Image

นิทานใบไม้
ของยายกับหลาน

สุขต่างวัย

ทีมหลานกับยายนิทานใบไม้
เรื่อง: อัมพิกา ไกรอ่ำ ปรีดีธิดา ชมภูพงษ์
ภาพ: สุเชาว์ ชมภูพงษ์

สองมือเล็ก ๆ ของเด็กหญิงวัยอนุบาลค่อย ๆ ตัดใบไม้ให้กลายเป็นฝูงห่านตัวน้อยใหญ่ ใบหน้ายิ้มละไม ดวงตากลมโต ขนตางอนยาว แววตาบ่งบอกถึงความมุ่งมั่น ระมัดระวัง เจือไปด้วยความสนุกสนาน ท้าทาย

ใช่...มันคือความท้าทายของเราสองคน ยาย หลาน โดยอาศัยความร่วมมือของคนในครอบครัว

เป็นครั้งแรกของเราที่จะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยการเล่านิทาน

อาคันตุกะ

เมื่อฉันตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเล่านิทาน นั่นเริ่มมาจากเพื่อนทำกิจกรรม มหกรรมศิลปะชุมชนฯ D-Jung week ประกาศรับสมัครครอบครัวที่สนใจเล่านิทานใบไม้ผ่านการไลฟ์สด ในช่วงที่เชื้อโควิด-๑๙ คุกคามโลกใบนี้ เราชาวโลกก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ เพื่อเด็กและครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน

ด้วยเหตุดังกล่าว ฉัน...คุณยาย หลาน...น้องน้ำอิง จึงมองใบไม้ต่างจากที่เคยมองทุกวัน

เรามองใบไม้ในฐานะอาคันตุกะที่เราจะเชื้อเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมที่สนุกสนาน แล้วอาคันตุกะท่านใดบ้างล่ะที่จะเหมาะสมกับการไปร่วมรายการกับเรา แน่นอนว่าย่อมต้องมีคุณสมบัติบางประการสอดคล้องกับนิทานเรื่องห่านน้อยนักแก้ปัญหา

บางวันในช่วงบ่ายและบางวันในช่วงเช้า เราจะลงมาเดินเล่นบริเวณสนามที่พักซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นไม้ปลูกไว้ให้ร่มเงาหลากหลายชนิด ใบไม้จึงมีมากมาย เช่น ใบลั่นทมทั้งแห้งสีน้ำตาล น้ำตาลอมเขียว ใบตองกล้วยเขียวขจี กิ่งไม้แห้ง ใบมะยม ฯลฯ ค่อยๆ เก็บใบไม้เหล่านี้อย่างเบามือ เชื้อเชิญด้วยความรัก มาร่วมแปลงร่างเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยกับเรา

ตอนเช้าของวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ในห้องนั่งเล่นจึงเต็มไปด้วยอุปกรณ์ ใบไม้สด แห้ง กรรไกร กาว สก็อตเทปใส ปืนกาว จอหนัง ไฟ และทีมงานประกอบด้วยคุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ น้องน้ำอิง น้องลำธาร พร้อมปฏิบัติการ

Image

ใบไม้แปลงร่าง

ก่อนหน้าที่จะสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ฉันถามหลานว่ามีกิจกรรมเล่านิทานไลฟ์สด น้ำอิงสนใจเข้าร่วมเล่านิทานกับยายไหม น้ำอิงตอบตกลง นิทานที่จะนำมาเล่าจึงเป็นเรื่องที่จะต้องคุยกัน

“อ่าน ๑๕ นาทีทุกวัน สร้างมหัศจรรย์แห่งชีวิต”

เป็นคำกล่าวของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ด้วยความเชื่อนี้บ้านเราจึงมีนิทานจำนวนมาก เรื่องที่จะเลือกไปเล่าคือไม่ยาวจนเกินไป ออกแบบตัวละครง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาเลือกนิทานประมาณ ๑ สัปดาห์ สุดท้ายเลือกได้สี่เล่ม คือ แม่ไก่แดงแสนขยัน แพะสามตัว เพื่อนรักในป่าใหญ่ ห่านน้อยนักแก้ปัญหา

จากสี่เล่ม นำมาทดลองเล่าทีละเล่ม และเรื่องห่านน้อยนักแก้ปัญหา ผลงานของ Caroline Jayne Church คือเรื่องที่เลือกได้

