Image

อุกฤษ อุณหเลขกะ
พัฒนา AI Startup
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ยกระดับเกษตรกรรมไทย
สู่ความยั่งยืน

Interview

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
 ถอดเสียงสัมภาษณ์ : วรรณิดา มหากาฬ
 เวลา : ๑ ชั่วโมง ๔๔ นาที
 วันที่ : ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ส
ถานที่ : ห้องซูมออนไลน์
 ภาพ : Ricult

Search Results

Startup Company :

Ricult ก่อตั้งโดย อุกฤษ อุณหเลขกะกับเพื่อนสนิทชาวปากีสถานชื่อ Usman Javiad ซึ่งเรียนที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ด้วยกัน มีความฝันร่วมกันที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยอุตสาหกรรมเกษตรและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศของตนเอง

Vision :

ปัญหาของเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเกษตรเกิดขึ้นเกือบทุกประเทศ ถ้าทำธุรกิจสำเร็จที่ประเทศไทยและปากีสถานก็สามารถขยายไปทั่วโลกและเป็นบริษัทระดับโลกได้

Awards :

WSA : One of the world's best digital solutions contributing to the UN SDG Goals, Winner of Asia Social Innovation Award,Winners of Karandaaz Fintech Disrupt Challenge 2016 by Gates Foundation etc.

Image

ช่วยเล่าแนวคิดของการนำ AI มาช่วยอาชีพเกษตรกร

ชื่อของ artificial intelligence ก็บอกอยู่แล้วว่า intelligence คือความฉลาด  AI จึงเป็นการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยคิดหรือตัดสินใจแทนคนในการทำงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างผมเอา AI มาใช้กับอุตสาหกรรมเกษตร คือทำอย่างไรให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนน้อยลง เป็นต้น

เกษตรกรบ้านเรามีความหลากหลายมาก ถ้าเปรียบเทียบกับนักเรียนในห้องก็จะมีเกษตรกรบางคนที่เป็นทอปชั้น เด็กเกรด A ๔.๐  บางคนก็เป็นเด็กเกรด D F ที่เป็นท้ายห้อง แล้วก็มีอีกครึ่งหนึ่งที่ได้เกรด B C  ต่างคนต่างตัดสินใจด้วย ความคิดตัวเอง ซึ่งจะมีเกษตรกรแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ชนะในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือตัดสินใจถูกต้องว่าจะปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ดี  แต่แทนที่จะพึ่งพาประสบการณ์ของตัวเอง ถ้าเราเปลี่ยนเกษตรกรให้มาใช้เทคโนโลยีที่ฉลาดช่วยการตัดสินใจที่ดีขึ้น การทำเกษตรก็จะมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทำไมเกษตรกรบ้านเราส่วนใหญ่ถึงทำคะแนนได้เกรดไม่ดี

ข้อแรกคือเกษตรกรยังเพาะปลูกแบบที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่า ยังไม่มีนวัตกรรมว่าทำอย่างไรให้มีผลผลิตที่ดีมากขึ้น ถ้าเราดูเกษตรกรในยุโรป ออสเตรเลีย เขาใช้เทคโนโลยี ผลผลิตเขาดีกว่าบ้านเราสองถึงสามเท่า  ข้อที่ ๒ คือการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม พอเกษตรกรรายได้น้อย ความเสี่ยงเยอะ ธนาคารก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้  เกษตรกรก็เหมือน นักธุรกิจ ต้องกู้เงินมาเพื่อลงทุนซื้อปุ๋ย จ้างคน  ถ้าเขาไม่สามารถกู้เงินได้ ก็ต้องใช้ปุ๋ยหรือเมล็ดพันธุ์ที่แย่ลง หรือต้องไปกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงมาก

ความจริงคือตอนนี้เราอยู่ในโลกทุนนิยมที่ประหลาด คือยิ่งคุณรวยต้นทุนการทำธุรกิจก็ยิ่งถูก ถ้าคุณยิ่งจนต้นทุนการทำธุรกิจก็ยิ่งแพง แล้วกำไรเหลือนิดเดียว กลายเป็นว่าคนยิ่งจนลง

Image