Image

Small Talk

สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ความหวังเต่าทะเล
กับการเก็บรักษาป่าชายหาด 

ปรารพ แปลงงาน
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ ๒ จังหวัดภูเก็ต

สถานการณ์ล่าสุดของเต่าทะเลที่หาดท้ายเหมืองเป็นอย่างไร

หาดท้ายเหมืองมีแนวหาดทรายที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลถึงสี่ชนิดจากทั้งหมดห้าชนิดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ เต่ามะเฟืองเต่ากระ เต่าตนุ และเต่าหญ้า  ไม่พบเพียงชนิดเดียวคือเต่าหัวค้อน ระหว่างปี ๒๕๓๒-๒๕๖๕ สถิติเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากที่สุดรวม ๗๙ ครั้ง เต่าหญ้า ๒๖ ครั้ง เต่าตนุ ๒๕ ครั้ง และเต่ากระ ๙ ครั้ง รวมทั้งหมด ๑๓๙ ครั้ง

ในอดีตเคยมีเต่าทะเลชุกชุมทั้งทางอ่าวไทยและอันดามัน แต่ปัจจุบันพบเต่าทะเลขึ้นวางไข่ลดลงมาก ทางฝั่งอันดามันเหลือไม่กี่แหล่ง พบบริเวณหาดท้ายเมือง หมู่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา หาดในยาง จังหวัดภูเก็ต และพบบ้างเล็กน้อยตามหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตะรุเตา

ผมเป็นคนท้ายเหมือง สมัยเด็ก ๆ เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปนอนตกปลาที่เขาหน้ายักษ์ เห็นรอยเต่าขึ้นคืนเดียว ๑๓ รัง พอโตขึ้นได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด แปลกใจว่าทำไมบางปีพบแค่สามถึงสี่รังเท่านั้น

"มิติของป่าชายหาดคือการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เป็นสังคมพืชที่ถูกคัดสรรด้วยสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เราควรจะเรียนรู้ว่าสังคมพืชอยู่กันอย่างไร บรรดาสิ่งมีชีวิตเอาตัวรอดยังไง"

Image

เส้นทางสู่มรดกโลกทางธรรมชาติของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันตอนบน

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
อนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ หัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารเพื่อนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ความโดดเด่นของคาบสมุทรไทย

“งานนี้เจ้าภาพหลักคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีหน่วยงานระดับจัดการอยู่สองหน่วยงานที่สำคัญคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สิบกว่าปีที่ผ่านมามีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนบ้างมีศักยภาพพอนำเสนอเป็นมรดกโลกได้  เราพบว่าพื้นที่คาบสมุทรไทยทางภาคใต้นั้นมีลักษณะโดดเด่นซึ่งเทียบเคียงกันได้แค่สองแห่งเท่านั้นในโลกแห่งแรกคือคอคอดปานามา ซึ่งเป็นแผ่นดินเล็ก ๆ เชื่อมระหว่างแผ่นดินทางซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ คือเชื่อมทวีปอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้  ลักษณะเช่นนี้จะมีสัตว์หรือพืชต่าง ๆ เคลื่อนย้ายเชื่อมโยงกัน ผ่านทางกิ่วแคบ ๆ เพียงช่องทางเดียว ขณะเดียวกันก็ขวางกั้นระหว่างสองมหาสมุทรคือแอตแลนติกกับแปซิฟิก  ส่วนคาบสมุทรไทยทางภาคใต้ สิ่งมีชีวิตจากทางซีกโลกเหนือจะเคลื่อนย้ายมาทางซีกโลกใต้ก็ต้องผ่านช่องแผ่นดินแคบ ๆ นี้และยังกั้นระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

"พื้นที่เสนอมรดกโลกต้องมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่จุดเด่นคือเหลือเป็นแห่งสุดท้าย ถ้าที่นี่หมดไป ก็ไม่เหลือที่ไหนอีกแล้ว นี่เป็นหลักคิดที่เราจะเลือกพื้นที่ออกมา"

Image

“วันนี้เราต้องตั้งคำถามกับคนที่กำลังทำเรื่องที่ตัวเอง ไม่ได้ศึกษามาจนสร้างความ เสียหายต่อระบบนิเวศ”

รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ
นักพฤกษศาสตร์ด้านอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาของพืช อาจารย์หลักสูตรชีววิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การศึกษาด้านนิเวศวิทยาและพฤกษศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร

นิเวศวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับถิ่นอาศัย โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของคน การศึกษาไม่ใช่เพื่อแสวงหาประโยชน์ แต่เพื่อแก้โง่ทำให้เกิดปัญญา  ต่างจากการศึกษาเรื่องจัดการสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจดูคล้ายกัน แต่การศึกษาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นเอาประโยชน์ของคนเป็นที่ตั้ง 

นิเวศวิทยาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ ต้องดูตามข้อเท็จจริง การไม่มีความรู้ทำให้เรามองไม่เห็นความจริงต่าง ๆ  ความจริงบางเรื่องไม่ต้องวิจัย เพราะเห็นผลตรงหน้าทันที เช่นการสร้างกำแพงกันคลื่นตามชายฝั่งแล้วเกิดการกัดเซาะ หรือการสร้างฝายแล้วทำให้ระบบนิเวศริมน้ำเสียหาย นี่มองเห็นชัด ๆ  ใช้ความรู้ที่มีทางนิเวศวิทยาพื้นฐานพิจารณาก็จะเห็น แต่ปัญหาคือคนส่วนมากไม่ได้เรียนนิเวศวิทยา แต่มักพูดถึงนิเวศวิทยาเพราะมันฟังดูดี

วันนี้เราต้องตั้งคำถามกับคนที่กำลังทำเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ศึกษามาจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ  คนลงมือทำโดยไม่มีความรู้นี่แหละตัวอันตรายเสียยิ่งกว่าคนที่ตั้งใจจะทำลายระบบนิเวศจริง ๆเสียอีก โดยเฉพาะถ้ามีอำนาจสั่งการ แต่ไม่รู้ว่าไม่รู้

Image