Image

กลืนกลาย

จากบรรณาธิการ

การทำงานสารคดีแบบลงชุมชนครั้งแรกของผม คือป่าชุมชนที่บ้านทุ่งยาว จังหวัดลำพูน เมื่อสักเกือบ ๓๕ ปีก่อน

เดินไปตามทางดินทอดยาวลึกเข้าไปในหมู่บ้าน เจอบ้านหลังไหนก็ขอขึ้นเรือนล้านนายกพื้นสูง ขอคุยกับพ่ออุ้ยแม่อุ้ยเพื่อจะพยายามเข้าใจวิถีชุมชน 

แค่เรือนแรกก็พบว่าตัวเองไร้เดียงสามาก เพราะฟังภาษาถิ่นหรือคำเมืองไม่ได้เลยสักคำ ไม่รู้เลยว่าจะมีชาวบ้านที่พูดแต่ภาษาท้องถิ่น เลยได้แต่พยักหน้ารับเวลาพ่ออุ้ยแม่อุ้ยพูดจบประโยค

สัมผัสถึงน้ำเสียงและท่าทีอ่อนโยนเปี่ยมเมตตาที่คนแปลกหน้าอย่างผมได้รับ

เป็นครั้งแรกที่คนเติบโตในศูนย์กลางวัฒนธรรมหลักรู้สึกว่าตนเองต่างหากที่เป็น “คนอื่น” ไม่เข้าใจทั้งภาษาถิ่น วัฒนธรรม อาหาร การทำเหมืองฝาย การไหว้ผีฝาย ฯลฯ

ประสบการณ์ทำงานที่เพิ่มขึ้นตามเวลา ทำให้ตระหนักเสมอว่าเราเป็น “คนอื่น” ที่ขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ของเจ้าของพื้นที่ด้วยความเคารพในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา

Image

เช่นเดียวกับเวลาเข้าไปถ่ายทอดเรื่องราวในพื้นที่ธรรมชาติ
เราก็เป็นเพียง “มนุษย์แปลกหน้า” ที่ขอเข้าไปในบ้านหลังใหญ่ของพืชพรรณ สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ พยายามเข้าใจระบบความสัมพันธ์อันซับซ้อนของชีวิตต่างสายพันธุ์ ที่ยิ่งแตกต่างกว่าผู้คนต่างวัฒนธรรม

โลกเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ทั้งสังคมของธรรมชาติและสังคมของมนุษย์

แต่แทนที่จะเคารพความจริงนั้น ประวัติศาสตร์มักสะท้อนว่า
เรามองความแตกต่างคือภัยคุกคาม

การขยายอำนาจทางการเมืองและการปกครองให้อยู่ในระบอบหนึ่งเดียวภายใต้รัฐหรือจักรวรรดิมีมาแต่โบราณ

การกลืนกลายวัฒนธรรมอื่นให้อยู่ภายใต้วัฒนธรรมของผู้มีอำนาจเหนือกว่าด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการบังคับด้วยกฎหมายการเผยแพร่ศาสนาและปลูกฝังภาษาส่วนกลาง ฯลฯ

เจ้าของวัฒนธรรมเดิมที่ยอมปรับตัวเพื่อความอยู่รอดก็มี แต่ที่ต่อสู้เพื่อดำรงเอกลักษณ์ของตนเองก็มี จนเป็นความขัดแย้ง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ครั้งหนึ่งประเทศไทย ชาติพันธุ์ในอีสานและภาคเหนือเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านอำนาจกดขี่ของรัฐ  ชาวมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ถูกข่มเหงบังคับทางวัฒนธรรม จนเป็นปัจจัยหนึ่งในความขัดแย้งยาวนาน

Image

ครั้งหนึ่งระดับโลก นาซีสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ผู้ปกครองออสเตรเลียแยกเด็กชนเผ่าพื้นเมืองจากครอบครัว นำมาเลี้ยงดูในครอบครัวคนผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์ ฯลฯ

ปัจจุบันสงครามการต่อสู้กับการกลืนกลายยังคงดำเนินไป

...สงครามยูเครน-รัสเซียที่อ้างสาเหตุจากการทำลายอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์แต่ละฝ่าย

...สงครามเมียนมากับชนกลุ่มน้อยต่างชาติพันธุ์ ฯลฯ 

ส่วนธรรมชาติถูกมนุษย์ทำลายความหลากหลายที่เราไม่เข้าใจ กลืนกลายให้เป็นเมืองและสิ่งปลูกสร้างในนามของความเจริญ เพียงเพื่อผลประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ต้องการ

พื้นที่ชุ่มน้ำถูกขุดลอกถมทับให้เป็นพื้นที่เกษตร หาดทรายธรรมชาติถูกทำลายด้วยกำแพงหินและบันไดหิน พื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งคนเห็นความรกร้างว่าคือความเป็นอื่น ถูกไถทิ้งเพื่อก่อสร้างหรือปลูกกล้วย มะนาว เพื่อเลี่ยงภาษี ฯลฯ

ย่ำแย่กว่ามนุษย์ คือธรรมชาติต่อสู้เพื่อเรียกร้องและรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไม่ได้ 

หรือหากธรรมชาติส่งเสียงได้ มนุษย์ก็คงไม่อยากได้ยิน

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

ฉบับหน้า : ๕๐ สิ่งและคำไทย-จีน 
ในวาระ ๕๐ ปี
ความสัมพันธ์ไทย-จีน