Image

ความสุข ความฝัน ความหวัง...
ของคนนาเกลือ (ทะเล)

สุขหมุนรอบตัวเรา

ทีมปลายฟ้าพฤษภา
เรื่อง : ภัณฑิลา ทองนพ
ภาพ : โสภาวรรณ วิทย์ดำรงค์

เราคงต้องใช้นิ้วมือและนิ้วเท้ามานับรวมกันเพื่อให้ได้จำนวนปีที่เธอคนนี้ร่วมต่อสู้และขับเคลื่อนเรื่องเกลือทะเลมายาวนาน เพื่อ “ศักดิ์ศรีของคนนาเกลือ (ทะเล)”

แม้หลายคนจะมีภาพจำว่าเป็นมนุษย์ผิวกร้านลม ผมแดงจากการตากแดด แต่เธอก็เต็มใจที่ถูกเรียกว่าไอ้เด็กนาเกลือ จากเด็กวัยประถมฯ ที่เขินอายเมื่อต้องระบุอาชีพของผู้ปกครองในสมุดพกประจำตัวสู่นักต่อสู้ที่เป็นเสมือนตัวแทนชาวนาเกลือทะเล โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือก่อตั้ง “กรมเกลือทะเล” เพื่อให้เกลือทะเลของเธอมีผู้สานต่อ แม้เธอจะไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม

Image

เริ่มต้นที่ความเค็ม

เบื้องหน้าคือภูเขาเกลือขนาดใหญ่ในยุ้งเกลือบนพื้นที่ ๔ ไร่เศษที่เก็บสะสมไว้ขายได้ถึง ๕ ปีของหญิงวัย ๕๐ ปี ใบหน้าภายใต้กรอบแว่นตาที่ไม่หนาเตอะ เห็นริ้วรอยของอายุที่ผุดด้วยเม็ดเหงื่อจากความอบอ้าวของอากาศที่ไม่มีลมพัดผ่าน นี่คือเจ้าของนาเกลือทะเลกว่า ๒๕๐ ไร่ ผู้ย้ำเสมอว่า “เกลือคือชีวิตของเธอ”

“แก้ว”- เกตุแก้ว สำเภาทอง ลูกหลานชาวนาเกลือที่ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตายายหักร้างถางพง บุกเบิกที่ดิน และส่งต่อมายังรุ่นแม่ของเธอ อาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมนัก และพ่อของเธอเป็นพ่อค้าขายส่งเกลือจากนาของตนเอง ทำให้ชีวิตเธออยู่ในวงจรการทำเกลือทะเลมายาวนาน

กิจการนาเกลือ “โชคสำเภาทอง” ของแก้วถือเป็นเกษตรกรชาวนาเกลือทะเลรายใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในย่านแม่กลองซึ่งแลกมาด้วยการต่อสู้ที่ยากลำบากและฝ่าฟันอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน แม้ใบหน้าอิดโรย แต่แววตามุ่งมั่นเป็นคำตอบยืนยันว่าเธอไม่เคยท้อ และมีความสุขทุกครั้งกับสิ่งที่ทำ

Image

สู่ถนนสายเกลือ

หนึ่งในนิยามเกี่ยวกับเกลือจากหนังสือ Salt A World History เกลือ : ประวัติศาสตร์เครื่องปรุงเปลี่ยนโลก เขียนว่า เกลือคือสารประกอบที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สสารของพระเจ้า” เกลือเคยเป็นทั้งยาอายุวัฒนะ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ ตัวแทนความมั่งคั่ง เครื่องค้ำจุนอำนาจรัฐ ตลอดจนสัญลักษณ์แห่งชีวิตอันยืนยาว ผู้แต่ง Mark Kurlansky เล่าถึงประวัติศาสตร์โลกที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบหลักในการเดินเรื่องที่เปิดเผยแง่มุมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกลือมีส่วนขับเคลื่อนโลกมาจนทุกวันนี้ นั่นอาจหมายความว่าเกลือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้คนให้คุณค่าและรับรู้ถึงการมีอยู่ในสังคมโลก

“ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ ๓๒๐ ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรราว ๑๔๙ ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนาเกลือทะเลที่ยังหลงเหลืออยู่เจ็ดจังหวัดคือ เพชรบุรี ๓๖,๐๐๐ ไร่ สมุทรสาคร ๒๑,๐๐๐ ไร่ สมุทรสงคราม ๕,๖๐๐ ไร่ ที่เหลือประปรายคือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปัตตานี” ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้มาจากแก้ว ผู้อยู่กับเกลือมาครึ่งค่อนชีวิต ทำให้หลายคนยอมรับเธอในฐานะปราชญ์ชาวบ้านด้านเกลือทะเล

หลังการเกิดขึ้นของถนนพระราม ๒ ที่ตัดผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี ในปี ๒๕๑๓ เป็นต้นมา ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชาวนาเกลือ ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นมหาศาล ทำให้หลายคนเลือกขายที่ดินเพราะได้ค่าตอบแทนหลายเท่ากว่าการทำนาเกลือซึ่งมากพอที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิม จนเหลือชาวนาเกลือที่ยืนหยัดจะประกอบอาชีพนี้ต่อแบบนับจำนวนได้

เงื่อนไขสำคัญในการทำนาเกลือต้องอาศัยที่ดินตั้งแต่ ๓๐-๔๐ ไร่ขึ้นไป และหนึ่งในนั้นคือ “นาเกลือของแก้ว” ที่ยังใช้ขั้นตอนแบบธรรมชาติทั้งหมด เกลือที่ได้มาจากน้ำทะเล ผ่านภูมิปัญญาด้วยการตากแดดในนาเกลือให้น้ำระเหยจนเกิดเป็นผลึกเกลือ

Image
Image

พื้นที่ ๓๐-๔๐ ไร่จะถูกจัดสรรเป็นห้าส่วน คือ ๑. นาขังหรือนาวัง ๒. นาตาก นาประเทียบ หรือนาแผ่ ๓. นารองเชื้อ ๔. นาดอกหรือนาเชื้อ และ ๕. นาวาง นารื้อ หรือนาปรง โดยแต่ละส่วนทำหน้าที่ต่างกัน

บทความ “เกลือทะเล ความเค็มแสนหวาน และเรื่องราวเบื้องหลังอันขมขื่น" ของ ภัทรพร อภิชิต และ วีรวุฒิ กังวานนวกุล สะท้อนภาพขั้นตอนการทำนาเกลือที่ใช้เวลานานนับปีให้เราเข้าใจง่ายขึ้น

“กรรมวิธีการทำเกลือฟังดูเหมือนง่าย แค่ปล่อยให้น้ำตากแดด แต่ที่จริงมีรายละเอียดและต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์ของชาวนาเกลือในทุกขั้นตอนไม่ต่างจากเกษตรกรรมอื่น เงื่อนไขของการผลิตเกลือต้องประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม แดด ครบถ้วนสมบูรณ์ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้...

“วงจรการทำนาเกลือจะเริ่มหลังฤดูฝน เมื่อออกพรรษา ชาวนาจะเริ่มเตรียมพื้นนา พอถึงพฤศจิกายนและธันวาคมเป็นช่วงเตรียมน้ำคือนำน้ำทะเลมาเก็บกักไว้ในวังขังน้ำเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเกลือ จากนั้นฤดูการทำนาเกลือจริงๆ จะเริ่มในเดือนมกราคม โดยการปล่อยน้ำจากวังขังน้ำมาไว้ที่นาตาก เมื่อน้ำมีความเค็มเพิ่มขึ้นก็ปล่อยเข้าสู่นารองเชื้อ และนาเชื้อตามลำดับ น้ำสะสมความเค็มมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงนากระทงสุดท้ายคือ นาปลง น้ำมีความเค็มจัดจนตกตะกอนเกิดเป็นผลึกเกลือในที่สุด ชาวนาก็จะรื้อเกลือคือเก็บเกลือไปใส่ยุ้ง”

