Image

เรื่อง : รชฏ มีตุวงศ์

๗.๗

“สิ่งน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย คือแผ่นดินไหว ขนาด ๗.๗ ครั้งนี้ อาจกระตุ้นให้รอยเลื่อนเมยในพื้นที่จังหวัดตาก หรือบางคนเรียกรอยเลื่อนแม่ปิง ที่ต่อเชื่อมกับรอยเลื่อนสะกายเกิดการขยับตัว รวมทั้งรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนที่หลับใหลมานานอาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง หรือขนาดตั้งแต่ ๖.๐ ขึ้นไปได้ในอนาคต คนไทยเราพร้อมรับมือกันหรือยัง”

พูดก็พูดเถอะ คำอธิบายเรื่องแผ่นดินไหวที่ทิ้งท้ายด้วยคำถามทำนองนี้ หากเอ่ยจากหมอดูชื่อดังหรือใครอื่นทั่วไป ผมมักฟังแล้วผ่านเลย ไม่ค่อยสนใจ แต่พอถูกถามจากนักธรณีวิทยา ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเรื่องรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหวมามากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งเคยไปสัมผัสใกล้ชิดกับรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) โดยตรงอย่าง สุวิทย์ โคสุวรรณ ทำให้ผมต้องฟังอย่างตั้งใจและนำมาคิดต่อ

คนไทยเราพร้อมรับมือกันหรือยัง สุวิทย์ย้ำกับผมอีกครั้งว่าแผ่นดินไหวเป็นพิบัติภัยที่ไม่สามารถบอกวันเวลา สถานที่ และขนาดของการเกิดล่วงหน้าได้  การศึกษาวิจัย เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนป้องกันบรรเทาความเสียหายจึงจำเป็นมาก  ยิ่งในเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘ เวลาประมาณ ๑๓.๒๐ น. ด้วยขนาด ๗.๗ ความลึก ๑๐ กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ระหว่างเมืองมัณฑะเลย์กับเมืองสะกายในประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๓๓๐ กิโลเมตร แต่ส่งแรงสั่นไหวไกลมาถึงกรุงเทพฯ ก่อความตื่นตระหนกและความเสียหายที่รุนแรงไม่น้อย

“แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมาค่อนข้างอยู่เหนือความคาดหมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วแผ่นดินไหวขนาด ๗.๗ จะส่งผลให้เกิดรอยแตกหรือการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนอยู่ในพื้นที่ด้วยความกว้าง ๒๐ กิโลเมตร และความยาว ๒๐๐ กิโลเมตร แต่คราวนี้ การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกายยาวมากกว่า ๔๕๐ กิโลเมตร ดูได้จากแนวกระจายตัวของ aftershocks หรือแผ่นดินไหวตาม คือตั้งแต่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองสะกาย เมืองเมกติลา เมืองหลวงเนปยีดอ และเมืองพะโค

“รวมทั้งองค์การนาซา (NASA) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้มองเห็นชัดเจนว่าแผ่นดินไหวทำให้รอยเลื่อนฉีกขาดยาวมากเกือบ ๕๐๐ กิโลเมตร ส่งผลกระทบให้กรุงเทพฯ ของเราเกิดการสั่นไหวค่อนข้างรุนแรงและยาวนานกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอีกจำนวนมากในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ไม่ว่าที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอำเภอปายและหลุมยุบในพื้นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย”

สุวิทย์ขยายความว่า สำหรับรอยเลื่อนสะกายที่หลายคนมักเปรียบเป็นยักษ์หลับกลางประเทศเมียนมา ต้นเหตุของแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้ เขามีประสบการณ์ไปร่วมสำรวจและศึกษาเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๖๑ เป็นรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเจาะลึกในหัวข้อ Paleoseismological Field Training Course at Sagaing Fault in Myanmar จุดประสงค์หลักคือศึกษาหน้าตาและพฤติกรรมของรอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิคใหม่ ๆ ในการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังเพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมีวิทยากร คณะผู้จัดการฝึกอบรม และผู้เชี่ยวชาญด้านรอยเลื่อนมีพลังและธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวจาก University of Oregon (UO), Oregon State University (OSU), California Geological Survey (CGS), National Taiwan University (NTU), Earth Observatory of Singapore (EOS), Institute of Geology, China Earthquake Administration และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทางด้านธรณีวิทยาของประเทศเมียนมาและประเทศไทยเข้าร่วมด้วย

Image

การสำรวจรอยเลื่อนมีพลังที่เมืองสะกาย ประเทศเมียนมา โดยการขุดร่องสำรวจ บันทึกลำดับชั้นดินและเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์หาอายุและความสัมพันธ์กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีต
ภาพ : สุวิทย์ โคสุวรรณ

“การลงพื้นที่สำรวจและศึกษารอยเลื่อนครั้งนั้นเลือกบริเวณใกล้เมืองสะกาย เริ่มด้วยการสำรวจธรณีสัณฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง เพื่อใช้คัดเลือกพื้นที่ จากนั้นก็ทำการขุดร่องสำรวจ ตกแต่งผนังร่องสำรวจ จัดทำระดับอ้างอิง บันทึกลำดับชั้นดินและแนวรอยเลื่อนในผนังร่องสำรวจ (trench logging) ถ่ายภาพต่อเนื่องของผนังร่องสำรวจ พร้อมเก็บตัวอย่างดินและตัวอย่างถ่าน (charcoal) ไปวิเคราะห์หาอายุชั้นดินและความสัมพันธ์กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้น

“หลายคนรับรู้ว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก เทียบเท่ารอยเลื่อนซานแอนเดรียสในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ถ้าเราลองพิจารณารอยเลื่อนนี้ที่ทอดตัวยาวในแนวประมาณเหนือ-ใต้ ผ่ากลางประเทศเมียนมา พาดผ่านเมืองสำคัญเริ่มจากเมืองมิตจีนา มัณฑะเลย์ สะกาย เนปยีดอ พะโค ย่างกุ้ง ต่อเนื่องลงไปในทะเลอันดามัน ด้วยระยะทางราว ๑,๒๐๐ กิโลเมตร นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหวจะจัดแบ่งรอยเลื่อนย่อยเป็นหกเซกเมนต์ส (segments) หรือหกท่อน ไล่จากเหนือลงมาใต้ เรียกท่อนบนสุดว่า ท่อนสะกายตอนเหนือ ท่อนสะกาย ท่อนเมกติลา ท่อนเนปยีดอ ท่อนพยู และท่อนพะโค

