“หลบหน่อยพระเอกมา”
ภาพรางวัลชมเชยการประกวดภาพถ่าย “รักษ์เอกรงค์” ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๖๐ ถ่ายที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
รุ่นใหม่หลงฟิล์ม
เรื่องและภาพ : ณัฐพล ศิลปชัย
“ทำไมถึงยังใช้กล้องฟิล์มอยู่”
เป็นคำถามที่ผมได้ยินอยู่บ่อย ๆ ผมมักตอบติดตลกว่า เพราะถือแล้วดูหล่อ แต่เหตุผลจริง ๆ เพราะผมอยากบันทึกความทรงจำ อยากหยุดเวลาเสี้ยวหนึ่งของชีวิตไว้
ก่อนจะมาเล่นกล้องฟิล์มผมก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มีกล้องดิจิทัลคอมแพกต์ตัวเล็ก แต่พอถ่ายไปสักพักผมกลับไม่เคยเปิดดูรูปที่ถ่ายเลย ภาพถ่ายที่มีรหัส ๐ กับ ๑ ไม่มีเสน่ห์พอจะดึงดูดความสนใจของผม แต่กล้องฟิล์มให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มมีเสน่ห์มาก สีสันอิ่มเอม มีเม็ดเกรนจากผลึกเกลือเงิน ให้ความรู้สึกย้อนยุคช่วยขับอารมณ์ของภาพ ทำให้ผมอยากดูภาพถ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อาจเป็นเพราะขั้นตอนที่ยุ่งยาก ถ่ายภาพแล้วไม่สามารถดูได้เลย ต้องรอจนกว่าฟิล์มจะหมดม้วนนำไปล้างถึงจะเห็นภาพที่ถ่ายไว้ ถ่ายเสียคือเสีย ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ภาพแต่ละเฟรมจึงมีคุณค่าเสน่ห์ตรงนี้กระมังที่ทำให้ผมหลงใหลกล้องฟิล์มจนโงหัวไม่ขึ้น
ฟิล์มม้วนแรก
จำได้ว่าผมจับกล้องฟิล์ม SLR ตัวแรกตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี ๔ กล้องตัวแรกที่ลองเล่นคือ Pentax K1000 ซึ่งเป็นกล้อง full manual มีระบบอิเล็กทรอนิกส์แค่เพียงระบบวัดแสง กล้องตัวนี้น่าจะเป็นกล้องครูสำหรับหลายคน เพราะขึ้นชื่อเรื่องความอึด ถึก และบึกบึน ราคาก็ไม่แพงมาก
ด้วยความที่ผมเรียนวิศวะไม่มีพื้นฐานด้านการถ่ายภาพเลย ช่วงเริ่มต้นจึงยากมาก ใช้กล้องไม่เป็น ไม่เข้าใจเรื่องค่ารูรับแสง (f-stop) ค่าความเร็วชัตเตอร์ (shutter speed) ค่า ISO ของฟิล์ม ยิ่งเรื่องวัดแสงยิ่งแล้วใหญ่เข้าใจยากมาก อาศัยว่ายุคนี้เป็นยุคของโลกอินเทอร์เน็ตความรู้พื้นฐานจึงมีให้ศึกษาสะดวก ผมค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยตัวเองวันละนิดวันละหน่อย นำกล้องไปถ่ายบ่อย ๆ ทำให้เข้าใจระบบกล้องฟิล์มมากขึ้นเรื่อย ๆ
จำได้ว่าตอนได้กล้องมาใหม่ ๆ ผมออกไปลองถ่ายรวดเดียวสองม้วนแล้วนำฟิล์มไปล้างที่ร้านใกล้บ้านวันนั้นเลยวันรุ่งขึ้นนัดรับฟิล์มปรากฏว่าได้ฟิล์มใส ๆมาสองม้วน ไม่มีภาพติดสักเฟรมเดียว ทางร้านบอกว่าเพราะโหลดฟิล์มไม่เกาะกับหนามเตย
นั่นแหละครับประสบการณ์ฟิล์มสองม้วนแรกของผม
ภาพถ่ายจากฟิล์มภาพยนตร์ชนิดขาวดำ Kodak Double-X 5222 ถ่ายด้วยกล้อง Leica M6 เลนส์ Summaron 35 mm F3.5 ที่ประเทศรัสเซีย
Russia Film
Camera Thailand
