ภูถ้ำ : ลานดอกไม้ สายธาร
และตำนานป่าต้นน้ำ
สุขหมุนรอบตัวเรา
ทีมบ้านอุ่นบุญ
เรื่อง : น้อยนุช แพงวงษ์
ภาพ : แพรวพราว กองเกิด
ถนนลูกรังสีแดงที่ทอดยาวไปทางทิศเหนือ จากสี่แยกในตัวอำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมฯ ประจำอำเภอ คือ โรงเรียนแวงน้อยศึกษา
นอกจากเป็นทางเดินเท้าและทางจักรยานที่ใช้เป็นยานพาหนะของนักเรียนแล้ว สิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้ง คือ รถเข็นสองล้อที่โครงรถทำด้วยไม้
ขบวนคนเดินเท้าเข็นรถเปล่าทยอยผ่านโรงเรียนในช่วงเช้า ช่วงสายถึงบ่ายคล้อย รถเข็นบรรทุกต้นไม้ขนาดไม่ใหญ่ที่ถูกตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยเต็มคัน มีหลักไม้สี่ด้าน เพื่อให้บรรทุกได้มากที่สุด หรือเท่าที่มีแรงเข็นย้อนกลับมาเส้นทางเดิม วันแล้ววันเล่า เป็นภาพชินตา
“ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นที่อยู่ไกลออกไปทางทุ่งนอกตัวอำเภอมาตัดต้นไม้น้อยที่ป่าภูถ้ำไปทำฟืน เผาถ่าน” คำบอกเล่าจากเพื่อนนักเรียนในหมู่บ้านลึกเข้าไปตามถนนลูกรัง เมื่อครั้งฉันเป็นนักเรียนมัธยมฯ ต้น...เวลาผ่านมาแล้ว ๔๐ ปี
รัตนา ลูกสาวป้าเซียม เจ้าของร้านค้าหน้าโรงเรียน เป็นเจ้าหน้าที่ของ “สมาคมเพื่อนภู”
เธอเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านหนองแขมอีโล ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ทำงานปัจจุบันของฉัน
เจ้าหน้าที่สาวเล่าว่า สมาคมเพื่อนภูเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลความรู้ ข่าวสารเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือในการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนางานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับหน่วยงานต่างๆ
ต้นฤดูฝน ปี ๒๕๖๖ สมาคมเพื่อนภูเชิญชวนโรงเรียนของเราให้นำนักเรียนระดับมัธยมฯ ต้น ๒๐ คน เรียนรู้เชิงปฏิบัติการเรื่องป่าภูถ้ำ ภูกระแต และซ่อมฝายชะลอน้ำเตรียมเข้าสู่ฤดูฝน ฉันกับครูอีกสองคนได้รับมอบหมายให้นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้
ก่อนเริ่มกิจกรรมภาคปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๗ (ขอนแก่น) ผู้เป็นวิทยากรนำเราไปที่ศูนย์เรียนรู้ของสมาคมเพื่อนภู บรรยายให้ความรู้จากแผนภาพขนาดใหญ่ที่จัดแสดงในห้องนั้น
ป่าภูถ้ำ ภูกระแตมีพื้นที่ประมาณ ๒,๘๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เป็นส่วนหนึ่งของวนอุทยานภูหัน-ภูระงำตอนล่าง
ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงลอนคลื่น ป่าไม่อุ้มน้ำ เพราะเป็นดินร่วนปนทราย มีฝนน้อย และการขาดความรู้ในการใช้ประโยชน์จากป่า ต้นไม้แรกรุ่นถูกตัดทำฟืน ทำถ่าน พื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบจึงมีปรากฏการณ์แล้งซ้ำซากมายาวนาน
การบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อตั้งถิ่นฐาน จับจองที่ดิน ทำการเพาะปลูกพืชไร่จากผู้คนที่อพยพมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด ทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว
ต่อมามีหน่วยงานเข้าจัดสรรพื้นที่ป่าให้เป็นที่ดินทำกินแก่เกษตรกร ทั้งยังเกิดการบุกรุกของชาวบ้าน และนายทุนนอกพื้นที่ มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว
พื้นที่ป่าลดลงกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม
การฟื้นฟูป่าภูถ้ำเริ่มขึ้นจริงจังด้วยความร่วมมือของชุมชนรอบป่า กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูถ้ำ ภูกระแต ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เอสซีจี และหน่วยงานอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษา วิจัย ใช้ทั้งภูมิปัญญา บวชป่า ปลูกป่าเพิ่ม ส่งเสริมการเกษตรแบบดั้งเดิม สร้างฝายรับน้ำ พัฒนาการบริหารจัดการน้ำ ให้ความรู้และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
กิจกรรมเหล่านี้นำความสมบูรณ์คืนสู่ผืนป่าภูถ้ำ ภูกระแต พื้นที่เกษตรโดยรอบ สร้างน้ำให้แก่บึงละหานนา บึงน้ำใหญ่ในพื้นที่ตอนใต้ของอำเภอแวงน้อยซึ่งเชื่อมต่อเขตอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำชีในเขตอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
เป็นเวลาหลายปีกว่าป่าภูถ้ำจะอุดมสมบูรณ์อย่างคำขวัญประจำอำเภอแวงน้อย
“แวงน้อยงามน้ำใจดี พ่อหมื่นศรีหลักเมือง ลือเลื่องปลาบึงละหาน ตำนานเก่าหินภูถ้ำ ไหลลึกล้ำน้ำซับเย็น ธรรมะเด่นหลวงปู่วรพรต ทุ่งเขียวสดไร่นาสวนผสม”
วิทยากรจบการบรรยายภายในเวลาไม่นานนัก แต่แน่นหนักด้วยเนื้อหาน่าสนใจ ฟังเพลิน
เมื่อรับฟังข้อมูลจากวิทยากรแล้ว เราไปที่ป่าและช่วยซ่อมฝายชะลอน้ำตามจุดที่ชำรุดด้วยการนำทรายป่าผสมปูนซีเมนต์บรรจุกระสอบไปวางที่ทางน้ำป่าไหลผ่าน เพื่อลดการกัดเซาะหน้าดินและความเร็วของน้ำฝน ช่วยให้ป่าซับน้ำได้ดีขึ้น
การมาร่วมกิจกรรมทำให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ สัมผัสธรรมชาติ ซึ่งจะก่อเกิดจิตสำนึกรักและรู้คุณค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
กลับจากนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้น ฉันเฝ้าครุ่นคิดถึงเรื่องป่าภูถ้ำ
“ป้าเย็น อยู่ป่าภูถ้ำมีดอกเขียวไข่กาไหม ”
ฉันละสายตาจากจอภาพทุ่งดอกไม้ที่กำลังชมอยู่ก่อนเอ่ยถาม
“มีสิ” ป้าเย็นตอบเน้นเสียงเหมือนย้ำว่ามีแน่นอน
“พาไปดูหน่อย พรุ่งนี้ช่วงบ่ายได้ไหม”
บ่ายวันต่อมา ฉันกับป้าเย็นเตรียมสัมภาระทีจำเป็นพร้อมออกเดินทางตามหาดอกไม้ที่เห็นในภาพ-ดอกเขียวไข่กา (ชื่อทางการ สรัสจันทร)
ย้อนกลับไปหลายปีก่อน เป็นครั้งแรกของฉันที่ไปเยือนป่าภูถ้ำกับการค้นพบสำคัญ โดยผู้นำทางคือป้าเย็น
ป้าเย็นเป็นหญิงม่ายวัย ๖๗ ปี อาศัยอยู่ในบ้านไม้หลังเก่าในหมู่บ้านหนองแขม ด้วยเป็นผู้มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดี จึงทำหน้าที่เป็นแม่ครัวปรุงอาหารกลางวันให้เด็กๆ เป็นแม่บ้านของโรงเรียน เป็นแม่ครูเย็นของเด็กๆ
“ตอนพวกฉันเป็นเด็กน้อย มาเลี้ยงควายถึงในป่าภูถ้ำ ต้นไม้พวกนี้ยังน้อยๆ อยู่ เคยเห็น เคยเก็บกิน เคยปีนโน้มกิ่งต้นพอกน้อยเล่นคนละกิ่ง ม่วนหลาย”
การช่วยเลี้ยงควาย เล่น เรียนรู้เรื่องป่าและธรรมชาติ เป็นวิถีชีวิตที่มีความสุขในวัยเยาว์
ควายเป็นทรัพย์สินสำคัญ ครอบครัวที่มีควายไว้ช่วยทำนา มีที่นาเป็นมรดกให้ลูกหลาน เป็นความมั่งคั่งมั่นคง งานเลี้ยงควายทุกคนจึงเต็มใจทำ
การเลี้ยงควายอย่างจริงจังช่วงหน้าแล้งซึ่งควายว่างจากฤดูกาลทำนา...จากคอกควายถึงทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน ผ่านทุ่งโล่งกว้าง ไกลถึงชายป่า สู่ภูถ้ำ ผู้คนหลายรุ่นเคยทิ้งรอยเท้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนเส้นทางนี้
ต้นฤดูฝนครั้งหนึ่ง ป้าเย็นส่งกับข้าวมาจากห้องครัว เป็นลาบปลาดุก ผักเคียงมี โหระพา ดอกข่าอ่อน ดอกอัญชัน และยอดผักที่ป้าเย็นบอกคือยอดตาปลา รสจืดๆ มันๆ เข้ากับลาบปลาดุกอย่างไม่น่าเชื่อ
“ยอดตาปลาคือยอดเถาวัลย์เปรียง เก็บมาจากต้นไม้ริมรั้วหลังโรงเรียนโน่นแน่ะ”
ว่าพลางชี้ไปทางแนวไม้ครึ้มซึ่งเป็นที่ตั้งศาลตาปู่ บริเวณนั้นมีไม้ป่าหลายชนิด ทั้งต้นพะยอม สะแบง มะค่าแต้ มะค่าโมง พื้นที่ใดมนุษย์เคารพธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะตอบแทนด้วยความร่มเย็น
ย่างเข้ากลางฤดูฝน เครือตาปลาหรือเถาวัลย์เปรียงจะเลื้อยขึ้นสูง แผ่คลุมต้นไม้ทั้งต้น มีช่อดอกขาวสะพรั่ง ต้นกระถิน มะขาม มะม่วง ตะโก ก็ถูกคลุมด้วยดอกไม้สีขาว นานราว ๑ สัปดาห์ก็ร่วงโรย กลับเป็นต้นไม้สีเขียวต้นเดิม
เมื่อฉันคิดทำสวนพืชแปลก ไม้หายาก ถามป้าเย็นว่า ป่าบ้านเรามีเครือหมาน้อยไหม