“จากการสำรวจเราพบหน้าตาของภูมิประเทศเฉพาะที่บ่งชี้ว่ารอยเลื่อนนี้มีพลังอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน เช่น ผารอยเลื่อน หนองน้ำ ทางน้ำหัวขาด สันเขากั้น และทางน้ำหักงอ ซึ่งรูปลักษณ์ดังกล่าวบอกว่า รอยเลื่อนสะกายมีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมขวา (right lateral strike-slip fault) หมายความว่าแผ่นดินฝั่งตะวันตกของพม่า (Western Burma Microplate) จะเคลื่อนตัวขึ้นทิศเหนือ ส่วนแผ่นดินฝั่งตะวันออกของรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งก็คือบริเวณพื้นที่รัฐฉานและประเทศไทย (Shan-Thai Microplate) จะเคลื่อนที่ลงทางทิศใต้”

สุวิทย์เพิ่มเติมข้อมูลว่า จากการศึกษาของ Socquet และคณะ (ปี ๒๕๔๙) เพื่อระบุตำแหน่งพื้นโลกจากระบบจีพีเอสที่ติดตั้งกระจายทั่วพื้นที่ในประเทศเมียนมา พบว่าปัจจุบันแผ่นธรณีอินเดียวิ่งชนแผ่นธรณียูเรเซียด้วยอัตราเร็วประมาณ ๓.๕ เซนติเมตรต่อปี และมีการถ่ายเทแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานเข้ามาภายในแผ่นธรณียูเรเซีย ทำให้รอยเลื่อนสะกายมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ ๑๘-๒๒ มิลลิเมตรต่อปี

“ผลการศึกษาธรณีวิทยาแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนสะกายจากนักวิจัยหลายคนวิเคราะห์ว่า รอยเลื่อนนี้มีวงรอบการเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า ๗.๗ ในทุกรอบ ๓๐๐-๔๐๐ ปี และขนาดมากกว่า ๗.๐ จะเกิดทุกรอบ ๑๐๐-๒๐๐ ปี และยังมีความเห็นว่ารอยเลื่อนท่อนเมกติลาและท่อนพะโคเป็น seismic gaps หมายถึงช่วงที่ว่างเว้นจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จึงน่าจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งท่อนเมกติลาทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗.๗ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘  ยังเหลือแต่ท่อนพะโคที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว ๔๕๐ กิโลเมตรเท่านั้น”

ฟังข้อมูลแล้วก็น่าหวั่นใจไม่น้อย แต่การนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไม่มีเจตนาให้เกิดความตื่นตระหนก เพียงอยากให้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่พวกเราชอบคิดว่ามันอยู่ไกลตัว

ทีมสำรวจและศึกษารอยเลื่อนสะกายจากหลายชาติ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ Paleoseismological Field Training Course at Sagaing Fault in Myanmar ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๖๑

รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก เทียบเท่ารอยเลื่อนซานแอนเดรียสในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

“เชื่อไหมในช่วงเดือนเดียวกัน (๒๓ มีนาคม ๒๓๘๒) เมื่อ ๑๘๐ กว่าปีก่อน รอยเลื่อนสะกายทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งหนึ่ง เรียกว่าแผ่นดินไหวอังวะ ทำลายบ้านเมืองในราชธานีอังวะเสียหายมาก จนเป็นเหตุให้พม่าต้องย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองอมรปุระ อีกทั้งยังส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ ตรงกับช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งประเทศไทยเราบันทึกเหตุการณ์ไว้มีเนื้อความสำคัญว่า ‘แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา ๘ ทุ่ม ผู้คนตกใจทั้งแผ่นดิน ที่อยู่บนเรือนก็เหมือนเรือนจะทลาย ที่อยู่เรือแพก็โยกไปมาเหมือนถูกคลื่น น้ำในลำแม่น้ำก็เทไปฟากโน้นเทไปฟากนี้ เปรียบเหมือนคนกรอกน้ำในลำเรือฉันใดก็ฉันนั้น รุ่งสางจึงรู้ว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เมืองพม่า มีแผ่นดินแยกเกิดขึ้นด้วย...’

“การสั่นไหวอย่างรุนแรงครั้งนั้นเทียบขนาดประมาณ ๘.๐ ทำให้เจดีย์มินกุน (Mingun Pagoda) เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยอิฐที่เมืองมินกุน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ ห่างไปราว ๑๐ กิโลเมตร หักโค่นลงมากลายเป็นซากปรักหักพัง ประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้ศูนย์กลางได้สูงมากใน ßระดับ X ตามมาตราเมอร์คัลลี (ระดับแผ่นดินแตกร้าว ตึกแข็งแรงพัง ดินเคลื่อนตัวหรือถล่ม) ซึ่งส่งผลสั่นไหวมาถึงภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยอย่างชัดเจน”

สุวิทย์เล่าเหตุการณ์สำคัญที่เขามองว่าคล้ายคลึงกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ก่อนชี้ว่ารอยเลื่อนสะกายทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า ๗.๐ จนถึง ๘.๐ มาแล้วหลายครั้ง  ในสายตาเขา กลุ่มรอยเลื่อนในประเทศเมียนมาที่ส่งอิทธิพลต่อพื้นที่ของประเทศไทยจะมีรอยเลื่อนหลัก ๆ สามกลุ่ม คือ กลุ่มรอยเลื่อนสะกาย กลุ่มรอยเลื่อนตองจี ที่วางตัวในแนวประมาณเหนือ-ใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนพานหลวง ที่วางตัวในแนวประมาณตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้มีลักษณะการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมขวา

๑๐๐

นอกจากความเห็นของสุวิทย์ยังมีข้อมูลรอยเลื่อนสะกายจากมิตรสหายนักธรณีวิทยาอีกสองคน ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการธรณีวิทยาแผ่นดินไหวมากเช่นกัน คือ ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ เจ้าของเพจและเว็บไซต์มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) ผู้โด่งดัง และ ปรีชา สายทอง ผู้เคยศึกษาและเขียนรายงานวิชาการเกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาโดยตรง

อาจารย์สันติให้รายละเอียดว่า ถ้าพิจารณาทางธรณีวิทยาแปรสัณฐาน (tectonic setting) นักธรณีวิทยาเชื่อว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยในอดีตสองแผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และแผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)

อย่างไรก็ตามผลจากการเคลื่อนที่ในยุคปัจจุบันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) ที่เข้าชนและมุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือโดยประมาณ ส่งผลให้รอยเลื่อนสะกายซึ่งเป็นรอยต่อที่ยังไม่เชื่อมประสานติดกันอย่างสมบูรณ์เกิดขยับและเลื่อนตัวตามไปด้วย

โดยจากการกำหนดอายุของหินแปรในบริเวณเมืองโมกก (Mogok Metamorphic Belt) ที่เกิดจากการเบียดและบีบอัดกันของแผ่นซุนดาและแผ่นพม่า ประกอบกับการแปลความหมายร่วมกับข้อมูลทางธรณีวิทยาอื่น ๆ สรุปว่ารอยเลื่อนสะกายเริ่มเลื่อนตัวราว ๑๖-๒๒ ล้านปีที่ผ่านมา

Image

พฤติกรรมของรอยเลื่อนสะกายมักจะไม่เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยครั้งมากนัก ส่วนขนาดใหญ่มากกว่า ๗.๐ นั้นเกิดอย่างต่อเนื่อง

ผลจากการเลื่อนตัวนั้นทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่อง จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดระบุว่า ช่วงปี ๒๕๐๗-๒๕๕๕ เคยเกิดแผ่นดินไหวหลัก (mainshock) บริเวณรอบรัศมี ๑๐๐ กิโลเมตรจากรอยเลื่อนสะกายประมาณ ๒๗๖ เหตุการณ์ โดยมีขนาดแผ่นดินไหวระหว่าง ๒.๙-๗.๓

และจากงานวิจัยในอดีตพบว่ามีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ขนาดตั้งแต่ ๗.๐ หรือมากกว่า ประมาณ ๗๐ เหตุการณ์ในช่วงปี ๑๙๗๒-๒๕๓๔ (๕๖๒ ปี) ซึ่งจำนวนนี้มีราว ๒๐ เหตุการณ์ที่ระบุเวลา ตำแหน่ง และขนาดของแผ่นดินไหวที่แน่นอน โดยส่วนใหญ่มีจุดศูนย์กลางอยู่ทางตอนใต้ของรอยเลื่อนสะกาย ไม่ห่างจากเมืองพะโคและย่างกุ้งมากนัก

ผลวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหว สามารถประเมินคาบอุบัติซ้ำของการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละขนาดได้ว่า รอยเลื่อนสะกายมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๖.๐ ริกเตอร์ในทุก ๆ ๘ ปี ขณะที่แผ่นดินไหวขนาด ๗.๐ และ ๘.๐ ริกเตอร์ มีคาบอุบัติซ้ำโดยประมาณ ๖๐ และ ๕๐๐ ปี ตามลำดับ

อาจารย์สันติสรุปความว่า พฤติกรรมของรอยเลื่อนสะกายมักจะไม่เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยครั้งมากนัก ส่วนขนาดใหญ่มากกว่า ๗.๐ นั้นเกิดอย่างต่อเนื่อง หากวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวปัจจุบันในเชิงสถิติ ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายมีศักยภาพพอที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด ๘.๖ ได้ โดยเฉพาะบริเวณเมืองมิตจีนาทางตอนเหนือของรอยเลื่อนยักษ์ใหญ่นี้

ในส่วนของปรีชาไล่เรียงให้ผมฟังว่า ผลจากการสำรวจธรณีวิทยาบ่งชี้ว่า รอยเลื่อนสะกายทอดตัวจากตอนเหนือของประเทศเมียนมาในบริเวณรัฐกะฉิ่น กรีดแนวลงใต้ไปถึงอ่าวเมาะตะมะ โดยผ่านเมืองใหญ่ เช่น ปูตาโอ กาสา โมกก มัณฑะเลย์ พยู พะโค ย่างกุ้ง

ความที่เป็นรอยเลื่อนใหญ่และอันตรายที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงถูกจับตาและศึกษาเชิงลึกอย่างต่อเนื่องปรีชายกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น Win Swe (ปี ๒๕๑๕, ๒๕๒๔) ทำการศึกษาภูเขาสะกายทางด้านทิศตะวันตกของเมืองมัณฑะเลย์ พบว่ารอยเลื่อนสะกายแสดงการเลื่อนตัวในแนวระนาบ โดยหลักฐานจากการสะสมตัวของลานหินเชิงผา (talus deposits) อายุตอนปลายสมัยไพลสโตซีนถึงปัจจุบัน ชี้ว่าอาจเลื่อนตัวเป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร และจากหลักฐานก้อนหินเหลี่ยมแปลกปลอมขนาดใหญ่ของหินอ่อน (huge exotic angular blocks of marble) ที่พบตามแนวรอยเลื่อน ชี้ว่าอาจเลื่อนตัวมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร

Image

แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
กรมทรัพยากรธรณี, ๒๕๖๖

Socquet และคณะ (ปี ๒๕๔๙) ได้ตรวจวัดอัตราการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนสะกายด้วย GPS พบว่ามีอัตราการเลื่อนตัวที่ ๑๘ มิลลิเมตรต่อปี

Tsutsumi และ Sato (ปี ๒๕๕๒) ศึกษาลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งชี้ถึงความมีพลังของกลุ่มรอยเลื่อนสะกายตอนล่าง ระหว่างเมืองย่างกุ้งกับเมืองพะโค ระยะทางประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร เพื่อหาความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวเมืองพะโค เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๗๓

Yu Wang และคณะ (ปี ๒๕๕๔) ศึกษารอยเลื่อนสะกายตอนล่าง พบการเลื่อนตัวแบบเหลื่อมขวา และพบลักษณะธรณีสัณฐานที่สำคัญเป็นต้นว่า ธารเหลื่อม (offset stream), ธารน้ำเส้นตรง (linear valley), หน้าผาเส้นตรง (linear scarp) มีระยะเลื่อนตัว ตั้งแต่ ๕๐๐ เมตรถึง ๔ กิโลเมตร และได้ศึกษาแผ่นดินไหวโบราณในเมืองพะยายี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพะโคไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๖ กิโลเมตร

