Dune 45 เนินทรายสีแดงขนาดใหญ่ สูงกว่า ๑๗๐ เมตร เป็นจุดไฮไลต์ที่ต้องเดินขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้น

Namibia
Where the Tree 
Upside Down

scoop

เรื่องและภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

ดินแดนแห่งธรรมชาติ ทะเลทรายเก่าแก่ทอดยาวขนานมหาสมุทรแอตแลนติก ต้นไม้กลับหัวหน้าตาแปลกประหลาด ผืนแผ่นดินสีขาวกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ดินแดนที่เหมือนดาวอังคาร กลุ่มคนผมแดงกล่าวคำทักทายด้วยภาษาที่มีเอกลักษณ์ เมืองผีสิง ผมแทบไม่เชื่อเหมือนกันว่าผมจะได้เห็นสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้ด้วยสองตาตัวเองในชีวิตนี้

กว่า ๑๖ ชั่วโมงในการเดินทาง เครื่องบินที่ผมนั่งก็เริ่มเข้าสู่ภูมิประเทศแปลกตา ภูเขายอดตัดทุกอย่างถูกโอบล้อมด้วยดินและหินสีน้ำตาล มีเพียงสีเขียวเล็กน้อยจากต้นไม้ที่ขึ้นเป็นหย่อมช่วงที่เครื่องบินกำลังจะลงจอด มีฝูงเก็มส์บ็อก (Gemsbok) เขายาววิ่งกันจ้าละหวั่นไปทางทิศเดียวกับเครื่องบิน 

น า มิ เ บี ย (Namibia) มีประชากรราว ๒ ล้านคน อยู่อาศัยในพื้นที่กว่า ๘ แสนตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบสองเท่า เฉลี่ยแล้วใน ๑ ตารางกิโลเมตรมีประชากรอยู่แค่เพียงสองถึงสามคน ที่เหลือเป็นพื้นที่ของธรรมชาติและสัตว์ป่า

ที่สนามบิน ผมเช่ารถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสี่ประตู พร้อมอุปกรณ์แค้มปิงเต็มคัน เกือบตลอดการเดินทางผมต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนรถคันนี้ เส้นทางมุ่งตรงลงทางใต้สุดสู่ดินแดนแห่งทะเลทรายแล้วค่อยลัดเลาะชายฝั่งตะวันออกของแอตแลนติกขึ้นไปที่ราบสูงทางเหนือวกกลับมาที่ตอนกลางของประเทศอีกครั้ง 

Image

ต้นไม้กลับหัว

ห่างจากเมือง Keetmanshoop ราว ๑๐ กิโลเมตร ผมนั่งอยู่ในความมืดมิด ท่ามกลางความหนาวเย็นในช่วงต้นฤดูหนาว มองแสงดาวระยิบระยับนับล้านพร่างพราวบนท้องฟ้าอย่างสงบ เฝ้ารอให้บางอย่างปรากฏ

ฟ้าเริ่มเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีน้ำเงิน แสงดวงดาวค่อย ๆ เลือนหาย ปรากฏภาพลำต้นอวบ แขนงกิ่งหักงอชี้ขึ้นฟ้า ใบรูปทรงแหลมชี้พุ่งตรงยังยอด ราวกับใครจับต้นไม้หัวทิ่มดินรากชี้ฟ้า 


มันคือต้นควิเวอร์ (Quiver tree) พืชวงศ์ว่านหางจระเข้ขนาดยักษ์
ออกดอกสีเหลืองเป็นช่อรีคล้ายลูกรักบี้อยู่ปลายยอด ผมเห็นนก แมลงแวะเวียนมาลิ้มลองน้ำหวานอย่างไม่ขาดสาย ราวกับร้านเครื่องดื่มชั้นเลิศท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง

ไม่ใช่แค่เพียงต้นเดียว แต่นี่คือป่าควิเวอร์ในพื้นที่เอกชนซึ่งเป็น
เขตสงวนพันธุ์ต้นควิเวอร์ต้นใหญ่สูงกว่า ๔ เมตร อายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี แพร่กระจายเฉพาะพื้นที่ในแถบประเทศนามิเบียและแอฟริกาใต้เท่านั้น ต้นควิเวอร์ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำประเทศนามิเบียอีกด้วย

Quiver tree หลายต้นกำลังชูช่อออกดอกในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

Image

Image
Image

Kolmanskop เมืองผีสิง

นามิเบียเคยถูกยึดครองเป็นประเทศอาณานิคมหลายครั้งจนได้รับเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ผู้คนที่ครอบครองดินแดนแถบนี้อยู่ก่อนล้วนเป็นชาวชนเผ่าพื้นเมือง  เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองนามิเบียช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ได้สร้างเหมืองเพชรคอลมันสค็อพ (Kolmanskop) ขึ้นกลางทะเลทราย ใกล้กับเมืองลือเดอริทซ์ (Lüderitz) เมืองท่าสำคัญ รวมทั้งสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเพื่อความสะดวกในการลำเลียงทรัพยากรจากดินแดนแถบนี้กลับไปประเทศของตนเอง

เหมืองเพชรคอลมันสค็อพเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและพัฒนากลายเป็นเมืองที่มีทั้งโรงแรม โรงไฟฟ้า โรงหนังสนามกีฬา กาสิโน รวมถึงโรงพยาบาล และเครื่องเอกซเรย์เครื่องแรกในแถบแอฟริกาตอนใต้ จนกระทั่งเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม แอฟริกาใต้เข้าปกครองนามิเบีย ประกอบกับการค้นพบเหมืองเพชรที่ดีกว่าทางตอนใต้ ทำให้ผู้คนเมืองคอลมันสค็อพนี้เริ่มอพยพออกไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองร้างใน ค.ศ. ๑๙๕๖ 

เพียงไม่นานหลังการจากไปของผู้คน ทะเลทรายก็กลับมาทวงสิทธิ์และกลืนกินเมืองนี้จนจมลงในผืนทราย

Image
Image

Image

ท่ามกลางความแห้งแล้งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ฝูง Springbok กำลังกินหญ้าแห้ง  พวกมันสามารถดำรงชีวิตได้เพียงแค่รับน้ำจากพืชอาหารที่กิน 

Namib 
ทะเลทรายเก่าแก่ที่สุดในโลก

คำว่า Namib มาจากภาษา Khoekhoegowab ของชาวพื้นเมือง แปลว่า vast place หรือดินแดนอันกว้างใหญ่ ทะเลทรายแห่งนี้กินพื้นที่ราว ๘ หมื่นตารางกิโลเมตร ทอดยาว ๒,๐๐๐ กิโลเมตรเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

มันเป็นทะเลทรายอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงแห้งแล้งมายาวนานกว่า ๕๕ ล้านปี มีฝนตกน้อยมาก ปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปีเพียงแค่ ๑๐ มิลลิเมตร เนื่องจากอากาศที่แห้งและร้อนทางหุบเขาตะวันออกลอยตัวสูงป้องกันอากาศเย็นชื้นก่อตัวเป็นเมฆ มีเพียงแหล่งน้ำใต้ดินกับความเย็นและชื้นของหมอกควบแน่นเป็นน้ำค้างจับตัวบนพืชที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายเป็นน้ำหล่อเลี้ยงแก่สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้อย่างพิเศษ

เนินทรายสีแดงมองเห็นอยู่ไกลลิบ ทิวทัศน์สองข้างทางเริ่มเหมือนดาวอังคาร เนื่องจากหินส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกปกคลุมด้วยตะกอนมาตั้งแต่บรรพกาลดินแดนนี้จึงมีความสำคัญด้านธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของโลก 

Image

Gemsbok หรือ South African oryx  เป็นออริกซ์ขนาดใหญ่ที่สุด พบได้เฉพาะในทวีปแอฟริกาตอนใต้เท่านั้น