“มีสิ เยอะแยะเลยตามแนวซุ้มไผ่ข้างป่าช้าท้ายหมู่บ้านโน่นจ้ะ”
คำว่า ป่าช้า ทำให้ฉันคิดอยู่นาน ในที่สุดด้วยความอยากได้ต้นไม้มาปลูก เราจึงเตรียมเสียม ถุง ถัง ไปที่ป่าช้า ขอเจ้าที่เจ้าทาง บรรจงขุดเครือหมาน้อยแรกเลื้อยกอเล็กๆ มาปลูกที่บ้านตัวเอง และขยายพันธุ์แบ่งปันอีกหลายบ้าน
เครือหมาน้อยเป็นไม้เลื้อย มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ใบเป็นรูปหัวใจ เมื่อนำมาคั้นน้ำผสมกับเครื่องปรุงอาหาร จะมีลักษณะเป็นวุ้น รับประทานได้
ป้าเย็นเป็นผู้รู้เรื่องป่าและนานาพืชพรรณที่อยู่ในความสนใจของฉัน นั่นคือเหตุผลที่ให้ป้าเย็นเป็นผู้นำทาง
เราเดินทางสู่ป่าภูถ้ำด้วยรถยนต์คู่ใจคันเก่าๆ
บนเส้นทางสายเก่าที่ไม่เหมือนเดิม
ด้วยวันนี้กลายเป็นถนนลาดยางเชื่อมต่อหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ผ่านโรงเรียนมัธยมฯ ประจำอำเภอไปเป็นทุ่งนาสีเหลืองทองในฤดูเก็บเกี่ยว มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นประปราย แสงยามบ่ายของช่วงปลายฝนต้นหนาวชวนให้เราเดินทางช้าลงเพื่อชมภาพเหล่านั้นให้อิ่มตาอิ่มใจ
ประมาณ ๔ กิโลเมตรจากตัวอำเภอแวงน้อย เราผ่านสำนักงานเพื่อนภู สองข้างทางเป็นนาข้าวและไร่นาสวนผสม แลดูอุดมสมบูรณ์
ทางแยกเข้าสู่เขตป่าภูถ้ำ ภูกระแตเป็นทางดินร่วนปนทรายสลับหินกรวดและหินทรายแดง สองฟากฝั่งเป็นป่าเบญจพรรณ อากาศเย็นสบาย ผืนป่ายังชื้นฝนชุ่มหมอก
เมื่อเข้าสู่เขตป่า ป้ายใหญ่สีแดงส้มมีข้อความ “ป่าชุมชน” มองเห็นชัดแต่ไกล ด้านขวามือมีหอดูไฟ และป้ายสีเขียวบอกข้อมูลเรื่องป่าภูถ้ำ ภูกระแต
“ทางนี่ ป่าจิก ป่าฮัง ไปเก็บเห็ด ทางนั่นมีหมากเหลี่ยมหลายกก หมากบก หมากหม้อ กะกินได้” ป่าเย็นเล่าพลางชี้นิ้วประกอบ
“แล้วชมดอกหญ้าป่าต้องไปทางไหน” ฉันถาม
“ตามทางนี้เข้าไป ถึงศาลาพระใหญ่จอดรถไว้ แล้วเดินดูตามลานชื้นๆ”
เราเคลื่อนรถช้าๆ ตามทางคดเคี้ยวขรุขระจนสุดทางที่ลานโล่ง
มีศาลาชั้นเดียวสำหรับจัดกิจกรรมขนาดศาลาวัดย่อมๆ มีข้อความปูนปั้นสีขาวว่า
“ศาลาวรพรตานุสรณ์” ตามชื่อหลวงปู่วรพรตวิธาน พระอริยสงฆ์ที่ชาวแวงน้อยเคารพนับถือ
เป็นศาลาที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ ผนังเป็นตาข่ายเหล็ก พื้นปูกระเบื้อง ประตูปิดเปิดได้ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานด้านใน
เมื่อจอดรถเรียบร้อย ป้าเย็นจึงพาเข้าไปกราบพระพุทธรูป
ตอนกลับออกมาเราเริ่มสำรวจพื้นที่โดยรอบ
ป้าเย็นชี้ชวนให้มองลานโล่งอีกด้าน
