Image

กุโบร์ตะโละมาเนาะ ริมเทือกเขาบูโด ที่ฝากฝังร่างของเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ ๒๒ คน จากทั้งหมด ๘๕ คน สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่คนละฝั่งสายน้ำกับมัสยิดโบราณ บ้านตะโละมาเนาะ ซึ่งมีประวัติความเป็นมา เชื่อมโยงกับต้นธารการต่อสู้นับ ๓๐๐ ปี ของคนมลายูปาตานี แต่ผู้นำศาสนาที่ทำพิธีกรรมฝังศพกล่าวว่า ผู้กลับสู่อัลลอฮ์กลุ่มนี้ไม่ใช่ชะฮีด หรือการตายในสงครามที่ต่อสู้กับศัตรู พวกเขาเป็นเพียงผู้ชุมนุมทวงถามความเป็นธรรม โดยปราศจากอาวุธ

๒๐ ปี “ตากใบ” :
ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ บาดแผล

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ไม่ใช่จะมาทำเรื่องเหตุการณ์ตากใบอะไรอีกนะ คนเขาลืม ๆ กันไปแล้ว”

เสียงห้าว ๆ ของเจ้าหน้าที่ชายเจ้าของพื้นที่ดังมาจากข้างหลัง เมื่อเห็นเรายืนถ่ายรูปแม่น้ำตากใบอยู่หน้าสถานที่ราชการแห่งหนึ่งในหลายหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่บนถนนพิทักษ์ประชากิจ และมีที่โล่งอยู่ราว ๒ ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถ สนามเด็กเล่น กับสุมทุมพุ่มไม้เล็ก ๆ ลาดลงไปบรรจบกับฝั่งแม่น้ำ

บริเวณนี้ครั้งหนึ่งเป็นที่ร่วมชุมนุมของคนหลายพัน ซึ่งท้ายสุดนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ว่าได้ ที่เรียกขานกันต่อมาว่า “เหตุการณ์ตากใบ”

กล่าวกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐมากที่สุด  เป็นการชุมนุมที่มีคนตายมากที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการสูญเสียชีวิตคนบริสุทธิ์ที่มีตัวตนอยู่จริง มีถิ่นฐานบ้านช่องและหลักฐานยืนยันสถานะพลเมืองชัดเจน ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าลือหรือตำนานปรัมปรา ซึ่งรัฐยอมรับ มีการกล่าวขอโทษและจ่ายค่าเยียวยาให้ครอบครัวผู้สูญเสีย

และอาจด้วยเหตุนี้ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเหตุการณ์จบสิ้นแล้ว ไม่ควรรื้อฟื้นให้เกิดความวุ่นวายแตกแยกในสังคม

แต่ไม่ว่าใครอยากให้จดจำหรือใครอยากให้ลืม เหตุการณ์ตากใบก็ได้สร้างความทรงจำร่วมแก่คนรุ่นหนึ่ง และเป็นความทรงจำของคนรุ่นต่อมาแล้วด้วย

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งรัฐยอมรับ มีการกล่าวขอโทษและจ่ายค่าเยียวยา แต่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ยังต้องการความยุติธรรมในแง่การเปิดเผยความจริง

Image

หลักหินสลักอักษรยาวีความว่า “สุสานผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ๒๕ ตุลาคม ๒๐๐๔  ๑๑ เราะมะฎอน ๑๔๒๕” เป็นที่ระลึกถึงผู้จากไป และเป็นอนุสรณ์เตือนใจคนที่ยังอยู่ ให้รู้ค่าสันติสุข

Image

ท่าเรือตาบาของชุมชนดั้งเดิมซึ่งอยู่สุดเขตแดน อันเป็นที่มาของชื่อตากใบในภาษาไทย  วันเกิด “เหตุการณ์ตากใบ” คนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่สัญจรผ่านท่าเรือแห่งนี้เพื่อข้ามไปมากับฝั่งมาเลเซีย ถูกกวาดจับเป็นผู้ชุมนุมไปด้วย  นับตั้งแต่พื้นที่ชายแดนใต้อยู่ภายใต้ “กฎหมายพิเศษ” ท่าเรือ ถนน และพื้นที่ต้องสงสัยสุ่มเสี่ยง มักจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการหรือตระเวนตรวจตรา

ชนวน...

“เพื่อนโทร. บอกว่าวันที่ ๑๑ เขาจะแจกของหวานเดือนเราะมะฎอน”

หะยีดิ้ง มัยเซ็ง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคนและถูกยิงได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์

เราะมะฎอน เป็นเดือนที่ ๙ ในปฏิทินอิสลาม เป็นช่วงที่คนมุสลิมถือศีลอด งดอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก พร้อมกับการภาวนาชำระจิตใจและเข้มงวดกับการงดเว้นอบายมุข

วันที่ ๑๑ เดือนเราะมะฎอน ฮ.ศ. ๑๔๒๕ ที่หะยีดิ้งและคนชายแดนใต้อีกนับพันได้รับการชักชวนให้ไปรวมตัวที่ตากใบ ตรงกับวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗

ถ้าเป็นในพื้นที่อื่นก็คงนับเป็นการนัดชุมนุมกันธรรมดาทั่วไป แต่จะเป็นเพราะนราธิวาสในเวลานั้นอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก หรืออาจเพราะชาวบ้านไม่อยากเอาตัวเองเขาไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง จนทุกวันนี้ก็ยังแทบไม่มีใครแสดงตัวว่าตั้งใจจะไปชุมนุมด้วยตัวเอง มีแต่บอกว่าไปตามคำชักชวนของเพื่อนฝูงที่บอกว่าจะมีการแจกของ จะมีการทำละหมาดร่วมกัน บางคนบอกจะไปจ่ายตลาดแล้วบังเอิญตกอยู่ในที่ชุมนุม มีไม่มากที่บอกตามเป้าหมายจริงของผู้จัดการชุมนุมว่า ต้องการช่วย 
ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) หกคน ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อราว ๒ สัปดาห์ก่อนหน้านั้น

Image