Image

แผ่นดินไหวใหญ่ ๒๕๖๘
ตึกถล่ม โกลาหลทั่วกรุง

สารคดีบันทึก

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์

๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘ - ๑๓.๒๐ น.

คนกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ในไทยประสบภัยที่พวกเขา คิดว่า “ไกลตัว” ที่สุดครั้งแรกในชีวิต

“แผ่นดินไหว (earthquake)”

สถานการณ์ทั้งหมดเริ่มขึ้นเมื่อ “รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault)” หนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความยาวกว่า ๑,๒๐๐ กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางประเทศเมียนมาขยับตัว

ผลคือแรงสะเทือนระดับ ๘.๒ ตามมาตราวัดริกเตอร์ เท่ากับการจุดระเบิดนิวเคลียร์ ๓๓๔ ลูก จุดศูนย์กลางที่ลึกลงไปจากผิวดินราว ๑๐ กิโลเมตร ทำให้แรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงเจ็ดประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน บังกลาเทศ และอินเดีย

บริเวณจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่อยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ตึกรามบ้านช่องจำนวนมากเอียงและถล่มกองกับพื้น สะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีที่สร้างตั้งแต่สมัยอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมก็พังทลายลงในน้ำ

ห่างออกมาราว ๑,๐๐๐ กิโลเมตร อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหว คอนโดฯ หลายแห่งแกว่งราวถูกนิ้วดีด น้ำจากสระว่ายน้ำบนชั้นดาดฟ้าของตึกไหลรินราวน้ำตก ทางเชื่อมของคอนโดมิเนียมแฝดแห่งหนึ่งแยกตัวออกจากกัน จุดรุนแรงสุดคือตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลงมากองซ้อนกันราวขนมชั้นพร้อมคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ภายใน

หน่วยงานด้านแผ่นดินไหวของสหรัฐฯ คือ USGS ระบุว่า
เขตที่แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในกรุงเทพฯ คือบริเวณเขตจตุจักร ลาดพร้าว และย่านใจกลางเมือง คือเขตปทุมวัน เขตบางรัก อยู่ที่ระดับ ๓.๖-๓.๘ MMI ซึ่งเป็นหน่วยวัดความสั่นไหวที่ส่งผลต่อพื้นผิว

ในภาคเหนือ เขตอำเภอเมืองหลายจังหวัดรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน คานคอนกรีตของทางรถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงของที่กำลังก่อสร้างในเชียงราย ๒๐ ท่อน หนักท่อนละ ๑๐ ตัน (๑ ตัน เท่ากับ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม) ล้มทับรถยนต์เสียหาย ๖ คัน (ข่าวสดออนไลน์, ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘) มีรายงานอาคารร้าวเสียหายโดยเฉพาะในเชียงใหม่

ความโกลาหลหลังธรณีสะเทือนช่วงบ่ายวันที่ ๒๘ มีนาคม ยังไม่จบเท่านั้น

Image

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่กู้ภัยตึก สตง. 

“โกลาหล” และ “กู้ภัย” 
ครั้งใหญ่ที่ตึก สตง.

โลกในยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ ทำให้ฉาก “ตึก สตง. ถล่ม” กระจายเป็นวงกว้างตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ ๒๘ มีนาคม

ภาพมีให้เลือกดูหลากหลายมุม แต่เล่าเรื่องเดียวกัน คือตึกสูงแห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้างย่านจตุจักรสั่นไหวเสมือนฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด หลังจากนั้นค่อย ๆ ทรุดตัวลงราวขนมชั้นที่หล่นลงมาทับกันพร้อมฝุ่นฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่

ชุดกู้ภัยและรถพยาบาลต่างเร่งไปยังจุดเกิดเหตุ และถ้าหากพวกเขามองออกมาจากรถ บนท้องถนนจะเห็นภาพผู้คนทั้งเมืองหลวงกลับบ้านอย่างกะทันหัน เนื่องจากหน่วยงานไม่ว่ารัฐหรือเอกชนตัดสินใจยุติการทำงานเนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงของอาคารสำนักงาน

การจราจรในกรุงเทพฯ เป็นอัมพาต เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนหลักที่วางอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์อย่างรถไฟฟ้า BTS ที่รางอยู่บนตอม่อคอนกรีต ระบบรถไฟใต้ดิน MRT ที่วิ่งบนรางซึ่งวางอยู่ทั้งบนเสาเข็มและอุโมงค์ใต้ดินต้องหยุดให้บริการ เพราะต้องการตรวจสอบโครงสร้างและระบบทั้งหมดให้มีความปลอดภัยก่อนเปิดใช้งานอีกครั้ง

ทุกคนจึงต้องใช้ถนนและรถยนต์พร้อมกัน ผลคือ ระบบรถประจำทางไม่สามารถรองรับได้ รถยนต์ส่วนตัวติดเป็นแพตามถนนสายต่าง ๆ แผนที่การจราจรในกรุงเทพฯ บน Google Maps แสดงถนนในเขตเมืองทุกสายเป็นสีแดงและม่วง (รถติดแบบขยับไม่ได้) ประชาชนรายหนึ่งถึงขั้นตัดสินใจซื้อรถมอเตอร์ไซค์ขี่กลับบ้าน เพราะระบบขนส่งอื่นไม่สามารถใช้งานได้ (ข่าวสดออนไลน์, ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๘)

Image

ทางเข้าพื้นที่กู้ภัยถูกกั้นให้เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้น