จากการแปลความหมายขั้นรายละเอียด พบว่ามีแนวรอยเลื่อนสะกายผ่านกลางเมืองโบราณ หลักฐานคือหนองน้ำ (pond), เนินตะพัก (deformed terrace) และธารเหลื่อม
(offset stream)  เมื่อรังวัดขั้นรายละเอียดรวมกับจัดทำภาพแบบจำลองภูมิประเทศดิจิทัล (DTM) พร้อมภาพตัดขวางในแนวตะวันออก-ตะวันตก พบว่าตะพักด้านทิศตะวันออกสูงกว่าด้านทิศตะวันตก ๑.๔ เมตร ระยะทางการเลื่อนตัวในแนวราบประมาณ ๖ เมตร จากนั้นได้ขุดหลุมและร่องสำรวจ พบแนวรอยเลื่อนจำนวนสองแนว โดยรอยเลื่อนแรกมีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี ๒๔๗๓ ส่วนรอยเลื่อนที่ ๒ แก่กว่ารอยเลื่อนแรก

Thura Aung (ปี ๒๕๕๕) นำเสนอการขุดร่องสำรวจที่เมืองตวงทอนลอน (Tuangthonlon) ห่างจากเมืองพะยายีไปทางเหนือประมาณ ๗๐ กิโลเมตร พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีแนวรอยเลื่อนคู่ขนานกับรอยเลื่อนสะกาย คือหนองน้ำขนาดเล็ก ได้ขุดร่องสำรวจคร่อมแนวรอยเลื่อน พบแนวรอยเลื่อนจำนวนสามแนว  การลำดับชั้นตะกอนจากร่องสำรวจและหาอายุ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๗๓ และยังค้นพบแผ่นดินไหวในอดีตอีกสองเหตุการณ์ ด้วยขนาดประมาณ ๗.๐ สามารถประเมินค่าอุบัติซ้ำ (recurrence interval) ได้ราว ๑๐๐ ปี

๖๐๘, ๘๖๗, ๑๔๐๐, …, ๒๕๖๘

นอกจากยักษ์ใหญ่อย่างรอยเลื่อนสะกาย ปรีชาเสริมว่าในประเทศเมียนมายังพบรอยเลื่อนมีพลังอีกหลายแนว โดยแบ่งตามทิศทางการวางตัวได้สามกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนจิตตะกอง (Sitagong Fault Zone), กลุ่มรอยเลื่อนกาลาตัน (Kalatan), กลุ่มรอยเลื่อนปานหลวง (Pan Laung) และกลุ่มรอยเลื่อนปาปูน (Papun)

กลุ่มถัดมาคือรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ จะมีกลุ่มรอยเลื่อนรุยลี (Ruili),
กลุ่มรอยเลื่อนทิง (Tinge), กลุ่มรอยเลื่อนวานดิง (Wanding), กลุ่มรอยเลื่อนนานติง (Nanting), กลุ่มรอยเลื่อนเม็งซิง (Mengxing) และกลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา (Nam Ma)

และกลุ่มสุดท้ายคือรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ จะมีกลุ่มรอยเลื่อนกาบอว์ (Kabaw), กลุ่มรอยเลื่อนเจ้าจัน (Kyaukkyan), กลุ่มรอยเลื่อนมอว์ชิ (Mawchi) และ
กลุ่มรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing) 

คำบอกเล่าของปรีชาทำให้ผมต้องย้อนทบทวนการเดินทางของตัวเองเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว ห้วงหนึ่งผมเคยรอนแรมไปสบตากับรอยเลื่อนสะกายและรอยเลื่อนมีพลังหลายแนว แถบเมืองมัณฑะเลย์ต่อถึงดินแดนรัฐฉานอย่างเมืองเมย์เมียว เมืองจ๊อกแม เมืองสีป้อ เมืองแสนหวี เมืองล่าเสี้ยว ตระเวนอยู่บนถนนพม่า (Burma Road) จนประชิดชายแดนจีนตอนใต้ ก่อนจะย้อนกลับมาเมืองมัณฑะเลย์อีกครั้ง

การเดินทางครั้งนั้นผมบันทึกสั้น ๆ เป็นระยะ เช่น บางช่วงฉากระหว่างรถไฟวิ่งจากเมืองเมย์เมียวจะข้ามไปเมืองจ๊อกแม 

“ขณะรถไฟเลื้อยตัวช้า ๆ ผ่านสะพานก๊อกเต๊ก (Gokteik) ตัวสะพานมีความยาวร่วม ๖๕๐ เมตร สูง ๙๕ เมตร สร้างตั้งแต่ปี ๒๔๔๖ โดยบริษัทเพนซิลเวเนีย สตีล จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นสะพานรถไฟที่สูงเป็นอันดับ ๒ ของโลก เก่าแก่และยาวสุดในพม่า ทอดตามองจากหน้าต่างรถไฟลงไปเบื้องล่างจะเห็นหุบเหวและแม่น้ำมิดเหง่ ลึกดิ่งกว่า ๓๐๐ เมตร รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องจนต้องละสายตาจากหุบเหวลึก ก่อนจะหันไปเจอหน้าผาหินปูนตั้งชันอยู่เบื้องหน้า (นึกภาพคล้าย ๆ แถวกาญจนบุรีในบ้านเรา) ก็พอคาดเดาได้ว่า นี่เรากำลังวิ่งคร่อมรอยเลื่อนที่ใหญ่มากอีกแนวแน่ ๆ ซึ่งน่าจะวางตัวขนานกับอภิมหารอยเลื่อนของพม่าอย่างรอยเลื่อนสะกายด้วย”

Image

สะพานก๊อกเต๊ก (Gokteik) สะพานรถไฟที่สูงและยาวที่สุดในพม่า บางช่วงระหว่างเมืองเมย์เมียวไปเมืองจ๊อกแม สะพานสร้างคร่อมรอยเลื่อนเจ้าจัน (แนวแม่น้ำมิดเหง่) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่วางตัวขนานกับรอยเลื่อนสะกาย ฟากฝั่งตะวันออกของประเทศเมียนมา
ภาพ : รชฏ มีตุวงศ์

