Image
อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่โรงงานน้ำตาลไทย อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม EP.03
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ผู้ถือลิขสิทธิ์
พิชญ์ เยาวภิรมย์ สำเนาภาพต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพ
“นิยมไทย” ยุคแรก
ในแง่เศรษฐกิจ ยุครัฐบาลพระยาพหลฯ เป็น “ระยะเริ่มต้น” ของการวางพื้นฐานเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ที่จะมีแรงส่งไปยังยุครัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงครามฯ

ด้วยหลัง “สมุดปกเหลือง” มีปัญหา รัฐบาลก็เก็บใส่ลิ้นชัก แต่จะไปใช้แผนเศรษฐกิจแบบพระยามโนฯ ก็ไม่ใช่แนวทางที่ควรเป็น รัฐบาลพระยาพหลฯ จึงตัดสินใจใช้แนวชาตินิยม ส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ

ศ. ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ระบุใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมือง ในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ว่า ตอนนั้นนอกจากสมุดปกเหลือง ยังมี “โครงการเศรษฐกิจ” อีกเจ็ดโครงการ และ สาม “ข้อเสนอทั่วไป” ทั้งจากคนในรัฐบาล ผู้แทนราษฎร พ่อค้า นักธุรกิจ ที่ได้รับเสนอมายังรัฐบาลด้วย

แต่ในที่สุดนโยบายที่ถูกนำมาใช้ก็มีลักษณะชาตินิยม ซึ่งส่วนหนึ่งเสนอโดย วนิช ปานะนนท์, มังกร สามเสน, พระยาสุริยานุวัตร, หลวงวิจิตร-วาทการ ฯลฯ ผลักดันผ่านหลวงพิบูลฯ แนวนโยบายของกลุ่มนี้เน้นสนับสนุน “พ่อค้าไทย” (เชื้อสายจีน) ทั้งยังมีข้อเสนอจากพระสารสาสน์พลขันธ์ที่เคารพทรัพย์สินเอกชน แต่เสนอว่ารัฐต้องเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ทุนกับแรงงานมาเจอกันและทำงานได้ด้วย

นโยบายเศรษฐกิจแบบ “นิยมไทย” ปรากฏเป็นรูปธรรมในขอบเขตงานกระทรวงกลาโหมที่หลวงพิบูลฯ คุม เช่น ตั้งแผนกเชื้อเพลิง (ปี ๒๔๗๖/ที่มาของน้ำมันสามทหาร)  สร้างโรงงานฝ้ายสยาม (ปี ๒๔๗๘)  สร้างโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ของกรมแผนที่ (ปี ๒๔๗๙/เพิ่มกำลังการผลิตกระดาษในส่วนของราชการให้เพียงพอ)  สร้างโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (ปี ๒๔๗๘) ฯลฯ

อาจารย์ศรัญญูระบุว่าหลายเรื่องเป็นความก้าวหน้าสำคัญ เช่นโรงงานกระดาษไทยฯ เพราะ “ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ราชการใช้กระดาษเยอะมาก น่าแปลกที่สยามมีโรงงานกระดาษย่านสามเสนที่กำลังผลิตไม่พอแต่ก็ไม่มีการสร้างเพิ่มเติม” นายพันเอก พระยาพหลฯ ยังกล่าวในวันเปิดโรงงานว่า ต้องการใช้ประโยชน์จากต้นไผ่ที่มีมากในกาญจนบุรี โดยโรงงานนี้จะสร้างงาน บริการน้ำประปา ไฟฟ้า ให้คนกาญจนบุรีด้วยเพราะมีโรงงานผลิตในตัว ซึ่งจะทำการ “จำหน่ายราคาพอควรและให้เปล่า” ทั้งยังเป็นการวางรากฐานอุตสาหกรรมจากหน่วยงานที่คุ้นเคยเรื่องวิศวกรรมที่สุดคือทหาร (กลาโหม)
เมื่อไม่สามารถหยิบ "สมุดปกเหลือง" มาใช้ได้ รัฐบาลคณะราษฎรเลือกที่จะใช้ "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" แทน
และยุคพระยาพหลฯ คือยุคของการเริ่มต้นส่งเสริมกิจการของชาวสยาม

Image
โรงงานน้ำตาลไทย อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ถ่ายในช่วงต้นปี ๒๕๖๗
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image