กลอน/แปด/เพลงยาว/
ชีวิตสุนทรภู่
ฉาก 1
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
๑
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
นับตั้งแต่เข้าโรงเรียนเราก็ได้ท่องอาขยานบทนี้ ทำให้ได้รู้จักผู้แต่งไปด้วย ครั้นถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปี นักเรียนก็มักต้องจัดบอร์ดนิทรรศการ บางทีก็มีงานเวทีแต่งแฟนซี ตัวละคร และอาจรวมทั้งเขียนเรียงความวันสุนทรภู่ ทำให้น่าเชื่อได้ว่าจนทุกวันนี้ สุนทรภู่ยังเป็นกวีที่คนไทยรู้จักมากที่สุด
เป็นบุคคลสำคัญของชาติที่สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัสอรรถรสงดงามในศิลป์แห่งภาษา
ก็ลองนึกดูว่าหากไม่มีกลอนกานต์งานประพันธ์ของเขาอยู่ในแผ่นดินนี้ ชาติไทยจะขาดหายแล้งไร้เพียงไรในแง่ศิลป์แห่งภาษา สุนทรียรสในด้านวรรณกรรม
สุนทรภู่จึงได้รับการยอมรับเป็นบุคคลสำคัญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งกลอนแปด ผู้สร้างรูปแบบกลอนสัมผัสใน และการสรรคำที่ให้จังหวะเสียงสูงต่ำที่ให้ความไพเราะลื่นไหลเมื่ออ่านออกเสียง
ทั้งต่อมายังได้รับการประกาศนามเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ในวาระ ๒๐๐ ปีชาตกาล เมื่อปี ๒๕๒๙ โดยยูเนสโก ซึ่งนับเป็นสามัญชนคนแรกของเมืองไทยที่ได้รับเกียรตินี้
Sunthorn Phu หรือ Phra Sunthorn Vohara นามแห่งบรมครูกวีไทยก็ยิ่งเป็นที่รู้จักกว้างไกลออกไปไม่แพ้โลกกว้างในฉากนิทานคำกลอนที่เขาเขียนไว้เมื่อนับร้อยปีก่อน
อนุสาวรีย์แห่งแรกของสุนทรภู่ที่บ้านกร่ำ ระยอง ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นหลังเข้าใจไปว่าบ้านสุนทรภู่อยู่เมืองแกลง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
๒
ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ
ประสบพบเผ่าพงศ์พวกวงศา
ขึ้นกระฎีที่สถิตท่านบิดา
กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย
คลองสำโรง ช่วงผ่านวัดบางพลีใหญ่ใน สุนทรภู่แจวเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาตามลำคลองสายนี้มุ่งไปทางบางปะกง คราว นิราศเมืองแกลง เมื่อปี ๒๓๕๐ ตามที่บรรยายไว้ว่า “ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
คำกลอนตอนหนึ่งใน นิราศเมืองแกลง ที่กล่าวกันว่าเป็นนิราศเรื่องแรกที่สุนทรภู่เขียนคราวเดินทางไปหาบิดาที่เป็นพระอยู่วัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง และคงจากเนื้อหาจากคำกลอนวรรคนี้ ที่ทำให้เกิดความเชื่ออย่างกว้างขวางว่าถิ่นฐานของสุนทรภู่อยู่ที่ระยอง และการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลงครั้งนั้นก็เพื่อกลับไปเยี่ยมบิดาและบ้านเกิด