จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต
ช่างภาพไทยในสหรัฐอเมริกา
Photographer
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต
หากพูดถึง “นักเขียนสารคดีหญิง” ของเมืองไทย คนส่วนใหญ่อาจจะนับจำนวนได้ไม่เกินนิ้วมือหนึ่งข้าง อาจเพราะด้วยลักษณะงานที่สมบุกสมบัน ทำให้วงการนี้กลายเป็นวงการของ “ผู้ชาย” มาแต่ไหนแต่ไร
จำนวนที่ว่านั้นน่าจะยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อพูดถึง “ช่างภาพหญิง” ยังไม่ต้องกล่าวถึงคนที่มีผลงานก้าวข้ามเส้นเขตแดนประเทศออกไปสู่สื่อระดับนานาชาติ
หนึ่งใน “จำนวนน้อย” ที่ว่านั้นคือ ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต สาวไทยวัยไม่ถึง ๓๐ ที่มีผลงานโลดแล่นในสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลายหัว เช่น นิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) วอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal)
แม้ว่าคนไทย สื่อไทยส่วนมากจะตื่นเต้นกับความสำเร็จของเธอ แต่ปูเป้กลับบอกเราว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น เธอต้องผ่านการเคี่ยวกรำและอุปสรรคมาไม่น้อย โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เธอมาถึงจุดนี้ได้คือ “โอกาส” ที่สังคมอเมริกันและนครนิวยอร์กมอบให้ ประสบการณ์ของเธอเป็นกระจกสะท้อนวงการถ่ายภาพสารคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคน การเรียนรู้ การจัดการวิธีคิด และการให้โอกาสกับสิ่งใหม่
นี่เป็นสิ่งที่ปูเป้สะท้อนให้เราฟังจากอีกซีกโลกตลอดการสนทนา
๑
จับกล้อง
เรียนในขนบ-นอกขนบ
“สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายคิดว่าถ้าจะถ่ายรูปต้องเดินทางไปที่ไกล ๆ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป แต่ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง ไม่มีเงินมากมายอะไร ตอนนั้นเอากล้อง Nikon D60 ถ่ายภาพเพื่อน งานโรงเรียน ในช่วงนั้นอาจเป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกจริงจังกับมันเท่าไร
“ตอนที่เข้า ‘ค่ายสารคดี-ค่ายสร้างคนบันทึกสังคม’ (ปี ๒๕๕๙/ค.ศ. ๒๐๑๖) ของ สารคดี ถ้าจำไม่ผิดใกล้จบมหาวิทยาลัยแล้ว ได้ถ่ายภาพเล่าเรื่อง แต่เป็นแนวอนุรักษนิยม ตรงไปตรงมา หัวข้อที่ทำคือ ถนนกีบหมู : ละครชีวิตแรงงานอิสระ รู้สึกว่าค่ายเน้นงานเขียนมากกว่าภาพ ภาพเป็นแค่ตัวประกอบ
“ต่อมามีโอกาสเรียนถ่ายภาพที่ The International Center of Photography (ICP) นครนิวยอร์ก เป็นหลักสูตร ๑ ปี เปิดโลกมาก ทำให้เข้าใจแนวคิด (concept) ของการถ่ายภาพมากขึ้น จากเดิมคิดแค่ภาพใบเดียวก็พอ ก็มององค์รวมมากขึ้น ตอนเอาแฟ้มงานไปให้เขาดู บอกเขาว่าเราถนัดถ่ายภาพใบเดียวจบ เห็นอะไรน่าสนุกตามถนนก็ถ่ายมา ทำภาพชุดไม่เป็น ฝรั่งบอกว่าสิ่งที่ถ่ายมานี่แหละทำภาพเป็นชุดได้ เช่น เดิมเรามองภาพเด็กทำไอศกรีมหล่น ภาพผู้หญิงที่รองเท้าส้นหลุด เป็นคนละเรื่องกัน แต่ฝรั่งบอกว่าไปด้วยกันได้โดยแกนเรื่องคืออุบัติเหตุ ถ้าคิดแบบนี้ ภาพคนทำลูกโป่งหลุดมือก็เอามารวมได้ วันหนึ่งเราอาจเอาภาพลักษณะนี้มารวมกันเป็นสิบ ยี่สิบรูปก็ได้ แล้วกลายเป็นภาพชุด
The International Center of Photography (ICP) ก่อตั้งในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๑๗/ค.ศ. ๑๙๗๔ โดย คอร์แนลล์ คาปา (Cornell Capa) ช่างภาพชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี เพื่อทำงานเกี่ยวกับภาพถ่ายที่ให้ความรู้แก่สาธารณะ และเปลี่ยนแปลงโลก ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย เปิดหลักสูตรอบรมการถ่ายภาพ ทำงานกับชุมชน และร่วมงานกับองค์กรสาธารณะ ICP ยังเปิดพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับภาพถ่ายเป็นระยะด้วย