Image

Concur Patchwork กางเกงผ้าปะหลากสีสัน สวยงามที่ปะติดปะต่อคนในชุมชนเข้าด้วยกัน

Image

Concur Patchwork
รอยเย็บ ตะเข็บผ้ามือสอง
ที่ชายแดนใต้

Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : นทธร เกตุชู 
ภาพ : อภิชญา ผ่องพุฒิ

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เป็นความหวังที่จะเปลี่ยนยุคสมัยใหม่ให้พื้นที่เริ่มตั้งคำถามกับการต้องโยกย้ายจากบ้านเกิดเพื่อหาความปลอดภัยและความมั่นคง ว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือที่พวกเขาต้องจากบ้านเกิด และทำไมจึงไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่ของตนเองได้

“ลงไปที่นั่นไม่กลัวตายหรือน้อง”

คำพูดของวินมอเตอร์ไซค์หลังจากเขารู้ว่าปลายทางจากสนามบินดอนเมืองของเราครั้งนี้คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

คำถามสั้น ๆ แต่ดังก้องในหัว นานพอกับฝนที่ยังคงปรอยลงมาในบ่ายวันพุธนั้น

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต พื้นที่ที่คนนอกหวาดกลัวและคนในโยกย้าย

แต่การเปลี่ยนผ่านของวันเวลาทำให้วันนี้ “คนหนุ่มสาว” ชายแดนใต้เลือกที่จะพัฒนาบ้านเกิด มากกว่าเข้าเมืองหลวงเพื่อไขว่คว้าคุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ไม่มีจริง

เช่นเดียวกับแบรนด์เสื้อผ้า Concur Patchwork วัฒนธรรมและแฟชั่นจากผ้ามือสองของคนรุ่นใหม่ ที่อยากนำด้ายผ้าเหล่านี้มาร้อยเรียงอัตลักษณ์ชายแดนใต้ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนรอบตัว

Concur
แปลว่ารวมกัน

คงไม่ใช่ฝนแปดแดดสี่ แต่เป็นฝนแปด แดดเหลือแค่หนึ่ง

พายุฝนทำให้การเดินทางเลื่อนออกไปช้ากว่ากำหนด โชคยังดีที่เรามาถึงสนามบินหาดใหญ่ไม่เย็นมาก รวมถึงฟ้าฝนที่ภาคใต้ปลอดโปร่งกว่าที่กรุงเทพฯ เป็นไหน ๆ

หลังจากนั่งรถมา ๑ ชั่วโมงเศษ ผ่านป่ายาง ทะเล และตัวเมืองสักระยะ หนุ่มผิวเข้ม สวมหมวกมิกิ (miki hat) และกางเกงต่อปะ (patchwork) กำลังยืนรออยู่หน้าโรงเรียนเทศบาล ๕ ในตัวเมืองปัตตานี นั่นคือคนที่เราเดินทาง ๗๘๓ กิโลเมตรเพื่อมาหา

“สวัสดีครับผม เดินทางเหนื่อยมั้ย เดี๋ยวนั่งรถตามผมมาเลย” เสียงต้อนรับจากจู หรือ ฮุสนีย์ สาแม เจ้าของแบรนด์ Concur Patchwork

เดินทางผ่านหอนาฬิกากลางเมือง บรรยากาศในปัตตานีครึกครื้นกว่าที่เราคิด ร้านอาหารริมทาง ชายวัยกลางคนใส่ชุดโต๊ปในวงสภาน้ำชา และผู้คนที่เดินตลาดนัดยามเย็น  ฮุสนีย์เล่าว่า ในบรรดาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีคือจังหวัดครึกครื้นที่สุด

ฮุสนีย์เป็นเด็กจบใหม่จากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ม.อ. ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) หนุ่มผิวเข้มไว้เคราแพะประปราย ถึงเขาจะเกิดและเติบโตที่จังหวัดยะลา แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นต้องศึกษาเล่าเรียน เขาจึงโยกย้ายไปมาทั้งในปัตตานีและนราธิวาส

ฮุสนีย์เสริมว่า พอพูดถึงความเป็นคนสามจังหวัดฯ เลยไม่ได้เฉพาะที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เพราะคนที่นี่ก็ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับเขตชายแดนคือตลาดผ้ากระสอบซึ่งส่งมาจากหลากหลายที่ ทั้งโคลัมเบีย มาเลเซีย ฯลฯ จากภาพที่เห็นจนชินตาได้กลายมาเป็นความชอบ ฮุสนีย์จึงเริ่มสนใจอาชีพนี้จนเกิดเป็นพ่อค้าเสื้อผ้ามือสอง

งานอดิเรกของเขาในช่วงมหาวิทยาลัยคือการขาย-ประมูลเสื้อผ้ามือสอง จากความชอบและต้องการทดลองกลุ่มตลาดเล็ก ๆ อย่างเสื้อผ้าทหาร ทั้งสิ่งของจากยุคสงครามและผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแบรนด์ต่าง ๆ  ความชอบเสื้อผ้าทหารของฮุสนีย์นั้นมาจากประสบการณ์ที่เคยดูสารคดีประวัติศาสตร์สงคราม เขาไม่ได้หลงใหลแค่ลวดลายพราง-คาโมฯ (คามูฟลาจ-camouflage) แต่รู้สึกว่าสิ่งที่หลงเหลือจากประวัติศาสตร์เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเด็กและได้นำมาต่อยอด

งานอดิเรกผกผันมาเป็นการหาเงินค่าขนมในช่วงมหาวิทยาลัย จากเสื้อผ้าทหารเปลี่ยนเป็นกางเกงยีน เริ่มจากการขายให้เพื่อนและขยับมาเป็นช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าคนอื่นมากขึ้น

Image

เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกกางเกงยีนเพื่อนำมาตัด และนำเศษผ้ามาปะติดเป็นกางเกงที่มีลวดลายหลากหลายและสีสันที่สวยงาม

ปาก-ท้อง-หัวใจ

ขั้นตอนสุดท้ายของ Concur Patchwork คือการกระจายรายได้และช่วยเหลือสังคม

ปลายเดือนสิงหาคมที่เราไปถึง ตรงกับช่วงที่ฮุสนีย์จะนำเงินหนึ่งในสามจากกำไรสุทธิของแต่ละเดือน ไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้ เขาจึงชักชวนเราไปด้วย เป้าหมายครั้งนี้คือผู้หญิงในชุมชนจือแรนิบงอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

อากาศยามเย็นของปัตตานีดีกว่าที่เราคิด รวมถึงสวนผักแบบไฮโดรโปนิกส์และสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยเด็กหนุ่มตรงทางเข้าชุมชน ทำให้เราเข้าใจว่าปัญหาของที่นี่คงเป็นความเจริญหรือการขยายตัวของเมืองที่ยังเข้าไม่ถึง เหมือนกับต่างจังหวัดอื่น ๆ

Image

Image