ชีวิตในอาเซียนของ
โม ทูซา
(Moe Thuzar)
ASEAN Senior
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ฉันเกิดที่ย่างกุ้งใน ค.ศ. ๑๙๖๘ คนพม่ารุ่นฉันเรียกตัวเองว่า ‘รุ่นที่สาบสูญ’ (Lost Generation) เพราะเกิดในยุคนายพลเนวินปกครองประเทศ พ่อกับแม่ฉันเป็นนักการทูต ปู่ของฉันคืออูทุนวิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารและประสานงานสมัยรัฐบาลพลเรือนอูนุ หลังการรัฐประหาร ค.ศ. ๑๙๖๒ ปู่ก็ถูกย้ายไปเป็นทูตประจำอยู่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พ่อแม่พบกันที่นั่นก่อนจะกลับมาคลอดฉันที่ย่างกุ้ง
“ฉันเริ่มจำความได้ตอนอายุ ๒ ขวบ ตอนนั้นพ่อไปประจำอยู่ที่สถานเอกอัคร-ราชทูตพม่าในสิงคโปร์ ฉันถูกส่งเข้าโรงเรียนอนุบาล จำได้ว่าเลือดกำเดาไหลบ่อย และครูกับพยาบาลชอบกดหัวฉันลงไปในน้ำจนฉันต้องมาฟ้องที่บ้าน แต่ที่จำได้ดีที่สุดคือช่วงที่พ่อไปประจำอยู่ที่สหภาพโซเวียต ฉันจำได้ว่าชีวิตของคนรัสเซียยุคนั้นน่าสนใจมาก รัฐบาลควบคุมและจัดสรรปันส่วนทุกอย่างทั้งอาชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค
“ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยพม่าสมัยนั้นต้องสอบข้อสอบที่ชื่อว่า SAT ที่ออกโดยคณะกรรมการอุดมศึกษา ในต่างประเทศศูนย์สอบจะอยู่ตามสถานทูตเข้าใจว่าทุกวันนี้ก็ยังคงใช้ระบบทำนองนี้อยู่ ฉันต้องเรียนด้วยตัวเองเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยในพม่า เพราะภาษารัสเซียเป็นอุปสรรคมาก จะเรียนในโรงเรียนนานาชาติก็ไม่มีเงินพอ เราออกมาจากที่นั่นใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ปีสุดท้ายก่อน มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นสู่อำนาจประกาศนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยคา (Glasnost-Perestroika/เพิ่มความโปร่งใสและปฏิรูปเศรษฐกิจ) ทำให้โซเวียตเปลี่ยนไป
“ค.ศ. ๑๙๘๖ ฉันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยย่างกุ้งที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Rangoon University โดยเลือกวิชาเอกภาษาอังกฤษ ค.ศ. ๑๙๘๘ เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกว่าเหตุการณ์ ๘๘๘๘ (การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๘) ฉันโดนที่บ้านห้ามไม่ให้ไป ตอนนั้นพ่อที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศก็ขอลาออกจากพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party - BSPP) ของรัฐบาลทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเกือบทุกคนต้องเข้าเป็นสมาชิกเพื่อก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ชุมชนของฉันต้องดูแลกันเองเพราะตำรวจไม่ทำงาน แม่ตั้งกาต้มน้ำชาเลี้ยงคนในชุมชน เราเห็นผู้ประท้วงเคลื่อนผ่านไป
“ผลก็อย่างที่รู้คือเกิดรัฐประหารหลายครั้ง คนตายมากมาย สุดท้ายก็มีรัฐบาลทหารที่เรียกว่า SLORC (State Law and Order Restoration Council - สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) ขึ้นมาปกครองประเทศ
“หลังจากนั้นเราหยุดยาวเพราะรัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยหมดทุกแห่ง เปลี่ยนชื่อประเทศจาก Burma เป็น Myanmar เรื่องนี้คนประเทศอื่นจะไม่รู้ว่า จริง ๆ เราออกเสียงในภาษาพม่าว่า ‘เมียนมา’ อยู่แล้ว (ส่วนคำว่า ‘พม่า’ เป็นสำเนียงไทย - ผู้สัมภาษณ์) มหาวิทยาลัยของฉันก็เปลี่ยนชื่อจาก Rangoon เป็น Yangon เพราะพวก
นายพลต้องการเอาชื่อที่มองว่าเป็นมรดกของอาณานิคมออกไป ยังมีการไล่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงออกหลายคนด้วยข้อหาต่อต้านรัฐบาล จนพ่อต้องไปบอกทหารว่าให้เลิกสืบและไล่คนออกเสียที ไม่อย่างนั้นจะไม่เหลือคนทำงานเลย
“ค.ศ. ๑๙๙๐ พม่าเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง ฉันลงเรียนภาษาฝรั่งเศสกับสมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) ในพม่าจนได้ใบประกาศ รัฐบาลเริ่มเปิดให้พวกที่ยังตกค้างเรียนหนังสือต่อให้จบฉันสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างในกระทรวงการต่างประเทศ ถึง ค.ศ. ๑๙๙๑ คุณพ่อซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พลเรือนอาวุโสสูงสุดที่ยังเหลืออยู่ในกระทรวงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีฯ ต่างประเทศ ‘โอนจอ’ (Ohn Gyaw) พ่อฉันเป็นพลเรือนคนเดียวในคณะรัฐมนตรีที่เป็นทหารทั้งหมด
