แซนซิบาร์ประกอบด้วย เกาะใหญ่สุดคืออันกูจา (Unguja) และเกาะเล็กเกาะน้อยรอบๆ ปัจจุบันแซนซิบาร์เป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศแทนซาเนีย

Zanzibar
Island of Mankind

scoop

เรื่องและภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หลังจากการสั่งสมอารยธรรมถูกย่นย่อไว้ในเกาะเล็ก ๆ ชื่อ  แ ซ น ซิ บ า ร์ อันอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้เขียวขจี ล้อมรอบด้วยแนวปะการังและทะเลสีครามแห่งมหาสมุทรอินเดีย

Image

Zanzibar มาจากคำว่า Zinj el Barr อันมีความหมายว่า “ชายฝั่งของคนผิวดำ” หลายพันปีก่อน ชาวกรีก โรมัน อียิปต์โบราณ ล้วนเคยเดินทางมาถึง ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเกาะซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียงราว ๓๐ กิโลเมตร และอยู่เกือบกึ่งกลางของแนวชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา  เกาะแซนซิบาร์จึงเป็นเมืองหน้าด่าน จุดพักพิง และแหล่งน้ำของบรรดาผู้คนหลากเชื้อชาติซึ่งล่องเรือมาจากแดนไกล ทั้งอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย และจีน เพื่อนำสินค้ามาติดต่อค้าขายกับชุมชนบนแผ่นดินชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก  อารยธรรมที่ผสมผสานความเป็นแอฟริกันและอาหรับในนาม “สวาฮิลี” (Swahili) กำเนิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทวีปนี้ตั้งแต่เมื่อราว ๑,๘๐๐ ปีก่อน และได้ให้กำเนิดภาษาสวาฮิลีซึ่งทุกวันนี้เป็นภาษากลางหรือภาษาราชการที่ใช้กันในประเทศเคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา และโมซัมบิก

บนเกาะแซนซิบาร์ ร่องรอยของวัฒนธรรมสวาฮิลียังคงถูกเก็บรักษาไว้ในสถาปัตยกรรมของเขตเมืองเก่าที่เรียกว่า Stone Town ซึ่งอาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยหินปะการังเป็นส่วนผสมหลัก และด้วยความนิยมนับถือศาสนาอิสลามของสวาฮิลี หน้าบ้านแต่ละหลังจึงมักทำเป็นที่นั่งยาวสำหรับรับแขก เนื่องจากไม่นิยมให้แขกเข้าบ้านไปพบเห็นหญิงสาวในบ้านที่มิได้ปิดใบหน้า  ส่วนบนชั้น ๒ ชั้น ๓ ก็อาจมีสะพานเชื่อมระหว่างอาคารให้หญิงสาวเดินไปเยี่ยมเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องลงมาเดินบนถนนเป็นเป้าสายตาของใคร

Image

เสาระเบียงและมุขยื่นหน้าอาคารเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอาคารในเขต Stone Town

Image

เขตเมืองเก่าเป็นพื้นที่มีชีวิตของผู้คนที่มีบ้านอาศัยอยู่จริงและตรอกซอกซอยซับซ้อนอาจทำให้ผู้มาเยือนครั้งแรกหลงทางได้ไม่ยาก

เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้เคยเต็มไปด้วยขบวนชาวผิวดำจากแผ่นดินใหญ่ที่ถูกจับล่ามโซ่มาเป็น “ทาส” ก่อนจะถูกส่งไปขายในดินแดนอาหรับและเปอร์เซีย การค้าทาส งาช้าง ทองคำ และเครื่องเทศ ได้สร้างความเจริญให้แก่เจ้านายท้องถิ่น จนกระทั่งกองทัพของโปรตุเกสเดินทางมาถึงในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ และยึดเกาะไว้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร

ความเปลี่ยนแปลงมาถึงเมื่อสุลต่านแห่งโอมานได้รับการร้องขอจากชาวเกาะให้ช่วยขับไล่โปรตุเกส และได้ปกครองเกาะแซนซิบาร์อยู่นานเกือบ ๒๐๐ ปี  ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของเกาะทำให้สุลต่านนาม Seyyid Said หลงใหลถึงกับ
ย้ายเมืองหลวงของโอมานมาอยู่ที่เกาะแซนซิบาร์ ทุกวันนี้ปราสาทและพระราชวังหลายแห่งยังคงความสง่างามและได้รับการบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเกาะ

ในที่สุดธุรกิจค้าทาสผิวดำจากแผ่นดินใหญ่ก็มาถึงจุดจบ เมื่อจักรวรรดิอังกฤษบีบบังคับให้สุลต่านแห่งโอมานยุติการค้าทาส  นับแต่นั้นสินค้าที่ยังคงสร้างชื่อเสียงให้แก่เกาะแซนซิบาร์จึงเป็นเครื่องเทศนานาชนิด โดยเฉพาะกานพลูที่เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย

Image

อาคารสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปะอาหรับและยุโรปแห่งนี้เคยเป็นพระราชวังของสุลต่าน ซึ่งสร้างขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และประวัติราชวงศ์สุลต่าน

เกาะแซนซิบาร์ได้รับเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๖๓ และจัดเป็นเขตปกครองตนเองโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแทนซาเนีย

ทุกวันนี้เรือใบดาว (Dhow) ที่มิได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปมากนักจากเมื่อหลายร้อยปีก่อน ยังแล่นตัดผ่านท้องทะเลพร้อมกับบรรทุกผู้คนและสินค้าสัญจรระหว่างเกาะแซนซิบาร์กับแผ่นดินใหญ่  ขณะที่ชาวเกาะซึ่งมีส่วนผสมผสานระหว่างแขกอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย และแอฟริกัน ยังคงมีความหวังกับชีวิตอันสงบสุขบนเกาะ และรายได้จากการท่องเที่ยว
ของชาวต่างชาติ 

Image

ว่ากันว่าไม่มีประตูใดเลยในเขต Stone Town ที่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ทำจากไม้สักหรือไม้มะฮอกกานีแกะลายเครือเถาดอกไม้อย่างละเอียดประดับด้วยวัสดุโลหะ

Image

ในเขต Stone Town เราจะพบผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งแอฟริกา แขกอาหรับ อินเดีย และนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก

Image

สาวน้อยคลุมผ้าฮิญาบเดินเล่นกันหน้าหาดหลังโรงเรียนเลิก

Image

เรือจ้างรับส่งผู้โดยสารชาวพื้นเมืองจากท่าเรือหน้าเมืองแซนซิบาร์มาถึงเกาะ Changuu ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่มีน้ำทะเลใสหาดทรายขาว

Image

ตกเย็นบริเวณชายหาดหน้าเขตเมืองเก่า Stone Town จะคึกคักด้วยเด็กชาวเมืองที่มาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ขอขอบคุณ 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี, สุดคนึง นิเวศรัตน์