Image

Blockchain บล็อกเชน 
นวัตกรรมความเชื่อใจ
กับโลกยุคใหม่ที่ไร้ “ตัวกลาง”

scoop

เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ : 123rf.com

“สิ่งที่เรานำเสนอคือระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจอีกต่อไป”

ประโยคที่แสนจะอหังการนี้ถอดความจากบทสรุปของเอกสารความยาว
เพียงเก้าหน้าชื่อว่า “บิตคอยน์ : ระบบเงินตราอิเล็กทรอนิกส์แบบเพียร์ทูเพียร์” (Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System) โดย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” นามสมมุติของบุคคลปริศนาที่ยังไม่มีใครทราบตัวจริง

เอกสารที่โผล่ขึ้นแบบไร้ที่มานี้คือจุดกำเนิดของบิตคอยน์ (bitcoin) สกุล
เงินเข้ารหัส (cryptocurrency) ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีค่าเพียงเศษสตางค์ แต่เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ราคาพุ่งทะยานแตะที่ ๒ ล้านบาทต่อ ๑ บิตคอยน์และมูลค่าเงินหมุนเวียนในระบบรวมราว ๓๓ ล้านล้านบาท สร้างกระแสตื่นทองในหมู่นักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้กระโดดเข้าซื้อขาย หวังกลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน

แต่ก่อนจะข้ามไปแตะเรื่องยุ่งยากอย่างจุดกำเนิดของบิตคอยน์หรือกลไกและการทำงานของบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของสกุลเงินเข้ารหัส รวมถึงนวัตกรรมมากมายที่ถือกำเนิดจากเทคโนโลยีดังกล่าว และด้านมืดที่หลายคนคาดไม่ถึง  ขอเริ่มต้นด้วยการชวนผู้อ่านคุยเรื่องสบาย ๆ ในชีวิตประจำวัน นั่นคือเรื่อง “ความเชื่อใจ” ซึ่งเป็นความท้าทายหลักที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมบล็อกเชน

ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ เราต่างก็ต้องใช้ความเชื่อใจเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ เชื่อใจคนขับรถก่อนจะเปิดประตูขึ้นไปนั่ง เชื่อใจแม่ครัวก่อนตักอาหารเข้าปาก เชื่อใจระบบธนาคารก่อนหย่อนเงินเข้าตู้ฝากเงินอัตโนมัติ เชื่อใจบริษัทหลักทรัพย์ก่อนทุ่มเงินที่เก็บหอมรอมริบทั้งชีวิตให้ดูแล  ความเชื่อใจจึงเปรียบเสมือนน้ำมันที่ช่วยหล่อธุรกรรมให้ลื่นไหล  หลายครั้งความเชื่อใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีบุคคลที่ ๓ ซึ่งได้รับความไว้วางใจทั้งภาครัฐ ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอีกขั้นหนึ่ง

หนึ่งในประดิษฐกรรม “ความเชื่อใจ” ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือ “เงินตรา” กระดาษพิมพ์ลวดลายภายใต้การบริหารจัดการและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของธนาคารกลาง ที่แทบจะไร้มูลค่าหากปราศจากความเชื่อใจของมนุษย์


หากย้อนกลับไปอ่านประโยคที่แสนจะอหังการของ “นากาโมโตะ” อีกครั้งจะพบว่าเขาหรือเธอเข้าใจผิดถนัด ถึงแม้บิตคอยน์จะหลุดพ้นจากการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกลาง แต่สกุลเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงขยะข้อมูลไร้ค่าหากไม่มีมนุษย์คนไหนบนโลก “เชื่อ” ว่าบิตคอยน์มีมูลค่าเทียบเท่าเงินตราในโลกจริง


บิตคอยน์จึงมิใช่สกุลเงินที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจ เพียงแต่ย้ายตำแหน่งของความเชื่อมั่นจากบุคคลที่ ๓ สู่บล็อกเชนนวัตกรรมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของระบบ

นวัตกรรมบนซากปรักหักพัง

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑ เกิดเหตุไม่คาดฝันคือการประกาศล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์ส (Lehman Brothers) บริษัทวาณิชธนกิจอายุ ๑๕๘ ปี นับเป็นสัญญาณชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังฉุดพาเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างรุนแรง

ต้นเหตุทั้งหมดเกิดจากมายากลทางการเงินเจ้าปัญหาที่ชื่อว่าตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (mortgage-backed securities) เกิดจากการมัดรวมสินเชื่อจำนองบ้านเพื่อนำมาจำหน่ายให้นักลงทุนทั่วไป ความเสี่ยงที่ผู้กู้จะบิดพลิ้วไม่จ่ายเงินจึงถูกถ่ายโอนจากธนาคารสู่สาธารณชน สร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยวให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่เลือกหน้า แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกหนี้ไม่มีปัญญาจ่าย

เมื่อรัฐเดินหน้า
กำกับดูแล

แม้ว่าสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์จะมีทั้งชื่อเสียงและชื่อเสีย แต่ความโด่งดังก็ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้าไปแสวงโชค สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลแก่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนที่วิ่งเข้าซื้อสกุลเงินเข้ารหัสส่วนใหญ่ทั้งไร้ประสบการณ์และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของสกุลเงินเข้ารหัสที่ราคาขยับขึ้นลงรวดเร็วอย่างน่าใจหาย ทำให้หลายคนสูญเสียเงินเก็บทั้งชีวิตได้ในชั่วข้ามวัน  ในเบื้องต้นรัฐบาลแทบทุกแห่งจึงทำได้เพียงออกประกาศเตือน เพราะยังไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับในการกำกับดูแล

ภาครัฐไทยนับว่ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างเร็วโดยมีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ระบุให้สกุลเงินเข้ารหัสเจ็ดสกุลเงินเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เหรียญเหล่านั้นก็ยังไม่นับเป็นเงินตราตามกฎหมายไทย  นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานของตลาดตัวกลางการซื้อขายเหรียญดิจิทัล และกฎเกณฑ์การระดมทุนผ่านการจำหน่ายเหรียญดิจิทัลเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering หรือ ICO) ซึ่งเคยเป็นที่นิยมอยู่ช่วงหนึ่งในแวดวงธุรกิจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือป้องกันผู้บริโภคโดนมิจฉาชีพหลอกลวง แต่เหรียญส่วนใหญ่ก็ยังเปิดให้ซื้อขายอย่างเสรี

Image