Image

ห้องฟังที่มีการปรับสภาพ acoustic จะทำให้ชุดเครื่องเสียงถ่ายทอดเสียงดนตรีออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ความสุขของคนฟังแผ่นเสียง
ผศ.ทพ. ประดิษฐ์ เรืองรองรัตน์

PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต

เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ถึงแม้ชีวิตประจำวันของ ผศ.ทพ. ประดิษฐ์ เรืองรองรัตน์ จะค่อนข้างรัดตัวจากภารกิจการงานในฐานะทันตแพทย์ และอาจารย์สอนหนังสือที่คณะทันตแพทย-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ทว่าเมื่อกลับบ้านในช่วงเย็นถึงค่ำของทุกวัน อาจารย์ประดิษฐ์จะปลีกเวลา ๒-๓ ชั่วโมงขลุกอยู่ในห้องฟังเพลง เพื่อดื่มด่ำเสียงเพลงไพเราะจากชุดเครื่องเสียงและแผ่นเสียงที่สะสมไว้

“เมื่อก่อนบ้านหลังเดิมไม่ได้มีห้องแบบนี้ แต่วางเครื่องเสียงในห้องทำงานเล็ก ๆ จะเปิดเสียงดังไม่ค่อยได้เพราะอยู่ติดห้องนอน ผมเกรงใจภรรยา เราก็ต้องเปิดเบา ๆ” อาจารย์ประดิษฐ์กล่าว

“พอดีมีโอกาสสร้างบ้านใหม่เลยวางแผนตั้งแต่แรกว่าเราต้องการห้องฟังเพลงสักห้องหนึ่ง เพราะฉะนั้นห้องนี้จึงออกแบบให้มีขนาดที่เหมาะสม ภายในห้องมีการปรับด้านอะคูสติกจากผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นค่อยเอาชุดเครื่องเสียงเข้ามาไว้”

ภายในห้องขนาด ๕ x ๗ เมตร ยามไม่เปิดเพลงให้ความรู้สึกสงัด เพราะผ่านการติดตั้งแผงซับเสียงและ diffuser ที่ผนังและลดหลั่นกันบนเพดาน เพื่อลดเสียงรบกวนและปรับสภาพ acoustic ให้ดี

Image

เครื่องเล่นแผ่นเสียงควรได้รับการปรับตั้งอย่างถูกต้องจึงจะให้เสียงออกมาได้ดีที่สุด

องค์ประกอบสำคัญของห้องย่อมได้แก่บรรดาอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทต่าง ๆ ที่เรียงรายละลานตาอยู่บนแท่นและชั้นวาง ให้ความรู้สึกน่าตื่นตาราวกับพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ตั้งแต่ลำโพงคู่ใหญ่สูงตระหง่าน ไล่มาถึงภาคขยายเสียงทั้งพรีโฟโน (ภาคขยายสัญญาณจากหัวเข็มแผ่นเสียง) พรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์แบบโมโนบล็อกกำลังสูงขนาดข้างละ ๒๒๐ วัตต์ ซึ่งอาจารย์ประดิษฐ์เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องหลอดทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า

“ผมชอบเสียงของเครื่องหลอด เพราะมีเสน่ห์ มีความอิ่ม ความฉ่ำหวาน ซึ่งเครื่องทรานซิสเตอร์ให้ไม่ได้ แต่ทรานซิสเตอร์อาจให้เสียงที่ฉับไว มันต่างกัน”

Image