หลังจากเล่นกล้องฟิล์มมาสักพักผมก็รู้จักกับกลุ่ม “Russia Film Camera Thailand” เป็นกลุ่มในเฟซบุ๊กที่สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมคนรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าที่บ้า ๆ บอ ๆ ชอบถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มเพื่อความสนุกไม่ซีเรียสมาก
งงไหมครับว่าทำไมต้องใช้ชื่อกลุ่ม “Russia Film Camera Thailand”
เหตุเพราะแรกเริ่มเหล่าผู้ก่อตั้งกลุ่มต่างใช้กล้องรัสเซียถ่ายภาพเพราะกล้องมีราคาถูกแค่นั้นแหละครับ กล้องรัสเซียที่ว่าก็เช่น Fed, Zenit, Lomo, Zorki เป็นต้น
กิจกรรมโดยทั่วไป สมาชิกในกลุ่มถ่ายภาพมาโพสต์อวดกัน ถามตอบปัญหาเกี่ยวกับเทคนิคการใช้กล้องฟิล์ม หรือวิธีการล้างฟิล์มแปลก ๆ พี่ ๆ ในกลุ่มใจดีมาก ทุกคนเป็นกันเอง มีอะไรก็แบ่งปันกันเสมอ โดยเฉพาะพี่เอ๋ สุวพัฒ อินทร์แก้ว หนึ่งในผู้ดูแลกลุ่มที่มักนำฟิล์มแปลก ๆ มาแจกให้น้อง ๆ ในกลุ่มเล่นอยู่เสมอ เช่น ฟิล์มหนังที่ไว้ถ่ายภาพยนตร์
ฟิล์มหนังมี remjet layer ซึ่งเป็นสารประกอบคาร์บอนเคลือบอยู่ ใช้ป้องกันแสงสะท้อนของตัวฟิล์ม นอกจากนี้ยังช่วยลดรอยขีดข่วนและทำให้ฟิล์มไหลลื่นเวลาถ่ายภาพยนตร์เพราะต้องใช้ความเร็วในการถ่ายพอสมควร ใน ๑ วินาทีกล้องจะถ่ายไปถึง ๒๔ เฟรม ดังนั้นเวลาเรานำมาถ่ายภาพนิ่งจึงต้องล้างฟิล์มด้วยมือเท่านั้น (ใช้มือคนล้างน้ำยาเอง) ไม่สามารถล้างกับเครื่องล้างฟิล์มสีทั่วไป เนื่องจากสารประกอบคาร์บอนไม่ละลายน้ำทำให้คราบคาร์บอนติดที่เครื่องล้างฟิล์ม
ฟิล์มอีกตัวหนึ่งที่กลุ่มนำมาถ่ายภาพนิ่งกันคือฟิล์มเสียง Agfa ST8D สำหรับอัดเสียงภาพยนตร์ ตอนเริ่มทดลองถ่ายเล่นยุ่งยากมาก เราไม่รู้เวลาในการล้างฟิล์มที่แน่นอน ไม่รู้ว่าควรตั้งค่า ISO เท่าไร กลุ่มจึงแจกจ่ายฟิล์มให้สมาชิกไปทดลองเล่นหาค่าที่เหมาะสมและนำข้อมูลการถ่ายการล้างมาแชร์กัน จากแรก ๆ ที่ถ่ายออกมาภาพแย่ทุกภาพ จนหลัง ๆ ถ่ายอย่างไรก็สวยเพราะการแบ่งปันข้อมูลในการทดสอบฟิล์มของทุกคน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแล็บสัญจรจัดขึ้นโดยพี่ท๊อป กฤตษ์พงศ์ วรโชติ-ธนันทร์ กิจกรรมนี้สอนล้างฟิล์มให้สมาชิกกลุ่มที่สนใจหัดล้างฟิล์มด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศเพียงจับกลุ่มกันสามถึงสี่คน และหาเวลาว่างที่ตรงกับพี่ท๊อปเท่านั้น บางครั้งสมาชิกรวมกลุ่มเพื่อนไม่ได้การสอนตัวต่อตัวก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ
แล็บสัญจรสอนเทคนิคการล้างฟิล์มแบบบ้าน ๆ แต่ใช้งานได้จริงโดยไม่คิดค่าวิชาและสารเคมีต่าง ๆ สถานที่สอนมีหลากหลายตามความสะดวก ตั้งแต่ร้านกาแฟยันห้องน้ำในหอพัก ขอแค่มีก๊อกน้ำและพื้นที่ใช้สอยเล็กน้อย
ตอนนี้สมาชิกที่ติดตามกลุ่มในเฟซบุ๊กมีกว่า ๓,๓๐๐ คนแล้ว
บรรยากาศการพบปะกันของสมาชิกกลุ่ม Russia Film Camera Thailand
ล้างฟิล์มม้วนทดลอง
