Image

งวงตาลตัวเมียที่ลูกอ่อนต้องยังไม่เปิดตา ด้านขวาของภาพ กำลังพอดีที่จะปาดเอาน้ำตาล  โดยใช้มีดคมกริบปาดทางขวางเป็นแว่นบางๆ แล้วใช้กระบอกรองไว้ราว ๑๒ ชั่วโมง ก็ได้น้ำตาลสดเป็นลิตรๆ

โหนดและเลสาบบนคาบสมุทร

SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“บ้านฉานม้ายไหร้ ยังแต่ ไผ่ กับโหนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา...”

เป็นบทรำแนะนำตัวของโนราจากระโนด พื้นที่ตอนบนสุดของสงขลา ที่ต่อแดนมาจากอำเภอหัวไทรของนครศรีธรรมราชเป็นแหลมแผ่นดินหรือคาบสมุทรที่ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้านด้านนอกหรือทางตะวันออกคืออ่าวไทย ส่วนด้านในเป็นทะเลสาบน้ำจืดและน้ำกร่อยหลายส่วนย่อย ที่เรียกรวม ๆ ว่าทะเลสาบสงขลา

เป็นที่ราบบนคาบสมุทร ต่อเนื่องมาจนสุดปลายแหลมที่ปากทะเลสาบ ที่ไม่ค่อยมีผืนป่าไม้สูงใหญ่ ที่เห็นหนาตามากที่สุดมีแต่ตาลโตนด ตามคำแนะนำตัวของโนราระโนด

แต่ตามความจริงทิวต้นตาลที่ยืนต้นสูงทาบฟ้า ไม่ได้มีหนาแน่นแต่แถวระโนด หากยังแผ่ผืนยืนต้นต่อเนื่องไปตลอดแหลม ตั้งแต่สทิงพระ กระแสสินธุ์ จนถึงสิงหนคร และโหนดยังแพร่ข้ามฟากทะเลสาบลงไปทางใต้ด้วย

โดยพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ซึ่งข้องเกี่ยวเหนียวแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่น

ฤดูฝนไถหว่านก็ทำนา เสร็จจากเกี่ยวข้าวเข้าแล้งก็พอดีถึงหน้าทำน้ำตาลโตนด  พอฝนชุกก็ละจากต้นตาลลงนาหันหน้าสู่การเพาะปลูกอีกครั้ง เป็นวงรอบปีในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นมาแต่เดิม


วิถีตาล

หยาดหวานในกระแสสินธุ์

“ขึ้นตาลดีกว่าทำงานอื่นทั้งหมด ผมขึ้นตาลก่อนได้เมีย ตอนนี้ลูกคนโตอายุ ๔๐ ปี ลูกสี่คน ผมให้เรียนหนังสือเพส่งกับเงินขึ้นตาล”

นวย แก้วบริสุทธิ์ คนปาดตาลบ้านเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ พูดถึงงานที่เขาทำมาทั้งชีวิต

“ปีนี้เตรียมต้นไว้ ๑๐ ต้น เริ่มงาน ๖ โมงเช้า ปาด ๑ ชั่วโมงครึ่ง ตอนเก็บก็ใช้เวลาเท่ากัน ทำวันละ ๒ ครั้ง เช้า เย็น เก็บน้ำตาลสดได้ราว ๓๐ ลิตรต่อวัน เคี่ยวเป็นน้ำผึ้งโหนดได้ราว ๖-๗ ลิตร ลิตรละ ๗๐ บาท ปี๊บละ ๑,๔๐๐ บาท ฤดูร้อนปีนี้ ๕ หมื่นได้”

เป็นงานที่ถือว่ารายได้ดีและแทบไม่มีต้นทุน

Image

Image