“พ่อแต่งตั้งให้ฉันเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ต้องอธิบายว่าตอนนั้นพวกรัฐมนตรีที่เป็นทหารมักตั้งทหารระดับนายร้อยมาทำงานนี้ พ่อบอกว่าคนที่ท่านไว้ใจที่สุดคือลูกสาว มองกลับไปก็พอนึกออกว่าพลเรือนยังไง ๆ ก็ต้องถูกสงสัย ที่พ่อตั้งฉันเพราะต้องการให้มั่นใจว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหลจากผู้ช่วยส่วนตัว งานนี้ทำให้ฉันต้องทำงานกับพ่อแทบ ๒๔ ชั่วโมง เตรียมเอกสาร ร่างสุนทรพจน์ เดินทาง ฯลฯ
“เท่าที่เห็น พ่อพยายามนำพม่ากลับสู่ประชาคมนานาชาติ พม่าเป็นเผด็จการ แต่ก็มีภาระผูกพันกับประชาคมนานาชาติอยู่ พร้อม ๆ กับพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนนโยบายในประเทศ จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เวียนนาก็โดนประท้วง เจ้าหน้าที่จากประเทศอื่นหยิบหน้ากาก อองซาน ซูจี มาใส่ต่อต้านเรา
“ทุกวันนี้คนจำนวนมากเข้าใจว่าอาเซียนแค่จัดประชุม ต้องอธิบายว่ามันเป็นงาน ‘ผลักดันวาระ’ ไปข้างหน้า เราพูดเสมอว่าต้องค่อย ๆ ทำกันไป ใช่ ! คนอาจจะติดภาพของสหภาพยุโรปหรือองค์การสหประชาชาติ แต่อาเซียนแตกต่างออกไป
“เมื่อจบปริญญาตรี ฉันหยุดทำงานให้คุณพ่อ สอบเข้ารับราชการในกระทรวงเดิม แต่ตำแหน่งดีกว่า จากนั้นได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore - NUS) ด้านนโยบายสาธารณะในคณะศิลปศาสตร์ที่มีโครงการร่วมกับ Kennedy Law School ของสหรัฐอเมริกา ฉันเรียนใน ค.ศ. ๑๙๙๖ เหตุการณ์สำคัญคือเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน รัฐบาลทหารประกาศจะปล่อยซูจีจากการกักบริเวณในบ้าน
“พอกลับไปทำงานในกระทรวงก็ต้องเตรียมการให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน บางครั้งต้องทำงานที่สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กับเพื่อนเจ้าหน้าที่อีกสามคน ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๘ ฉันทำงานที่สำนักเลขาฯ อาเซียนเต็มตัวในฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตอนนั้นฉันตัดสินใจออกจากกระทรวงการต่างประเทศได้ง่ายมากเพราะพ่อโดน ‘เชิญออก’ แล้วถูกแทนที่ด้วยคนที่ชอบพูดว่า ‘ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน’
“ฉันได้ทำงานกับเลขาธิการอาเซียนสามคน คือ ดาโต๊ะ อจิต ซิงห์ (Dato Ajit Singh/มาเลเซีย) โรดอลโฟ เซอเวริโน จูเนียร์ (Rodolfo C. Severino, Jr./ฟิลิปปินส์) และ อองเคงยอง (Ong Keng Yong/สิงคโปร์) ต่อมาฉันแต่งงานและลาออกย้ายมาอยู่สิงคโปร์ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ เรียนปริญญาเอกด้านประวัติ-ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทำงานประจำที่ศูนย์วิจัยอาเซียน (ASEAN Research Center) ภายใต้สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies - ISEAS) ของรัฐบาลสิงคโปร์ ในตำแหน่งนักวิจัยอาวุโส (lead researcher) ตอนนั้น ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ขอให้ศูนย์ฯ ช่วยสำรวจความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนส่งความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าสู่พม่า ซึ่งเป็นก้าวสำคัญมาก
“ทุกวันนี้คนจำนวนมากเข้าใจว่าอาเซียนแค่จัดประชุม ต้องอธิบายว่ามันเป็นงาน ‘ผลักดันวาระ’ ไปข้างหน้า เราพูดเสมอว่าต้องค่อย ๆ ทำกันไป ใช่ ! คนอาจจะติดภาพของสหภาพยุโรปหรือองค์การสหประชาชาติ แต่อาเซียนแตกต่างออกไป วาระหลายอย่างต้องเริ่มผลักดันในระดับชาติ แต่อย่างน้อยงานที่คนรุ่นก่อนเริ่มต้นไว้ก็บรรลุผลบ้างแล้ว อย่างน้อยอาเซียน ๑๐ ประเทศก็ทำงานร่วมกันในตอนนี้ หลายเรื่องก็เปลี่ยนไป พม่าเองก็เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
“โดยส่วนตัวฉันหวังมากที่พม่าจะส่งต่อมรดกเรื่องเสรีภาพและความรุ่งเรืองไปสู่คนรุ่นหลัง”