Image

คน (เล่า) - เล่า (เรื่อง)
- เรื่อง (เล่า)

40 Years of Storytelling

เรื่อง : ถมทอง ทองนอก

******
อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเขียนถึง
ตัวเองไว้ว่า “I write and I ask question for a living.”
เพราะเคยทำงานสื่อมวลชนที่สัมภาษณ์คนเป็นอาชีพ
ก่อนมาชวนนักศึกษาตั้งคำถามถึงเรื่องต่าง ๆ
ในสังคม จึงเชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้และเติบโต
ผ่านการบันทึกและการตั้งคำถาม รวมถึงเชื่ออย่างยิ่งว่า
ก่อนถาม...จงฟัง และถ้ายังไม่ได้ยิน...จงอย่าพูด

นิตยสาร สารคดี รับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้กับคนไทยมาเป็นระยะเวลา ๔๐ ปีแล้ว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ งานเขียน “สารคดี” เปลี่ยนแปลงไปมากมาย

คนเล่าเรื่อง…เขาเป็นอย่างไรบ้าง ยังมีใครอยากทำงานเกี่ยวกับสารคดีอยู่ไหม

กระบวนการเล่าเรื่อง…เมื่อวันก่อนโน้นกับวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรื่องราวที่เล่า…เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ขนาดไหน ในฐานะคนรับหน้าที่เล่าเรื่องงานสารคดีให้นักศึกษาฟังอยู่เรื่อย ๆ จะขออนุญาตสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ค่ะ

ว่าด้วย “คนเล่าเรื่อง”

วันเด็กแห่งชาติในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า
จากกลุ่มตัวอย่าง ๗,๔๓๙ คน ๙.๕๗ เปอร์เซ็นต์อยากเป็นยูทูบเบอร์ นับเป็นความฝันลำดับที่ ๕ รองจากครู หมอ-พยาบาล พ่อค้า ทหาร-ตำรวจ

ในการสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเรียนต่อคณะสายวารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์ระดับปริญญาตรี คำตอบว่า “อยากเป็นคนทำคอนเทนต์” “อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์” หรือ “รู้จักคณะนี้เพราะพี่xxx ที่เป็นครีเอเตอร์พูดถึง” มีให้ได้ยินหนาหูขึ้นช่วง ๒-๓ ปีให้หลัง และดูเหมือนจะดังขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็น่าจะดังกว่าคำตอบ “อยากเป็นนักข่าว” หรือ “อยากทำงานทีวี” แน่ ๆ

นี่น่าจะพอเป็นหลักฐานได้ว่า มีคนรุ่นใหม่สนใจอยากเล่าเรื่องเป็นอาชีพอยู่พอประมาณ โดยอาชีพนักเล่าเรื่องของวัยรุ่นสมัยนี้มีคำเรียกรวม ๆ ว่า content creator ซึ่งใช้สำหรับคนในวงการงานสร้างสรรค์ และเป็นที่รู้จักมาก ๆ สมัยยุคดิจิทัลนี้เอง

ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาในยุคดิจิทัลทำงานในรูปแบบหลากหลาย ทั้งวิดีโอ วาดภาพ งานเขียนขนาดยาว โพสต์สั้น ๆ ที่สร้างขึ้นเฉพาะโซเชียลมีเดีย เล่าเรื่องผ่านเสียงหรือทำพอดแคสต์ โดยเรียกตัวเองตามชื่อแพลตฟอร์มที่ทำงานว่าเป็น YouTuber หรือ TikToker ซึ่งเนื้อหามีทั้งสาระความรู้ ข้อมูลข่าวสาร จนถึงเล่าชีวิตประจำวันของตัวเองหรือทำเนื้อหาสนุก ๆ เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม 