หลังจากถ่ายฟิล์มมาถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกว่าอยากลงลึกเรื่องฟิล์มให้มากขึ้นกว่าการโหลดฟิล์มลงกล้องออกไปเดินถ่ายภาพและส่งร้านเพื่อล้างสแกน*
ผมอยากจะล้างฟิล์มด้วยตัวเอง
จากข้อมูลในอินเทอร์เน็ตผมมีทางเลือกสองทางคือจะล้างฟิล์มสีหรือขาวดำแต่ด้วยน้ำยาล้างฟิล์มสีมีราคาแพงมากและเก็บได้ไม่นานผมจึงเลือกล้างฟิล์มขาวดำที่ราคาถูกกว่าและเก็บได้นานกว่า
ขั้นตอนการล้างฟิล์มขาวดำดูเหมือนจะไม่ยุ่งยากเมื่อดูผ่านยูทูบ แต่พอเอาเข้าจริงไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับครั้งแรก
ฟิล์มม้วนแรกที่ผมล้างเป็นฟิล์ม medium format ขนาด ๑๒๐ ซึ่งโหลดฟิล์มยากกว่า ๑๓๕ กว่าจะโหลดฟิล์มม้วนแรกได้ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง แต่หลังจากชำนาญแล้วใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที
ผมใช้อ่างล้างจานหลังห้องเป็นสถานที่ล้างฟิล์ม การล้างฟิล์มขาวดำมีน้ำยาสี่ชนิด คือ น้ำยาสร้างภาพ (developer) น้ำยาหยุดการสร้างภาพ (stop bath) น้ำยาคงสภาพ (fixer) และชนิดสุดท้ายphoto flo น้ำยาป้องกันการเกิดคราบน้ำและช่วยให้แห้งเร็ว
ภาพถ่ายจากฟิล์มภาพยนตร์ Kodak Vision3 500T ถ่ายด้วยกล้อง Rolleicord Vb ที่กรุงเทพมหานคร
ภาพถ่ายจากฟิล์มภาพยนตร์สไลด์ Kodak Ektachrome 100D ถ่ายด้วยกล้อง Nikon F2 เลนส์ Nikkor 28 mm F2.8 AI-s ที่ประเทศพม่า
การล้างฟิล์มระยะแรก ๆ ผมทำตามตารางที่บริษัทผลิตน้ำยาล้างฟิล์มแนะนำ จนมารู้จักกลุ่มรัสเซียฯ ทำให้ผมเริ่มพลิกแพลงสูตรการล้าง เช่น น้ำยาสร้างภาพสามารถใช้ซ้ำได้ถึงสามครั้ง (ปรกติใช้ครั้งเดียวทิ้ง) ใช้น้ำยาคงสภาพของฟิล์มสีแทนน้ำยาขาวดำ บางครั้งใช้น้ำยาหมดอายุแล้วหลายปีมาล้างฟิล์ม ผลไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งของแบบนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์
นอกจากนี้กลุ่มรัสเซียฯ ยังทดลองการล้างฟิล์มด้วยน้ำยาสร้างภาพแปลก ๆ เช่น กาแฟ โค้ก หรือแม้แต่เบียร์
ว่ากันว่าการใช้เบียร์ล้างฟิล์มจะทำให้ได้ภาพนุ่มนวลขึ้น คอนทราสต์ต่ำ เบียร์แต่ละยี่ห้อก็ให้ความนุ่มนวลแตกต่างกันแต่ผมไม่เคยลองนะ เสียดายของ
ผมมักใช้เวลาเย็นล้างฟิล์ม นั่งจิบชา เปิดเพลงคลอเบา ๆ เป็นช่วงเวลาของความสุขสุดฟินที่เราสร้างขึ้นได้เอง
*สมัยก่อนเมื่อถ่ายฟิล์มเสร็จต้องส่งแล็บล้างฟิล์มและอัดภาพในห้องมืดเป็นภาพขนาด ๓x๕ นิ้ว หรือขนาดจัมโบ้ ๔x๖ นิ้ว เป็นขนาดมาตรฐาน เมื่อถึงยุคซบเซาของฟิล์มร้านล้างอัดภาพต่างทยอยปิดตัว แต่คนเล่นฟิล์มยังไม่หมดหวังเพราะการผสมผสานของยุคฟิล์มและดิจิทัลเป็น “การสแกนฟิล์ม” คือหลังจากล้างฟิล์มด้วยน้ำยาเคมีแล้วก็นำฟิล์มมาเข้าเครื่องสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล นอกจากราคาถูกแล้วยังสามารถอัปโหลดไฟล์ภาพขึ้นเฟซบุ๊กหรือสื่ออื่น ๆ ได้ทันที แต่ต้องแลกกับคุณภาพที่ลดลงตามความสามารถของเครื่องสแกน ถ้าเป็นเครื่องสแกนฟิล์มแบบ flatbed จะให้คุณภาพภาพลดลงมาก รายละเอียดภาพจะหายไป เครื่องสแกนที่ดีขึ้นหน่อย จะเป็น Fuji Frontier SP2000 หรือ SP3000 ภาพส่วนมากในโลกโซเชียลฯ มาจากเครื่องรุ่นนี้ แต่ก็ยังเทียบคุณภาพกับการอัดภาพจากฟิล์มจริงไม่ได้
