คนฉลาดขึ้นหรือโง่ลง
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
ภาพ : นายดอกมา
มีเรื่องที่ผู้คนถกเถียงกันอยู่บ่อย ๆ ว่า มนุษย์เราฉลาดขึ้นหรือโง่ลงกันแน่ บ้างก็ว่าต้องฉลาดขึ้นสิ ไม่งั้นจะสร้างสรรค์อะไรที่พิลึกพิสดาร สลับซับซ้อน และเลิศหรูอลังการมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างไร แต่ก็มีคนยกตัวอย่างว่ายังมีคนตายจากสาเหตุไม่เข้าท่า เช่น เซลฟีจนตกจากที่ต่าง ๆ ที่น่าหวาดเสียวไม่น่าขึ้นไปแต่ต้น หรือคนที่รู้ว่าดื่มเหล้าและสูบบุหรี่มาก ๆ ทำให้เกิดมะเร็งค่อนข้างแน่นอน แต่ก็พบเห็นการกระทำทั้งสองอย่างทั่วไป แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่าโง่ลงได้อย่างไร คือสมัยก่อนไม่รู้แล้วทำ ก็ไม่แปลก แต่สมัยนี้รู้แล้วก็ยังทำ จะต้องไม่ฉลาดแน่นอน
คำอธิบายตัวอย่างที่ยกมาอาจซับซ้อนและมีปัจจัยเกี่ยวข้องมาก สรุปไม่ได้ง่าย ๆ
แล้วมีนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องความฉลาดบ้างไหม เขาวัดความฉลาดกันอย่างไร เขามีคำตอบที่เรากำลังถามตอบกันหรือไม่
เรื่องนี้ชวนให้ประหลาดใจทีเดียว
ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ริชาร์ด เฮิรร์นสไตน์ และ ชาร์ลส์ เมอร์เรย์ ตีพิมพ์หนังสือชื่อ เส้นโค้งรูประฆัง : เชาวน์ปัญญาและโครงสร้างชนชั้นในชีวิตชาวอเมริกัน (The Bell Curve : Intelligence and Class Structure in American Life) ซึ่งโด่งดังกลายเป็นหนังสือวิชาการคลาสสิกในเวลาต่อมา เนื้อหาในหนังสือนี้ผู้เขียนรวบรวมหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า เชาวน์ปัญญาของมนุษย์ขึ้นกับทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
ระดับสติปัญญาของประชากรสามารถวาดเป็นกราฟรูประฆังคว่ำได้ คือคนฉลาดแบบค่าเฉลี่ยจะมีจำนวนมาก (ตรงกลาง ๆ รูปกราฟ) ขณะที่คนฉลาดมากและโง่มากจะมีน้อย (ปลายเส้นกราฟด้านขวาและซ้ายตามลำดับ)
ข้อสรุปเรื่องปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมและรูปกราฟระฆังคว่ำของระดับสติปัญญาของประชากรยังเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบัน
แต่ส่วนที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมากคือ เนื้อหาในเล่มบอกว่าระดับสติปัญญาอาจจะขึ้นกับชาติพันธุ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันไม่เชื่อกันแบบนี้อีกแล้ว แต่เชื่อว่าไม่ว่าชาติพันธุ์ไหนก็มีระดับสติปัญญาไม่แตกต่างกัน จะต่างก็แต่การศึกษาและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น อาหารการกินที่จะไปบำรุงสมองและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการสร้างสติปัญญามากกว่า
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ๑๐ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๘๔ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์โดย เจมส์ ฟลินน์ (James Flynn) จากมหาวิทยาลัยโอทาโก (University of Otago) ในนิวซีแลนด์ เขียนลงวารสาร Psychological Bulletin [95(1), 29-51] ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการมาก เพราะฟลินน์สรุปผลจากการวิเคราะห์การทดสอบไอคิวพบว่า ช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๗๘ รวม ๔๖ ปี ค่าจากการวัดไอคิวคนอเมริกันสูงขึ้น ๑๓.๘ จุด (คนปรกติมีค่าเฉลี่ยไอคิวอยู่ที่ ๑๐๐ จุด หากฉลาดกว่าเฉลี่ยก็จะได้ตัวเลขมากกว่า ๑๐๐ จุด ส่วนฉลาดน้อยกว่าเฉลี่ยก็จะได้ค่าน้อยกว่า ๑๐๐ จุด)
หากพิจารณาค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นก็ถือได้ว่าสูงขึ้น ๓ จุดต่อทศวรรษทีเดียว อ่านแล้วก็ชวนให้ดีใจว่า คนเราฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ (หากนับเอาคนอเมริกันเป็นตัวแทน)
แต่อย่าเพิ่งดีใจ
ใน ค.ศ. ๒๐๑๓ มีงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยสี่ประเทศ คือ สวีเดน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ที่ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จนได้ข้อสรุปว่าในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๙-๒๐๐๔ มีค่าไอคิวลดลง ๑.๒๓ จุดต่อทศวรรษ หรือหากจะเทียบกลับไปไกลสักหน่อยคือเทียบกับคนในยุควิกตอเรีย (ยุคที่ราชินีวิกตอเรียครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑) ก็จะได้ว่า
โง่ลงถึง ๑๔ จุดทีเดียว !
