“ปล่อยของ” รับปีใหม่
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
ช่วงสิ้นปีฉันดูและฟังสารคดีหลายเรื่องที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
สารคดีเรื่องแรกชื่อ Iris (ไอริส) เรื่องราวของ ไอริส แอปเฟล (Iris Apfel) หญิงวัย ๙๓ ปีที่ใส่แว่นกลมใหญ่ ทาปากสีแดงเข้ม สวมเสื้อผ้าสะดุดตาทั้งสีสันและดีไซน์ ในฐานะมัณฑนากรและเจ้าของโรงงานทำผ้าแบบดั้งเดิม เธอเดินทางทั่วโลกเพื่อสะสมสิ่งของแปลกหรูมีสไตล์และล้ำค่า แต่ละครั้งจะได้ของกลับมาหลายตู้คอนเทนเนอร์ เธอมีเสื้อผ้าและเครื่องประดับเก๋ไก๋ถึงขั้นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนในสหรัฐอเมริกาเคยนำไปจัดแสดงหลายครั้ง
สิ่งสะดุดตาสะดุดใจฉันมากที่สุดคือบ้านที่เต็มไปด้วยข้าวของเหลือแค่เพียงทางเดิน ที่วางเก้าอี้และโซฟา ดูราวกับร้านขายของเก่าที่เก่าแก่ และภาพหญิงชราร่างผอมถือไม้เท้าเดินท่อม ๆ ในโรงเก็บของที่ดูเหมือนโกดังสินค้าขนาดใหญ่ เธอตัดใจกำจัดของสะสมล้ำค่าบางส่วน เพราะรู้ดีว่าอีกไม่นานเธอต้องจากโลกนี้ไป
ส่วนสารคดี Greed-The Psychology of money, happiness and eternal life (ความโลภ-จิตวิทยาเรื่องเงินตรา ความสุข และชีวิตนิรันดร์) กล่าวถึงการไล่คว้าหาความสุขของมนุษย์ผ่านมุมมองของนักจิตวิทยา นักปรัชญา นายธนาคาร นักธุรกิจ พระทิเบต และคนทั่วไป ตอนท้าย ๆ เรื่องพูดถึงความตายว่าหากมนุษย์เรานึกถึงความตายอยู่เสมอก็จะสะสมสิ่งของและโลภน้อยลง ในสารคดีเรื่องนี้ยังนำเสนอเรื่องของชายหนุ่มวัยต้น ๓๐ ที่ตัดสินใจกำจัดข้าวของในบ้านให้เหลือเพียงของใช้จำเป็นแค่สองกระเป๋าเท่านั้น การมีข้าวของน้อยทำให้เขามีเงินมากขึ้นและใช้เวลาดูแลสิ่งของน้อยลง สามารถเดินทางท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมที่ต้องการได้มากขึ้น
ด้าน มาร์การีตา แมกนัสสัน (Margareta Magnusson) ศิลปินชาวสวีเดน เขียนหนังสือชื่อ The Gentle Art of
Swedish Death Cleaning (ศิลปะอันอ่อนโยนในการจัดบ้านราวกับคุณจะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป) ว่าคนสวีเดนจะเริ่มจัดของเพื่อเตรียมตัวตายเมื่อก้าวสู่วัย ๕๐ โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อจะได้มองย้อนไปยังที่มาของสิ่งของและความทรงจำที่เราลืมเลือนให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง สิ่งใดไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้วให้บริจาคหรือให้คนที่คิดว่าเหมาะสมหรือต้องการใช้ของชิ้นนั้นมากกว่าตัวเอง
จากเรื่องราวข้างต้นจะเห็นว่าการจัดการข้าวของในชีวิตเป็นเรื่องปัจเจกไม่มีแบบแผนสำเร็จ บ้างเริ่มตั้งแต่วัยหนุ่ม บ้างวัยกลางคน และคุณยายไอริสเริ่มปล่อยของเมื่อชีวิตเข้าสู่ช่วงบั้นปลายขั้นท้าย ๆ
ทว่าหากเราดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท ย่อมรู้ดีว่าความตายอาจมาเยือนได้ทุกเมื่อ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานเท่าใด หากเจ็บป่วยร้ายแรงและกำลังจากโลกนี้ไปขณะยังไม่ได้จัดเตรียมจำหน่ายจ่ายแจกของรักของหวงก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการจากไปอย่างสงบ จึงย่อมดีกว่าที่เราจะตัดสินใจ “ปล่อยของ” ตั้งแต่ยังมีเรี่ยวแรงและสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
เรื่องราวเหล่านี้เตือนใจให้ฉันกลับมาจริงจังกับการจัดการสิ่งของในบ้านอีกครั้ง หลังจากเมื่อปีที่แล้วได้จำหน่ายจ่ายแจกหนังสือสะสมไปหลายร้อยเล่มและเสื้อผ้าหลายลัง ปลายปีฉันเริ่มสำรวจสิ่งของอีกครั้ง พบว่ามีของที่ไม่ใช้อีกไม่น้อย ทั้งเอกสารเก่าเก็บ หนังสือ ซีดี หรือเสื้อผ้าที่หวังว่าจะหยิบมาอ่าน ฟัง หรือใส่ แต่ไม่ถูกแตะต้องเลยในช่วงปีที่ผ่านมา
การจัดระเบียบและจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งของนั้น นอกจากสร้างพื้นที่ว่างให้บ้านของเรา ยังช่วยลดการทำลายทรัพยากรของโลกอีกด้วย เพราะทุกครั้งที่ผลิตสิ่งของย่อมใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบน้ำและไฟฟ้า หากใช้ไม่คุ้มค่าก็ถือว่าเสียของ เหนือสิ่งอื่นใดการ “ปล่อยของ” โดยเฉพาะของรักของหวงเป็นการฝึกฝนตนเรื่องการ “ปล่อยวาง” ที่ดียิ่งนัก
ปีใหม่นี้คุณมีแผนจัดการสิ่งของอย่างไรบ้างคะ
ปณิธานปีใหม่...แค่ตั้งใจไม่พอ
ผู้คนทั่วโลกมักตั้งใจว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งใหม่ช่วงปีใหม่ แต่น้อยคนนักจะทำความตั้งใจเหล่านั้นให้เป็นจริง นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์แห่งรายการ “ปลดล็อคกับหมอเวช” กล่าวว่า ตัวช่วยสำคัญคือการกำหนดผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงวัดผลได้ และวางแผนกิจกรรมที่ทำเป็นขั้นตอนได้
กำหนดผลลัพธ์ที่วัดผลได้
คนทั่วไปมักกล่าวว่าอยากมีสุขภาพดี ควรเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น จะลดน้ำหนัก ๓ กิโลกรัมภายใน๓ เดือน หรือเดินเร็ว ๓ กิโลเมตรโดยไม่เหนื่อย
กำหนดสิ่งที่ต้องทำ
ควรทำบนพื้นฐานของการมีความรู้ เช่น ลดน้ำหนักต้องทำร่วมกับออกกำลังกาย ดังนั้นจะออกกำลังกายวันละ ๑ ชั่วโมง และงดกินอาหารหลัง ๕ โมงเย็น
กำหนดสิ่งที่ต้องจัดเตรียม
เตรียมฝึกทักษะการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเองและหาความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เตรียมสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงมือทำ เช่น บอกความตั้งใจกับคนรัก ครอบครัวและเพื่อน เตรียมหาสถานที่ออกกำลังกาย เช่น สวนสาธารณะ หรือฟิตเนส