Image

2476 กบฏบวรเดช
คณะราษฎร ปะทะ คณะเจ้า
EP.01

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา (บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา)
จากไฟล์ดิจิทัล เก็บรักษาโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ

หมายเหตุ : คำบรรยายภาพที่มีเครื่องหมายอัญประกาศ
คือคำบรรยายภาพดั้งเดิม
สารคดี รักษาการสะกดแบบเก่าไว้

การ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ส่งผลให้ประเทศสยามเข้าสู่ยุคการปกครองด้วย “รัฐธรรมนูญ” อย่างไรก็ตามการยืนยันว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ก็ต้องเผชิญความท้าทายมากมาย 

ห้วงแห่งการประนีประนอม ๖ เดือนแรกผ่านไปท่ามกลางการต่อรอง-ถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่าง “อำนาจเก่า”  “อำนาจใหม่” ภายใต้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) รัฐธรรมนูญฉบับประนีประนอม (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) ได้รับการประกาศใช้พร้อมกับการเริ่มวาระรัฐบาล “พระยามโนฯ ๒” มีภารกิจคือ จัดการเลือกตั้ง สส. ประเภทที่ ๑ และเริ่มแก้ไขปัญหาบ้านเมืองตามหลัก “หกประการ” ที่คณะราษฎรแถลงไว้เมื่อรุ่งอรุณวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

แต่ ๔ เดือนหลังจากนั้น (เมษายน ๒๔๗๖) รอยร้าวของ “ระบอบเก่า” กับ “ระบอบใหม่” ก็ปริแตก พระยามโนฯ (ก้อน) รัฐประหารด้วยกฤษฎีกา รัฐสภาถูกปิด รัฐธรรมนูญถูกงดใช้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มันสมองของฝ่ายระบอบใหม่ถูกกดดันให้ออกนอกประเทศ

ครบรอบปีอภิวัฒน์ (มิถุนายน ๒๔๗๖) “อำนาจใหม่” ทำ “รัฐประหารซ้อน” เปิดสภากลับมาอีกครั้ง “รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” รีสตาร์ตกลไกรัฐธรรมนูญ นำหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) กลับประเทศ รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ มุ่งสู่การเลือกตั้ง สส. ชุดแรก

ต้นตุลาคม ๒๔๗๖ เครือข่าย “อำนาจเก่า” เริ่มเคลื่อนไหว
“คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร) เคลื่อนกำลังจากโคราชลงมาตามเส้นทางรถไฟ ยึดดอนเมืองเป็นฐาน วางแนวหน้าไว้ที่ทุ่งบางเขน รัฐบาลพระยาพหลฯ (พจน์) มอบให้นายทหารหนุ่ม นามหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) รวมกำลังวางแนวหน้าไว้ที่บางซื่อ และใช้อาวุธทันสมัยเข้าตอบโต้ 

นักประวัติศาสตร์เรียกสงครามกลางเมืองครั้งนั้นว่า

“กบฏบวรเดช”

นครราชสีมา, ราชอาณาจักรสยาม ๒๕ ตุลาคม ๒๔๗๖--สนามบินหนองบัว เมืองนครราชสีมา, ๑๓ นาฬิกาเศษ ที่หน้าโรงเก็บเครื่องบิน เสียงเครื่องยนต์ ๓๐๐ แรงม้าของเบรเกต์ (Breguet) ปีกสองชั้นดังกระหึ่ม หีบห่อสัมภาระถูกอัดเข้าไปในช่องเก็บแบตเตอรี่จนเต็ม 

ผู้โดยสารสองคนเข้าประจำที่ พันตรี หลวงเวหนเหินเห็จ (ผล หงสกุล) นักบินกดคันเร่ง เครื่องบินยกตัวหายลับไปกับขอบฟ้า ผู้คนที่ยืนส่งพากันถอนหายใจ เพราะสิ่งที่ผู้จากไปทิ้งไว้ คือสนามรบที่พวกเขาพ่ายแพ้มาอย่างต่อเนื่อง ปากช่องแตกแล้ว และกองทหารฝ่ายรัฐบาลกำลังเคลื่อนเข้ามายังตัวเมืองโคราช

ในเวลาเดียวกัน ใกล้สถานีปากช่อง พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) นายทหารหนุ่ม ยืนกำกับการส่งโทรเลขกลับไปที่กรุงเทพฯ -- “ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี”

ผู้รับโทรเลขที่วังปารุสกวันรู้แน่ว่าหลังจากนี้ “คณะราษฎร” จะมีเขาเป็นกำลังหลักฝ่ายทหารเกือบทศวรรษหลังจากนั้น หลวงพิบูลฯ (แปลก) ยืนกล่าวกับรัฐสภาในคราวประชุมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พ.ศ. ๒๔๘๓ ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า

"ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา 
บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก 
และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้"

Image