ยกโลกฟิล์มกระจก
๑๖๗ ปี ไว้ที่
Redlight lab & studio
สารคดีพิเศษ
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ปีที่แล้วประเทศไทยมีเรื่องยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในวงเล็ก ๆ เมื่อฟิล์มกระจก ๓๕,๔๒๗ รายการ และภาพต้นฉบับ ๕๐,๐๐๐ ภาพ ได้ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยยูเนสโก เป็นปีเดียวกับที่โครงการช่างชุ่ยในย่านบางพลัดได้ต้อนรับ “Redlight lab & studio”
เมื่อผลักบานประตูห้องภาพฟิล์มกระจกเข้าไป คล้ายกับโลกการถ่ายภาพเมื่อ ๑๖๗ ปีก่อนย่อส่วนไว้ที่นี่ ผนังด้านหนึ่งประดับรูปขาว-ดำของผู้คนที่ปรากฏบนกระจก “รูป ‘เว็ตเพลต’ จะใช้สารเคมีฉาบกระจกแล้วเคลือบสารละลายเงินไนเตรตจากในห้องมืด ค่อยนำไปถ่ายขณะแผ่นกระจกยังเปียก ถ้ารอแห้งความไวแสงจะสูญเสียไปมาก รูปที่ได้จะปรากฏผลไม่สมบูรณ์ พอถ่ายเสร็จก็นำไปล้างด้วยน้ำยาไฮโปในห้องมืดอีกที”
ทัพพวุฒิ ปริญญาปริวัฒน์ ช่างภาพ-เจ้าของร้าน อธิบายวิธีสร้างภาพที่เรียก “เพลตเปียก” หรือ “กระจกเปียก” ตามคำศัพท์ “wet collodion” จากการเคลือบสารละลายคอลโลเดียนบนวัตถุที่ต้องใช้ขณะเปียก เป็นนวัตกรรมบันทึกภาพที่ เฟรเดอริก สกอตต์ อาร์เชอร์ (Frederick Scott Archer) คิดค้นขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๕๑ โดยพัฒนาจากเพลตโลหะขัดเงาเป็นกระจกซึ่งเขาใช้ต่อยอดเป็นศิลปนิพนธ์ ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
"เริ่มจากพ่อผมสนใจพวกของเก่า ชอบอ่านหนังสือ ดูภาพเก่า พาครอบครัวไปเที่ยวย่านเมืองเก่า ผมก็มักหยิบหนังสือของพ่อมาดูและสั่งสมเป็นความชอบติดตัว
คลุกคลีกับห้องมืดตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมฯ พอทำศิลปนิพนธ์อาจารย์จึงให้ลองสิ่งที่ท้าทายขึ้น ผมรู้ว่าฟิล์มกระจกทำยาก แต่ก็น่าสนใจกว่าอัดรูปลงกระดาษขาว-ดำซึ่งทำเป็นแล้ว จึงเริ่มศึกษาจากหนังสือที่เขียนโดยช่างภาพชาวอเมริกัน ค้นข้อมูลตามเว็บบอร์ด ช่วงทำศิลปนิพนธ์ยังไม่มีกล้องใหญ่ มีแค่กล้องขนาดเล็กที่ใช้ฟิล์ม ๑๓๕ ต้องประยุกต์เทคนิคทำให้เป็นเว็ตเพลต ครั้งแรกผมนำฟิล์มสไลด์โพซิทีฟไปถ่ายในคอนเซปต์คนจรจัดที่สนามหลวง ต้องนำอุปกรณ์จำเป็นอย่างขวดน้ำยา เพลตกระจก และเต็นท์ ทำเป็นห้องมืดตรงนั้นเลย”
