Image

https://worldpolicy.org/2016/08/01/morocco-leads-religious-reform/

ผู้หญิงกับการเป็นผู้ชี้แนะ
ศาสนาอิสลามในโมร็อกโก

Change From Under

เรื่อง : ภัควดี วีระภาสพงษ์

โมร็อกโกเป็นประเทศหนึ่งที่อ่อนไหวต่อปัญหาก่อการร้าย ถึงแม้เผชิญวินาศกรรมครั้งใหญ่เพียงสองครั้ง คือในปี ๒๕๔๖ และ ๒๕๕๔ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนหลายสิบคน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ผู้เข้าร่วมกับขบวนการไอเอส (IS หรือ ISIS) มีเชื้อสายโมร็อกโกไม่น้อย  ผู้ก่อการร้ายเชื้อสายโมร็อกโกมีส่วนร่วมในเหตุสะเทือนขวัญที่ฝรั่งเศส เบลเยียม และสเปน ตามตัวเลขของรัฐบาล ชาวโมร็อกโกเข้าร่วมกลุ่มขบวนการหัวรุนแรงประมาณ ๑,๖๐๐ คน มี ๓๐๐ คนที่ต่อสู้ในขบวนการไอเอส  แม้ตัวเลขนี้น้อยกว่าประเทศอื่นเช่นตูนิเซีย แต่โมร็อกโกก็พยายามทุกวิถีทางที่จะดึงคนหนุ่มสาวให้หันเหจากลัทธิอิสลามหัวรุนแรง

คำว่า “คนหนุ่มสาว” ไม่ได้ใช้เพียงเพราะความเคยชิน จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยไมอามี ผู้หญิงมีบทบาทไม่น้อยในกลุ่มหัวรุนแรง  ผู้หญิงที่เข้าร่วมขบวนการไอเอสมีจำนวนมากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวเชื่อมประสานสมาชิกในขบวนการฯ ด้วย

หากเราคิดว่าแนวทางที่มีประสิทธิภาพคือ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” โมร็อกโกก็ดำเนินยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายด้วยแนวทางนี้มา ๑๑ ปีแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมนี อังกฤษ เบลเยียม ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ เน้นโครงการแบบ “พาคนกลับบ้าน” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพาสมาชิกขบวนการหัวรุนแรงกลับคืนสู่ชุมชน  โมร็อกโกเน้นยุทธศาสตร์แบบป้องกันล่วงหน้า โดยพยายามชักจูงเยาวชนคนหนุ่มสาวให้ดำรงอยู่ในวิถีทางอิสลามสายกลาง รัฐบาลโมร็อกโกเห็นว่าผู้ที่จะรับบทบาทนี้ได้ดีที่สุดคือผู้หญิง

โครงการ Morchidat

ในปี ๒๕๔๙ สามปีหลังจากเหตุวินาศกรรมที่คาซาบลังกา กระทรวงกิจการศาสนาอิสลามของโมร็อกโกก็ริเริ่มโครงการใหม่ที่เรียกว่า Morchidat  คำว่า “morchidat” เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า ผู้ชี้แนะ  โมร็อกโกเป็นประเทศอิสลามอนุรักษนิยม ผู้เชี่ยวชาญศาสนาล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย (morchidoon) ทว่าโครงการ Morchidat คือการสร้างผู้ชี้แนะทางศาสนาที่เป็นผู้หญิง

รัฐบาลก่อตั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งใหม่ที่กรุงราบัตชื่อ L’Institut Mohammed VI  ที่นี่รับนักศึกษาทั้งชายและหญิง ทั้งชาวโมร็อกโกและต่างชาติ  การแข่งขันค่อนข้างเข้มข้นมาก ผู้สมัครเรียนต้องจบปริญญาตรี มีสถานะที่ได้รับการนับหน้าถือตาในชุมชน  ผู้สมัครหญิงต้องท่องจำพระคัมภีร์อัลกุรอานได้อย่างน้อยครึ่งเล่ม ส่วนผู้ชายที่สมัครเรียนต่อเพื่อเป็นอิหม่ามต้องจำได้หมดทั้งเล่ม  การเรียนศาสนาจะเน้นการตีความมากกว่าการท่องจำ รัฐบาลโมร็อกโกรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่ ค่าหนังสือ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางกลับบ้าน รวมทั้งให้เบี้ยเลี้ยงรายเดือนอีกเล็กน้อย

