SONGKHLA CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
Ep.01
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
จากยอดเขาสูงบนเกาะยอ มองเห็นกาลเวลาเบื้องล่างได้นับร้อยปี เชิงเขาทางซ้ายมือของภาพ ที่ทอดตัวลงในทะเลสาบสงขลาคือส่วนปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้ง “เมืองแหลมสน” ก่อนย้ายข้ามฟากไปตั้งเมือง “สงขลา” ที่บ่อยาง ซึ่งต่อมาเป็นเมืองสมัยใหม่ที่หนาแน่นด้วยทิวตึกและบ้านเรือน กลางการขนาบข้างของสองเล ด้านใน-ทะเลสาบ และนอกออกไปคืออ่าวไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก
ในอาหารจานหนึ่งหรือเครื่องดื่มสักแก้วที่วางอยู่ตรงหน้านั่นแหละ ที่เป็นปัจจุบันของสงขลา
ส่วนกาลเวลายาวนานก่อนนั้น ตั้งแต่สมัยเมืองสทิงพระ เมือง “Singora” ในเอกสารของพ่อค้าตะวันตก เมืองท่าอันยิ่งใหญ่ในภาคใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ริมฝั่ง “หัวเขาแดง” ก่อนย้ายเมืองมาสุดที่ “แหลมสน” แล้วข้ามฟากทะเลสาบมาสร้างเมืองใหม่ที่ “บ่อยาง” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “เมืองเก่าสงขลา” ในปัจจุบัน ผันผ่านมานับร้อยพันปี
แม้กระทั่งภาพวาดบนผนังที่เรียกกันในหมู่คนสมัยใหม่ว่าสตรีตอาร์ต (street art) แห่งแรก ๆ ในเมืองไทย ซึ่งกลายเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินของสงขลา นั่นก็เป็นมากว่า ๑๐ ปีแล้ว
ภาพเขียนตามผนังริมทางขนาดใหญ่ ที่ คนสามารถเข้าไปทำทีมีส่วนกับภาพ ถ่ายรูปออกมาให้ดูกลมกลืนกันได้ ที่ เรียกกันในสมัยนี้ว่าสตรีตอาร์ต ในเมืองไทยอาจเริ่มต้นที่ สงขลาก็เป็นได้ ริมถนนหลายสายในย่านเมืองเก่า ภาพสะท้อนวิถีชีวิต อัตลักษณ์ อดีต หรือเรื่องราวในขณะใดขณะหนึ่งที่ เกิดขึ้นในเมืองนี้
สภากาแฟ คนเมืองสงขลาสามคนที่มีตัวตนอยู่จริง นั่งคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างกลมกลืน หากมองภายนอกจะดูไม่ออกว่าคนไหนเป็นคนถีบสามล้อ นักวิชาการ เถ้าแก่ ตามบุคลิกนิสัยของคนสงขลาที่ไม่ “โอ่รส” อวดโอ่โม้ความมั่งมี
ยังไม่นับภูมิทัศน์ธรรมชาติ ลำคลอง ชายหาด เกาะแก่ง ทะเลสาบ คาบสมุทร ที่อยู่มานับหมื่นล้านปี เรื่อยมาถึงอายุของต้นตาล ถนน สะพาน อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง เจดีย์ อนุสาวรีย์ ฯลฯ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นแลนด์มาร์กของสงขลา ทั้งที่ยังยืนยงและเสื่อมสลายไปในกระแสลมหายใจของเมือง ล้วนเป็นพลวัตของสงขลา ที่ยังรอการพบหน้า มาทำความรู้จักและเยือนยลของผู้คนแห่งยุคสมัย
หนังตะลุงใส่สูท เท่ง ทอง สะหม้อ หนูนุ้ย ตัวตลกที่ปรกติใส่เสื้อผ้าไม่มากชิ้นถูกนำมาแต่งสูทเดินอยู่กลางแดดอ่อนๆ เงาทาบบนผนัง
/ ๑ /
“สงขลาไม่ขี้เหร่กว่ามะละกา สเกลเมืองเหมือนกันเลย เขาเป็นมรดกโลกได้ เราก็น่าจะเป็นได้ไหม”
สงขลาในคำกล่าวของดอกเตอร์จเร สุวรรณชาต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร. ศรีวิชัย) หมายถึงเมืองเก่าที่ตั้งอยู่บนปลายแหลมด้านล่างของปากทะเลสาบสงขลา
หากมองสงขลาจากแผนที่จะเห็นว่าจังหวัดนี้ตั้งอยู่กลางการขนาบของ “สองเล” ด้านหนึ่งคือเวิ้งทะเลอ่าวไทย ส่วนด้านในคือเวิ้งทะเลสาบ แหลมแผ่นดินที่ทอดต่อลงมาจากนครศรีธรรมราช ที่เรียกกันว่าคาบสมุทรสทิงพระ มาสิ้นสุดที่ปากทะเลสาบซึ่งไหลออกเชื่อมกับทะเล ที่เคยเป็นที่ตั้งของเมืองหัวเขาแดงและเมืองแหลมสน ส่วนจะงอยแหลมด้านล่างของปากน้ำ ที่เรียกว่าแหลมสนอ่อน เชื่อมผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกับผืนแผ่นดินด้ามขวาน ลาดขึ้นไปหาเชิงเขาบรรทัดและเชื่อมต่อกับดินแดนมลายูของสามจังหวัดชายแดนใต้
บริเวณปากน้ำที่เป็นช่องไหลล่องขึ้น-ลงของน้ำจืด-เค็ม-กร่อยในทะเลสาบกับมหาสมุทรนั้น ตามพงศาวดารบอกว่าเป็นที่ตั้งเมืองสงขลาโบราณ หรือ Singora มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒
. . .
แสงไฟในชุมชนบนคาบสมุทรเริ่มวอมแวมขึ้นเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปี ตามหลักฐานการพบขวานหินขัด ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก ภาชนะดินเผาตั้งแต่แถวสทิงพระ จนถึงจะนะ สะเดา สะบ้าย้อย รัตภูมิ
ราวปี ๑๐๐๐ เมืองสทิงพระเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกบนคาบสมุทรสองฝั่งทะเล จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เริ่มเสื่อมความสำคัญลง เมื่อเมืองพัทลุงซึ่งตั้งอยู่ที่พะโคะเจริญขึ้นแทน