หลังเรียนจบเขาเว้นวรรคการถ่ายภาพฟิล์มกระจกไป ๓ ปี กระทั่งโครงการช่างชุ่ยเตรียมเปิดแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปะจึงนำทักษะที่ตนถนัดมาเสนอเจ้าของพื้นที่
แล้วสตูดิโอแอนะล็อกหลังน้อยก็ปรากฏในแหล่งทันสมัยของคนยุคดิจิทัลรองรับผู้โหยหาอดีต
“เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างสำเร็จรูปไปหมด ศิลปินยุคนี้อาจไม่ต้องทำอะไรด้วยตนเอง แค่คิดคอนเซปต์แล้วจ้างคนอื่นทำ ตัวเองก็ควบคุมโปรดักชันอีกที มันก็ไม่ผิด เพียงแต่ถ้าศิลปินทำอะไรด้วยมือเองตั้งแต่ต้นจนจบมันจะมีคุณค่า อย่างช่างภาพสมัยก่อนต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย รู้เรื่องแสง สูตรเคมี ตั้งแต่การใช้น้ำยาไปจนล้างรูป ยุคที่ไม่มีโฟโตช็อปก็เป็นช่างภาพนั่นละต้องทำเอง”
แม้เทคโนโลยีถ่ายภาพของสยามจะเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่๓ แต่การถ่ายด้วยฟิล์มกระจกเริ่มนิยมในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงอย่างนั้นก็ยังจำกัดเพียงหมู่ชนชั้นเจ้านายเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง กระทั่งรัชกาลที่ ๕ โปรดการถ่ายรูปจึงเริ่มแพร่หลายในหมู่ขุนนาง
“ศาสตร์เว็ตเพลตไม่ใช่แค่ยาก ยังมีต้นทุนสูง ผมซื้อน้ำยาซิลเวอร์ไนเตรต ราคาลิตรละเป็นหมื่นบาท ส่วนน้ำยาดีเวลอปเปอร์แม้เก็บได้นาน แต่ด้วยคอนเซปต์อินสแตนต์ผมจึงใช้น้ำยาสดแล้วซื้อใหม่เรื่อย ๆ กล้องใหญ่ก็ต้องหาจากต่างประเทศ ผมกล้าพูดเลยว่าในบรรดาเลนส์ทุกรุ่นที่ผลิตมาไม่มีรุ่นไหนสุดยอดเท่ากล้องวิวพวกนี้ หรือไฟ ๒,๐๐๐ วัตต์ที่ใช้ในร้านก็ไม่มีใครผลิตแล้วนะครับ”
สิ่งท้าทายความงามเก่าแก่จึงไม่ใช่แค่ซื้อผงเคมีมาผสมน้ำยา ซื้ออะคริลิกแผ่นใหญ่มาตัดเป็นชิ้นเล็ก และทำฟิล์มเอง แต่ยังรวมถึงการรู้จักรังสรรค์สิ่งทดแทนมาใช้ให้เข้ากับกาลสมัย
“ผมเพิ่งสั่งกระจกมาจากจีนเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการรูปฟิล์มกระจกจริง ๆ ปรกติจะใช้แผ่นอะคริลิกสีดำเพื่อลดต้นทุน”
อีกคุณสมบัติน่าสนใจคือ กระจกอาจพบปัญหาความทึบทำให้แสงส่องผ่านไม่ถึงรายละเอียดภาพ ขณะที่แผ่นอะคริลิกนำแสงสว่างส่องผ่านได้ถึง ๙๒ เปอร์เซ็นต์ จึงได้ภาพชัดกว่า และความที่อะคริลิกเป็นพลาสติกแข็งแรง แต่น้ำหนักเบา โปร่งใส ขึ้นรูปง่าย มีความหนาแน่นต่ำ จึงรับแรงกระแทกได้ดีกว่ากระจก แม้จะมีเนื้ออ่อนทำให้เกิดรอยขูดขีดง่าย แต่ก็เคลือบสารเพิ่มความแข็งแรงป้องกันได้