Image

ฝูงม้าลายเบอร์เชลล์ (Burchell’s zebra) ในภูมิประเทศแบบทะเลทราย พวกมันแพร่กระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปแอฟริกาตอนใต้

Image

Deadvlei 
ความตายอันงดงาม

เหมือนกำลังขับรถอยู่ในลำธารแห้งเหือดมุ่งสู่ขุมนรก ระหว่างทางมีแต่ทรายและกิ่งไม้แห้ง บ้างเป็นโคลนแข็งสีขาวแตกระแหง

ในที่สุดก็สุดทางรถ ผมเดินต่อลึกเข้าไปสักพักค่อย ๆ
ไต่เนินทรายขนาดย่อมจนถึงยอดเบื้องหน้าคือ deadvlei หรือบึงแห่งความตาย ลักษณะเป็นแอ่งโคลนสีขาว ต้นไม้แห้งยืนต้นตายท่ามกลางเนินทรายสีแดง

ครั้งอดีตเมื่อนานมาแล้วต้น Camel thorn ตระกูล
Acacia เจริญเติบโตจากความชื้นและตะกอนแร่ธาตุใน
หุบเขาที่มีน้ำท่วม

วันเวลาผ่านไปสภาพภูมิอากาศแปรเปลี่ยน สายน้ำจากแม่น้ำ Tsauchab ถูกกีดขวางจากเนินทรายที่ค่อย ๆ
ก่อตัวสูงขึ้นจนในที่สุดธารน้ำก็เหือดแห้งทิ้งไว้เพียงโคลน
สีขาวและต้น Camel thorn ที่เคยเขียวชอุ่มยืนต้นตาย
ให้คนเป็นอย่างเรามาเยี่ยมเยียน

Image

ทรายสีแดง

เสียงหายใจหอบพร้อมเสียงไอเป็นระยะ สองเท้าที่ก้าวเดินแต่ละก้าวจมลงผืนทราย

ผมหายจากความสะลึมสะลือยามเช้ามืดและรู้สึกถึงความตาย

ผมกำลังเดินขึ้นเนินทรายสูงกว่า ๑๗๐ เมตร เพื่อให้ทันแสงอาทิตย์แรกสาดส่องกระทบเนินทรายสีแดง เป็นสีส้มแดงที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของแร่เหล็กในผืนทรายที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน

ตอนนี้ทั่วทั้งฟ้ากลายเป็นสีชมพู เนินทรายสีแดงขนาดใหญ่สูงไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ เมตร เรียงตัวเป็นคลื่นทอดยาว ไอหมอกจาง ๆ ปกคลุมบางส่วนของเนินทราย

คงหาคำจำกัดความใด ๆ ไม่ได้นอกจาก “นี่แหละธรรมชาติ ไม่ว่าจะเล็กจิ๋วหรือใหญ่ขนาดไหน แต่ความสวยงามมักยิ่งใหญ่และอลังการเสมอ”

Image

รอยตีนสัตว์ย่ำบนผืนทรายที่เต็มไปด้วยแร่แมกนีไทต์ (magnetite)

ผืนทรายจดมหาสมุทร

เสียงลมดังอื้ออึง ทรายลอยปลิ้วฟุ้งเป็นเกลียว และกลิ่นของน้ำทะเล

ผมยืนอยู่บนเนินทรายในทะเลทรายนามิบส่วนที่ติดมหาสมุทรบริเวณเมือง Swakopmund เมืองใหญ่อันดับ ๒ ของประเทศนามิเบีย

ลุง Tommy ไกด์พาชมสัตว์ทะเลทรายสุดเก๋า นายตำรวจซึ่งผันตัวมาเป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักอนุรักษ์เติบโตมากับทะเลทรายแถบนี้ สัมผัสของคุณลุงทำให้สายตาเหยี่ยวที่ฝึกปรือมานับสิบปีของผมกลายเป็นนกกระจอกไปเสีย รอยตีนน้อย ๆ ของตุ๊กแกทราย Namib sand gecko ที่วิ่งมุดเข้าไปหลบในผืนทรายก็ไม่อาจเล็ดลอดสายตาลุง Tommy ไปได้

