือนให้
สันติรายงานว่าทหารทุกชาติหาความสำราญ “ด้วยสุรานารีกันแทบทุกคน เข้าทำนองที่ฝรั่งบอกว่า War Wine Woman” ใช้ชีวิตราวกับวันสุดท้ายเพราะไม่รู้ว่าจะต้องตายเมื่อใดในแนวหน้า
ยามค่ำคืนของไซ่ง่อนยัง “มีแต่พลุแฟร์ที่ถูกทิ้งจากเรือบินส่องสว่างจ้า” ตามถนน “มีแต่เสียงไซเรนครวญคราง” เพราะการลำเลียงทหาร “เห็นทหารอเมริกันควงคู่กับสาวเวียดนามเป็นคู่ ๆ ภายใต้แสงสลัว ๆ ...”
นักข่าวไทยคนหนึ่งรายงานว่าคนเหล่านี้ถือคติ “อยู่ดูโลกให้โสภิณ พรุ่งนี้เราสิ้นชีวินไม่รู้วันตาย”
ดาราไทยใน
สงครามเวียดนาม
ภาพ : กว่าจะได้เป็นชูศรี
ชูศรี มีสมมนต์ ดาราตลกไทยที่มีชื่อเสียงในยุคสงครามเวียดนาม เล่าไว้ในหนังสือ กว่าจะได้เป็นชูศรี ในบท “ไปปลอบขวัญเวียดนาม” ว่าเธอได้รับการติดต่อจากกองดุริยางค์ทหารอากาศใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ชวนไปร่วมแสดงในรายการ “ปลอบขวัญทหารในแนวหน้า” ซึ่งเป็นกิจกรรมเดียวกับที่กองทัพสหรัฐฯ จัดให้ทหารอเมริกันในแนวหน้าเช่นกัน และเธอตัดสินใจไปเพราะระหว่างนั้นกำลังหลบหน้าเจ้าหนี้ในเมืองไทยอยู่
ชูศรีเล่าว่าทางการเชิญไปดูภาพยนตร์กิจกรรมที่ต้องทำ ที่แสดงว่าต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังแนวหน้ามอบของให้แก่ทหารในบังเกอร์ “พอ ฮ. บินไปส่งเราลงพื้น เราก็จะต้องรีบวิ่งนำของขวัญไปหย่อนให้ทหารใน ‘หลุมเพลาะ’ หรือบังเกอร์นั้น แล้วรีบกลับมาขึ้น ฮ. เลยไปส่งที่อื่นต่อไป... ปัญหาก็อยู่ที่ว่าถ้าตอนที่เรากำลังส่งของขวัญให้นักรบของเราอยู่นั้น ‘เวียดกง’ ท่านเกิดเอาปืนส่องเราเปรี้ยง ๆ เข้าให้จะว่ายังไง...”
ภาพ : กว่าจะได้เป็นชูศรี
เธอเล่าความรู้สึกว่า “ตายในหน้าที่อย่างนี้นับว่าโก้ดีไม่ใช่ย่อยนะ...” ก่อนเซ็นหนังสือที่ว่า “ถ้าเกิดมีอันตรายถึงชีวิต...ทางราชการไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น” โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ ๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๕๐๐ บาท) คณะของเธอประกอบด้วย สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, ธานินทร์ อินทรเทพ และนักร้องวงดุริยางค์ทหารอากาศ ขึ้นเครื่องบินทหารอากาศไปยังเวียดนามใต้โดยพักในโรงแรมที่ไซ่ง่อน ๑ คืน และมีงานเลี้ยงต้อนรับที่กองบัญชาการทหารไทยในไซ่ง่อน
ชรินทร์ นันทนาคร เล่าให้ สารคดี ฟังใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ว่า เหตุผลที่ไปนั้น “เป็นเรื่องหน้าที่ล้วน ๆ คิดว่าต้องไปปลอบขวัญทหารไทย ส่วนบริบทสงคราม ผมไม่ทราบเท่าใดนัก”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ชูศรีเล่าบรรยากาศเมืองหลวงเวียดนามใต้ว่า “ได้ยินเสียงปืนคำรามพร้อมประกายไฟจากการระเบิดของปืนใหญ่วูบวาบอยู่ไกล ๆ ไม่ขาดระยะ...หลับตาไม่ค่อยสนิทนัก เนื่องจากเสียงปืนใหญ่ครืน ๆ เหมือนเสียงฟ้าร้องคอยกล่อมอยู่ตลอดทั้งคืน” วันต่อมาเมื่อไปร้านอาหารเธอได้รับข้อมูลจากเจ้าของร้านว่าทหารไทยทำให้ทหารเวียดกงกลัวมากเพราะ “มักถูกทหารไทยตัดหัวหิ้วมาไว้บนโต๊ะแล้วล้อมวงดื่มเหล้ากันในยามพักผ่อนอย่างสนุกสนาน บางครั้งเวียดกงก็จะกลัวจนลานเมื่อเห็นทหารไทยสวมแต่เชิ้ตหนัง วิ่งถือปืนลุยเข้าไปประจัญบาน ลูกปืนของเวียดกงที่สาดเข้ามาไม่เคยระคายผิวของคนเชิ้ตหนังเหล่านี้เลย...”
วันต่อมาเธอได้นั่งรถที่มีกระจกกันกระสุนไปยังฐานแบร์แคต ระหว่างทางเธอเขียนว่าเห็นเวียดกงผลุบ ๆ โผล่ ๆ ข้างทาง “เวียดกงชอบหลบลงรู...มาสอดแนม หาข่าวได้แล้วก็รีบไปรายงานผู้บังคับบัญชาของเขา” ชูศรีเล่าถึงภารกิจว่าเธอได้ขึ้น ฮ. ไปวิ่งแจกของ “ท่ามกลางดอกหญ้าที่สูงท่วมศีรษะ” และอยู่ทำการแสดง ๗ วัน เมื่อกลับถึงเมืองไทยก็ยัง “คิดถึงลูกปืนใหญ่ที่เวียดนามอยู่”