เทียบกับแผนที่ที่ปรีชาเคยศึกษา รอยเลื่อนที่ผมกำลังสบตาขณะนั้นคือกลุ่มรอยเลื่อนเจ้าจันหรือตองจี (Kyaukkyan Fault or Taunggyi Fault) ซึ่งปรากฏตัวบริเวณฝั่งตะวันออกของประเทศเมียนมา พาดผ่านเมืองเจ้าจัน เมืองอินดอว์ เมืองตองจี ทะเลสาบอินเล และเมืองโมบาย ด้วยความยาวราว ๕๐๐ กิโลเมตร วางตัวในแนวประมาณเหนือ-ใต้ เป็นรอยเลื่อนแนวระนาบเหลื่อมขวา (แบบเดียวและทิศทางเดียวกับรอยเลื่อนสะกาย)  รอยเลื่อนนี้เคยทำให้ดินแดนรัฐฉาน โดยเฉพาะเมืองตองจีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๒๕๗ ด้วยขนาดประมาณ ๘.๐ ก่อความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างรุนแรง

หากเอ่ยถึงรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหวที่สำคัญในประเทศเมียนมา ถือว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าประเทศไทยมาก จากที่ผมลองสืบค้นเหตุการณ์ (เน้นที่รอยเลื่อนสะกายและรอยเลื่อนเจ้าจัน) พบว่าเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๘๒ เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองอังวะ ทางตอนใต้ของเมืองมัณฑะเลย์และเมืองสะกาย ทำให้เจดีย์และโบราณสถานได้รับความเสียหาย  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังระบุว่าบริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี ๑๙๗๒, ๒๐๑๐, ๒๐๔๔, ๒๑๔๕, ๒๒๓๙, ๒๓๐๕, ๒๓๑๔, ๒๓๑๙ และ ๒๓๗๓ ด้วย

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๐๔๑ เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองแปร (Pyay) ตอนกลางของประเทศเมียนมา เกิดการพังทลายของสิ่งก่อสร้าง เจดีย์ในเมืองแปรและเมืองใกล้เคียงเหตุการณ์ครั้งนั้นรู้สึกได้ไกลถึงเมืองอังวะ เมืองเจ้าจันและเมืองย่างกุ้ง จากหลักฐานระบุว่าแถบนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี ๖๐๘ และ ๒๓๙๓ ด้วย

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๕๕ เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ประมาณ ๘.๐ ทางตอนเหนือของเมืองตองจี ห่างไปราว ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งรู้สึกได้ทั่วทั้งประเทศเมียนมา รวมถึงบางส่วนของประเทศไทย มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย สาเหตุเกิดจากรอยเลื่อนเจ้าจันที่พาดแนวอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองเมย์เมียว

แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๗๒ ใกล้เมืองตองอู เกิดรอยแตกบนถนน สะพานและเจดีย์พังเสียหายบางส่วน และเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๗๓ หรือที่เรียกว่าแผ่นดินไหวพะโค เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ประมาณ ๗.๓ สร้างความเสียหายมากมาย มีผู้เสียชีวิตที่เมืองพะโคประมาณ ๕๐๐ ราย เมืองย่างกุ้ง ๕๐ ราย และยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ทรายผุด (liquefaction) ด้วยจากหลักฐานชี้ว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้เมื่อปี ๑๔๑๑, ๑๔๑๘, ๒๑๐๗, ๒๑๑๐, ๒๑๒๕, ๒๑๓๑, ๒๑๓๓, ๒๓๐๐, ๒๓๑๑, ๒๓๗๓, ๒๔๓๑, ๒๔๕๖, ๒๔๖๐, ๒๔๖๓ และ ๒๔๗๓

แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๗๔ ทางทิศตะวันออกของเมืองอินดอยี เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ประมาณ ๗.๖  และวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๙ เกิดแผ่นดินไหวใกล้เมืองสะกาย ขนาดใหญ่ประมาณ ๗.๐ เจดีย์พังเสียหายบางส่วน มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๔๐ ราย

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙ แผ่นดินไหวใกล้เมืองพุกาม ขนาดใหญ่ประมาณ ๖.๘ เจดีย์และโบราณสถานหักพังเสียหาย จากหลักฐานเดิมระบุว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อปี ๘๖๗, ๑๕๒๙, ๑๘๓๐, ๑๘๓๒, ๒๓๕๙ และ ๒๓๙๙

และเมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๖ แผ่นดินไหวใกล้เมืองตองจี ด้วยขนาดประมาณ ๖.๖ เกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนสะกายบริเวณตอนกลางของประเทศ ทำให้อาคารบ้านเรือน โบสถ์ เจดีย์ได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเจ็ดราย และรู้สึกได้ถึงภาคเหนือของประเทศไทย

Image

๑๐,๐๐๐

จากการสืบค้นร่องรอยในอดีต ผมพบว่าแผ่นดินไหวในเมียนมาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และหลายครั้งเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ การเดินทางไกลหลายช่วงฉากในเมียนมา สารภาพว่าลึก ๆ แล้วผมก็รู้สึกหวาดหวั่นต่อการสั่นไหวอยู่ไม่น้อย ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน เช่นเดียวกับแผ่นดินไหวที่ไม่มีใครบอกได้ล่วงหน้า

ขณะเยือนพระราชวังมัณฑะเลย์ วิหารชเวนันดอว์ วัดมหามัยมุนี และอีกหลากสถานที่สำคัญ ผมบันทึก สังเกตสิ่งที่พบเจอ และมีโอกาสนำมาทบทวนอีกครั้งหลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุด พบว่าพระราชวังมัณฑะเลย์ซึ่งสร้างโดยพระเจ้ามินดง ตามภูมิจักรวาลแบบพราหมณ์ผสมพุทธ ภายในมีท้องพระโรง แท่นประทับ หอคอยสูง และตำหนักน้อยใหญ่ ที่ประทับของมเหสี ราชธิดา และผู้แวดล้อมมากมาย ปรากฏภาพว่ากำแพงและซุ้มประตูของพระราชวังหลายบริเวณถล่มพังลงมา เสียหายไม่น้อย