และนั่นไม่ได้ทำให้กระบวนการถ่ายรูปในแบบของ Redlight lab &studio ต่างจากการใช้ฟิล์มกระจกในอดีตนัก
กระจกอาบน้ำยาเคมีที่ไวแสงไปบันทึกภาพทันที จากนั้นนำไปล้าง ก็จะได้ภาพบนฟิล์มกระจกเป็นเนกาทีฟ เห็นขาวเป็นดำและดำเป็นขาว
ส่วนการเกิดภาพโพซิทีฟขาวดำเป็นได้สองทาง อย่างแรกคือนำฟิล์มเนกาทีฟอัดลงบนฟิล์ม (film contact) หรือบนกระดาษ (contact print) จะเห็นเป็นภาพโพซิทีฟที่ขาวเป็นขาวและดำเป็นดำเหมือนจริง อีกอย่างคือการเกิดภาพในแบบของ Redlight lab & studio ที่ใช้กระจกสีดำหรือแผ่นอะคริลิกสีดำฉาบสารเคมีบันทึกภาพ แม้จะได้ภาพบนฟิล์มกระจกเป็นเนกาทีฟ แต่เมื่อมองในมุมสะท้อนแสงที่เหมาะสมก็จะเห็นเป็นภาพโพซิทีฟได้
ทัพพวุฒิชวนดูกลุ่มผลงานต่างขนาดทั้ง ๔x๕ นิ้ว ๖x๘ นิ้ว ๘x๑๐ นิ้ว ๑๐x๑๒ นิ้ว และ ๑๑x๑๔ นิ้ว ที่ปรากฏภายใต้กรอบสีทองเรียงรายบนผนัง ทำหน้าที่ประดับร้านและเป็นตัวอย่างให้ลูกค้า
“รูปฟิล์มกระจกถ้ารักษาให้ดีจะมีอายุยาวนานเป็นร้อยปี วิธีเก็บที่ดีสุดคือใส่กรอบ มีกระจกหนุนสูงจากรูปสัก ๑ มิลลิเมตร ไม่ให้กระจกติดรูปที่เคลือบวาร์นิช - ยางไม้ชนิดพิเศษป้องกันรูปดำเมื่อเวลาผ่านไป”
เขาหมายถึงน้ำยา varnish ที่เราคุ้นเคยจากการใช้เคลือบงานเดคูพาจเพิ่มความคงทน ซึ่งมีทั้งชนิดเงา ชนิดด้าน และชนิดที่ทาแล้วแตกเลียนแบบของเก่า
“เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างสำเร็จรูปศิลปินยุคนี้อาจไม่ต้องทำอะไรด้วยตนเอง แค่คิดคอนเซปต์แล้วจ้างคนอื่นทำ ตัวเองก็ควบคุมโปรดักชันอีกที”
ทัพพวุฒิ ปริญญาปริวัฒน์
สิ่งสำคัญสำหรับนักประดิษฐ์รูปถ่ายด้วยกรรมวิธีโบราณ ยังต้องรู้วิธีเล่นกับน้ำยาต่าง ๆ
“รูปเว็ตเพลตทำสีได้มากกว่าขาว-ดำ ถ้าต้องการโทนวอร์มขึ้นก็ลดน้ำยาแล้วผสมน้ำ หรืออยากให้ออกโทนแดงก็ล้างด้วยโพแทสเซียมไซยาไนด์ แต่ผมไม่อยากใช้ มันมีความเป็นพิษสูง น้ำยาฟิล์มกระจกไม่เหมือนที่ใช้กับฟิล์มทั่วไป ของฟิล์มกระจกเป็นโลหะหนักที่อันตรายมาก ตู้เย็นที่ใช้เก็บน้ำยาจะแยกเฉพาะ ถ้าทิ้งตู้เย็นนี้เมื่อไรต้องห้ามใครใช้ต่อ ผมจึงไม่ให้ลูกค้าลองล้างฟิล์มเองเพราะต้องระมัดระวังสูง แม้อุปกรณ์จะปลอดภัยผมก็ไม่เคยล้างฟิล์มมือเปล่า ต้องสวมถุงมือและหน้ากากป้องกันทุกครั้ง เพื่อไม่ให้งานที่เรารักย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายเราในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า”