การล้างฟิล์มขาวดำ
ภาพถ่ายขาวดำ
พอได้ล้างฟิล์มขาวดำด้วยตัวเองแล้ว ทำให้ผมเริ่มชอบถ่ายฟิล์มขาวดำมากขึ้น จนกลายเป็นความหลงใหล
ในโลกที่ไร้สีสัน มีแต่สีขาวกับดำ น้ำหนักโทนของภาพและอารมณ์ภาพจากฟิล์มขาวดำนั้นมีเสน่ห์และถ่ายยากพอสมควร ผมต้องศึกษาพื้นฐานใหม่ จากเวลาที่เห็นภาพเป็นสี เราต้องหัดมองภาพให้เป็นขาวดำ รู้ว่าสีต่าง ๆ เวลาถ่ายภาพเป็นขาวดำแล้วจะให้โทนอย่างไร ประกอบกับผมมีโอกาสเข้า “ค่ายสารคดี” ของนิตยสาร สารคดี มีโอกาสเรียนรู้การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย มุมมองการถ่ายภาพของผมเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ชอบถ่ายภาพที่มีเรื่องราวมากขึ้น รู้สึกว่าภาพที่มีเรื่องราวไม่มีวันตาย จะผ่านไปกี่ปีภาพก็ยังคงมีคุณค่าอยู่เสมอ
โดยส่วนตัวแนวภาพที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือภาพวิถีชีวิตผู้คนตามสถานที่ต่าง ๆ การถ่ายภาพขาวดำช่วยขับอารมณ์ของภาพให้สมบูรณ์มากขึ้น ช่วงหลังผมแทบไม่หยิบฟิล์มสีโหลดลงกล้องเลย
เมื่อต้นปี ๒๕๖๐ ผมส่งภาพที่ถ่ายจากฟิล์มขาวดำเข้าประกวดรายการ “รักษ์เอกรงค์” ที่จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชื่อภาพ “หลบหน่อยพระเอกมา” เป็นภาพควายกำลังเดินออกมาจากฝุ่น ได้รางวัลชมเชย และจัดแสดงที่หอศิลป-วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาพที่ส่งประกวดนี้ใช้การสแกนฟิล์มเป็นไฟล์ดิจิทัลแล้วนำไปพรินต์เป็นภาพบนกระดาษ อารมณ์และความสวยงามของภาพสู้ภาพที่อัดจากห้องมืดไม่ได้เลย “มันยังไม่สุด” ผมอุทานดัง ๆ ในใจ
ในงานนี้ผมได้รู้จักกับพี่มุข อมรรัตน์ อัชฌากุลกิจ พี่ต้อม ชัยอนันต์ บุญ-สูงเนิน ผู้มีความรู้ด้านการอัดภาพในห้องมืดที่วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ผมจึงสมัครเรียนคอร์สพิเศษการอัดภาพขาวดำในห้องมืดที่จัดโดยวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร เรียนกันทุกวันอาทิตย์ สอนเทคนิคการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพเบื้องต้นไปจนถึงขั้นสูง เช่น การอัดขยายภาพแบบซ้อนฟิล์ม การย้อมโทนภาพแบบซีเปีย บางสัปดาห์อาจารย์ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) จะเข้ามาสอนและให้คำแนะนำด้วยตนเอง
บรรยากาศในห้องมืดวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร
การอัดขยายภาพในห้องมืดนั้นต่างจากการล้างฟิล์มพอสมควรเพราะรวดเร็วกว่าและสนุกกว่า