ขณะที่วัดมหามัยมุนี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญหนึ่งในห้าของเมียนมา ต้นแบบของพระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่มทรงเครื่องกษัตริย์ขนาดใหญ่ ที่พระเจ้ากรุงยะไข่ทรงหล่อขึ้นที่เมืองธรรมวดีเมื่อปี ๖๘๙ ก็เสียหายหนัก เจดีย์ที่รายล้อมและกำแพงวัดหลายส่วนพังทลาย ซุ้มประตูทางเข้าวัดถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที สิ่งก่อสร้างในวัดทั้งร้าวและหักพังจนแทบจำภาพความสวยงามเดิมไม่ได้

ส่วนตึกรามบ้านเรือนในตัวเมืองมัณฑะเลย์ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งเมือง ชาวบ้านจำนวนมากกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ต้องไปนอนรอบคูน้ำรอบพระราชวังและริมถนนชั่วคราว

ข้ามฝั่งแม่น้ำอิรวดีไปที่เมืองสะกาย ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมากกว่าเมืองมัณฑะเลย์ ความเสียหายจึงรุนแรงและกว้างขวางกว่า ภาพจากสื่อหลายสำนักปรากฏซากปรักหักพังของบ้านเรือนกระจายเกลื่อนทั่วเมือง วัดและโบราณสถานนับพันแห่งพังทลาย กุฏิ วิหารเสียหายยับเยิน คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าเมืองจะฟื้นคืนได้

ที่น่าสะเทือนใจสุดคือข่าวการมรณภาพของพระเณรในวัด ทั้งที่เมืองสะกาย เมืองมัณฑะเลย์ มีพระสงฆ์และสามเณรที่อยู่ในวัด หรือบางส่วนอยู่ระหว่างการสอบ มรณภาพทันทีหลายร้อยรูป และอีกส่วนหนึ่งยังไม่ชัดเจนในชะตากรรม

โดยภาพรวมของความสูญเสียในประเทศเมียนมา หลายภาคส่วนประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้กว่า ๑ หมื่นราย

Image

แผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย
กรมทรัพยากรธรณี, ๒๕๖๑

๑๖

นอกจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในปี ๒๕๖๘ ปรีชาบอกว่าช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา รอยเลื่อนมีพลังและเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาที่สร้างผลกระทบแก่ประเทศไทยชัดเจน คือเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ขนาด ๖.๘ ความลึก ๑๐ กิโลเมตร มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่บริเวณรัฐฉาน เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนน้ำมา ซึ่งยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร วางตัวในแนวเกือบตะวันออก-ตะวันตก เกิดห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ราว ๘๐๐ กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ในหลายเมืองของเมียนมา ตั้งแต่เมืองตองจี เมืองพะโค เมืองชเวยิน เมืองตองอู เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองเนปยีดอ โดยเฉพาะที่จังหวัดท่าขี้เหล็กรับรู้ได้มากสุด  แรงสั่นสะเทือนยังรับรู้ได้ถึงกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน

ฟากฝั่งประเทศไทย ประชาชนรู้สึกได้ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ สั่นไหว โดยส่งผลกระทบมากสุดในจังหวัดเชียงราย มีอาคารพาณิชย์ วัด โบราณสถาน และโรงพยาบาลได้รับความเสียหาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด ๑๘ ราย เสียชีวิต ๑ ราย

และอีกครั้งเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ขนาด ๖.๘ ความลึก ๑๐ กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองชเวโบ ทางด้านทิศเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ ๔๔๐ กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งอาคารสูงในกรุงเทพฯ ด้วย

จากข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหวในเมียนมา ในส่วนของประเทศไทยประมวลได้ว่า จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี ปัจจุบันสามารถกำหนดกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังได้ ๑๖ รอยเลื่อน คือ รอยเลื่อนแม่จัน (พาดผ่านเชียงราย เชียงใหม่), รอยเลื่อนแม่อิง (เชียงราย), รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน (แม่ฮ่องสอน ตาก), รอยเลื่อนเมย (ตาก กำแพงเพชร), รอยเลื่อนแม่ทา (ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย), รอยเลื่อนเถิน (ลำปาง แพร่), รอยเลื่อนพะเยา (พะเยา เชียงราย ลำปาง), รอยเลื่อนปัว (น่าน), รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (อุตรดิตถ์), รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี), รอยเลื่อน
ศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี ตาก), รอยเลื่อนระนอง (ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พังงา), รอยเลื่อนคลองมารุ่ย (สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต), รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์ เลย), รอยเลื่อนแม่ลาว (เชียงราย) และรอยเลื่อนเวียงแหง (เชียงใหม่)

ตามนิยามของกรมทรัพยากรธรณี รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่มีการเลื่อนตัวในช่วง ๑ หมื่นปีที่ผ่านมา หรืออยู่ในช่วงอายุธรณีกาลสมัยโฮโลซีน ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวในกรณีที่มีการเลื่อนตัว

การสำรวจรอยเลื่อนมีพลังซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่กรมทรัพยากรธรณีทำมาต่อเนื่องยาวนาน ก็คือการศึกษาลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้างในชั้นหิน ชั้นดิน และธรณีสัณฐานที่เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลัง ที่อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวและส่งผลเสียหายต่อชุมชนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่รอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน (ปัจจุบันมี ๒๓ จังหวัด ๑๒๔ อำเภอ ๔๒๑ ตำบล ๑,๕๒๐ หมู่บ้าน)

ฉะนั้นยิ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของรอยเลื่อนมีพลัง เช่น ขนาดแผ่นดินไหวในอดีต อัตราการเลื่อนตัว คาบการอุบัติซ้ำหรือวงรอบการเกิดซ้ำของแผ่นดินไหวก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวเพื่อใช้วางแผนรับมือและลดผลกระทบได้ในอนาคต

