วังเจ้าเมืองยะหริ่ง
เคหสถานจริงสวยยิ่งกว่าละคร
Hidden (in) Museum
เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
แฟนละครโทรทัศน์เรื่อง มัสยา ได้เห็นเป็นต้องตาวาว เพราะ “พนมเทียน” ผู้ประพันธ์รับแรงบันดาลใจเค้าโครงเรื่องจากครอบครัวเพื่อน-พระพิพิธภักดีซึ่งเป็นบุตรคนโตของพระพิพิธเสนามาตย์ เจ้าของวังเจ้าเมืองยะหริ่ง
รู้กันว่ามัสยาคือหนึ่งในบุตรสาวพระพิพิธภักดี ใครมาเยือนจึงมักถามหานางเอกของ “พนมเทียน” ผู้มีวงหน้าคมเข้มดวงตากลมโต แก่นเซี้ยวเฉลียวฉลาด ทว่างามสง่าแบบอิสตรีชาวปัตตานี
เนื้อที่ ๑๖ ไร่ เด่นด้วยเคหสถานที่สร้างปี ๒๔๓๘ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารสองชั้นรูปตัวยู ครึ่งปูนครึ่งไม้แบบสถาปัตยกรรมเรือนไทยมุสลิมผสมบ้านแถบยุโรปตามอิทธิพลตะวันตกยุคที่ปัตตานีเป็นเมืองท่าการค้าอันยิ่งใหญ่ของภูมิภาค สิ่งบ่งบอกความเป็นไทยมุสลิมชัดเจนตั้งแต่ “หลังคาทรงปั้นหยา” ซึ่งใช้ไม้เป็นโครงหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบไม่เคลือบ เป็นรูปห้าเหลี่ยมแบบโบราณ
ยังน่าสนใจการผสานศิลปะชวา มลายู และยุโรป ทั้งโปรตุเกส ฮอลันดา และเปอร์เซีย ที่มีบันไดบ้านโค้งแบบฝรั่ง ช่องแสงประดับกระจกสามสี (เขียว แดง น้ำเงิน) ขณะเดียวกันก็มีช่างอินโดนีเซียอวดศิลปะชวาแกะสลักช่อดอกไม้กิ่งก้าน ใบ ผล เถาวัลย์เลื้อย ดูอ่อนหวานละเมียดละไมอยู่ตามช่องระบายอากาศและหน้าจั่วไม้ ขับให้วังยะหริ่งยิ่งสวยสง่าสมเอกลักษณ์ประจำเมือง
ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ปัจจุบัน
เป็นห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหาร สมัยก่อนคือที่ทำการของเจ้าเมือง ทั้งรับแขกบ้านแขกเมือง รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎร ไปจนตัดสินคดีความ ด้านข้างอาคารสองด้านเป็นห้องพักผ่อน ห้องนอน ห้องครัว ฯลฯ ของเจ้าเมืองและครอบครัว ส่วนใต้ถุนสมัยก่อนมีหลายห้องเป็นยุ้งข้าว คุกคุมขังราษฎรในคดีไม่ร้ายแรง ที่พักของทาสและโจทก์-จำเลย ปัจจุบันเหลือห้องคุมขังที่ยังคงสภาพเดิม และจัดแสดงเครื่องราชบรรณาการอย่างต้นไม้เงิน-ต้นไม้ทองซึ่งยะหริ่งต้องส่งไทย ๓ ปีต่อครั้ง
ล่วงมา ๑๒๓ ปี ความงามของอาคารทรงโปร่งยังปรากฏความสมบูรณ์กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะได้รับการดูแลอย่างดี บูรณะล่าสุดปลายปี ๒๕๓๙ โดยคงสถาปัตยกรรมรูปแบบเดิมไว้หลายส่วน
ในบรรดาวังเจ้าเมืองทั้งเจ็ดหัวเมืองที่ขึ้นกับสงขลา ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองรามัน เมืองระแงะ และเมืองยะลา ปัจจุบันวังเจ้าเมืองหนองจิกได้รับการบูรณะ-รับรองจากกรมศิลปากรให้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานเต็มรูปแบบ
แต่หากถามหาที่สวยสมบูรณ์สุด “วังเจ้าเมืองยะหริ่ง” ยืนเบอร์ ๑ ของจังหวัดปัตตานี
และยากจะยกให้สิ่งใดประทับใจพิเศษ เพราะสิ่งละอันพันละน้อยล้วนมีเสน่ห์เมื่อประกอบเป็นวัง
แต่ละสิ่งอย่างซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
“ในรอบปีมีหมู่คณะขอเยี่ยมชมที่นี่หลายพันคน นักศึกษาต่างชาติที่เรียนสถาปัตยกรรมก็มีอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เขาชอบการแกะสลักลวดลายต่างๆ แต่ด้วยวังนี้ยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของทายาท หากจะมาจึงต้องแจ้งล่วงหน้าและต้องมีผู้นำชม นอกจากความงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ เรื่องราวของเจ้าเมือง ยังมีสิ่งน่ารู้อีกอย่างคือตระกูลเราล้วนเป็นนักการเมือง เริ่มจากท่าน ‘นิโซะ’ เป็นพระยายะหริ่งคนแรก ต่อมาท่าน ‘นิเมาะ’ ก็ได้รับราชทินนามเป็น ‘พระยาพิบูลเสนานุกิจพิชิตเชษฐภักดี’ จากนั้นท่าน ‘นิโวะ’ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยายะหริ่งมีราชทินนามว่า ‘พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม’ ซึ่งเป็นผู้สร้างวังยะหริ่งนี้ แม้สิ้นสุดการปกครองแบบหัวเมืองเปลี่ยนเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมาบริหารราชการแทนพระยาเมืองแต่ในวังยะหริ่งก็ยังมีผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองอยู่อย่าง ‘พระพิพิธภักดี’ บุตรเจ้าของวังซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณปู่ ท่านก็เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลคนที่ ๑๑ ก่อนลาออกมาสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี จากนั้นรุ่นคุณอาเชื้อสายของพระพิพิธภักดีก็ยังสืบทอดเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันนายกเทศมนตรีตำบลยะหริ่งก็เป็นคนเชื้อสายในตระกูล”
เจ๊ะนาห์ พิพิธภักดี
หลานสะใภ้พระพิพิธภักดี
ทายาทเจ้าของวังยะหริ่ง
วังเจ้าเมืองยะหริ่ง
๑๓๕/๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลยามู
อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
เปิดวันจันทร์-เสาร์
เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.
โทรศัพท์ ๐๘-๙๕๙๖-๗๒๑๙