Image

Image

Laem Yah Rayong  Surf Club
คลับของคนรักคลื่น
เปลี่ยนบ้านเพให้เป็น Surf City
แห่งแรกของอ่าวไทย

Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : รักษิณา สิทธิคงศักดิ์
ภาพ : ธัชธรรม โตสกุล

คลับแห่งนี้รูปร่างคล้ายตู้คอนเทนเนอร์สีขาว มีกระจกขอบไม้สองบานประดับไว้ทั้งซ้ายและขวา พื้นปูด้วยเสื่อสานไม้ไผ่ ประตูกระจกบานใหญ่ตรงกลางถูกเปิดไว้ให้ลมทะเลและเสียงคลื่นฝั่งตรงข้ามพัดคลอเข้ามา

Image

อู๋ -เสฎฐวุฒิ ไชยวัฒน์ บาริสตา ครูสอนโต้คลื่น นักกีฬา และผู้ก่อตั้งแบรนด์ The SeT Wax แวกซ์สำหรับเซิร์ฟบอร์ดเจ้าแรกของไทยจากการพัฒนาสูตรที่ทะเลบ้านเกิด

ระลอกคลื่นสูงราวเข่าพัดเข้าหาฝั่งเป็นระยะ ชายหนุ่มนั่งคร่อมกระดานโต้คลื่น พลางทอดสายตาไปยังทะเลเบื้องหน้าอย่างใจจดใจจ่อ

เขากำลังเฝ้าสังเกตคลื่นที่อยู่ไกลออกไปในทะเลลึก คลื่นลูกนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามา มันปรากฏรูปร่างชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าใกล้ฝั่ง เห็นเป็นสันนูนเหมือนภูเขาลูกเล็ก ๆ กลางทะเล นั่นคือจังหวะที่ชายหนุ่มรอคอย เขาไม่รอช้า บังคับทิศทางของกระดานให้หันหน้าเข้าหาฝั่ง นอนคว่ำลงในท่าวิดพื้น ใช้มือทั้งสองข้างพายจนสุดแรง เหลียวมองฟองคลื่นสีเขียวผ่านหัวไหล่ แล้วลุกขึ้นยืนก่อนที่มันจะแตกเป็นฟองสีขาว

นับตั้งแต่วินาทีนั้น เขาเคลื่อนที่อย่างมหัศจรรย์ราวมีเวทมนตร์ ด้วยพลังงานจากคลื่นทะเล

“อยากลองดูว่ามันคือกีฬาอะไร ทำไมคนต่างชาติมาเล่นกันเยอะ โดยที่คนพื้นเพเราไม่เคยเล่นหรือไม่มีใครรู้ศักยภาพของทะเลหน้าบ้านเลย จึงตัดสินใจเอาตัวเองเข้าไปตรงนั้นเพื่อจะได้รู้ศักยภาพทั้งหมดของทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวเรา”

ติ๋ว-วรินทร คงทอง นักกีฬาโต้คลื่นชาวบ้านเพและเจ้าของโรงเรียนสอนโต้คลื่น Laem Yah Rayong Surf Club (LYSC) ณ หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง พูดขณะนั่งอยู่ใน “คลับ”

คลับแห่งนี้รูปร่างคล้ายตู้คอนเทนเนอร์สีขาว มีกระจกขอบไม้สองบานประดับไว้ทั้งซ้ายและขวา พื้นปูด้วยเสื่อสานไม้ไผ่ ประตูกระจกบานใหญ่ตรงกลางถูกเปิดทิ้งไว้ให้ลมทะเลและเสียงคลื่นฝั่งตรงข้ามพัดคลอเข้ามา

ในคลับมีกระดานไม้ที่ใช้บันทึกเรื่องราวการเดินทางโต้คลื่นของคนบ้านเพ ชัยชนะครั้งแรกของนักโต้คลื่นในเสื้อกล้ามสีขาวที่กำลังเดินขึ้นจากทะเลด้วยรอยยิ้ม คลื่นใหญ่ที่เกิดจากพายุปาบึกใน ค.ศ. ๒๐๑๙  เวทีมอบรางวัลจากการแข่งขันโต้คลื่นที่งาน Rayong Log Jam ครั้งแรก และสัญลักษณ์นางเงือกถือบอร์ดซึ่งเป็นโลโก้ของคลับ

ณ ชายหาดฝั่งตรงข้ามโรงเรียน กระรอกสีขาวปนเทาตัวอวบอ้วนราวเจ็ดถึงแปดตัว กำลังง่วนอยู่กับการวิ่งขึ้นลงและข้ามไปมาระหว่างต้นหูกวางและสนทะเล ท่อนไม้ยาวราว ๒ เมตรถูกวางพาดเป็นสะพานเชื่อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกมันเก็บเกี่ยวเศษผลไม้ ซึ่งคนใจดีนำมาวางไว้ให้ในขวดน้ำพลาสติกที่ถูกตัดครึ่ง ฉากหลังของมื้ออาหารอันโอชะของเหล่ากระรอกหางปุยคือชายหาดทอดยาว ๑๒ กิโลเมตร ทะเลสีครามที่กระแสน้ำแปรปรวนในฤดูมรสุม เตยทะเลต้นกลาง ๆ กำลังเติบใหญ่ ในระหว่างนั้นถูกใช้เป็นราวตากผ้าของผู้มาเยือน