Image

๑,๐๐๐

ศึกษาและรับรู้เรื่องแผ่นดินไหวมาก็ไม่น้อย และโดยวิชาชีพก็เป็นนักธรณีวิทยา แต่ผมสารภาพตามตรงว่าแผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ผมยังมึนงงและเบลอ ๆ ตั้งแต่เริ่มรู้สึกคล้ายมีอาการเขย่ากึก ๆ ๆ ๆ และเพียงเสี้ยวนาทีที่สัมผัสได้ว่าพื้นห้องทำงานและรอบตัวมีการโยกสั่นไหว แวบแรกผมคิดคล้ายคนบางกลุ่มที่เริ่มกังวลกับปัญหาสุขภาพว่ากำลังเวียนหัว ไม่สบาย หรือมีอาการป่วยไข้ใด ๆ โดยไม่ทันนึกถึงแผ่นดินไหว กระทั่งเดินไปเปิดประตู เอ่ยถามน้อง ๆ ที่นั่งทำงานอยู่อีกห้องว่าเหมือนมีอะไรผิดปรกติไหมคำตอบที่ได้ก็คือแผ่นดินไหวแน่นอน

จากห้องทำงานบนชั้น ๕ ผมจึงพบเพื่อนร่วมชะตากรรมกำลังเร่งฝีเท้าลงบันไดเพื่อไปลานกว้างหน้าตึกให้เร็วที่สุด ระหว่างประเมินเหตุการณ์ ผมเห็นเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ทั้งจากกรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งมีสถานที่ทำงานอยู่ใกล้กันแถบถนนพระรามที่ ๖ พญาไท ยืนรวมตัวอยู่บริเวณที่โล่งระหว่างตึก สีหน้าท่าทางคนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผม) ดูตื่นตกใจกับแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ

เพียงไม่นาน โทรศัพท์มือถือที่ยังใช้งานได้ก็ปรากฏคลิปเหตุการณ์จากหลากสถานที่ ทั้งผู้คนวิ่งลงจากคอนโดฯ อย่างโกลาหล อาคารสูงหลายแห่งโยกไหวแตกร้าว บนท้องถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยผู้คนที่ตระหนกตกใจกับแผ่นดินไหว

ที่รุนแรงสุดคือภาพอาคาร ๓๕ ชั้นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างแถวสถานีกลางบางซื่อและสวนจตุจักร พังถล่มลงมาทั้งหลัง ปรากฏคลิปคนงานวิ่งหนีออกจากโซนอันตรายอย่างหวุดหวิด เห็นครั้งแรกผมยังคิดว่าเป็นคลิปเก่าจากต่างประเทศ ไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพฯ และอยู่ห่างจากจุดที่ผมยืนอยู่เพียง ๖ กิโลเมตรเท่านั้น

เมื่อมันอยู่ไกล ความสูงของคลื่นเลยไม่เยอะ แต่บังเอิญจังหวะที่คลื่นมากระทบดินอ่อน สอดคล้องกับอาคารสูง คล้ายเราไกวเปลหรือชิงช้า

Image

แผนที่จังหวัดที่กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว กฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๖๔
กรมทรัพยากรธรณี, ๒๕๖๔

พอหายตะลึงและรับรู้ว่าต้นเหตุแผ่นดินไหวขนาด ๗.๗ มาจากรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ผมนึกถึงมืออาชีพอย่างอาจารย์สันติ ซึ่งได้พบเจอล่าสุดที่กรมทรัพยากรธรณีราวกลางปี ๒๕๖๖ การศึกษาของอาจารย์ระบุชัดว่ารอยเลื่อนสะกายมีศักยภาพพอที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้สูงถึงขนาด ๘.๖ และชี้ว่าแม้กรุงเทพฯ จะเคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนนี้ในระดับไม่รุนแรงมากนัก แต่ด้วยสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นดินใต้กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงจัดเป็นชั้นดินเหนียวค่อนข้างหนา จึงมีโอกาสที่แรงสั่นสะเทือนที่ได้รับอาจขยายสัญญาณอันเนื่องมาจากชั้นดินอ่อน (soil amplification) ได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ๘.๑ นอกชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๘

จากการศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองแรงสั่นของพื้นดินบริเวณกรุงเทพฯ นักวิชาการประเมินว่า ชั้นดินอ่อนที่สะสมตัวอยู่ใต้กรุงเทพฯ นั้นมีโอกาสขยายแรงสั่นสะเทือนได้สูงสุดถึงสามเท่าจากระดับปรกติ  และอาจารย์สันติยังให้ความเห็นว่า ในกรณีของคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากระยะไกลหรือผ่านการขยายสัญญาณ มักเป็นคลื่นที่มีคาบการสั่นที่ยาว (long-period seismic wave) ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะสอดคล้องและสั่นพ้อง (resonance) กับอาคารสูง

ด้วยเหตุนี้นอกจากการติดตามและเฝ้าระวังกลุ่มรอยเลื่อนต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียงอย่างรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เราควรเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกายซึ่งมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และส่งผลด้านแรงสั่นสะเทือนของคลื่นคาบยาวที่กระทบต่ออาคารสูงด้วยเช่นกัน

หลังเหตุแผ่นดินไหวยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมธรณีอีกคนคือ รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ดินใต้กรุงเทพฯ เป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ (Bangkok Clay) ก็เหมือนในแม่น้ำมีตะกอนแล้วทับถมกันเป็นชั้น ๆ ดินพวกนี้เลยอ่อนนุ่ม แต่ตะกอนที่ว่านี้มีมาตั้ง ๑ หมื่นปีที่แล้ว ก็คือพื้นที่กรุงเทพฯ และบริเวณโดยรอบเคยเป็นทะเลมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ ตื้นขึ้น ประกอบกับน้ำทะเลลดลงจนแผ่นดินเริ่มงอก แล้วก็มีคนเข้าไปอยู่อาศัย

“สำหรับดินอ่อน ความหนาจะมีลักษณะเท่ากับความลึกของทะเลในสมัยก่อน ซึ่งทะเลโบราณที่เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ อยุธยา มีความลึกประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร ดังนั้นดินอ่อนที่เราอยู่อาศัยทุกวันนี้ก็มีความลึกราว ๑๒-๑๓ เมตร หรือบางที่ก็ลึกกว่านี้ แต่วิธีที่จะเข้าใจได้ง่าย ๆ มองให้ใกล้ตัวเรามากขึ้น คือเวลาเราจะก่อสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกอาคารจะต้องตอกเสาเข็ม ซึ่งจะส่งถ่ายแรงของบ้านเราให้ทะลุชั้นดินอ่อนลงไป เพื่อให้ปลายเสาเข็มไปอยู่ที่ดินแข็งด้านล่าง รวม ๆ ประมาณ ๒๐ กว่าเมตรได้”