ความเป็นอยู่
ของชาวนาเกลือ (ทะเล)

“ให้รักษานาเกลือเพื่อกลุ่มนกน็อต (Knot) ที่บินมาหลบหนาวจากไซบีเรีย ประโยคที่ฟังดูตลกร้าย แต่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคนทำนาเกลือทะเล หลายคนพร่ำบอกให้รักษานาเกลือไว้ แต่คุณไม่รู้หรอกว่า ชีวิตคนที่ต้องรักษามันยากขนาดไหน”

หลายต่อหลายประโยคจากคำบอกเล่าของแก้วบ่งบอกการดำรงอยู่ของชาวนาเกลือทะเลที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองออกจากจุดย่ำแย่สุดคือ ไม่มีที่ดินในการทำนาเหลือ เพราะโดนยึดจากการจำนองธนาคารเพื่อผ่อนชำระหนี้สินที่กู้มา แก้วเป็นหนึ่งในเกษตรกรนาเกลือทะเลที่ไม่พ้นวังวนนี้ แต่สามารถกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง และร่วมต่อสู้เพื่อสมาชิกชาวนาเกลือคนอื่นๆ

แก้วเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ เข้าร่วมขับเคลื่อนและถามหาความยุติธรรมเกี่ยวกับเกลือทะเลทุกครั้ง และเป็นแรงหนุนสำคัญ ทำให้เกลือทะเลมีที่ยืน ได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าจากคนในสังคม

“บางคนมองว่าการผลิตเกลือคือความเค็ม แต่สำหรับพี่ เกลือคือเสาหลักเสาหนึ่งของต้นกำเนิดรสชาติที่เราผลิตอาหาร เรามีเกียรติมากที่ได้ดูแลสิ่งที่มีคุณค่านี้ เกลือเปรียบเสมือนทองคำขาว เราเป็นประเทศผลิตอาหาร เราจะขาดเกลือได้อย่างไร แทบทุกเมนูอาหารล้วนมีเกลือเป็นส่วนประกอบ เช่น ถ้าเราได้ผักมาในราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท หากดองกับเกลือ เราก็ยังกินอาหารนั้นได้นาน หรือถ้าซื้อไข่ราคาใบละสามสี่บาท เมื่อดองกับเกลือให้กลายเป็นไข่เค็มขายได้ใบละราคา ๑๐ บาท เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้านั้น หรือเราหาปลาจากทะเล ก็นำไปแช่เกลือเพื่อให้ปลาสดก่อนส่งไปขายต่อ เกลือยังเกื้อหนุนให้คนประกอบอาชีพอื่นด้วย” แววตาระยิบระยับของแก้วสะท้อนความสุขขณะเล่าเรื่อง

ความยากลำบากของชาวนาเกลือทะเลในการผลักดันให้เกลือมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ในการผลิตแล้ว ยังมีกติกาที่สร้างขึ้นกีดกันให้ไม่สามารถขายเกลือได้อย่างปรกติ ดังเอ่ยถึงในบทความ “เกลือทะเล ความเค็มแสนหวาน และเรื่องราวเบื้องหลังอันขมขื่น"

Image

“อาชีพทำนาเกลือก็เพิ่งถูกจัดว่าเป็นเกษตรกรรมเมื่อปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้เอง ซ้ำยังถูกกีดกันด้วยกติกาต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องความชื้นในเกลือ หรือปริมาณไอโอดีน ฯลฯ ทำให้เกลือทะเลไทยไม่สามารถจัดเข้าหมวดใด ๆ ไม่ถูกนับเป็นเกลือบริโภค ไม่นับเป็นเกลืออุตสาหกรรม เป็นแค่เกลือเถื่อน ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมาย จึงไม่มีราคา ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีเสถียรภาพ และไม่มีวันแข่งขันกับใครได้”

