scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“SAKUN.C จะสร้าง
มาตรฐานรถโดยสาร EV”
วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ (คุ้ง)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ผลิตรถโดยสาร EV ตัวถังอะลูมิเนียมคันแรกของโลก
“รากฐานบริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด (Sakun C Innovation Co.,Ltd.-SAKUN.C) คือกลุ่มบริษัท โชคนำชัย คุณนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ผู้ก่อตั้งและประธานฯ จบแค่ชั้น ป. ๔ ทำงานเป็นช่างเคาะในอู่ซ่อมรถยนต์ ก่อนจะมาทำโรงงานผลิตอะไหล่ ชิ้นส่วน ส่งให้บริษัทรถยนต์ข้ามชาติ สร้างแม่พิมพ์ปั๊มชิ้นงาน จนกลายเป็นบริษัทที่ทำเรื่องนี้ติดหนึ่งในห้าอันดับของทวีปเอเชีย
“กลุ่มโชคนำชัยต่างจากเอกชนอื่นที่ส่วนมากมักทำชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่เราทำขนาดใหญ่ สามารถผลิตสำหรับประกอบรถยนต์ได้ทั้งคัน เราส่งชิ้นงานให้ค่ายรถญี่ปุ่นหลายค่าย เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วไทยขาดแคลนบุคลากรที่ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบแม่พิมพ์ เราก็เปิด ‘ศูนย์ฝึกอบรมการออกแบบแม่พิมพ์รถยนต์โชคนำชัย’ ทำ ‘โครงการสร้างช่างเทคนิคด้าน CAD/CAM/CAE’ ซึ่งใช้โปรแกรมออกแบบงานสองมิติและสามมิติ ใช้คอมพิวเตอร์สื่อสารกับเครื่องจักรสมัยใหม่และวิเคราะห์การขึ้นรูปวัสดุ
“เราเน้นให้เยาวชนด้อยโอกาสมาเรียนตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบจนถึงผลิตจริง มีค่าตอบแทนวันละ ๒๐๐ บาท สอนแบบโรงเรียนกินนอน เรียนตั้งแต่เช้าจดเย็น สอนวิธีการลงทุน มีฝรั่ง มีญี่ปุ่นมาสอนภาษาเพื่อให้ทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้สะดวก สอบวัดความรู้ทุกเดือน ถ้าผ่านก็รับประกันตำแหน่งงานและเงินเดือนในอุตสาหกรรมรถยนต์ หลักสูตรนี้ทำอยู่ ๔ ปีก็เลิก ผลิตคนได้ ๑๓๐ คน
“SAKUN.C ที่ทำรถโดยสารทั้งคัน เรือทั้งลำ คนที่เพิ่งรู้จักก็จะงงว่าเราโผล่มาจากไหน แต่ถ้าย้อนไปดูจะพบว่าก่อนก่อตั้งในปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕ เกิดวิกฤตในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ในไทยโครงการรถยนต์คันแรกจบ ในระดับโลกค่ายรถหลายค่ายประกาศจะไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ไป ๓ ปี ในปี ๒๕๕๗/ ค.ศ. ๒๐๑๔ ในไทยเกิดรัฐประหาร ทุกอย่างชะลอตัว คุณนำชัยเรียกประชุม ถามว่าเราจะยังอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรือจะไปต่อ เลยมองที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางเรือ ส่วนมากคนใช้เรือไม้ เราทำงานโลหะมานาน ถ้าทำเรือโลหะน่าจะไปได้ดีและปลอดภัยกว่า ต่อมารัฐยังมีนโยบายให้ผู้ประกอบการรถตู้รับส่งผู้โดยสารในเส้นทางระยะกลางเปลี่ยนมาใช้รถมินิบัส เราเห็นโอกาสตรงนี้จึงตัดสินใจว่าจะวิจัยและพัฒนา เตรียมงาน ๒ ปีเรื่องสร้างเรือ จนได้เรืออะลูมิเนียมรุ่นแรกและเปิดตัว SAKUN.C ในปี ๒๕๖๐/ค.ศ. ๒๐๑๗
“ที่เราเลือกใช้อะลูมิเนียมเนื่องจากถ้าทำตัวถังรถแบบเดิมก็คงตามหลังคนอื่น ในอนาคตรถยนต์จะเป็น EV ต้องการตัวถังเบา ต้นทุนต่ำ ยิ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรถสันดาปสู่รถ EV คำถามของผู้บริโภคจึงมีเยอะ เราตัดสินใจเริ่มที่ตัวถังรถ ปรกติรถยนต์ที่ตัวถังเป็นอะลูมิเนียมจะเป็นซูเปอร์คาร์เท่านั้น เราใช้อะลูมิเนียมทำรถยนต์โดยเฉพาะรถโดยสาร ซึ่งเราต้องการทำราคาสู้กับรถที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยมีจุดขายว่าอะลูมิเนียมเบา ไม่เป็นสนิม และแข็งแรง