อาจารย์สุทธิศักดิ์อธิบายว่า ปรกติแล้วแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไกล ๆ กว่าจะมาถึงเราได้ พลังงานเหล่านั้นจะลดลงเรื่อย ๆ อย่างในกรณีนี้ระยะห่างจากกรุงเทพฯ คือ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ก็จะไม่ค่อยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนมาก แต่ที่ยังรู้สึกเพราะดินอ่อนนี่แหละ

“สำหรับคลื่นจะแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือความสูงของคลื่นกับจังหวะของคลื่น ดังนั้นเมื่อมันอยู่ไกล ความสูงของคลื่นเลยไม่เยอะ แต่บังเอิญจังหวะที่คลื่นมากระทบดินอ่อนสอดคล้องกับอาคารสูง คล้ายเราไกวเปลหรือชิงช้า ถ้าใช้แรงผลักในตำแหน่งที่ชิงช้าแกว่งมาถึงจุดที่มันกำลังจะย้อนกลับก็ทำให้ชิงช้าโยกไปได้เรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับจังหวะการโยกของอาคารสูง ที่สอดคล้องกับการสั่นของดินอ่อนพอดี”
...
ผ่านไปหลายวันหลังเหตุสั่นไหว ผมส่งคำถามถึงสุวิทย์อีกครั้งว่า ในฐานะนักธรณีวิทยาที่ทำงานด้านแผ่นดินไหวมายาวนาน เขามีมุมมองหรือข้อเสนอแนะถึงวิธีบริหารจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวอย่างไรบ้างในอนาคต

สุวิทย์ให้ความเห็นว่า ในแง่ของภาครัฐ หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยกรมทรัพยากรธรณีจะมีภารกิจสำรวจและศึกษารอยเลื่อนมีพลัง ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการประเมินระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในประเทศไทยแล้วเผยแพร่สู่ประชาชนและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้วางแผนป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ส่วนในอนาคต กรมทรัพยากรธรณีควรเน้นเรื่องการจัดการความเสี่ยงจากภัยแผ่นดินไหวให้มีประสิทธิภาพมากสุด คือการเตรียมพร้อมในรูปแบบการประเมินความเสี่ยงภัยของเมืองใหญ่ (เช่น กรุงเทพฯ) ซึ่งแต่ละเมืองจะขึ้นอยู่กับลักษณะทางธรณีวิทยา สิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน และสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัวของเมืองนั้น ๆ

โดยจะแสดงผลว่า หากเกิดแผ่นดินไหวจะมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเท่าใด ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากบริเวณไหน มีอาคารประเภทใดบ้างที่จะได้รับความเสียหาย มูลค่าความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นเท่าใด แล้วนำคำตอบไปให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือให้เหมาะสมและดีที่สุด

Image

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจำเป็นต้องพัฒนาระบบเตือนภัยหรือการพยากรณ์ให้สำเร็จ ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ศึกษาวิจัยหรือแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ก้าวไกลเหมือนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า ด้วยการตรวจจับคลื่น P-wave ของคลื่นแผ่นดินไหว แล้วแจ้งเตือนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในเวลา ๑๐-๓๐ วินาที

ฟากฝั่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการปรับปรุงกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยอาศัยฐานข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังจากกรมทรัพยากรธรณีประเมินระดับความรุนแรงแผ่นดินไหว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดและอาคารประเภทต่าง ๆ ในบ้านเราได้มากกว่าเดิม

ข้อสำคัญอยู่ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะสามารถให้วิศวกรผู้ควบคุมงานอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยดำเนินการครอบคลุมอาคารทุกประเภทตามอำนาจหน้าที่ได้หรือไม่ ผู้รับเหมาหรือช่างท้องถิ่นจะมีความรู้ความเข้าใจในการก่อสร้างอาคารให้สามารถรับแรงต้านแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องเพียงใด รวมถึงการพัฒนาวิศวกรโยธาในขั้นตอนออกแบบอาคารให้มีความรู้ครบถ้วน และสภาวิศวกรควรวัดผลเรื่องนี้ในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานของกรมที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ควรร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทำแผนเผชิญเหตุและจัดฝึกซ้อมกรณีเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่เป็นประจำและต่อเนื่อง และควรจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเพื่อเรียนเสริมนอกเวลาในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้นักเรียน คณะครู และประชาชนเกิดความตื่นตัว พร้อมรับมือตลอดเวลา

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรพัฒนารูปแบบการเตรียมพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวแบบเชิงรุกอย่างยั่งยืน โดยต้องวางแผน ให้ความรู้แก่แกนนำและประชาชนผ่านการฝึกปฏิบัติจริง และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายด้วยแนวคิดการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน

นักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวย้ำว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุดที่ทำให้ตื่นตระหนกกันค่อนประเทศโดยเฉพาะกรุงเทพฯ พวกเราควรตระหนักอย่างจริงจัง จะเลิกคิดได้หรือยังว่าเป็นเรื่องไกลตัว และถ้ารอยเลื่อนมีพลังที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและเมียนมาเกิดขยับตัวขึ้นอีกครั้งในอนาคต คนไทยเราพร้อมรับมือกันหรือยัง

Image

เอกสารอ้างอิง
ปรีชา สายทอง. (๒๕๕๖). ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวประเทศเมียนมา. สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย : กรมทรัพยากรธรณี. 

สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังษี. (๒๕๕๗). “รอยเลื่อนสะกาย : พฤติกรรมและพิบัติภัยต่อประเทศไทย” ใน วารสาร อุตุนิยมวิทยา.

สุวิทย์ โคสุวรรณ และ วีระชาติ วิเวกวิน. (๒๕๖๔). แนวทางบริหารจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย. กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม : กรมทรัพยากรธรณี.

เว็บไซต์
www.mitrearth.org
www.tmd.go.th
https://thematter.co/social/earth-quake-bangkok-clay/241382