อำนาจ สุขขวัญ และ อรยุพา สังขะมาน สนทนาเรื่องเส้นทางน้ำในพื้นที่บน “แผนที่การจัดการน้ำทางเลือกโดยไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์”
แผนที่อนุรักษ์
เครื่องมือจัดการสมดุลผืนป่า
คนก(ล)างแผนที่
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เมื่อจะมีโครงการใดรุกผืนป่า แผนที่คืออาวุธสำคัญใช้รับมือ
“ช่วง ๒๐ ปีแรกของการจัดตั้งมูลนิธิสืบฯ จะเน้นงานคลุกคลีกับชุมชนอย่างหนัก จึงเปิดรับเจ้าหน้าที่ภาคสนามประจำพื้นที่ทำงานในผืนป่าตะวันตก เดิมผมก็เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่กำแพงเพชร”
อำนาจ สุขขวัญ ย้อนจุดเริ่มก่อนเป็นหัวหน้างานป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เขาเล่าว่าในยุคที่ ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านธรณีวิทยาร่วมงานเต็มตัวกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีนโยบายให้อบรมเจ้าหน้าที่ภาคสนามทำแผนที่จะได้รู้จัก-เข้าใจชุมชน และเพื่อให้ง่ายต่อผู้ที่ไม่เคยเรียนในภาควิชาธรณีวิทยาจึงสอนให้เจ้าหน้าที่มือใหม่ทำ “แผนที่เดินดิน” (geo-social mapping)
“เป็นแผนที่ทำด้วยมือง่าย ๆ เอากระดาษ A4 มาวาด เริ่มจากเดินสำรวจไปตามเส้นทางชุมชน ถ้ามีซอยก็วาดตั้งแต่ปากซอย เจอป้ายก็วาด ผ่านวัด โรงเรียน บ้านใครก็วาดสัญลักษณ์รูปบ้านแล้วกำกับชื่อเจ้าบ้านไว้ บ้านของผู้นำชุมชนอยู่ตรงไหน รู้อะไรมาก็บันทึกลงแผนที่เดินดินไว้”
เท่านั้นยังน้อย การรู้จักแบบผิวเผินไม่เพียงพอต่อการทำงานของมูลนิธิสืบฯ
“ยังต้องเอาข้อมูลในแผนที่เดินดินมาจัดทำเป็นแผนผังเครือญาติ โดยสำรวจต่อว่าใครเกี่ยวโยงเป็นญาติพี่น้องกับใคร บ้านแต่ละหลังอยู่ตรงไหน บ้านไหนเป็นที่เคารพนับถือของบ้านไหน บ้านไหนไม่ถูกกัน แล้วใส่ข้อมูลเชื่อมโยงลงไป แต่ไม่ง่ายเพราะพื้นที่ทำงานของมูลนิธิสืบฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งพวกเขาระมัดระวังตัวสูง คุยผิวเผินได้แต่จะถามเรื่องในชุมชนว่าพวกเขานับถืออะไร ใครเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือใครไม่ถูกกับใคร จะไม่มีใครยอมเปิดเผยง่าย ๆ วิธีที่พวกเราใช้คืออาศัยผูกมิตรกินอยู่กับเขานานพอที่จะทำให้เกิดความไว้ใจแล้วให้ข้อมูลกัน การทำแบบนี้ไม่เพียงช่วยให้รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการคุยเรื่องงานก็จะได้รับความร่วมมือ หรือเมื่อเกิดปัญหาในชุมชนก็จะเห็นภาพรวมแล้วมองออกว่าต้องแก้อย่างไร ควรเข้าหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือ”
คือความพิเศษของแผนที่เดินดินที่หาไม่ได้จากแอปพลิเคชัน Google Maps
คือกุศโลบายให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามจดจำชุมชนขึ้นใจจนไม่ต้องพึ่งแผนที่
“...เราทำงานบนแผนที่มาโดยตลอด แผนที่ต้องติดตัวคนทำงาน”
กางแผนที่ประกอบการอธิบายข้อมูลสภาพพื้นที่และความเป็นมาของชุมชนปกาเกอะญอที่บ้านพุระกำ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน