Image
๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม EP.01
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ผู้ถือลิขสิทธิ์
พิชญ์ เยาวภิรมย์ สำเนาภาพต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพ
“ข้าพเจ้าไม่จำเป็นจะต้องกล่าวมากมายว่าระบอบรัฐธรรมนูญมีคุณประโยชน์แก่ชาวไทยเราเพียงไร เพราะจะกลายเป็นการยกยอไป เรื่องนี้ท่านย่อมทราบอยู่แก่ใจที่เป็นธรรมย่อมเห็นอยู่กับตาที่มีแววในทางเที่ยงตรงและได้ยินอยู่แก่หูที่ไม่เบาความแห่งทุก ๆ ท่านแล้ว...

คำของข้าพเจ้าที่กล่าวแต่เพียงว่ารัฐธรรมนูญทำให้เป็นคนเต็มคนได้เท่านี้ก็พอ...

ขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงยินดีด้วยระบอบรัฐธรรมนูญเถิด...”

ส่วนหนึ่งจากคำปรารภของพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา
อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒

สำหรับคนทั่วไปเมื่อได้ยินชื่อ “พระยาพหลฯ” หลายคนเลิกคิ้วด้วยความสงสัย

บ้างคุ้นหู แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้าของนามนี้คือใคร สำคัญอย่างไร

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อของเขาถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้น วิกฤตการเมืองที่ดำเนินมาเกือบ ๒ ทศวรรษทำให้คนจำนวนหนึ่งหันกลับมาสนใจเรื่องราวในยุคที่เขามีชีวิต ไม่ว่าจะตีความไปในแง่บวกหรือลบ

เรื่องราวของเขานั้นปรากฏน้อยนิด ทั้งที่เขาคือผู้เริ่ม “ก้าวแรก” ให้ประชาธิปไตยไทย นับตั้งแต่ก้าวเท้าขึ้นไปยืนบนลัง ล้วงกระเป๋าหยิบแผ่นกระดาษออกมาคลี่ ก่อนจะอ่านแถลงการณ์อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ด้วยเสียงอันดัง ท่ามกลางนายทหารหลายกรมกองที่ยืนชุมนุมปะปนกันตรงหน้า ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

เกือบศตวรรษหลังจากนั้น สปอตไลต์กลับส่องไปที่หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) “รุ่นน้อง” ร่วมคณะที่สร้างแรงสะเทือนส่งผลมายังปัจจุบันมากกว่า

ด้วยผู้เขียนเชื่อว่าจะทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางการเมืองให้ถ่องแท้ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงยาว (longue durée) โดยเฉพาะ “ปฐมบท” ต้นธารของเรื่องราว

ส่งท้ายคลื่นความร้อนกลางปี ๒๕๖๗ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยที่สงบลงชั่วคราว

สารคดี ชวนท่านผู้อ่านย้อนศึกษาชีวิตของหัวหน้าคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และการเมืองไทยยุค “ประชาธิปไตยหัดเดิน”

ด้วยหวังว่าเมื่อศึกษา “อดีต” จะเข้าใจ “ปัจจุบัน” มากขึ้น
Image
“พหลโยธิน”
ผู้มากับดวง

หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) คือชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ ระบุว่า “พจน์” ลืมตาดูโลกตอนตี ๓ ครึ่งของวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๓๐ ที่บ้านหน้าวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ก่อนย้ายมาอยู่ที่ “บ้านข้างตรอกวัดราชบูรณะเคียงกับศาลเจ้าแม่ทับทิม เยื้องกับกระทรวงธรรมการ”

เทียบตำแหน่งบนแผนที่กับกรุงเทพฯ ปี ๒๕๖๗ บริเวณนี้คือพื้นที่หลังพระบรมมหาราชวังด้านทิศใต้ เป็นย่านที่เจริญขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

บ้านที่พจน์ถือกำเนิดสันนิษฐานว่าอยู่ในพื้นที่ติดโรงเรียนสวนกุหลาบปัจจุบัน ทั้งนี้ “ส. พลายน้อย” นักเขียนสารคดีอาวุโส ยังสันนิษฐานอีกทฤษฎีว่าน่าจะอยู่บนถนนตรีเพชร

ส่วนบ้านหลังต่อมาน่าจะอยู่ใกล้กับบริเวณที่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนราชินี ซึ่งในอดีตกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ใช้เป็นที่ทำการระหว่างปี ๒๔๔๑-๒๔๔๗ โดยพื้นที่ใกล้ ๆ เคยเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมหลังเก่า
สายตระกูล “พหลโยธิน” รับราชการทหารและใช้บรรดาศักดิ์ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นบิดาและพี่ชาย เขาจึงแทบจะถูกวางอนาคตไว้คล้ายกัน

อายุได้ ๒ ขวบ พจน์ป่วยด้วยไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) แต่ก็รอดมาได้ จากนั้นเริ่มเรียนหนังสือด้วยการจำอักษรไทยบนกระดานดำที่บิดาเขียนทิ้งไว้วันละตัวสองตัวในตอนเช้า ตกเย็นบิดากลับมาถาม หากจำได้ก็จะได้รางวัลเป็น “อัฐ ๒ ไพ” จำไม่ได้ก็โดนลงโทษ
Image