รัก สู่ รักษ์ โลกใต้ทะเล
สุขหมุนรอบตัวเรา
ทีมภาพพิมพ์กับปลายฝัน
เรื่อง : ภัสสร เกิดศิริ
ภาพ : อรกาญจน์ เหรียญศิริวรรณ
ในวันที่เมฆขาวดั่งก้อนสำลีตัดกับสีครามของทะเลอย่างสดใส เรือลำใหญ่โต้คลื่นช้าๆ มือคู่หนึ่งกำลังประกอบชุดดำน้ำอย่างพิถีพิถัน รองเท้าที่เริ่มหลุดลุ่ย รอยถลอกของ BCD (buoyancy control device : เสื้อชูชีพสำหรับนักดำน้ำ) สะท้อนประสบการณ์นับไม่ถ้วนจากการดำดิ่งสู่ท้องทะเลลึก
“พี่ดำน้ำมา ๑๙ ปี ไม่มีวันไหนที่ skip ไดฟ์เลย”
“แบงค์”-ปณรรฆ ศรีวรรธนะ กล่าวประโยคที่ดูแสนจะธรรมดาในวงสนทนาบนเรือที่มีเขาและนักเรียนดำน้ำสี่คน ระหว่างเรือแล่นไปยังจุดดำน้ำ ท่าทางตื่นเต้นเสมือนอะดรีนาลินเริ่มหลั่งทั่วร่าง บ่งบอกความจริงใจและความชื่นชอบอันแรงกล้า เพียงแต่การดำน้ำไม่ใช่เหตุเดียวที่ชอบ การได้ทักทายและเห็นฝูงปลาน้อยใหญ่ต่างหากที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีตัวตนในวันนี้
“ตั้งแต่จำความได้ก็ชอบปลา สมัยเรียนอนุบาลยังได้ฉลามเป็นสัตว์ประจำตัวอีก นี่มันพรหมลิขิตชัดๆ”
ตลอด ๓๗ ปี ความคลั่งไคล้โลกใต้ทะเลยังแทรกซึมอยู่ทุกอณูในตัวตนเขา เติบโตจากเด็กที่อ่านแต่หนังสือปลา เข้าเรียนคณะประมง ทำงานใกล้ชิดปลาในบทบาทนักดูแลสัตว์น้ำ (aquarist) สู่ครูสอนดำน้ำ ผู้พยายามถ่ายทอดความสวยงามของโลกใต้ทะเลที่กำลังจะเลือนหาย
เริ่มจากรัก
สู่ใจที่อยากรู้
“สมัยเรียนอนุบาลยังได้ฉลามเป็นสัตว์ประจำตัวอีก นี่มันพรหมลิขิตชัดๆ”
พรหมลิขิตของคุณอาจหมายถึงละคร
พรหมลิขิตของคุณอาจเป็นคนที่นั่งอยู่ข้างๆ
แต่พรหมลิขิตของแบงค์ คือ ปลา
“แสตมป์ฉลามในมือ ณ เวลานั้น มันเท่และมีเสน่ห์มากๆ”
แม้เรื่องราวจะผ่านมาหลายสิบปี แต่ความทรงจำยังไม่จาง แบงค์เล่าเหตุการณ์ประทับใจแรกของเขากับฉลามพร้อมรอยยิ้ม และกล้าพูดได้เต็มอกว่าชอบปลามาตั้งแต่เด็ก โดยจุดเริ่มต้นที่พอจำได้ คือ ทำปลาที่เลี้ยงตายเนื่องจากเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาไม่เป็น จึงเริ่มหาความรู้เกี่ยวกับปลาน้ำจืดและปลาสวยงาม ก่อนขยับไปศึกษาปลาต่างประเทศและปลาทะเล จนถึงนักล่ายักษ์ใหญ่อย่างฉลามผ่านสารคดี ความหลงใหลทวีคูณขึ้นเมื่อเห็นพวกมันซ้ำไปซ้ำมา
“สารคดีสมัยก่อน ภาพอาจจะไม่สวยเหมือนปัจจุบัน แต่ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์อย่างช้าๆ ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่มหัศจรรย์ ยิ่งเห็นว่าสวยเท่าไหร่ ก็อยากให้มันคงอยู่ต่อไป”
ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา อาจเป็นสำนวนที่ขัดแย้งกับความคิดของแบงค์ เพราะบางทีการได้เห็นความสวยงาม คงเป็นชนวนเริ่มต้นที่ดีสำหรับทำความเข้าใจธรรมชาติ
“สมัยเด็กพี่ก็เฝ้ารอที่จะโตขึ้นแล้วได้ดำน้ำเหมือนในสารคดี พอมาเห็นกับตา ความสวยไม่ได้อยู่ในจออีกต่อไป ต้องขอบคุณ ฌาคส์ กุสโต”
ฌาคส์ กุสโต (Jacques Cousteau) นักดำน้ำและนักสำรวจท้องทะเลคนสำคัญของโลก ผู้ร่วมคิดค้นและประดิษฐ์อุปกรณ์ดำน้ำได้สำเร็จ และส่งต่อพลัง แรงบันดาลใจสำคัญให้ผู้คนด้วยภาพถ่ายใต้น้ำของเขา
มองผ่านตา
สัมผัสผ่านใจ
พอเรือจอดหยุดนิ่งกลางทะเล เป็นสัญญาณที่นักดำน้ำทั้งหลายต้องเตรียมตัว แบงค์เดินลงมาสวมอุปกรณ์ดำน้ำและเอื้อมมือหยิบกล้องใต้น้ำคู่ใจก่อนไปท้ายเรือ สองขาก้าวกระโดดสู่ผิวน้ำ เสียงที่ได้ยินเริ่มเบา เหลือเพียงฟองอากาศที่ถูกปล่อยเหนือศีรษะตามจังหวะหายใจของแต่ละคน ฟินยาวตีคู่แหวกว่ายพร้อมฝูงปลา ความสุขของแบงค์สะท้อนผ่านแววตา
การสื่อสารใต้น้ำจะใช้สัญญาณมือแทนการพูด ก่อนฟินแตะแนวปะการังประมาณ ๒-๓ เมตร สัญญาณมือแรกปรากฏขึ้น แบงค์ทำท่าโอเคส่งให้นักเรียนดำน้ำเพื่อสอบถามความปลอดภัยและความพร้อมก่อนเริ่มสำรวจ เหล่านักเรียนดำน้ำพร้อมใจทำท่าโอเคตอบกลับอย่างมั่นใจเป็นสัญญาณเริ่มการผจญภัย
ราว ๑๐ นาทีแรกเป็นช่วงเวลาตั้งตัว คือ หาจังหวะหายใจที่พอดี ลอยตัวในระดับเหมาะสม พอทักษะการเคลื่อนไหวใต้น้ำของทุกคนคงที่ แบงค์จึงทิ้งระยะห่างให้ทุกคนมีพื้นที่สำรวจของตนเอง โดยเขานำอยู่ด้านหน้า ไม่นานก็เห็นแบงค์ทำสัญญาณมือ โดยยืดมือซ้ายสุดแขน มือขวาทำท่าหั่นมือซ้ายเป็นท่อนๆ ต่างคนรีบเร่งดำเข้าไปใกล้พร้อมพยักหน้าให้กันรัวๆ บอกเป็นนัยว่า
“บาราคูดา บาราคูดา บาราคูดา”
ฝูงปลาสากลายบั้ง (Chevron Barracuda) พาเพื่อนปลามากมายมาต้อนรับ แบงค์หยุดนิ่งอยู่กับที่ปล่อยให้ฝูงปลาว่ายวนเป็นวงกลมเรื่อยๆ จนช่องว่างระหว่างเขาและปลาใกล้กันแค่เอื้อม แม้ไม่ใช่ปลาหายาก แต่ก็ไม่ลืมยกกล้องกดชัตเตอร์บันทึกความทรงจำไว้
