ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
งานวิจัยมีความเสี่ยง
กมล ปล้องใหม่
นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
จากจุดเริ่มต้นสู่ตำนาน งานวิจัย“นกเงือก” (ภาคสนาม)
กว่า ๔ ทศวรรษ
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
ผมเรียนชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลายปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ เหลืออีกสองสามวิชาจะจบ แต่ห้องแล็บไม่พอ ต้องจับฉลาก พอจับไม่ได้ก็ต้องไปเรียนอีกเทอม ระหว่างรออาจารย์ถามว่าช่วยทำเรื่องนกขุนทองได้ไหม ผมตัดสินใจไปช่วยก็เลยได้หัดตอกทอยขึ้นต้นไม้ เรียนรู้จากชาวบ้าน เขาใช้ตะปู ๓ นิ้ว ถ้ามันสูงมาก ๆ ผมใช้ตะปู ๔-๕ นิ้วเลย เน้นปลอดภัยไว้ก่อน พอพฤศจิกายน ๒๕๓๕ ผมกลับมาเรียนต่อจนจบ แล้วถูกชวนให้ไปทำนกเงือก ช่วงนั้นมูลนิธิต้องการคนพอดี
อาจารย์พิไลเป็นคนสัมภาษณ์ ถามผมว่าเรียนพันธุ์ไม้มาไหม ผมบอกเรียน taxonomy (อนุกรมวิธาน) อาจารย์บอกว่าได้ ถามต่อว่าปีนต้นไม้เป็นหรือเปล่า แกเล่าว่ามีโพรงนกเงือกเสียเยอะในแต่ละปี ไม่มีใครปีนขึ้นไปซ่อม ผมโอเค ตกลง
สมัครช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ตอนแรกอาจารย์จะให้เริ่มงานมกราคม แต่กลางเดือนธันวาคมอาจารย์บอกให้ขึ้นมาที่เขาใหญ่ ว่าทำได้ไหม ก็เริ่มซ่อมโพรงยาวมา ใช้วิธีตอกทอยขึ้นไปซ่อมโพรง
ตอนแรกเรายังไม่มีเชือก พอดีมีเวิร์กช็อปที่เขาใหญ่ สาธิตการจับนกเงือก ตอนนั้นฝนตก ผมปีนเถาวัลย์ขึ้นไปตัดแต่งกิ่งไม้ต้นข้าง ๆ ให้มันโล่งจะได้ขึ้นตาข่ายจับนก ปรากฏปีนขึ้นไปได้ ๑๐ เมตร เถาวัลย์ขาด ร่วงตกลงมาจากเหตุการณ์นั้นทีม BBC เลยบริจาคเชือก อุปกรณ์ปีนต้นไม้ให้สองชุด ช่วยสอนวิธีใช้ ช่างภาพ BBC ชอบถ่ายรูปบนเรือนยอดจะเก่งเรื่องพวกนี้
เมื่อก่อนอุปกรณ์ขึ้นต้นไม้แพง เชือกเส้นหนึ่ง ๓ หมื่นบาท ทาง BBC บอกว่าเขาจะบริจาคให้ สอนกันตอนนั้นเลย แล้วก็เริ่มใช้เชือก คือพวกช่างภาพต่างประเทศจะไม่ถ่ายกับพื้น บอกว่าภาพไม่สวย เขาต้องขึ้นเชือกหมด เราก็เลยขอเชือกไว้ อุปกรณ์อื่นก็ให้เขาเอากลับไป แต่เชือกเราได้ใช้ต่อ เชือกเส้นหนึ่งขึ้นบ่อย ๆ ก็อายุ ๓ ปี ใครมาเราก็ขอตุน ขอบริจาคไว้ก่อน
ก่อนตกเถาวัลย์เคยตอกทอยซ่อมโพรงนกแล้วทอยหลุด สมัยนั้นยังมีพราน เรากลัวพรานจะขึ้นไปขโมยลูกนกขาลงต้องหักทอยทิ้ง ทอยทำด้วยเถาวัลย์ขนาดข้อมือ ตัดยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร เอาตะปู ๔ นิ้วตอกตรงกลางสองตัว มีช่องตรงกลางสัก ๑๐ เซนติเมตร ติดทอยกับต้นไม้แล้วปีนสูงขึ้นไปเรื่อย ห่างกันสักประมาณ ๖๐ เซนติเมตร เท้าเหยียบขึ้นไปสูง ๓๐-๔๐ เมตร
เถาวัลย์ทน อยู่ได้เกือบปี พอเราลงมาต้องตัดทิ้งเพื่อป้องกันขโมยและไม่ให้คนรู้ว่าข้างบนมีรังนกเงือก ตะปู ๔ นิ้วตอกเข้าเนื้อไม้ลึกกว่า ๒ นิ้ว มันไม่มีทางถอนออกขาขึ้นใช้ขวานตอก ขาลงก็ค่อย ๆ สับลงมา พอเถาวัลย์ขาดก็จะมีรอยแตก ดึงเถาวัลย์ เหลือตะปูพับติดกับต้นไม่เห็นร่องรอย
ผมเกาะหน้าผากมัน ลอยกลางอากาศในท่ายืน พอขาผมถึงพื้นมันก็สะบัดผมหลุด ปลายเขาเกี่ยวเข้าที่ท้อง ตกลงมาคิด “ฉิบหายแล้ว”
ความตายเข้ามาเฉียดชีวิต ปี ๒๕๕๗ โดนกระทิงขวิดที่เขาใหญ่