“ความยากคืออะลูมิเนียมแพงกว่าเหล็กสี่เท่า ผู้ผลิตต้องการตัวถังเบา ประหยัดพลังงาน เราต้องทดสอบด้วยการลดชิ้นส่วนประกอบรถให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุน หาสูตรผสมอะลูมิเนียมที่นำมาขึ้นรูป ทนเชื่อมและทำสีได้ หาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ด้านแบตเตอรี่ ถ้าเขามีโรงงานในไทยก็จะมั่นใจได้ ในกรณี chip ขาดแคลน รถโดยสารใช้ไม่มากเท่ากับรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวนผลิตก็น้อยกว่า จึงยังไม่เจอปัญหานี้ ความร่วมมือระหว่างเรากับอรุณพลัส เริ่มจากผลิตรถโดยสารเครื่องยนต์ดีเซลตัวถังอะลูมิเนียมให้ก่อน
“ในกรณีรถ EV มองว่าคนไทยควรทำมากกว่านำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ เพราะโดนบวกราคาเพิ่มเติม ปัจจุบันเทคโนโลยีรถ EV ปรับปรุงจนใช้งานเชิงพาณิชย์ได้แล้ว เหลือแค่ทำอย่างไรให้ราคาลดลงมาใกล้รถยนต์สันดาปมากที่สุดจะมี supply chain ร่วมงานกับเราหรือไม่
“ความยากเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนวิจัยและพัฒนา (R&D) กรณี SAKUN.C เรารู้กระบวนการ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน ทำแม่พิมพ์เอง รู้ว่าอะไรคือมาตรฐาน ข้อจำกัดเรากลับมาที่แหล่งทุนในการวิจัย เมืองไทยไม่เคยมีใครเริ่มต้นสร้างรถยนต์จากขั้นตอนนี้ ในต่างประเทศรถยนต์รุ่นหนึ่งต้องวิจัยการสร้างแม่พิมพ์ตัวถังเรื่องเดียว ๒-๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่นับส่วนอื่น โดยรวมใช้เงินราว ๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐกับแม่พิมพ์ จากนั้นต้องผลิตรถให้ได้ ๒๐๐ คันเพื่อทดสอบ ไม่ว่าการชน สมดุล ฯลฯ นี่ยังไม่นับการลงทุนในอุปกรณ์ส่วนอื่นที่ต้องใช้เงินมหาศาล เราเองก็ต้องผ่านขั้นตอนนี้ และมั่นใจว่าจะใช้อย่างต่ำแค่ ๑ พันล้านบาทเท่านั้น
“สิบปีต่อจากนี้ มอเตอร์ไซค์ EV
จะแทนที่มอเตอร์ไซค์แบบเดิม”
สรณัญช์ ชูฉัตร
ผู้ก่อตั้งและ CEO “ETRAN” Startup มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทย
“สมัยเป็นนักศึกษาผมค่อนข้างเกเร ไม่สนใจรถยนต์หรือกีฬา แต่ที่เรียนภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพราะคิดว่าถ้าเราออกแบบของได้คงดี ผมสนใจหน้าที่ (function) ว่าของสิ่งนั้นทำอะไรได้
“วันหนึ่งในปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕ ผมนั่งวินมอเตอร์ ไซค์เพราะรถตู้ที่ใช้ประจำเสีย เจอกับมลภาวะ ควันพิษ ฝุ่น อีกหน่อยน้ำมันก็จะขึ้นราคา ค่า BTS ในกรุงเทพฯ ก็แพง ผมมองว่านี่คือปัญหาที่เราน่าจะแก้ได้ เพราะเรียนออกแบบรถยนต์มา ไทยก็เป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ในภูมิภาค มีธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มากมาย แต่กลับไม่มีใครเอามาทำมอเตอร์ไซค์ EV ผมอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะมันจะเปลี่ยนทุกอย่าง คิดดูว่า พี่วิน ตำรวจจราจร พ่อค้าแม่ค้าริมทาง ชีวิตเขาจะดีขึ้นแค่ไหนถ้าไม่มีควันพิษ และหากไม่ลงมือตอนนี้จะทำตอนไหน เพราะบริษัทขนาดใหญ่ก็ยังไม่ลงมาทำ
“ผมกับเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันก่อตั้งบริษัท จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่าตอนนั้นมีมอเตอร์ไซค์ EV จดทะเบียนแค่ ๑๐๐ คัน นี่คือจุดสำคัญ เราสำรวจความเห็นจากคน ๔๐๐ คน และส่วนมากก็สนใจเรื่องรถ EV ผมพบว่ามอเตอร์ไซค์ EV ไม่ต่างจากมอเตอร์ไซค์สันดาป ช่วงล่างใช้อุปกรณ์แบบเดียวกัน ต่างแค่เครื่องยนต์และต้องมีแบตเตอรี่ จึงลองซื้ออุปกรณ์มาทำ ทุนอีกส่วนจากลูกค้าที่สนใจลงทุนด้วยในที่สุดก็ทำมอเตอร์ไซค์ต้นแบบแล้วเข้าโครงการ Digital Ventures Accelerator (DVA) ของบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่จนได้เงินมา ๓ แสนบาท มีข้อผูกมัดคือทำให้ใช้งานได้จริง ทุนตรงนี้มาช่วยแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะเราใช้ไปราว ๑ ล้านบาท