แบงค์ท่องสำรวจอย่างช้าๆ เพื่อสังเกตรายละเอียด ซึมซับความสวยงาม ก่อนบันทึกความทรงจำผ่านเลนส์เล็กๆ และไม่ลืมชวนนักเรียนดำน้ำเข้ามาดูสรรพสัตว์ใกล้ๆ เช่น ปลานกแก้วที่กำลังแทะเล็มสาหร่ายในแนวปะการัง ปลาพยาบาลที่ทำความสะอาดช่องปากของปลาไหลมอเรย์ ปลาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวในดอกไม้ทะเล และความสัมพันธ์น่ามหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย เวลาผ่านไปนานนับชั่วโมง เข็มค่าของอากาศในถังเริ่มเข้าเลข ๕๐ แบงค์ทำสัญญาณมือชูหัวแม่โป้งขึ้น เป็นอันรู้กันว่าทุกคนต้องโบกมือลาบ้านหลังนี้แล้ว ยังไม่ทันขึ้นเรือดี เสียงผู้ชายที่คุ้นเคยแว่วมาแต่ไกล…
“แม้เป็นบาราคูดา แต่เจอกี่ครั้งก็ยังประทับใจ ธรรมชาติไม่เคยสวยน้อยลงเลย เวลาแค่แป๊บเดียวแต่กลับมีพลังต่อจิตใจเรามหาศาล รู้เหตุผลที่ทำให้พี่อยากตื่นมาทำงานทุกๆ วันหรือยัง”
นักล่า
ผู้ถูกล่า
เสียงนักดำน้ำที่ทยอยขึ้นเรือต่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างกึกก้อง สู้กับเสียงสตาร์ตเรือกลับเข้าฝั่ง ภารกิจของนักดำน้ำหลังจากขึ้นเรือก็คงไม่พ้นการบันทึก log book สมุดความทรงจำ แบงค์เปิดภาพที่ถ่ายมาพร้อมสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างสนุกสนาน มารู้ทีหลังว่าภาพถ่ายเหล่านี้จะนำไปเป็นสื่อการสอนในโอกาสต่างๆ ด้วยยังมีอีกหลายคนไม่มีโอกาสได้เห็นด้วยตาตนเอง ภาพถ่ายจึงเป็นดั่งสะพานเชื่อมคนสู่โลกใต้ทะเล หากเขาได้เห็นแล้วจึงจะรัก เมื่อรักก็อยากเก็บไว้ให้อยู่นานๆ เหมือนบาราคูดาฝูงนั้น
เมื่อภาพในกล้องหมดลง แบงค์หยิบโทรศัพท์และเปิดภาพหนึ่งให้ดู...ฉลามหัวค้อนกำลังหันหน้ามาทางกล้อง เขาเปิดบทสนทนา
“ในที่สุดก็ได้ถ่ายฉลามหัวค้อนแบบที่เห็นตาสักที มันยากมากกว่าจะถ่ายได้ ภาพนี้ถ่ายที่มัลดีฟส์ ในไทยไม่เจอมานานแล้ว ตอนนี้ฉลามกลายเป็นสัตว์ไฮไลต์ หากเจอนับว่าโชคดี แต่สิ่งที่เรามองข้ามคือมันไม่ควรเป็นเรื่องพิเศษ เราควรคืนฉลามให้มีอยู่เป็นปรกติเช่นเดิม”
หลายคนอาจเคยได้ยินปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งไม่ได้เป็นตัวอย่างเดียวที่ทำให้มนุษย์รับรู้ว่าโลกใต้ทะเลกำลังป่วย เพราะฉลามสัตว์นักล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารก็กำลังได้รับผลกระทบอย่างน่าเป็นห่วงเช่นกัน
ปัจจุบันประชากรฉลามถดถอย สู่การขึ้นเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์และสัตว์คุ้มครอง ฉลามถูกยกย่องให้เป็นนักสร้างสมดุลแห่งธรรมชาติ ผู้ควบคุมประชากรปลาที่กินสาหร่าย ตัดวงจรสัตว์อ่อนแอไม่ให้ขยายพันธุ์ เปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดสุขภาพของท้องทะเล ฉะนั้นข่าววาฬเกยตื้นที่ไร้ร่องรอยจากพวกนักล่า เป็นหลักฐานล้ำค่าที่ตอกย้ำว่าฉลามหายไปจริงๆ
เหตุฉลามหายไปมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำพื้นที่อุทยานฯ การขยายเขตเป็นแหล่งท่องเที่ยว และที่สำคัญคือการประมงขนาดใหญ่แบบอวนลาก เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่นำมาซึ่งความเสียหายต่อทะเลอย่างมหาศาล เพราะจับสัตว์น้ำเกินขนาด สัตว์น้อยใหญ่ที่ตั้งใจจับหรือไม่ก็จะติดอวนไปด้วย และฉลามเป็นหนึ่งในนั้น
“ราคาฉลามบางทีถูกกว่าปลาทูอีกนะ อย่างเช่น ฉลามกบน้ำหนักประมาณ ๑-๒ กิโลกรัม ราคา ๑๐๐ บาทเอง แล้วไม่ใช่ฉลามทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง ลองไปเดินตลาดอาหารทะเลหรือร้านค้าส่งใหญ่ๆ ก็อาจเจอ” แบงค์กล่าวด้วยความสลดใจ ก่อนทิ้งท้ายให้คนในวงคิดตาม
ฉลามบางสายพันธุ์อย่างฉลามกบไม่ได้ถูกกำหนดเป็นสัตว์คุ้มครองหรือสัตว์สงวน การค้าขายฉลามจึงไม่ผิด ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจหากเราเห็นเมนูฉลามผัดฉ่าตามร้านอาหาร หรือภาพฉลามถูกชำแหละขายตามท้องตลาด
เสียงของศิษย์
หนึ่งในความภาคภูมิใจ
หลายครั้งที่ใต้ทะเลมอบความสุขแก่เขา แต่หลายครั้งก็เศร้าเมื่อรู้ว่าทะเลไม่เหมือนเดิม แล้วจะทำอย่างไรให้คนอื่นรับรู้ การเป็นครูสอนดำน้ำทำให้พบว่า เมื่อเห็นกับตาตนเองนี่แหละคือคำตอบ การพาคนไปเรียนรู้ใต้น้ำ บอกเล่าประสบการณ์ที่พบเจอ แลกเปลี่ยนความรู้ที่ถูกต้อง คงช่วยให้วันหนึ่งเสียงธรรมชาตินั้นดังพอ
แม้การเป็นครูจะเริ่มต้นไม่นาน แต่เมื่อความรู้และประสบการณ์ของเขาได้แตะหัวใจศิษย์คนใด จนความรู้สึกนึกคิดแปรเปลี่ยน แสดงว่า แรงบันดาลใจที่ส่งต่อได้ทำหน้าที่ดังหวังแล้ว
“เมื่อก่อนผมกลัวฉลาม แต่ตอนนี้ไม่กลัว หรือบางคนหลังจากดำน้ำ เห็นฉลามก็ขึ้นมาบอกพี่ว่าฉลามออกจะน่ารัก ฉลามต้องตายเพราะการกินหูฉลาม หนูจะไปบอกไม่ให้คนอื่นกินหูฉลาม เสียงสะท้อนจากศิษย์บางคนที่แบงค์เอ่ยอย่างภาคภูมิใจ
“ไม่ใช่แค่ฉลาม แต่ปลาทุกตัวเลย ถ้าไม่มีปลาก็ไม่มีทะเล พี่รู้สึกว่าเราเริ่มจากลบความน่ากลัวของฉลามด้วยการเห็นจริง รู้จริง มันช่วยบันดาลให้เด็กรักเหมือนที่พี่รักได้” แบงค์เอ่ยปิดท้ายก่อนเรือจะจอดเทียบท่า
การพูดคุยวันนี้ทำให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนจากเขา คนที่เริ่มต้นด้วยความหลงใหลสิ่งเล็กๆ นำไปสู่อาชีพ มิตรภาพ โอกาส และนักอนุรักษ์ หวังว่าความสุขจากการเดินทางด้วย passion ของเขา จะส่งต่อแรงบันดาลใจแก่เหล่านักรักษ์ต่อไป…