หันหน้าออกสู่ท้องทะเลกว้าง อาจไม่สดใสบ้างในยามฝนพรำลงมา ชายตามองไปทางซ้าย ไม้ปริศนาต้นหนึ่งเอียงลำต้นกล่าวทักทายจากเขาแหลมหญ้า มองกลับมาทางขวา หน้าต่างที่เรียงกันอย่างสมมาตรของคอนโดมิเนียมคู่สีขาวทะลุโผล่ขึ้นมาจากยอดทิวสนทะเลและหูกวาง ถนนแคบ ๆ ที่พอให้รถยนต์หรือซาเล้งขับสวนกันได้ตัดคั่นระหว่างชายหาดและอาคารสิ่งก่อสร้าง เสียงรถขายไอศกรีมดังขึ้นเป็นระยะ

ณ ที่แห่งนี้ ผู้คนเรียกขานกันว่า “หาดแม่รำพึง” หรือ “หาดกินคน”

อุปกรณ์หลักมีเพียงกระดานโต้คลื่นกับสายรัดข้อเท้า โดย LYSC มีทีมโค้ชเปิดสอนเซิร์ฟให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ รวมถึงผลักดันศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ เป็นทีมเด็กบ้านเพ ส่งไปแข่งขันและคว้ารางวัลกลับมานับไม่ถ้วน

Paddle Out
~ พายออกไปตามความฝัน ~

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าที่สุดที่บันทึกการมีอยู่ของกีฬาโต้คลื่นคือสมุดจดของกัปตันเจมส์ คุก และเรือโท เจมส์ คิง นักสำรวจชาวอังกฤษที่เดินทางไปยังหมู่เกาะฮาวาย และได้เห็นการโต้คลื่นโดยใช้กระดานไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกของชนเผ่าพื้นเมืองฮาวาย บันทึกนี้จดไว้ใน ค.ศ. ๑๗๗๗-๑๗๗๙

ไม่มีใครจดบันทึกไว้ว่าการโต้คลื่นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร แต่พบข้อมูลว่าทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมี surf spot หรือจุดที่โต้คลื่นได้ ถูกค้นพบแล้วถึง ๒๑ แห่ง กระจายตัวอยู่ใน ๑๐ จังหวัด ๓ ภาค (ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก) ได้แก่ หาดปะการัง (Memories beach) และหาดนางทอง เขาหลัก จังหวัดพังงา, หาดกะตะ หาดป่าตอง หาดกะหลิม หาดกมลาหาดสุรินทร์ หาดบางเทา หาดในทอน จังหวัดภูเก็ต, อ่าวนาง จังหวัดกระบี่, หาดเฉวง เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, หาดหินงามและหาดสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช, หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา, เกาะพยาม จังหวัดระนอง, หาดเขาตะเกียบ หัวหิน, หาดบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (รอยต่อจังหวัดชุมพร), หาดเจ้าหลาวและหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี และหาดแหลมแม่พิมพ์ อ่าวไข่ และหาดแม่รำพึงหรือก้นอ่าว จังหวัดระยอง

Image

ทิวทัศน์ต้นหูกวางสลับสนทะเลตัดด้วยฟ้าสีครามบรรจบฟองคลื่นขาวคือที่ตั้งของหาดแม่รำพึงที่ครั้งหนึ่งมีฉายาว่า “หาดกินคน”

~ คลื่นทะเลเปลี่ยนชีวิต ~

เพียงคลื่นลูกเล็กเท่าหัวเข่า ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายไม่สิ้นสุด

คลื่นที่หาดแม่รำพึงเกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาวประกอบกับลักษณะพิเศษของพื้นใต้ทะเลที่มีแนวร่องน้ำลึกและสันทรายทอดตัวยาว ๔ กิโลเมตรตั้งแต่บริเวณก้นอ่าวหาดแม่รำพึง ทำให้เกิดคลื่นที่เรียกว่า “beach break” หรือคลื่นที่แตกตัวหน้าหาด

สำหรับนักโต้คลื่นแล้ว นี่เป็นคลื่นที่ปลอดภัยและเล่นง่ายที่สุด เพราะผู้เล่นไม่ต้องพายออกไปรอคลื่นในจุดที่น้ำลึกและไม่มีโขดหินหรือแนวปะการังใต้ทะเลที่กีดขวางเส้นทางการเล่น

ด้วยลักษณะของคลื่นที่ไม่ใหญ่และแรงจนเกินไป ทำให้หาดแม่รำพึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเปิดโรงเรียนสอนโต้คลื่น

Image

Image