Image

เยาวชนเพื่อโลกเย็น

Change From Below

เรื่อง : ภัควดี วีระภาสพงษ์

“ในฐานะประชาชน ครูคิดว่าสิ่งที่ฉันทำเป็นเรื่องดีแต่ในฐานะครู พวกเขาก็ต้องพูดว่าฉันควรหยุดได้แล้ว”

เดือนสิงหาคมศกก่อน เหตุการณ์เล็ก ๆ เหตุการณ์หนึ่งกลายเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลก เด็กหญิงวัยรุ่นอายุ ๑๕ ชาวสวีเดน ชื่อ เกรตา ทูนแบร์ก นั่งประท้วงหน้ารัฐสภาในกรุงสต็อกโฮล์มทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา ๓ สัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาสนใจปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เธอนั่งประท้วงจนถึงวันที่ ๙ กันยายน ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติ หลังจากนั้นเกรตากลับไปเรียนหนังสือสัปดาห์ละ ๔ วัน และยืนยันจะมานั่งประท้วงทุกวันศุกร์

สวีเดนเป็นประเทศที่พอจะอวดได้ว่ามีกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งในโลก  เมื่อ ๒ ปีที่แล้วนี้เองสวีเดนเพิ่งประกาศนโยบายตั้งเป้าให้ประเทศเป็น “รัฐสวัสดิการปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลประเทศแรกในโลก” กระนั้น
ก็ตามนอกจากการรณรงค์ปิดไฟ ปิดน้ำ และแยกขยะแล้ว ภาคการเมืองยังขาดวิสัยทัศน์และความใส่ใจจริงจังต่อปัญหาดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่สวีเดนประสบปัญหาร้ายแรงจากคลื่นความร้อนและไฟป่ารุนแรงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ความได้เปรียบของเด็กพิเศษ

เกรตาเป็นลูกสาวคนโตของ มาลีนา แอร์นมาน นักร้องอุปรากรผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง คุณพ่อชื่อ สวันเต ทูนแบร์ก นักแสดงผู้สืบเชื้อสายมาจาก สวันเต อาร์เรนีอุส นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ๒๔๔๖ อีกทั้งเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่คำนวณผลกระทบเรือนกระจกจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนได-ออกไซด์

คุณแม่มาลีนาเคยเขียนหนังสือบรรยายถึงการที่ครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาที่ลูกสาวของเธอทั้งสองคนเป็นเด็กพิเศษ เกรตาและน้องสาวเป็นเด็กออทิสติกกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ แต่เรื่องนี้ไม่มีผลต่อสติปัญญาของเกรตา เมื่อมองในแง่หนึ่งมันเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำ “ฉันมองโลกจากอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย ฉันมีความสนใจพิเศษ คนที่มีลักษณะออทิสติกมักมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ” เกรตาให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษด้วยน้ำเสียงฉะฉาน “ฉันสามารถทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ได้นานนับชั่วโมง”

เกรตาเริ่มสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหาโลกร้อนตั้งแต่อายุแค่ ๙ ขวบ เริ่มค้นคว้าปัญหานี้มาเป็นเวลา ๖ ปี เธอเลิกกิน
เนื้อสัตว์และซื้อข้าวของเฉพาะที่จำเป็น ในปี ๒๕๕๘ เธอเลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน ความเอาจริงเอาจังของเธอทำให้พ่อกับแม่ปฏิบัติตาม คุณแม่มาลีนายอมทิ้งความก้าวหน้าทางอาชีพในระดับนานาชาติ เลิกเดินทางด้วยเครื่องบินตามอย่างลูกสาว ครอบครัวทูนแบร์กหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จักรยานจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อเมื่อจำเป็น และปลูกผักกินเอง

Image

การกระทำสำคัญกว่าคำพูด

เกรตารู้สึกว่าความร้ายแรงของปัญหาโลกร้อนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทางการเมือง เธอต้องการเรียกร้องให้นักการเมืองและรัฐบาลสนใจมากขึ้น  เกรตาได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของนักเรียนไฮสกูลในสหรัฐ-อเมริกาสืบเนื่องจากปัญหาการกราดยิงในโรงเรียนพาร์กแลนด์ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจไปนั่งประท้วงหน้ารัฐสภา นั่งเงียบ ๆ บนขั้นบันไดหิน แจกใบปลิวข้อความว่า “ฉันทำแบบนี้เพราะพวกคุณผู้ใหญ่ทั้งหลายทิ้งปฏิกูลไว้ให้อนาคตของฉัน”

แน่นอนพ่อแม่ของเธออยากให้เลิกประท้วงและไปโรงเรียนมากกว่า แต่
พวกเขาก็เคารพการตัดสินใจของเธอ พ่อของเกรตาย้ำเตือนว่าเธอต้องยอมรับผลกระทบที่จะตามมา รวมทั้งต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในการตอบคำถาม ส่วนครูที่โรงเรียนก็ละล้าละลัง เกรตาบอกว่า “ในฐานะประชาชน ครูคิดว่าสิ่งที่ฉันทำเป็นเรื่องดี แต่ในฐานะครู พวกเขาก็ต้องพูดว่าฉันควรหยุดได้แล้ว”

เมื่อการนั่งประท้วงของเธอกลายเป็นข่าวดังในสวีเดนและแพร่ไปทั่วโลก มันสร้างผลกระทบที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งในแง่บทบาททางการเมืองของเยาวชน ศักยภาพทางการเมืองของบุคคลที่มีระบบทางสมองแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป  ชื่อของเกรตาเริ่มเป็นที่ติดปากทุกบ้านในสวีเดน รวมทั้งประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยยการประท้วงของเกรตาส่งผลให้พรรคกรีนในสวีเดนได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น

เกรตาเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วโลกออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องโลกเย็น ทั้งในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรเบลเยียม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
เกรตายินดีกับเรื่องนี้มาก “มันพิสูจน์ว่าไม่มีใครเล็กจ้อยเกินไปจนสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้”

ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ เกรตาและเยาวชนอีกหลายคนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมของสหประชาชาติที่ประเทศโปแลนด์ ว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เกรตากับพ่อยอมเสียเวลาขับรถยนต์ไฟฟ้าไปจากสวีเดนโดยไม่เดินทางด้วยเครื่องบิน


เธอกล่าวตรงไปตรงมาต่อหน้าผู้นำประเทศทั่วโลกว่า 

“เพราะผู้นำของเราประพฤติตัวเหมือนเด็ก เราจึงต้องแบกรับความรับผิดชอบที่พวกผู้ใหญ่ควรทำมาตั้งนานแล้ว”