พลเรียน 90s
มานะ มานี, แก้ว กล้า
และการสอบเอนทรานซ์
อันตึงเครียด
90s is back!
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
เยาวชนที่เติบโตในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ (ปี ๒๕๓๓-๒๕๔๓) จะอยู่ในช่วงแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๖ (ประกาศใช้ปี ๒๕๒๐) และแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๗ (ประกาศใช้ปี ๒๕๓๕) ผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในระยะสองแผนนี้คือ ชั้นประถมศึกษาลดจาก ป. ๑-ป. ๗ เหลือ ป. ๑-ป. ๖ ขณะที่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น ๑ ปี จากเดิมสิ้นสุดแค่ชั้น มศ. ๕ ก็มาสิ้นสุดที่ ม. ๖
สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียนในชั้นเรียนยุค 90s คือ หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) ซึ่งถูกสร้างเป็นเนื้อหาในวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) แต่แบบเรียนที่เด็กยุค 90s จดจำได้มากที่สุดคือแบบเรียนภาษาไทย
มานะ มานี ในอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง
เด็กยุค 90s ในช่วงต้นและกลาง เรียกแบบเรียนภาษาไทยอย่างลำลองว่า “มานะ มานี”
“มานะ มานี” เป็นชื่อตัวละครหลักในหนังสือเรียนภาษาไทยที่ใช้ในระดับ ป. ๑-ป. ๖
แบบเรียนมีลักษณะเป็นตอนต่อเนื่อง เล่าถึงเรื่องราวในอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ตัวละครเหล่านี้อาศัยและเติบโตไปพร้อมกับนักเรียนที่ได้อ่าน