การนั่งรถซาฟารีในอุทยานแห่งชาติฯ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นไกด์ขับตระเวนพาชมสัตว์ป่า เริ่มจากช่วงเวลาเช้าตรู่ถึงสาย พักผ่อนช่วงเที่ยง และเริ่มซาฟารีอีกครั้งในช่วงบ่ายถึงค่ำ

Zambia
Close to the Edge

scoop

เรื่องและภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

พระอาทิตย์ใกล้จะตกแล้ว เราอยู่บนรถจี๊ปขับเคลื่อนสี่ล้อตระเวนดูสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติ เซาท์ลูอังวา (South Luangwa National Park) ประเทศ แ ซ ม เ บี ย  มาได้สักชั่วโมงกว่า

Image

ช้างป่าแม่ลูกยืนเอางวงเด็ดดึงกิ่งไม้หากินอย่างสบายใจในพุ่มไม้เตี้ยห่างไปในระยะแค่ ๔-๕ เมตร ฝูงอิมพาลาตัวเมียค่อยๆ ย่างเดินตามกันเป็นทางบนลาดเนิน ขณะที่อิมพาลาตัวผู้มีเขาเดินตามห่าง ๆ  และจู่ ๆ “พุมบา” หมูป่าจากหนังเดอะไลออนคิง หรือชื่อจริง “วอร์ตฮอก” (Warthog) ก็โผล่หน้าเขี้ยวโง้งยาวออกมาจากพงหญ้าใกล้ ๆ ก่อนจะเดินอาด ๆ เลียบเข้ารก  เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ผิวเข้มหักเลี้ยวรถจากเส้นทางหลักเข้าที่โล่งเตียนข้างทาง แล้วจอดรถข้าง ๆ สิงโตเพศเมียสามตัวที่นอนหลับสนิทอยู่ห่างไปไม่เกิน ๓ เมตร เราได้แต่อุทานในใจว่า “ใกล้แค่นี้เลย” 

เป็นการประชิดสัตว์นักล่าเจ้าป่าที่คณะซาฟารีบนรถซึ่งเรียกว่า game drive ไม่ต้องทบทวนกฎความปลอดภัยกันอีกว่าห้ามลงจากรถและ
ห้ามยื่นอุปกรณ์ถ่ายภาพออกนอกตัวรถ ที่สำคัญคือการเฝ้ามองพวกมันนอนสบาย ๆ ตามธรรมชาติ ทำให้เรารักษาความเงียบกันเองโดยถ้วนหน้า 

Image

ช่วงไนต์ซาฟารีเราอาจพบสัตว์ผู้ล่าที่หากินกลางคืนอย่างสิงโต เสือดาว เสือขนาดเล็ก หรือฮิปโปโปเตมัสที่เดินเล็มหญ้าอยู่บนบก ขณะที่เวลากลางวันมันจะแช่ตัวอยู่แต่ในแหล่งน้ำ

Image

African Fish Eagle นกประจำชาติของแซมเบีย ภาพของมันประทับอยู่บนธนบัตรสกุลเงิน Kwacha ของแซมเบียด้วย

ฟ้าเริ่มมืด รถจี๊ปตระเวนออกตามหาเสือดาวที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าว่าเพิ่งเห็นเมื่อ ๓-๔ วันก่อน แต่ไม่ว่าจะลัดเลาะไปเส้นทางไหนก็ไร้วี่แวว  โชคดีอย่างน้อยที่เราได้เห็นซากกะโหลกกวางที่เสือดาวทิ้งไว้บนคบไม้สูงจากพื้นดินหลายเมตร

เซาท์ลูอังวาเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศแซมเบีย มีแม่น้ำ Luangwa อันเป็นที่มา
ของชื่ออุทยานฯ ไหลผ่านกลางพื้นที่ ทำให้พืชพรรณมิได้แห้งแล้งเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาเหมือนในดินแดนอื่น ๆ ของแอฟริกา นักเดินทางจากหลายประเทศเห็นพ้องกันว่า จุดเด่นของที่นี่คือโอกาสเห็นสัตว์ป่าง่ายและใกล้มากขนาดช่วงหน้าฝนที่เรามาเยือน สัตว์ป่าแยกกันหากิน ไม่รวมตัวเป็นฝูงใหญ่ แต่ก็ยังพบสัตว์ง่าย เมื่อถามถึงหน้าแล้งช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยิ้มกว้าง ยืนยันว่าจะเห็นฝูงสัตว์จำนวนมากกว่านี้ ง่ายกว่านี้ และใกล้กว่านี้

Image

สิงโตต่างจากสัตว์ตระกูลเสืออื่น ๆ ตรงที่มันชอบอยู่รวมกันเป็นครอบครัว มีสิงโตตัวผู้เป็นหัวหน้า มีสิงโตตัวเมียหลายตัวและลูก ๆ ยามเช้าบนเนินแห่งหนึ่งเราพบสิงโตตัวผู้กำลังพักผ่อน ก่อนที่บรรดาแม่สิงโตสามตัวจะค่อย ๆ เดินทยอยกันมาเบียดข้าง ๆ จากนั้นลูกสิงโตก็เดินตามหลังมาคลอเคลียกับแม่  ที่ไม่เห็นในภาพคือสิงโตตัวผู้ค่อนข้างแก่แล้ว และลูกสิงโตอีกตัวที่เดินเล่นอยู่ไม่ไกลกันนัก พวกมันอยู่ห่างจากเราไม่เกิน ๑๐ เมตร