ภาพตรงหน้าคือลานที่ล้อมด้วยเนินดินและหิน บนพื้นลานดารดาษด้วยสิ่งที่มีลักษณะคล้ายละอองหมอกเมฆ ฟูฟ่องละเอียดสีหวาน ฉันตะลึงเหมือนต้องมนตร์สะกด เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นพืชพรรณชนิดนี้
ต้นพืชเล็กๆ ขึ้นกระจายทั่วลาน มองไกลๆ แทบไม่เห็นพื้นดิน ต้นเรียวบางสีเขียวขาวมีขนอ่อนๆ สูง ๕-๑๐ เซนติเมตร ไม่มีใบ ชูดอกเล็กๆ สีม่วงขาวสลับกันจนถึงปลายยอดที่ม้วนงอ ฉันคุกเข่านั่งมอง ก่อนจะพับเพียบและนอนจ้องมองดอกไม้เล็กๆ นั้น ป้าเย็นเห็นท่าทางฉันก็ หัวเราะแล้วคุกเข่าชมดอกไม้ด้วย
“หญ้าฝอย ไม่มีใบ มีช่อดอกขึ้นจากดินแล้วแห้งไป หลังฝนหน้าเมื่อความชื้นพอดีก็จะมีดอกขึ้นมาใหม่ ถ้าหน้าดินถูกกลบหรือป่าถูกขุดจนดินมีความชื้นไม่พอก็จะไม่มีดอกไม้นี้งอก”
ป้าเย็นพูดหลังจากเราถ่ายภาพลานดอกไม้กันอย่างตื่นตา
“ครูรู้ไหม ดอกไม้เล็กๆ แบบนี้ในป่าภูถ้ำมีมากมายจนเราชมไม่ครบในวันเดียวเลยนะ เลยลานหินด้านนั้นเป็นลานรับน้ำ ถึงช่วงปลายฝนจะพาไปดูว่ามีอะไร” ป้าเย็นเดินนำทาง
“ลานหินตรงนี้เคยเป็นที่ฉายหนัง ตั้งเวทีหมอลำ ยามบุญภูถ้ำ ฉันหาบของ ข้าวสารมาหุงหาเพื่อทำบุญและขายให้คนมาเที่ยว” ป้าเย็นชี้รอบๆ เล่าภาพความทรงจำในอดีต
“บุญภูถ้ำ” คือ งานพิธีกรรมที่จัดขึ้นช่วงก่อนฤดูเพาะปลูก ผู้คนในหมู่บ้านใกล้ ไกลมาร่วมกันจัดเพื่อแสดงออกถึงความเคารพ ระลึกถึง ขอบคุณธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครอง และบันดาลความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของคนท้องถิ่น
ฉันเดินตามป้าเย็น ข้ามลานกว้างหินลาดเอียงเล็กน้อย ลัดเลาะเนินดินสลับหิน มีร่องรอยทางน้ำลงไปยังที่ลุ่มด้านล่าง
ซอกหินและพื้นดินยังชุ่มฝน หากเป็นยามเช้าคงมีละอองหมอก
สิ่งที่ฉันเห็นคือ พืชพรรณหลากหลาย ต้นเล็กต้นน้อย ขึ้นสลับกันเหมือนภาพวาดสีสันสวยงาม
สีเขียวของมอส เฟิร์นเล็กๆ ในซอกหินและข้างก้อนหิน
สีเหลือง ฟ้า ม่วงอ่อน ม่วงขาว ม่วงเข้ม น้ำเงิน ขาว ชมพู น้ำตาล แดงส้ม แดงเข้ม และสีอื่นๆ ละลานตา
“นี่ หญ้าตุ้มหู ดอกสีขาว ต้นเป็นกอสีเขียว” ป้าเย็นชี้หญ้ากอเล็กๆ สีเขียวสด ดอกสีขาวออกเป็นช่อ สูงประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร
“นั่น ช่อสีเหลือง ชื่อหญ้าสีทอง ชอบดินทรายชื้นๆ” ดอกไม้ชูช่อสีเหลืองสด มีดอกเล็กๆ สลับเรียงวนขึ้นไป
“ช่อนี้เขียวไข่กาใช่ไหม”
ฉันส่งเสียงตื่นเต้นถามป้าเย็น ช่อดอกไม้สีม่วงแปลกตามีดอกที่ปลายยอด ขึ้นแซมห่างๆ กับหญ้าฝอย
“ใช่แล้ว หญ้าเขียวไข่กา” ป้าเย็นบอกเมื่อเดินมาดูใกล้ๆ ความงามของดอกเขียวไข่กาคือ เมื่ออยู่ท่ามกลางดอกไม้ดินอื่นๆ จะชูช่อสูงเด่น สีของแต่ละช่อไม่ซ้ำกัน เข้ม กลาง อ่อน ตามช่วงเวลาผลิบาน