รายได้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้อาชีพ content creator ต่างจากคนทำงานสื่อแบบดั้งเดิม เพราะอาจได้รับการสนับสนุนทั้งจากสปอนเซอร์ทางตรงที่เป็นแบรนด์สินค้าและผู้ติดตามที่ชอบ พร้อม “เปย์” จ่ายเงินให้เมื่อถูกใจคอนเทนต์ หรือถ้าในเนื้อหาที่นำเสนอแปะ affiliate link (ลิงก์ที่สามารถกดต่อเพื่อชมหรือซื้อสินค้าได้) ก็จะมีรายได้จากแพลตฟอร์มของลิงก์นั้น นอกจากนี้ถ้ามีสินค้าของตัวเองก็จะมีรายได้จากการขายสินค้าด้วย

ในชั้นเรียนเคยถามชาวเจเนอเรชัน Z รู้สึกอย่างไรกับคำว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะก็คือคนในรุ่นพวกเขาเช่นกันที่บางครั้งพูดว่า “ก็แค่ทำคอนเทนต์” สำหรับเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพนัก หรือใช้อธิบายพฤติกรรมที่อาจดูไม่เหมาะสม หรือ “เกินไป” ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำเพื่อนำเสนอในพื้นที่ของตัวเอง  นักศึกษาแทบทุกคนบอกว่าสำหรับพวกเขา คอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นคำกลาง ๆ ไม่มีความรู้สึกบวกหรือลบกับอาชีพนี้ ส่วน content หมายถึง เนื้อหา จึงอาจมีทั้งที่มีคุณภาพและไม่มี ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจว่าเพราะอะไรคนในเจเนอเรชันต่างไปจึงตั้งคำถามด้วยตัวพวกเขาเองก็ยังรู้สึกว่ามีคอนเทนต์ที่เป็น “แค่คอนเทนต์” เพื่อดึงดูดความสนใจเท่านั้นจริง ๆ

นอกจากคำว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังมีคำว่า storyteller ซึ่งมักพูดถึงเมื่อคุยกันเรื่อง “อาชีพคนเล่าเรื่อง”

จากข้อมูลแม้ storyteller จะหมายถึงคนที่เล่าเรื่องผ่านวิธีการและสื่อหลากหลายเช่นเดียวกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แต่สิ่งที่ต่างกันน่าจะอยู่ตรงความละเมียดและประณีตของกระบวนการสร้างเรื่องเล่าที่ storyteller จะให้ความสำคัญมากกว่า (แต่ก็ไม่อาจการันตีได้ว่าเสมอไป) เพราะตั้งใจจะให้เรื่องนั้นสร้างผลกระทบบางประการต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ชม รวมถึงให้ความสำคัญกับความหมายของเรื่องที่เล่าอย่างยิ่ง

คนทำหนัง คนเขียนนิยาย นักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน หรือพ่อแม่ที่แต่งนิทานเล่าให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน ซึ่งใช้เวลากับกระบวนการคิดว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ผู้ฟังได้ และจะส่งผลกระทบกับคนนั้นตรงไหน ด้วยวิธีการใด จึงน่าจะเรียกว่าเป็น storyteller มากกว่า content creator ด้วยคำอธิบายชุดนี้ งานที่ปรากฏในนิตยสารสารคดี จึงน่าจะเอนเอียงเป็น story มากกว่า content และมนุษย์ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานกว่า ๔ ทศวรรษของนิตยสารที่ทุกคนถืออยู่ในมือตอนนี้ จึงอาจเรียกว่า storyteller หรือนักเล่าเรื่อง เพราะในฐานะคนอ่านทั้งฉบับพิมพ์และออนไลน์ มั่นใจว่ามีหลายต่อหลายครั้งเหลือเกินที่ตัวหนังสือ ภาพถ่าย กระทั่งลายเส้นของภาพประกอบทำให้ความรู้สึกที่มีต่อเรื่องบางเรื่อง ประเด็นบางประเด็นและคนบางคน เปลี่ยนไปจากเดิม หรือหากไม่เปลี่ยนทันทีขณะอ่าน ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญติดอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งในความทรงจำที่พร้อมนำมาใช้เถียงกับตัวเองเสมอ ๆ

Image

Image