๒๕๐ คนต่อปี เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง ปรกติในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ นักศึกษาชายกับหญิงต้องแยกห้องเรียนจากกันเด็ดขาด แต่ที่นี่ไม่เข้มงวดขนาดนั้น  ผู้หญิงกับผู้ชายเรียนในห้องบรรยายเดียวกัน เพียงแต่ผู้หญิงนั่งที่เก้าอี้ ๑๐ แถวหลัง หลักสูตรของนักศึกษาโมร็อกโกคือ ๑๒ เดือน ๓๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนนักศึกษาต่างชาติจะเรียนประมาณ ๒-๓ ปี ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญภาษาอาหรับ หลักสูตรไม่ได้มีเฉพาะวิชาศาสนา แต่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับกฎหมาย กฎกติกาของภาคประชาสังคม ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์  เป้าหมายของสถาบันไม่ใช่แค่ผลิตนักปราชญ์อิสลาม แต่ต้องการผลิตปัญญาชนอิสลามที่ตอบคำถามได้หลากหลายด้วย

เมื่อนักศึกษาหญิงเรียนจบเป็น
morchidat แล้ว เธอจะกลับสู่ชุมชน ทำงานในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เรือนจำหรือโรงพยาบาล นอกเหนือจากการทำงานในมัสยิด  การมีผู้ชี้แนะทางศาสนาเป็นผู้หญิงช่วยให้สตรีมุสลิมรู้สึกสบายใจขึ้นมาก  ในสมัยก่อนมีแต่ผู้นำทางศาสนาที่เป็นผู้ชาย หลายคำถามที่ผู้หญิงข้องใจจึงไม่ได้รับคำตอบ  นอกจากตอบคำถามเกี่ยวกับกฎอิสลามที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของชีวิตแล้ว Morchidat ยังช่วยยกระดับสถานะของผู้หญิงในสังคม แม้ช่วงแรกจะถูกต่อต้านบ้าง แต่ต่อมาก็ได้รับการยอมรับ ผู้ชี้แนะหญิงพยายามเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมหลายอย่าง เช่น การผลักดันให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นต้น

ผู้อำนวยการโครงการฯ นี้เป็นผู้ชาย แต่เขามองเห็นศักยภาพของผู้หญิง เขาบอกว่า “เราพบมาหลายปีแล้วว่า ถ้าให้ผู้หญิงจัดงานอะไรสักอย่างที่มัสยิด จะมีชาวบ้านเข้าร่วม ๔๐๐-๕๐๐ แต่ถ้าให้ผู้ชายจัดการ มีคนโผล่มาสัก ๒๕ คนก็ถือว่าโชคดีแล้ว”

การชักนำเยาวชน
สู่ทางสายกลาง

morchidat ได้รับการอบรมให้สังเกตเห็นสัญญาณของลัทธิอิสลามหัวรุนแรง ไม่ว่าจากการพูดจา การแต่งตัว และพฤติกรรม  กรณีตัวอย่างของ morchidat คนหนึ่งชื่อฮิดรา ทำงานในโรงเรียนมัธยมศึกษา เธอพบกลุ่มเด็กผู้ชายหกคนที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย  ฮิดราเข้าไปหาเด็กกลุ่มนี้ พบปะกันสัปดาห์ละสามครั้งเป็นเวลาครึ่งปี คอยตอบคำถามทางศาสนาที่พวกเขาตั้งข้อถกเถียง ในที่สุดเด็กเหล่านี้ก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เลิกทะเลาะถกเถียงเรื่องศาสนากับพ่อแม่ครูอาจารย์  ทุกวันนี้เด็กทั้งหกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีงานทำ สามคนจบมหาวิทยาลัย คนหนึ่งสอบเข้าเป็นตำรวจ  พวกเขาไม่อยากพูดคุยถึงเรื่องของตัวเองในสมัยมัธยมฯ บอกแค่ว่าทิ้ง “ความคิดโง่ ๆ” สมัยนั้นไปแล้ว

สิบเอ็ดปีที่ผ่านมา โมร็อกโกสร้าง morchidat ออกสู่สังคมประมาณ ๖๐๐ คน โครงการฯ นี้อาจยังเล็กและใหม่เกินกว่าจะประเมินผลกระทบที่ชัดเจน แต่เส้นทางนี้ย่อมดีกว่าการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงแน่นอน