เริ่มจากให้คุณพ่อของน้ำอิงเป็นผู้ร่างรูปห่าน และหมาป่าในกระดาษ ตัดกระดาษ เอากระดาษรูปห่านและหมาป่ามาทาบใบไม้ ใช้ก้านมะพร้าวทำเป็นไม้กลัด ตัดใบไม้ตามขนาดที่วางไว้ ซึ่งมีทั้งเล็ก กลางใหญ่ จำนวนห้าตัว เลือกว่าตัวไหนจะเป็นแม่ห่าน ตัวไหนจะเป็นห่านมอมแมม ฯลฯ ใช้เวลาครึ่งวันสร้างตัวละคร

ตอนบ่ายเราจะเริ่มซ้อมจริง

ครั้งแรกตกลงกันว่าฉันจะเป็นคนเล่า เด็กน้อยน้ำอิงกับยายจะช่วยกันเชิดหุ่นใบไม้ พอเริ่มซ้อมไปสองรอบ หลานก็บอกว่า

Image

“คุณยายเล่าไม่ถูก น้ำอิงจะเป็นคนเล่าเอง”

ฉันหัวเราะเบา ๆ มองหน้าหลานสาว สีหน้าเด็กน้อยเมื่อพูดประโยคนี้ดูแล้วเหมือนไม่ใช่เด็กหญิงอายุ ๖ ขวบ มั่นอกมั่นใจมาก พลอยทำให้คุณยายโล่งใจ หลังจากที่รู้สึกเหมือนมีภูเขาหินมาทับในใจนานนับสัปดาห์ ฉันยอมรับว่าหนักใจจนบางครั้งคิดว่า ไม่น่าหลวมตัวสมัคร

เมื่อเริ่มซ้อมกับจอที่ต้องใช้แสงเงา ในเรื่องมีฉากหิมะตก ฉากพระจันทร์เต็มดวง หิมะตกจะทำอย่างไรดี

ทางเลือกของเราคือถามเพื่อน ๆ ในกลุ่มเล่านิทานใบไม้ ใช้อะไรทำแสงเงาหิมะตกได้บ้าง เพื่อน ๆ เสนอมาหลายความคิดเห็น แบบแรกใช้เม็ดโฟมโปรยปราย แบบที่ ๒ ใช้กระดาษเจาะเป็นรูกลม ๆ เต็มแผ่น เวลาทำหิมะโปรยก็ขยับแผ่นกระดาษไปมาผ่านแสงไฟ

เราไม่มีเม็ดโฟม จึงใช้แบบที่ ๒ ทดลองแล้วได้ผลดีเป็นที่พอใจ ส่วนพระจันทร์เต็มดวงใช้ไฟฉายส่องแทน

ซ้อมเล่านิทานมากกว่า ๑๐ รอบ หลานบอกว่า “เสียงแหบหมดแล้วยาย”

เด็กน้อยขอเป็นคนเล่า เชิดหุ่นห่านมอมแมม ดวงจันทร์ หิมะ ส่วนยายเชิดหุ่นหมาป่า ต้นไม้ ฝูงห่าน คุณแม่เจนให้กำลังใจ คุณพ่อติดตั้งจอหนัง คอยเป็นผู้ชมตอนเราซ้อม น้องลำธารอายุ ๓ ขวบอยากมีส่วนร่วม เดินเตะขากล้อง เชิดหุ่นจนขาดต้องซ่อมแซมใหม่

ชุลมุน ตื่นเต้น ทั้งมั่นใจ ทั้งกังวล

D-Day
๒๐.๐๐ น.
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕

คุณยายอายุ ๖๐ กับหลานสาวอายุ ๖ ขวบ ห่างกัน ๕๔ ปี นั่นยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างอายุกลายมาเป็นประสบการณ์ร่วมที่น่ารัก

สองคนนั่งอยู่หน้าจอทักทายผู้ชม พูดคุยเข้ากันอย่างไม่เคอะเขินเป็นธรรมชาติทั้ง ๆ ที่เป็นครั้งแรกที่อยู่หน้าจอที่มีคนชมทั่วประเทศ แม้ไม่ยิ่งใหญ่แต่ก็ชวนให้ข้างในหวั่นไหวไม่น้อย

จบการทักทายเคลื่อนย้ายตัวเองมาหลังจอ เพื่อเชิดตัวหุ่นพร้อมเล่านิทาน

เปิดฉาก

“ณ บึงแห่งหนึ่งมีฝูงห่านใหญ่น้อยอาศัยอยู่รวมกัน” เสียงใส ๆ เล่า พร้อมหุ่นห่านใบไม้ทยอยออกมาที่หน้าจอ ต้นไม้ริมบึงทำจากกิ่งไม้แห้งก็ขยับร่างมายืนต้นอย่างสง่างาม

“มีห่านตัวหนึ่งชื่อห่านมอมแมม เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยดินโคลน เพื่อน ๆ ไม่ชอบเล่นกันมอมแมม เพราะมอมแมมสกปรก” ห่านทุกตัวเมินหนีมอมแมม

“นอกจากฝูงห่านแล้วในป่าแห่งนี้ยังมีเจ้าหมาป่าด้วย” เสียงใส ๆ ยังคงเล่าอย่างเจื้อยแจ้ว ต่อเนื่อง

“ค่ำคืนที่มืดมิดเจ้าหมาป่าก็ออกมาล่าเหยื่อ ห่านทุกตัววิ่งหนี ห่านหลายตัวตกเป็นเหยื่อของเจ้าหมาป่า ห่านมอมแมมไม่ได้วิ่งหนี เหมือนห่านตัวอื่น ๆ แต่มันก็ปลอดภัย”

หุ่นหมาป่าออกมาไล่งับห่าน ห่านใบไม้วิ่งหนีกันวุ่นวาย

“เพื่อน ๆ ห่านทุกตัวจึงถามมอมแมม เจ้าห่านตัวมอมกระซิบบอก ทันใดนั้นเพื่อนของมันก็กระโดดลงไปชุบตัวในบ่อโคลนทุกตัว”

“นับจากวันนั้นมาเจ้าหมาป่าก็ไม่ได้กินห่านอีกเลย มันผอม หิวโซ เดินเซ”

เจ้าใบไม้หมาป่าเดินโซเซ ๆ ในหน้าจอที่เชิดหุ่น สองยายหลานมือชนกันขณะจับสับเปลี่ยนหุ่นใบไม้ หลังจอมีเสียงหัวเราะเบา ๆ

“วันหนึ่งเจ้าห่านมอมแมมล้างตัวสะอาด ขนเป็นสีขาวมันวาววับ มันพยายามบอกเพื่อนให้ไปล้างตัว แต่ไม่มีใครฟังเลย”

“ค่ำคืนนั้นหิมะโปรยปรายคลุมพื้นดิน (กระดาษเจาะรู กับไฟฉายเข้ามาทำบทบาทหิมะโปรย) ห่านทุกตัวที่เปื้อนโคลนจึงมองเห็นได้ชัดเจนในความขาวโพลน หมาป่ากระหยิ่มย่อง เจ้าห่านกลายเป็นเหยื่ออันโอชะ งับ ๆๆๆ อั้มๆๆ เสียงหมาป่าขย้ำ เสียงห่านร้องพลางหนีตายในค่ำคืนนั้น

“แต่เจ้าห่านมอมแมมยังคงปลอดภัย”
รูปหัวใจลอยขึ้นมาหน้าเฟซบุ๊กตลอดเวลา มีข้อความให้กำลังใจไม่ขาดสาย

บรรยากาศตอนนั้นยากจะบรรยาย ความรู้สึกฟูฟ่องเปี่ยมด้วยพลังบวก สร้างสรรค์ น้ำเสียงใส ๆ ของเด็กน้อยเล่าเจื้อยแจ้ว คุณพ่อ คุณแม่ น้องชายชมอยู่ด้านหน้า

ปากเล่าเรื่องราว มือเชิดหุ่น ในใจน้ำอิงจะเปี่ยมด้วยความสุขเพียงใดหนอ ส่วนในใจฉันคงนึกถึงคำพูดของคุณหมอคนเดิมที่กล่าวว่า

Image

นิทานทุกเล่มเป็นขุมทรัพย์
มิไกลเหมือนสุดขอบฟ้า
หากแต่ใกล้เหมือนอยู่ต่อตา
อย่าลืมว่าใกล้ที่สุด มีค่ามากที่สุด
คือตัวเป็น ๆ ของพ่อแม่ที่กำลังอ่านนิทานให้ลูกฟังนั่นเอง

แม้เวลาล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว ถนนแห่งความทรงจำและจินตนาการทอดยาวไกลไร้ที่สิ้นสุด

สิ่งดี ๆ ที่เรามีส่วนสร้างร่วมกัน ทำให้ค้นพบว่ามนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ไม่มีขีดจำกัด

ขอเพียงเชื่อมั่นพลังบวกในตัวเอง เปิดพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ

นั่นคือความงดงามที่โอบเอื้อให้เขาได้เติบโตจากภายในสู่ภายนอก

Image