เพราะธาตุโลหะหนักมีน้ำหนักมากกว่าน้ำห้าเท่า มีจำนวนถึง ๗๒ ธาตุ เช่น แคดเมียม โครเมียม ปรอท ตะกั่ว ฯลฯ สมบัติเด่นคือสามารถละลายน้ำ เปลี่ยนเป็นสารประกอบเชิงซ้อน และตกตะกอนในน้ำได้ บางชนิดมีประโยชน์แต่หลายชนิดก็เป็นพิษต่อร่างกายด้วย ซึ่งไม่จำเพาะแค่ช่องทางกิน-ดื่ม ยังเกิดจากการสัมผัสผ่านทางผิวหนังหรือสูดหายใจ อันตรายจากพิษอาจทำให้เอนไซม์ในร่างกายทำงานผิดปรกติ ยับยั้งการขนส่งออกซิเจน นำไปสู่การป่วยเป็นโรคโลหิตจาง หรือรุนแรงถึงขั้นเกิดมะเร็ง
เป็นเหตุผลที่เขาขอให้เรารออยู่นอกห้องมืดขณะที่เขากำลังล้างฟิล์ม แต่สามารถดูขั้นตอนต่าง ๆ ได้จากช่องหน้าต่างกระจกที่ออกแบบให้คนภายนอกมองเห็นคนในห้องมืดเมื่อเปิดไฟสีแดงจัด
แล้วเมื่อเขาเปิดประตูออกจากห้องพื้นที่แคบนั้นก็พากลิ่นฉุนแสบจมูกติดมาด้วย
“เป็นกลิ่นน้ำยาเคมีอีเทอร์ คนสมัยก่อนใช้ทำให้สัตว์สลบ ผมใช้เป็นตัวทำละลายสารอินทรีย์ให้เคมีบางตัวเจือจางลง แต่ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารพิษตกค้างในรูป เพราะหลังเคลือบรูปต้องล้างเคมีออกให้หมดอยู่แล้ว ความจริงการล้างรูปจะใช้โพแทสเซียมไซยาไนด์ตัวเดียวกับที่ล้างแล้วได้รูปโทนแดง นั่นละครับ แต่อย่างที่บอกว่ามันมีความเป็นพิษสูง และผมยังไม่รู้จะจัดการทิ้งอย่างไร สถานที่ก็ต้องมีการระบายอากาศที่ดีพอ ทุกวันนี้จึงเลือกใช้ไฮโปเป็นตัวทำความสะอาดในขั้นตอนสุดท้ายแทน และจะทิ้งน้ำยาเคมีทุกชนิดลงแกลลอนที่จัดไว้โดยเฉพาะ จากนั้นจะมีคนมารับซื้อต่อเพื่อนำไปแยกเงินอีกที”
แม้เป็นสถานประกอบการเล็ก ๆ แต่หากกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ หรือละเลยการควบคุมโลหะหนักแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ก็ย่อมเสี่ยงต่อการเป็นผู้สร้างมลพิษผ่านอากาศเสีย น้ำเสีย และกากของเสียได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการชะล้างของฝนทำให้ซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน
เงื่อนไขหลายสิ่งอย่างนำไปสู่นวัตกรรม หลังช่างภาพทั่วโลกใช้ฟิล์มกระจกเปียกมานาน ๒๐ ปี ริชาร์ด แมดดอกซ์ (Dr. Richard Leach Maddox) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ก็ประดิษฐ์ “ฟิล์มกระจกแห้ง” ให้ใช้งานสะดวกขึ้น เปลี่ยนสารเคมีที่เคลือบกระจกเป็นเจลาตินไวแสง (a light-sensitive gelatin emulsion) ก่อนมีผู้ปรับปรุงต่อจนเป็น “ฟิล์มกระจกแห้งสำเร็จรูป” กระทั่งเริ่มมีการผลิตฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ (celluloid) เป็นแถบวัสดุทำจากพลาสติกสังเคราะห์ ก็เกิดการต่อยอดให้ชนชาติสหรัฐอเมริกาคิดแผ่นฟิล์มไวแสงแบบม้วนขึ้น และประดิษฐ์กล้องใช้ฟิล์มตัวแรกคือโกดัก (Kodak)
จากนั้นมาการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกก็เหลือเพียงในหมู่ผู้นิยมกลุ่มเล็ก ๆ
“แต่ผมยังชอบเสน่ห์ของการสร้างรูปชิ้นเดียวในโลก การถ่ายด้วยวิธีนี้ต้องใช้ฟิล์มที่มีขนาดแมตช์กับกล้อง ยิ่งต้องการรูปใหญ่เท่าไรก็ต้องใช้กล้องตัวใหญ่ขึ้น ทุกรูปจึงเป็นหนึ่งเดียวจริง ๆ
ยิ่งฟิล์มกระจกมันใช้เทคนิคนำแสงของผู้ถูกถ่ายบันทึกลงเพลตซึ่งวางอยู่ตรงหน้าเขา มันคือแสงจริงที่มีต้นกำเนิดจากตัวเขาเอง คล้ายบันทึกวิญญาณของเขาไว้ เป็นสิ่งที่กล้องฟิล์มอื่น ๆ ทำไม่ได้ เวลามองรูปฟิล์มกระจกของใครแม้เขาจะเสียชีวิตแล้วจึงเหมือนยังจ้องหน้ากันอยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่พิเศษมากนะครับ”
หนุ่มเจ้าของร้านวัย ๒๘ ปี เล่าต่อถึงสิ่งที่พ่อของเขาเคยถ่ายทอด
“เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนใครมีรูปถ่ายถือว่าทันสมัยมาก ในรุ่นของพ่อผมการถ่ายรูปยังถือเป็นวาระสำคัญ อย่างวันเกิดคุณปู่ คนในครอบครัวเรียนจบ หรือโอกาสพิเศษที่ออกไปกินข้าวพร้อมหน้ากันนอกบ้านก็อยากจะบันทึกความประทับใจเก็บเป็นรูปถ่าย แต่ชาวบ้านไม่มีกล้องถ่ายรูปหรอกครับ และไม่ใช่จะให้ใครถ่ายก็ได้ ต้องเลือกโฟโตกราเฟอร์ที่มีอุปกรณ์ มีสตูดิโอ รูปที่ได้มาจะประดับบ้านตามโต๊ะหรือตู้โชว์ ซึ่งตรงข้ามกับคนยุคนี้ที่ถ่ายรูปกันเป็นปรกติ จนโลกของกล้องดิจิทัลพัฒนามาสุดทาง เทคนิคอะไรก็ทำได้ในคอมพิวเตอร์แล้วก็เก็บรูปไว้ในโซเชียลฯ หมด อยากดูเมื่อไรก็ได้ แต่มันไม่มีเสน่ห์เหมือนได้จับวัตถุ นี่ละมั้งที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจความวินเทจอีกครั้ง ถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มมากขึ้น ถึงอย่างนั้นการถ่ายด้วยกล้องวิวในสตูดิโอก็ยังเป็นความพิเศษที่ทุกคนน่าจะได้มาลองสักครั้ง”
เขาว่าตั้งแต่เปิดร้านมา ๑ ปี จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการยังไม่เป็นไปตามหวัง