เราเที่ยวชมลานดอกไม้ เก็บภาพสวย จนตะวันคล้อยต่ำอย่างไม่รู้ตัว ยังดูไม่ครบตามที่ป้าเย็นบอกก็ต้องรีบเดินอ้อมไปที่เนินหินอีกด้าน พบดอกไม้สวยงามหลายชนิด รีบเก็บภาพอย่างรวดเร็วแล้วกลับมาที่จอดรถเมื่อใกล้สิ้นแสงตะวัน
ครั้งต่อมาเราไปเยือนป่าภูถ้ำโดยมีจุดหมายคือ เก็บหมากเหลี่ยมและตามหาผลไม้ป่ากินได้ โดยมีผู้ร่วมทางสามคน คือ ป้าเย็น-ผู้นำทาง ฉัน และใบบุญ ลูกชายวัย ๑๑ ขวบ
ผ่านหอดูไฟและป้ายไปตามทางสู่ป่า ไม่นานก็ถึงจุดแวะเก็บหมากเหลี่ยมซึ่งเป็นป่าโปร่ง พื้นเป็นดินร่วนปนทรายสีนวลละเอียด ห่างจากที่จอดรถพอมองเห็นได้ มีต้นหมากเหลี่ยมใหญ่น้อยขึ้นเป็นดง
หมากเหลี่ยม หรือมะกอกเกลื้อน เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลรูปกระสวยสีเขียว นอกจากผลกินสดได้ หรือดองเก็บไว้กินแล้ว การผ่ากลางผลตามแนวนอนใช้ไม้แหลมเล็กๆ จิ้มเมล็ดสีขาวออกมานำไปคลุกข้าวเหนียวร้อนๆ โรยน้ำตาล อร่อยมัน เป็นของหากินยาก
“ลองกัดแล้วเคี้ยวสิ บักหล่า”
ป้าเย็นเช็ดดินออกจากผลหมากเหลี่ยมยื่นให้ใบบุญ
เด็กชายทำตามก่อนมีสีหน้าเหยเก “เปรี้ยว ขม ฝาด”
“กินน้ำตามไป” ฉันบอก
“เป็นไง หวานยัง” ฉันถามลูกชาย
เขาพยักหน้าพอใจที่น้ำช่วยเปลี่ยนรสผลไม้ป่าแปลกๆ ป้าเย็นหัวเราะ
“กินเปลือกหมากเหลี่ยมแล้วตามด้วยน้ำจะมีรสหวาน แก้กระหายเวลาเดินป่าได้ดีเลยล่ะ” นางบอก
เราเดินตามทางป่าที่ไม่รกนัก มีไม้พุ่มเตี้ยๆ เป็นผลไม้ป่ากินได้กระจายอยู่ทั่ว อย่างหมากต้องแล่ง รสออกหวาน ผลสุกสีแดงเป็นช่อเรียงรอบขั้ว หมากก้นครกแผ่พุ่มคลุมดิน ต้องเปิดหาผลเขียว ผิวหยาบ
ชิมผลไม้ป่าและเลือกเก็บหมากเหลี่ยมต้นโน้นต้นนี้ ใส่ตะกร้า ห่อผ้า กระเป๋าย่าม แล้วจึงกลับมาที่ต้นหมากเหลี่ยมใหญ่
“เอาละ หนักแล้ว เดี๋ยวขนกลับไม่ไหว เราพักกินข้าวที่ร่มไม้นี่แหละ” ป้าผู้นำทางชวน
ใบบุญปูผ้าขาวม้าเนื้อหนาผืนใหญ่ เปิดย่ามหยิบห่อข้าวเหนียว หมูปิ้ง ปลาร้าบองออกมาวาง
ป้าเย็นจัดเสบียงที่เตรียมมาออกจากตะกร้า เปิดห่อข้าวเหนียว บิปั้นเล็กๆ กับปิ้งปลาขี้โก๋ครึ่งชิ้น ถือขวดน้ำตรงไปโคนต้นหมากเหลี่ยม
นางวางข้าวและอาหารแล้วเทน้ำดื่มลงข้างๆ
ลูกชายมองหน้าฉันอย่างมีคำถาม
ฉันหยิบกล้วยลูกหนึ่งให้เขาเดินไปวางใกล้ๆ กัน
“มาโคกมาป่า ก่อนกินอะไร เราต้องแบ่งปันให้สิ่งที่อยู่ในป่ากินด้วย”
ป้าเย็นบอก แล้วเราก็เริ่มกินข้าวกลางป่าอย่างเอร็ดอร่อย มีเพื่อนใหม่เป็นแมกไม้รายรอบชวนให้ทำความรู้จัก