ทะเลทรายแห่งนี้มีสัตว์หลายตัวน่าสนใจ เช่น งู Peringuey’s adder ที่ฝังตัวเองในผืนทรายอย่างแนบเนียนเพื่อดักรอจัดการเหยื่อ แมงมุม Black widow กำลังถักทอเส้นใยในพุ่มไม้ รวมถึงนก Tractrac Chat กระโดดหาแมลงกิน

กิ้งก่าคาเมเลียน Namaqua chameleon สามารถเปลี่ยนสีให้อ่อนแนบเนียนกับทรายเพื่อพรางตัวเองจากศัตรู 

Image
Image

งู Peringuey’s adder พรางตัวในผืนทราย ด้วยเกล็ดลำตัวที่คล้ายเม็ดทราย และตาที่ย้ายตำแหน่งขึ้นมาอยู่ส่วนบนของหัว 

Image

เกาะฮาลิแฟกซ์ (Halifax) เกาะขนาดเล็กใกล้เมืองลือเดอริทซ์ (Lüderitz) หนึ่งในโคโลนีสำคัญของประชากร African Penguin ในประเทศนามิเบีย

Image

ดินแดนของแมวน้ำ
และชายหาดกระดูก

ออกจากเมือง Swakopmund ไปทางเหนือ รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อจะวิ่งไปบนถนนสีขาวที่อัดแน่นด้วยเกลือและทราย (salty road) ทอดยาวเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณที่เรียกว่า Skeleton coast แห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อจากการมีโครงกระดูกวาฬและแมวน้ำซัดมาเกยหาดบ่อยครั้งรวมถึงซากเรืออับปางมากมายจอดเกยตื้น เนื่องจากมีหมอกหนาบดบังทัศนวิสัย

กว่า ๑๓๐ กิโลเมตร ในที่สุดผมก็มาถึงสถานที่ชุมนุมแมวน้ำ Cape Fur seal มากกว่า ๑ แสนตัว

Image
Image

African Penguin 

“แอร้แอร้” 

เสียงแมวน้ำร้องกันระงมไม่หยุดหย่อนตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงแมวน้ำตัวใหญ่ไขมันแน่นเต็มตัว ที่เราได้ยินมาว่าแมวน้ำร้อง “อุ๋งอุ๋ง” เห็นทีจะเป็นเรื่องโกหก บางตัวนอนอืดสบายใจได้ไม่นานอีกตัวก็กลิ้งมาทับจึงร้อง “แอร้” ไม่พอใจ แมวน้ำเด็กหิวนมแม่ก็ร้อง “แอร้” ก่อนจะกระเถิบตัวไปดูดนมแม่ สำหรับหูของเรา “แอร้” เพียงแค่คำเดียวดูเหมือนจะสื่อสารได้ทุกความหมาย

โคโลนีแมวน้ำแห่งนี้ (Cape Cross seal colony) นับว่าสำคัญแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกาตอนใต้ แต่รัฐก็อนุญาตให้ล่าแมวน้ำได้เพื่อควบคุมประชากรแมวน้ำไม่ให้มีมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศซึ่งในแต่ละปี
จะระบุจำนวนตัวที่ให้ล่าได้

Image

แหลม Dias Cross 
มักปกคลุมด้วยหมอก

Greater Flamingo เดินหากินริมชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก พวกมันใช้ตีนทั้งสองข้างตะกุยตะกอนทรายให้ฟุ้ง และใช้ปากกรองสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ปะปนมากับทรายกินเป็นอาหาร

Himba 
ปฐมชนและหญิงผมแดง

Image
Image
Image

“เฮเรโร” (Herero) มายังดินแดนแห่งนี้ด้วยสองขาก้าวเดินหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรอพยพข้ามแม่น้ำ Kunene ชายแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างประเทศแองโกลากับนามิเบียในปัจจุบันมาตั้งรกรากแถบ Kaokoland เพื่อแสวงหาโอกาสดำรงชีวิต

พวกเขาถูกชนพื้นเมืองอีกเผ่าเข้ารุกรานปล้นสะดม ความปราชัยนี้ทำให้ชาวเฮเรโรผู้พ่ายแพ้ได้รับสมญานามว่า “ฮิมบา” (Himba) ซึ่งแปลว่าขอทาน ปัจจุบันมีชาวฮิมบาราว ๓-๕ หมื่นคนอาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศนามิเบีย

“Moro perivi nava.” 