“งานศิลปะเป็นเรื่องของความชอบเฉพาะทาง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาจรที่มาเที่ยวช่างชุ่ย คนที่เข้ามาถามรายละเอียดเขาสนใจอยากถ่ายอยู่แล้ว แต่อาจจ่ายไม่ไหวกับราคาที่ตั้งไว้เริ่มต้นที่ ๑,๕๐๐ บาท ไปจนถึง ๗,๐๐๐ บาท แต่นี่คือราคาโปรโมชันแล้ว ปรกติจะสูงกว่านี้”
ขณะสนทนาเราได้ข้อมูลเพิ่มจากการสังเกต ลูกค้าที่เข้ามาไถ่ถามส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
เมื่อมองไปรอบห้องยังโซนที่หลังคาและผนังรอบด้านเป็นกระจกรับแสงธรรมชาติ จึงเห็นว่าท้องฟ้าเวลานี้ปิดรับแสงอาทิตย์ไปเรียบร้อย ผิดวิสัยร้านถ่ายรูปย้อนยุคทั่วไป
“สำหรับที่ช่างชุ่ย ช่วงเวลาดีที่สุดก็ราวบ่าย ๓ บ่าย ๔ ไปแล้ว ไม่อย่างนั้นอากาศร้อนเกินไป ร้านผมจึงเปิด ๔ โมงเย็นถึง ๔ ทุ่ม ถ้าต้องการแสงกลางวันก็ยังถ่ายได้ แต่ถ้ามากลางคืนก็ไม่มีปัญหา แก้ได้โดยนำหลอดไฟ LED มาชดเชย เวลาทำงานผมจะใช้แสงสามอย่างผสมกันอยู่แล้ว คือ แสงธรรมชาติ แสงไฟต่อเนื่อง และแฟลช ฉะนั้นจะถ่ายกลางวันหรือกลางคืนรูปที่ได้จึงใกล้เคียงกันมาก”
แล้วช่วงหัวค่ำก็มีลูกค้าที่นัดหมายช่างภาพไว้ล่วงหน้ามาใช้บริการ
“ปรกติไม่ได้ถ่ายรูปฟิล์ม ไม่เล่นกล้องอะไรด้วย แต่พอลองฟิล์มกระจกแล้วชอบ ดูศิลป์ กลายเป็นว่าได้ถ่ายอีกหลายครั้ง รูปแนวนี้อาจดูน่ากลัวนิดหนึ่งสำหรับคนชอบแต่งรูปในแอปฯ ให้หน้าเนียน ผิวขาว เพราะจะทำให้ผิวดูคล้ำกว่าความเป็นจริงเยอะ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่เป็นไร คนรอบข้างรู้อยู่แล้วว่าตัวจริงเป็นอย่างไร ได้เปลี่ยนมู้ดไปแอ็บสแทรกต์ บ้างสิแปลกดี พอโพสต์รูปลงอินสตาแกรมเพื่อนก็ชอบกันนะ”
ขณะฟัง ปิยะขวัญ จ่างตระกูล ปันความรู้สึก ชวนนึกถึงจุดประสงค์ที่ทัพพวุฒิเล่าไว้ก่อนหน้า
“คนชอบรูปแนวนี้จะมองข้ามรสนิยมเรื่องผิวขาวไปแล้ว หน้าที่ผมก็ไม่ได้ถ่ายรูปให้ออกมาดูขาวขึ้น คนผิวสีเข้มถ่ายจึงยิ่งดำไปใหญ่ แต่ผมกลับชอบถ่ายคนผิวสีเข้ม ยิ่งเข้มยิ่งเท่และหน้าที่สำคัญของรูปถ่ายก็ควรเล่าเรื่องสิ ผมดีใจที่ตัวเองเรียนทัศนศิลป์มา แม้เทคนิคอย่างการจัดไฟอาจสู้คนเรียนถ่ายภาพไม่ได้ แต่ศาสตร์ดรอว์อิงก็ช่วยให้จัดองค์ประกอบภาพได้ดี เวลาถ่ายคนผมจะมองหาความพิเศษในตัวเขา คนมีโหนกแก้มสูงต้องช่วยหลบมุม บางคนดูดีเมื่อหันข้าง นี่เป็นเรื่องของเส้นศิลปะแบบดรอว์อิงนั่นละ และเว็ตเพลตก็กดถ่ายได้แค่แชะเดียว ทุกอย่างต้องแม่นยำ ผมไม่ได้คิดว่าเว็ตเพลตเจ๋งกว่ารูปชนิดอื่นนะ ขึ้นอยู่กับมีเดียที่จะเอาไปรองรับการใช้งานมากกว่า”