ช่วงบ่ายป้าเย็นพาหักกิ่งไม้ใช้เปิดใบแห้งตามพุ่มไม้หาเห็ด แม้ผ่านพ้นหน้าฝน ถ้าดินชื้น อุณหภูมิพอเหมาะก็เกิดเห็ดได้
ในกระทงใบพลวงที่ใช้หนามจากต้นหนามพอง เย็บมีเห็ดหน้านวล เห็ดน้ำหมาก พอทำป่นเห็ดกินได้
เมื่อเรากลับจากเที่ยวป่าภูถ้ำ เผยแพร่ภาพลงในสื่อถึงทราบว่าคนในพื้นถิ่นน้อยคนที่รู้ว่าป่าแห่งนี้มีลานดอกไม้และธรรมชาติสวยงาม
หลายวันต่อมาสื่อท้องถิ่นที่คุ้นเคยกันขอภาพไปประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมเดินป่าชมลานดอกไม้
“ป้าเย็น ลานดอกไม้นี้เราค้นพบก่อนใครเลยนะ” ฉันพูดอย่างตื่นเต้นเมื่อพบกัน
“ฉันรู้มานานแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะน่าสนใจสำหรับคนอื่น เลยไม่เล่าให้ใครฟัง ฉันเดินทั่วป่านี่มาแต่เล็กแต่น้อย”
นางยิ้มขำๆ ที่สิ่งเคยสัมผัสครั้งวัยเยาว์เป็นเรื่องที่คนอื่นสนใจ จึงอยากบอกเล่าและนำชมป่าด้วยความยินดี
เมื่อถึงวันนัดหมาย ทีมเดินป่าและเที่ยวชมลานดอกไม้ มีทั้งสื่อท้องถิ่น ผู้ดูแลเพจ “ฮักแวงน้อย” และผู้ติดตามห้าคน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากสมาคมเพื่อนภูสองคน ผู้ติดตามสามคน ป้าเย็น ฉัน และใบบุญ
การชมป่าภูถ้ำครั้งนี้เราเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทางสมาคมเพื่อนภูจัดทำ ทำให้ได้เดินทั่วป่า ปีนป่ายก้อนหินน้อยใหญ่ ลัดเลี้ยวลงไปถ้ำใต้หน้าผา เห็นน้ำซับซึมชื้นพื้นป่า มีธารน้ำเล็กๆ จากซอกหิน รากและโคนต้นไม้เก็บน้ำไว้ชุ่ม
เมื่อฝนตกชุก ทางที่เราเดินตอนหน้าแล้งหลายเส้นทางอาจถูกลบรอย หรือเปลี่ยนเป็นทางอื่น ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้น
เราฟังเรื่องเล่าจากป้าเย็นและผู้นำทาง แม้ป่าจะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและแนวทางพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ป่าในความทรงจำยังเป็นป่าใกล้บ้านผืนเดิม
ปลายฝนปีนี้เป็นอีกครั้งที่ป้าเย็นกับฉันมาเยือนป่าในช่วงบ่ายวันว่าง เมื่อจอดรถที่ลานหน้าศาลา ฉันเปิดท้ายรถ นั่งรับไอเย็นของป่า หยิบขนม ผลไม้และขวดน้ำ ไปที่โคนต้นไม้ใกล้ๆ วางของกินแล้วรินน้ำดื่มลงข้างๆ โดยป้าเย็นไม่ได้บอก นางหยิบของกินมาวางเพิ่ม เรานั่งสบายๆ พักกินของว่างอย่างง่ายๆ ก่อนออกสำรวจและเที่ยวชมป่า
จุดหมายครั้งนี้ ป้าเย็นชวนมาสำรวจป่าเพื่อดูว่า แต่ละปีพืชพรรณที่มีในป่า ยังมีอยู่ เพิ่มขึ้น หรือน้อยลงอย่างไร เราไต่ไปบนลานหินที่อยู่สูงขึ้นไปอีก มองหาเครือหยั่งสมุทรว่าเลื้อยถึงไหนแล้ว มีช่อดอกหรือยัง