แต่จากการต่อสู้ของแก้ว ทำให้ทุกวันนี้มีคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยที่พยายามผลักดันทำให้ชาวนาเกลือทะเลมีที่ยืนในสังคมมากขึ้น

ผลจากการลงมือทำอย่างไม่ลดละของแก้วในการผลักดันให้คนเห็นคุณค่าเกลือทะเลและผู้ประกอบอาชีพทำนาเกลือ หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ สำหรับคนส่วนใหญ่คงสำเร็จไปแล้วราว ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มาตรวัดที่แก้วให้คือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะความหวังของเธอคือการจัดตั้งกรมเกลือทะเลซึ่งเป็นธงในใจที่เธอวาดฝัน

อนาคตของ
ชาวนาเกลือทะเล

“เดี๋ยวนี้พูดเรื่องเกลือพี่ได้เงินแล้วนะ ๓ หมื่นกว่าบาท ตั้งใจจะเอาไว้ทำศูนย์การเรียนรู้เล็กๆ ในบริเวณนาเกลือของพี่นี่แหละ เวลาใครมา เขาจะได้เข้าใจว่า มันมีขั้นตอนกระบวนการยังไงบ้าง โดยจะรวบรวมองค์ความรู้ “ วิชาเกลือ” ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการได้มาซึ่งเม็ดเกลือ สิ่งที่อยากได้เพิ่มเติมคือข้อมูลความสำคัญว่าหากขาดเกลือแล้วเป็นอย่างไร มีผลทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างไร ต้องให้อาจารย์ช่วยเขียน เพราะคนแบบยายแก้วไม่มีใครฟัง แต่ออกจากปากนักวิชาการจะมีความน่าเชื่อถือทันที ทั้งที่ข้อมูลก็มาจากเรานั่นแหละ ก็ไม่เป็นไร ความเข้าใจของคนต้องใช้เวลา”

แม้จะเหนื่อยกับการเดินทาง หรือต้องเจอกี่อุปสรรค สิ่งที่แก้วยืนยันเสมอคือ เธอไม่เคยท้อเพราะเต็มที่กับทุกสิ่งที่เลือกและลงมือทำ ไม่กลัวว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่กลัวจะมาเสียใจภายหลังหรือต้องบอกตัวเองว่า “โห รู้งี้ทำแบบนี้ก็ดี เพียงแค่ทำเต็มที่ หากไม่สำเร็จคือไม่สำเร็จ เหมือนกับที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า เหตุเป็นของคน ผลเป็นของฟ้า ถ้าเปรียบกับธรรมะ ก็คงต้องยกประโยคที่ว่า ผิดหวังแล้ว หวังใหม่ไม่ลดละ หวังที่จะผิดหวังครั้งใหม่ แล้วเราก็ผิดหวังสมดังใจ เราจึงไม่ผิดหวังสักครั้งเดียว”

เราไม่อาจคาดเดาได้ว่า “กรมเกลือทะเล” ที่แก้ววาดฝันจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่วันนี้สิ่งที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และแก้วยังคงทำต่อเนื่อง คือการเผยแพร่ความรู้เรื่องเกลือทะเล และเธอไม่คิดจะส่งต่อเส้นทางการต่อสู้นี้สู่รุ่นลูก เพราะเธออยู่กับมันมาทั้งชีวิตแล้ว ส่วนลูกๆ ของเธอควรเลือกใช้ชีวิตตามต้องการ

ความสุขรอบตัวของแก้วอาจไม่ได้นิยามชัดเจน แต่รอยยิ้มของเธอสื่อนัยเป็นคำตอบว่า คือการเห็นคนอื่นมีความสุข และส่งต่อพลังบวก มอบโอกาส ให้ความช่วยเหลือคนทำเกลือทะเลให้ได้รับการยอมรับ มีศักดิ์ศรีทัดเทียมอาชีพอื่นๆ ในสังคม

Image

Image