ข้อมูลที่ว่ามานี้สอดคล้องดีกับที่นักชีววิทยาชื่อ เจอรัลด์ แคร็บทรี (Gerald Crabtree) เขียนอธิบายไว้ในวารสาร Trends in Genetics [Jan 2013, 29(1), 1-5] ที่ตั้งสมมุติฐานว่า ระดับสติปัญญาโดยเฉลี่ยของมนุษย์ลดลงเรื่อย ๆ อย่างช้ามาก ๆ มาเป็นเวลา ๓,๐๐๐ ปีแล้ว !
โดยแคร็บทรีอธิบายว่าเป็นเพราะ เรามีไลฟ์สไตล์สะดวกสบายเกินไป จนทำให้ไม่ต้องใช้สติปัญญาคิดหาวิธีเอาตัวรอด หรือจะกล่าวอีกอย่างก็ได้ว่าอารยธรรมที่เราสร้างขึ้นมานี่เองทำให้เราสามารถโง่ได้อย่างสบายใจเพราะไม่กระทบกระเทือนต่อความอยู่รอดและการถ่ายทอดพันธุกรรม
ผลก็คือเป็นไปได้ว่าอารยธรรมทำให้เราอ่อนแอลงในเชิงคุณภาพ (ของพันธุกรรม) สามารถเกิดการกลายพันธุ์ได้สารพัด แล้วก็ยังไม่ตาย เพราะมีเทคโนโลยีการแพทย์ดีพอจะเก็บคนเจ็บป่วยหรือมีความผิดปรกติต่าง ๆ เอาไว้และส่งต่อให้รุ่นต่อไปได้ โดยประมาณว่าในช่วง ๓,๐๐๐ ปี หรือ ๑๒๐ ชั่วรุ่นที่ผ่านมา มีการกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อนเลยเกิดขึ้นราว ๕๐๐ แห่ง
แต่จะถือว่าเป็นเรื่องร้ายไปเสียหมดก็คงไม่ได้ ดูอย่างศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิง ที่แม้มีร่างกายป่วยจากโรคพันธุกรรม แต่ก็มีสติปัญญาเฉียบคมเหนือคนทั่วไปมาก สามารถทำวิจัยและเขียนหนังสือประสบความสำเร็จขายดีแบบเบสต์เซลเลอร์
คำตอบคือไม่ได้
อ้าว ! แล้ววัดเปรียบเทียบกันยังไงล่ะ
เขาวัดสิ่งที่เรียกว่า เวลาที่ใช้ตอบสนอง (reaction time) หรือ RT (reaction time) ซึ่งคนที่คิดค้นขึ้นคือเซอร์ฟรานซิส กอลตัน (Sir Francis Galton) โดยอาศัยการวัดเวลาที่ผู้เข้าร่วมทดลองกดปุ่มตอบสนองต่อตัวกระตุ้นเช่นแสงที่วาบขึ้นมา
การทดลองแบบนี้ย้อนกลับไปได้ถึง ค.ศ. ๑๘๘๓ ที่กอลตันเสนอขึ้น แต่ก็ได้รับการยืนยันจากการทดลองในยุคหลัง ๆ ว่าเป็นวิธีที่ให้ผลเชื่อมโยงกับค่าไอคิวจริง ส่วนผลประเมินค่าไอคิวที่เก่าแก่กว่านั้น เช่น กรณีของแคร็บทรีใช้การประเมินจากรหัสพันธุกรรมโดยตรง (ซึ่งซับซ้อนกว่ามาก)
สรุปว่ายังไม่แน่ชัดว่ามนุษย์ฉลาดขึ้นหรือโง่ลงกันแน่
แต่ที่แน่ๆ คือ สังคมทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวันตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อาจจะมีสักวันที่เรามีหลักฐานและคำตอบที่แน่ชัดในเรื่องนี้