นับเป็นโชคดีที่ค่ำนี้เรามีโอกาสพบลูกค้าผิวสีน้ำผึ้งรายหนึ่ง เธอมาถ่ายภาพแนว spiritual เพื่อจะนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการทำงานด้านแฟชั่น
“มาถ่ายเป็นครั้งแรก เราสนใจโพรเซสที่หาไม่ได้จากกล้องดิจิทัลและไม่มีให้เห็นทั่วไป ตอนนี้มีงานประกวดครีเอทีฟแฟชั่นที่อิตาลี เขาต้องการ key visual ที่จะนำไปคอมมูนิเคต พีอาร์ลงแมกกาซีนหรือเว็บไซต์ เราคิดว่าคอนเซปต์ของฟิล์มกระจกน่าจะเข้ากับงานเลยจะถ่ายตัวอย่างไปเสนอ”
นอกจากประโยชน์ทางอาชีพ พันเลิศ ศรีพรหม นักออกแบบอิสระ มองเห็นคุณค่าของความเป็นชิ้นเดียวในโลก ยากต่อการนำไปอัดเพิ่มจำนวนภายหลัง เธอจึงตั้งใจมาถ่ายแนวนู้ดด้วย
“เราเป็นเพศที่ ๓ ความเป็นเพศทางเลือกทำให้ถาม-ตอบตัวเองเสมอถึง appearance ที่ฟิตเราหลายอย่าง ถ่ายแบบนี้ก็ท้าทายทางหนึ่ง ไม่ต่างจากเวลาทำงานที่ต้องโชว์ความเป็นมืออาชีพ และอยากลองดูว่ากล้อง-ฟิล์มแบบนี้จะ document ตัวเองไว้ขณะหนึ่งอย่างไร น่าสนใจกว่าถ่ายด้วยไอโฟนแน่ ๆ”
เธอยังเปรียบเสน่ห์ของการถ่ายภาพและแสดงผลแบบเว็ตเพลตไว้อย่างเร้าใจ
“คงเหมือน blind date ที่เราไม่เคยเห็นคู่ของเรามาก่อน มันก็น่าตื่นเต้นดีไม่ใช่หรือ เราไม่ได้สนใจผลลัพธ์ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร จะชอบหรือเปล่า หลังจากรู้ผลแล้วอาจไม่มีครั้งที่ ๒ ก็ได้ถ้ามันไม่เวิร์กกับเรา เหมือนกับที่เราไม่สามารถบอกให้ช่างภาพถ่ายออกมาให้สวย ๆ หรือครั้งแรกออกมาสวยจะถ่ายใหม่ให้สวยเหมือนเมื่อกี้ก็อาจไม่ได้ เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่ารูปจะออกมาแบบไหน ขณะที่เราทดลองกับเขา เขาก็ได้ทดลองกับเรา ต่างคนต่างไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ มันเลยสนุก”
เพราะโลกของศิลปะ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ แม้แต่การยกโลกฟิล์มกระจกเมื่อ ๑๖๗ ปีก่อนมาให้บริการคนยุคปัจจุบันอีกครั้ง
Redlight lab & studio
โครงการช่างชุ่ย ถนนสิรินธร
แขวง/เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิดวันพฤหัสบดี-อาทิตย์
เวลา ๑๖.๐๐-๒๒.๐๐ น.
โทรศัพท์ ๐๘-๗๙๙๘-๔๔๐๙
เฟซบุ๊ก/อินสตาแกรม red light lab