ปัญหาการล่าสัตว์ป่าในแซมเบียยังคงมีอยู่ แต่พื้นที่อนุรักษ์ก็ได้รับการปกป้องดูแลอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับการส่งเสริมอาชีพชุมชนโดยรอบรวมทั้งมีกติกาว่าทุกรีสอร์ตต้องแบ่งกำไรส่วนหนึ่งจากรายได้การท่องเที่ยวคืนให้ชุมชน ลูกหลานของคนท้องถิ่นยังได้เล่าเรียนฟรีและฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ไกด์ซาฟารี รวมถึงพนักงานในรีสอร์ต

แม่น้ำ Luangwa เป็นหนึ่งในสี่แม่น้ำสายสำคัญของแซมเบียมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
และไหลลงใต้จนมาบรรจบกับแม่น้ำแซมเบซี (Zambezi) ซึ่งยาวเป็นอันดับ ๔ ของทวีปแอฟริกา

ณ ตำบลหนึ่งทางตอนใต้ซึ่งแม่น้ำแซมเบซีไหลผ่านเขตพรมแดนประเทศแซมเบียกับซิมบับเวนี่เอง ธรรมชาติ
แห่งสายน้ำกำลังแสดงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของมัน จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก

Image

อิมพาลา (Impala) ตัวผู้ตั้งท่าชนเขา พวกมันสู้กันหลายยกก่อนจะรู้ผลแพ้ชนะของการแย่งชิงฝูงอิมพาลาเพศเมีย 

Image

นกเงือก Eastern Yellow-billed Hornbill

Image

ช้างแอฟริกาในแซมเบียหูจะค่อนข้างกลม งาไม่โค้ง

Image

Thornicroft’s giraffe เป็นพันธุ์ยีราฟที่พบเฉพาะทางตอนใต้ของลุ่มน้ำลูอังวา

Image

Painted hunting dog อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ พฤติกรรมคล้ายหมาในของบ้านเรามาก

Image

นก Hamerkop มีขนบนหัวยาวคล้ายหัวค้อน หากินร่วมกับฮิปโปโปเตมัสในบึง

ผืนป่าเซาท์ลูอังวาช่วงหน้าฝนเดือนเมษายนเขียวชอุ่ม ดูคล้ายกับผืนป่าตะวันตกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งที่เป็นโมเสกผสมผสานระหว่างทุ่งหญ้า ไม้พุ่ม และดงไม้ทึบ ทุ่งหญ้าหน้าที่พักแห่งหนึ่งในอุทยานฯ มองเห็นฝูงคูดู (Greater kudu) แอนทีโลปตัวใหญ่ที่มีเขาบิดโค้งงามกับแผงใต้คออยู่กับฝูงลิงบาบูน ส่วนอิมพาลากับช้างป่าก็กำลังเดินหากินอยู่พร้อมกันด้วย

Image

Victoria Falls

เฮลิคอปเตอร์บินวนเหนือสายน้ำแซมเบซีที่เหมือนกำลังบ้าคลั่ง กลุ่มไอลอยฟุ้งขึ้นมาบนท้องฟ้าจากแนวขอบเหวลึก สูงจนสามารถเห็นควันจากที่ห่างไกลออกไปถึง ๓๐-๕๐ กิโลเมตร น้ำตกวิกตอเรียมีชื่อพื้นเมืองว่า Mosi-oa-Tunya แปลว่าควันที่ส่งเสียงกึกก้อง ดร. เดวิด ลิฟวิงสตัน นักสำรวจชาวยุโรปคนแรกที่เห็นน้ำตกนี้ใน ค.ศ. ๑๘๕๕ บันทึกไว้ว่าเหมือนสายน้ำหายลับลงไปในพื้นโลก และพรรณนาถึงผืนน้ำแซมเบซี กระทบแก่งเป็นสีขาวดูคล้ายดาวหางดวงเล็กๆ จำนวนมากพุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

Image

ความมหัศจรรย์ของสายรุ้งบนไอน้ำซึ่งพวยพุ่งขึ้นมาเหนือหุบน้ำตก ชาวเผ่าพื้นเมืองเชื่อว่านี่คือการปรากฏของเทพเจ้า

Image

หน้าผาน้ำตกวิกตอเรียมองจากจุดที่เมื่อสายน้ำกว้างไหลตกลงมาแล้วถูกบีบให้ผ่านช่องแคบกว้างไม่ถึง ๑๐๐ เมตร ด้วยกระแสธารปั่นป่วนราวน้ำเดือดพล่าน เรียกขานกันว่า boiling pot

Image

น้ำตกวิกตอเรียเกิดจากการกัดเซาะแผ่นดินซึ่งเป็นหินลาวาของภูเขาไฟในอดีต มันค่อย ๆ ถอยร่นจากทางขวามาทางซ้ายของภาพ ทิ้งน้ำตกเดิมไว้เป็นทางน้ำคดเคี้ยว

กระแสน้ำตกเชี่ยวกรากดังกึกก้องโครมคราม ด้วยปริมาณน้ำตกมากกว่า ๕๐๐ ล้านลิตรต่อนาทีความยาวราว ๑,๗๐๐ เมตร และลึกถึง ๑๐๐ เมตร วิกตอเรียจึงถือเป็นม่านน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก

Image

Special Thanks
- กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ
-  สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศแอฟริกาใต้
-  The Zambia Tourism Agency
-  The Zambia Travel Expo (ZATEX) 2018