คำทักทายแรกอย่างเป็นมิตรจากหญิงผมแดง พร้อมยื่นมือให้ผมจับ ผิวกายและเส้นผมของเธอเป็นสีแดงอิฐ นัยน์ตาสดใส

ร่างกายสีแดงนั้นเกิดจากการพอกด้วยแร่สีแดง (hematite) ผสมไขมันสัตว์และสมุนไพรหอม เรียกว่า otjize หญิงฮิมบาถักวิกผมขนแกะและสวมมงกุฎหนังแกะเรียกว่า erembe นุ่งกระโปรงหนังสัตว์ เปลือยอก  ส่วนชายฮิมบานุ่งผ้า บ้างก็นุ่งหนังสัตว์  ชาวฮิมบาจะเลาะฟันล่างออกสี่ซี่เพื่อให้พูดภาษาเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผมเดินเข้าไปในหมู่บ้านกระท่อมดินที่เรียงกันเป็นครึ่งวงกลมโดยมีบ้านของหัวหน้าเผ่าอยู่ตรงกลาง ลานหน้ากระท่อมหัวหน้าเผ่ามีกองไฟศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมของจิตวิญญาณ ซึ่งคนนอกเผ่าห้ามเดินตัดผ่านระหว่างกองไฟกับกระท่อมหัวหน้าเผ่าเป็นอันขาด

ภายในกระท่อมค่อนข้างแคบ พื้นปูด้วยหนังสัตว์ มีหมอนไม้เล็ก ๆ ริมผนังแขวนเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ชาวฮิมบาโดยเฉพาะผู้หญิงไม่อาบน้ำตั้งแต่เกิด แต่จะเผาสมุนไพรให้เกิดควันอบตัว อังใต้คางใต้วงแขน เป็นการอาบน้ำที่ใช้เวลาค่อนข้างนานและพิถีพิถันในกระท่อม

ชาวฮิมบาดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงวัวกับแพะขาย ปรกติไม่ฆ่ากินนอกจากจะมีงานเฉลิมฉลอง พวกเขาจดจำสัตว์เลี้ยงทุกตัวได้ทั้งหมดราวกับเป็นสมาชิกของเผ่า ปัจจุบันชาวฮิมบายังมีรายได้จากการท่องเที่ยวมาค้ำจุนหมู่บ้าน 

ฝูงยีราฟกำลังเดินไปที่แหล่งน้ำ หลังจากการหากินช่วงเช้าเสร็จสิ้น

Image

Image

ฝูงวิลเดอบีสต์ (Wildebeest) เล็มหญ้าที่ขึ้นอยู่รอบ etosha pan แอ่งโคลนสีขาวขนาดใหญ่ ซึ่งหลายล้านปีก่อนเคยเป็นทะเลสาบ

Etosha
ผืนแผ่นดินสีขาวอันกว้างใหญ่

มองจากแผนที่ดาวเทียมจะเห็นดินแดนสีขาวกว้างใหญ่พื้นที่ราว ๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เมื่อหลายล้านปีก่อนมันเคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ต่อมาการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกทำให้ทางน้ำที่เคยไหลหล่อเลี้ยงเปลี่ยนทิศทางทิ้งทะเลสาบไว้เป็นดินสีขาว และชื่อ etosha ก็แปลว่าผืนแผ่นดินสีขาวอันกว้างใหญ่

