นกชายเลนปากช้อน
นาเกลือโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร นกหายากที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก ประชากรเหลือราว ๘๐๐ ตัวเท่านั้น ในแต่ละปี “สปูนนี่” จะอพยพหนีความเหน็บหนาวในเขตทุนดรามาอาศัยหากินอยู่ตามหาดเลนและนาเกลือของประเทศไทย
ภาพ : นิยม ทองเหมือน
คนรักษ์นก นอกเขตอนุรักษ์
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
หัวใจผมเต้นไม่เป็นจังหวะจนแทบจะหลุดจากอก ระหว่างรอคนปลายทางรับสาย
“ตื๊ดดด...”
“อะไร”
“ปากช้อน”
“อะไรนะ” เขาถามกลับราวกับไม่เชื่อหู
“ปากช้อน พี่ เจอแล้ว...นกชายเลนปากช้อน”
“ตรงไหน”
“ข้างหน้าพี่นั่นแหละ ห่างออกไป ๓๐ เมตร ออกมาจากขอบบ่อไม่ถึง ๒๐ เมตรมั้ง”
เราอยู่บนผืนนาเกลือเดียวกัน ผมโทร. หาเขาจากคันดินริมฝั่งด้านหันขวางรับลมทะเล มองลึกเข้าไปในแผ่นดิน เห็นช่างภาพ สารคดี ยืนอยู่บนคันดินแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง ขาตั้งกล้องอยู่ห่างจากชายคาซุ้มบังไพรไม่กี่ก้าวเท่านั้น
เรามากันแต่เช้าตรู่ ผมประกบ เสรี มานิช เพื่อสัมภาษณ์ ในใจลึก ๆ หวังว่านักดูนกแห่งบ้านปากทะเลจะช่วยชี้เป้าให้
นาเกลือผืนเดียวกันแต่จุดที่ช่างภาพอยู่ห่างกันเกินไป ถึงเร่งฝีเท้าไปหา กว่าจะถึงจุดหมายนกหายากเสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลกก็คงย้ายจุดหากินไปไหนต่อไหนแล้ว
ความจริงจะเร่งฝีเท้าก็ไม่ได้ด้วยสิ...ข้อกำหนดของนักดูนกคือ “ความสุขของนกต้องมาก่อน” แผ่นป้ายหน้าศูนย์อนุรักษ์บ้านปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีก็บอกให้เดินเข้าไปดูนกช้า ๆ หลีกเลี่ยงทีท่าดักล้อมหน้าล้อมหลัง
กลางผืนนาเกลือสมุทรอันกว้างใหญ่ นอกชายฝั่งเป็นน้ำทะเลโอบกอดอยู่ทุกทิศทาง เราทำได้เพียงส่งกำลังใจ ลุ้นให้ช่างภาพหามันเจอ ขอให้นกหายากปรากฏตัวในช่องวิวไฟน์เดอร์
แต่แล้วก็เหมือนถูกดับฝันจากคนข้าง ๆ เสรีบอกว่าคันดินอาจบังมุมกล้องอยู่
ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนกดวางสาย
ผืนนาเกลือกว้างใหญ่ไม่ต่างจากทะเล เงานกชายเลนเป็นพัน ๆ ตัวสะท้อนลงบนผิวน้ำ แทบไม่มีหมุดหมายบอกอย่างชี้ชัดว่านกตัวเล็ก ๆ ยืนอยู่ตรงไหน
ในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ สิ่งที่เราทำได้คือยอมรับโชคชะตา
บางสิ่งสำคัญเหมือนคำที่คนพูดกันต่อ ๆ มาว่า
อยู่ใกล้ตา...แต่มองไม่เห็น
นาเกลือที่มนุษย์สร้างขึ้นกลายเป็นระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์ให้นกชายเลน โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า “นาขัง” หรือ “วังขังน้ำ” ซึ่งระดับความเค็มของน้ำยังไม่สูงนัก
คนอยู่ได้
นกอยู่ได้
“พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเป็นตัวอย่างเขตอนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทยที่ชัดเจนที่สุด ตรงตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง มีชาวบ้าน ชาวนาเกลือ คนตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันดูแลรักษา แต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครถูกเชิดหน้าชูตา ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งพักพิงของนกท้องถิ่นหายาก รวมทั้งนกอพยพที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกหลายชนิด”
นิยม ทองเหมือน ผู้จัดการโครงการบ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย อธิบายให้ผมฟังก่อนพบนกชายเลนปากช้อนตัวเป็น ๆ
นกจำนวนมากเข้ามาอาศัยหากินและเกาะนอนบริเวณทุ่งใหญ่ปากพลี เนื่องจากมีแหล่งน้ำและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญคือไม่ถูกรบกวนจากผู้คนมากนัก
พื้นที่สาธารณประโยชน์
ร่างกำยำแผ่ปีกบนพื้นขาวโพลนด้วยแสงจากดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะมองเหลี่ยมมุมใดก็บ่งบอกถึงเรือนกายอันโฉบเฉี่ยว ปราดเปรียวแบบนกนักล่า
คะเนด้วยสายตา เจ้าของปีกแข็งแรงบนท้องฟ้าน่าจะมีราว ๕๐ ชีวิต บินร่อนบนระดับความสูงไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ ฟุต