เครือหยั่งสมุทรหรือเครือข้าวนึ่ง เป็นไม้เถา เถามีขนสั้นนุ่มและขนสากปกคลุม ออกดอกเป็นช่อ ดอกสีขาวอมชมพูลักษณะคล้ายแตร มีกลีบดอกห้ากลีบ ผลกินได้ ออกเป็นฝักคู่รูปกรวยแหลม โคนและปลายเชื่อมติดกัน ปลายเมล็ดมีกระจุกขน เมื่อเดินสุดลานหิน ข้างล่างคือหน้าผาที่ปกคลุมด้วยแมกไม้เขียวขจี
การลงข้างล่างถึงแม้จะมีคาคบไม้ให้ปีน แต่เพื่อความปลอดภัยเราเดินอ้อมไปทางลาดอีกด้าน
ใต้ผาหินเป็นดินที่สะสมอินทรียวัตถุสีดำ ร่วนซุย เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชหัว เช่น กลอย มันเผิ่ม มันเสา มันแซง ฯลฯ และไม้พุ่ม เช่น ชะมวง ติ้ว ฯลฯหลายชนิดใช้ยอด ใบ ดอก ผลเป็นอาหาร และใช้ส่วนอื่นๆ เป็นยาสมุนไพร
“นั่น เครือกลอย หัวมีพิษทำให้เมาและถึงตายได้ ต้องทำให้หมดพิษโดยปอกเปลือก ฝานแผ่นบางๆ ใส่ตะกร้าแช่ไว้ให้น้ำไหลผ่านสัก ๒-๓ วัน ล้างให้สะอาด จึงจะนำมานึ่งกินได้
“มีหนาม เครือนั่นคือมันเผิ่ม”
มันเผิ่มมีรสหวาน เนื้อเหนียวหนึบเป็นมันป่าโบราณ เถาเลื้อยมีขนาดเล็ก หัวใต้ดินค่อนข้างกลมมีรากฝอยรอบๆ หัวมัน ใบคล้ายใบโพ โคนเถาเหนือดินมีหนามแข็ง ขุดได้เมื่อเถาเริ่มแห้งในฤดูที่หมดฝน ในหนึ่งเง้า (กอ) ขุดหัวมันได้ ๓-๑๐ กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อเราลงไปถึงเห็นร่องรอยการขุดหัวมันเผิ่มไปแล้ว
“ใครหนอมาขุดเร็วแท้ น้ำยังไม่เหือดดิน ใบยังเขียวอยู่เลย” ป้าเย็นบ่นพึมพำ
ข้อมูลเกี่ยวกับป่า เรื่องเล่าจากป้าเย็น และการเข้าไปสัมผัสป่า เชื่อมโยงภาพความเป็นมาอันยาวนานของป่าภูถ้ำ ภูกระแต กว่าจะเป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ให้เรามาเยือนในวันนี้
ชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้ป่าและห่างไกล ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับท้องทุ่งและป่าทุกฤดูกาลด้วยความรักและผูกพันกับธรรมชาติที่ให้ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร
ภาพต้นพอกน้อยที่มีกิ่งเล็กๆ รอบต้นถูกเด็กๆ ปีนเล่นอย่างสนุกสนานยังอยู่ในความทรงจำของป้าเย็น จนวันนี้ได้มายืนใต้ต้นไม้ต้นนี้ที่เติบใหญ่แผ่ใบร่มครึ้มรอบๆ ต้น
ป้าเย็นมีพลังมหัศจรรย์ ความรักในการเดินป่าตามหารอยเท้าเมื่อวัยเยาว์ ซึมซับความรู้ผ่านประสบการณ์เปี่ยมล้น ตกผลึกเป็นเรื่องราวที่มีคุณค่าทางภูมิปัญญา
เรื่องเล่าที่ไม่รู้จบ ก่อเกิดจินตนาการ เร้าให้คนรุ่นใหม่ตามหา เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและป่า แม้ไม่อาจหวนกลับไปพบเห็น แต่นี่คือข้อมูลความเป็นมาที่สำคัญของท้องถิ่น ป่า และชุมชนแห่งนี้ ถ่ายทอดผ่านป้าเย็น ปราชญ์ป่าผู้ไร้ตำรา