ในฤดูฝนแอ่งดินแห่งนี้เต็มด้วยน้ำ สัตว์ป่ามากมายหลายร้อยชนิดจะมาอาศัยอยู่โดยรอบ ทำให้เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของการซาฟารี และจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในที่สุด 


ผมเดินทางชมสัตว์ป่าในพื้นที่นี้ทั้งหมด ๓ วันเต็มเพื่อเติมเต็มความฝันวัยเด็ก


การเดินทางในอุทยานแห่งชาติต้องเดินทางด้วยรถยนต์เท่านั้น ห้ามลงจากรถนอกเหนือจากจุดที่ทางอุทยานฯ กำหนด
แคมป์ที่พักมีหลากหลายกระจายอยู่โดยรอบอุทยานฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันทั้งสระว่ายน้ำ รีสอร์ต ร้านอาหาร รวมถึงปั๊มน้ำมัน โดยมนุษย์อยู่ส่วนมนุษย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์ป่า 

เมื่อใดที่เราออกจากแคมป์ถือว่าเข้าไปในอาณาเขตของสัตว์แค่ในฐานะผู้มาเยือน เราต้องไม่รบกวนความสงบสุข
ของสัตว์ป่า 

Black faced impala เป็นอิมพาลาชนิดย่อยที่พบได้เฉพาะทางตอนใต้ของประเทศแองโกลา และตอนเหนือของประเทศนามิเบียเท่านั้น ตัวผู้จะมีเขายาว ส่วนตัวเมียไม่มีเขา

Image

Image

นกกระจอกเทศนั่งพักผ่อนหลังจากการอาบฝุ่นเพื่อกำจัดปรสิตและทำความสะอาดขน

Image

วิลเดอบีสต์เกลือกโคลนเพื่อกันแดดและความร้อน

Image

รอบ ethosha pan มีช้างป่าแอฟริกากว่า ๑,๕๐๐ ตัว

Image

นก Kori Bustard เป็นนกบินได้ที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นของโลก และเป็นนกประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา อาศัยจิกกินสัตว์เล็กๆ บนดินมากกว่าบินบนท้องฟ้า

นามิเบียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ดูแลสัตว์ป่าได้ดีเยี่ยม รัฐบาลจ้างคนพื้นเมืองที่เคยล่าสัตว์มาเป็นผู้ดูแล ทำให้พวกเขามีรายได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากล่าสัตว์ และเมื่อได้อยู่และสัมผัสกับสัตว์ความรักความเมตตาก็เกิดขึ้น

ผมได้เห็นสัตว์หลากหลายชนิดใช้ชีวิตอย่างอิสระในธรรมชาติ ฝูงยีราฟกว่า ๒๐ ตัว ฝูงวิลเดอบีสต์ แรด ม้าลาย และสัตว์อีกมากมาย ออกจากแคมป์แต่เช้าตรู่และกลับมานาทีสุดท้ายก่อนประตูแคมป์ปิด ตกกลางคืนก็รีบไปที่บ่อน้ำสำหรับส่องสัตว์ที่ทำไว้ในแคมป์ รู้สึกตื่นเต้นทุกวันว่าจะมีอะไรให้เห็นบ้าง สมหวังบ้างผิดหวังบ้าง

วันสุดท้ายของการเดินทางผมเดินกลับจากบ่อน้ำดังเช่นวันก่อนด้วยความเหนื่อยล้าปรากฏแรดให้เห็นตัวไกล ๆ วินาทีนั้นอิ่มเอมความสุข ผมปีนขึ้นหลังคารถเข้านอนในเต็นท์ที่กางไว้ ปิดสวิตช์ไฟฉายคาดหัวหลับตาลงนอน ปิดฉากการเดินทางที่ยาวนานในประเทศอันน่ามหัศจรรย์

แต่ในความเงียบงันของคืนสุดท้าย ผมก็ฝันถึงการเดินทางครั้งใหม่เสียแล้ว  

Image

ในอุทยานแห่งชาติ Etosha ม้าลายเบอร์เชลล์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีจำนวนมากและพบได้ง่าย