ก่อนอัดขยายภาพทุกครั้งต้องทดสอบเวลาอัดกับเศษกระดาษเพื่อหาเวลาที่เหมาะสม กระดาษแต่ละชนิดใช้เวลาอัดภาพที่แตกต่างกันทุกครั้งที่เปลี่ยนชนิดหรือขนาดกระดาษ จึงต้องหาเวลาในการอัดภาพทุกครั้ง
ความสนุกในห้องมืดสำหรับผมคงเป็นตอนแช่กระดาษในน้ำยาสร้างภาพ
จังหวะที่ภาพค่อย ๆ เผยโฉมบนกระดาษเป็นความมหัศจรรย์เหมือนน้ำใส ๆ กำลังร่ายมนตร์ให้เกิดภาพขึ้นบนกระดาษ
ผมมีความสุขมากเวลาที่อยู่ในห้องมืดและเห็นสิ่งที่เราใช้กล้องจับภาพไว้ในฟิล์มก่อนหน้านี้ กลายร่างขั้นสุดยอดเป็นภาพที่สมบูรณ์ในขั้นตอนสุดท้าย
ผมอยู่ในห้องมืดได้ตั้งแต่เช้าตรู่ที่แสงตะวันจับขอบฟ้าจนออกจากห้องแล้วท้องฟ้ากลายเป็นสีดำโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
อารมณ์แบบนี้กระมังที่เรียกว่าความสุข เพราะความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ
ฟิล์มม้วนสุดท้าย
ในยุคที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล ทุกอย่างทำได้ง่ายและรวดเร็ว ผมไม่เถียงว่าไฟล์ภาพจากกล้องดิจิทัลมีคุณภาพและสวยงามไร้ที่ติ ทุกคนสามารถถ่ายภาพงาม ๆ เพียงหยิบมือถือออกจากกระเป๋าแล้วกดเพียงแค่ปุ่มเดียว
แต่ในมุมเล็ก ๆ ของการถ่ายภาพยังมีกลุ่มคนที่หลงใหลโลกแอนะล็อก ชอบความคลาสสิก มีความสุขกับกระบวนการที่ยุ่งยากกว่าจะได้ภาพสักหนึ่งใบ
ณ ขณะนี้กระแสการกลับมาเล่นกล้องฟิล์มตื่นตัว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุครุ่งเรืองของฟิล์มหันมาเล่นกล้องฟิล์มเพราะความแปลกใหม่ที่ไม่เคยลิ้มลอง
ภาพถ่ายจากฟิล์มภาพยนตร์ Fuji Eterna 250T ถ่ายด้วยกล้อง Nikon F2 เลนส์ Nikkor 28 mm F2.8 AI-s ที่สะหวันนะเขต ประเทศลาว
คนรุ่นเก่าที่เคยใช้กล้องฟิล์มก็โหยหาอดีตอันหวานหอมนำกล้องฟิล์มมาปัดฝุ่นเพื่อสัมผัสอารมณ์นั้นอีกครั้ง
ในแง่หนึ่งคนรุ่นใหม่อาจเล่นเพราะแฟชั่น แต่ก็ยังมีหลายคนที่สนใจเรื่องฟิล์มอย่างจริงจัง สวนทางกับที่บริษัทผลิตฟิล์มยักษ์ใหญ่ทยอยเลิกผลิตฟิล์มปีละหลายรุ่นเพราะผลประกอบการไม่คุ้มค่า แต่ก็มีบริษัทผลิตฟิล์มรายเล็ก ๆ ผลิตฟิล์มชนิดใหม่ ๆ ออกมาทดแทน
ผมคิดว่ากระแสการเล่นกล้องฟิล์มคงไม่ใช่เพียงสายลมที่พัดผ่านชั่วครั้งชั่วคราว คนเล่นกล้องฟิล์มคงไม่หมดไปจากโลก แต่ต้นทุนการเล่นกล้องฟิล์มอาจแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามหลักอุปสงค์อุปทาน
ทุกอย่างในโลกล้วนไม่แน่นอน
วันหนึ่งคนเล่นกล้องฟิล์มอาจลดลงหรือเพิ่มจำนวนขึ้นไม่มีใครรู้
แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ผมจะถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มจนกว่าฟิล์มจะหมดโลก
ขอขอบคุณ พี่ ๆ กลุ่ม Russia Film Camera
Thailand และพี่ ๆ ห้องมืดวิทยาลัยสารพัดช่าง
พระนคร ทุกคนที่ได้กล่าวถึงและไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้