Image

ผู้ที่คาดว่าเป็นญาติของผู้ประสบภัยพยายามเฝ้าดูการกู้ภัย

ที่ถนนกำแพงเพชร ๒ ฝุ่นจากตึกที่ถล่มทำให้พื้นถนนแทบทั้งสายและบริเวณรอบ ๆ กลายเป็นสีขาวโพลน มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทันที ๓ ราย บาดเจ็บ ๖ ราย และสูญหายอีกอย่างน้อย ๘๑ ราย  ต่อมามีการปิดถนนสายนี้เพื่อเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับหน่วยกู้ภัยและโรงพยาบาลสนาม  ราว ๒ ทุ่มปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อช่วยชีวิตคนที่ยังติดอยู่ใต้ซากตึกเริ่มด้วยรถแบ็กโฮเพียงไม่กี่คัน ก่อนจะระดมกำลังจากหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ และทีมสุนัขกู้ภัยเข้าพื้นที่ โดยจำนวนผู้ติดค้างใต้ซากเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่ามีอาฟเตอร์ช็อก ๔๓ ครั้ง และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้มีจังหวัดได้รับแรงสะเทือนถึง ๕๗ จังหวัด

รุ่งขึ้น (๒๙ มีนาคม ๒๕๖๘) หลายคนหยุดอยู่บ้านบ้างเพิ่งกลับถึงบ้านช่วงเช้า ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของกรุงเทพมหานครที่จัดตั้งขึ้นระบุว่า มีรายงานอาคารในกรุงเทพฯ ร้าวกว่า ๗๐๐ แห่ง และส่งวิศวกรอาสาเข้าตรวจสอบ

ขณะที่การกู้ภัยบริเวณซากอาคาร สตง. ถล่ม กลายเป็นงานกู้ภัยระดับชาติ สื่อแทบทุกสำนักทั้งมีสังกัดและอิสระต่างเกาะติดสถานการณ์บริเวณถนนกำแพงเพชร ๒ เพื่อรายงานสดจากพื้นที่ตลอดทั้งวัน โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีค้นหาผู้รอดชีวิต เช่น เครื่อง Life Locator จับความเคลื่อนไหวใต้ซากตึก

๓๐ มีนาคม สื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข่าวและประสบการณ์จากแผ่นดินไหวของคนจำนวนมาก พร้อมกับตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับตึก สตง. ที่กลายเป็นตึกเดียวในเมืองหลวงที่ถล่ม ขณะตึกซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างของภาคเอกชนจำนวนมากกลับรอดจากแผ่นดินไหว

 ป้ายภาษาต่างประเทศเพื่อสื่อสารกับคนงานก่อสร้าง จำนวนมากซึ่งเป็นชาวเมียนมาและกัมพูชา

๓๑ มีนาคม คนกรุงเทพฯ ยังคงผวาแผ่นดินไหว ที่อาคารศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ และสำนักงานที่เป็นตึกสูงหลายแห่ง คนรู้สึกถึงแรงสะเทือน ปรากฏว่ามีคนได้ยินเสียงร้าวของอาคารจนรีบหนีลงมาบริเวณชั้นล่าง กระทั่ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องยืนยันผ่านสื่อว่า อาฟเตอร์ช็อกไม่มีผลต่อกรุงเทพฯ อาคารที่ผ่านการตรวจสอบแล้วสามารถใช้งานได้ตามปรกติ

ในวันนี้นายกฯ ยังประชุมที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ตั้งคำถามถึงระบบแจ้งเตือนประชาชนผ่านข้อความสั้น (SMS) ที่ล่าช้า ทั้งที่นายกฯ สั่งการตั้งแต่ ๑๔.๐๐ น. ขั้นตอนราชการ ข้อจำกัดของระบบการส่ง SMS ที่สำคัญคือ ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน (Cell Broadcast) ที่จะแจ้งไปยังโทรศัพท์มือถือได้ในวงกว้างกว่าซึ่งยังใช้งานไม่ได้ (ไทยพีบีเอส, ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๘)

มีทีมกู้ภัยจากต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิสราเอล และจีน เข้ามาช่วยเหลือด้านเทคนิค  กทม. เริ่มแยกโซนชัดเจนระหว่างพื้นที่กู้ภัย พื้นที่ทำข่าว และพื้นที่
ที่ให้นำอาหารและน้ำมาแจกจ่ายรวมถึงพักผ่อน  นอกจากเจ้าหน้าที่และนักข่าว คนมากหน้าหลายตายังเข้ามา “มุง” ด้วยการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดียจนถนนกำแพงเพชร ๒ กลายเป็น “จุดเช็กอิน” แบบไม่ได้ตั้งใจ

ผ่านไป ๖๙ ชั่วโมง จำนวนผู้สูญหายอยู่ที่ ๗๖ ราย เสียชีวิต ๑๑ ราย โดยญาติยังมีความหวังแม้วันนี้จะพบร่างของผู้เสียชีวิตเท่านั้น 

กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่ามีอาคารที่เสียหายจากแผ่นดินไหวทั้งหมด ๘๐๘ อาคารทั่วประเทศและระงับการใช้งานไป ๔ อาคาร

ซากตึก สตง. คือสัญลักษณ์ของธรณีพิบัติครั้งใหญ่ และทำให้สังคมไทยสะดุ้งตื่นว่าการคอร์รัปชันกำลังกัดกินประเทศนี้

Image

สงกรานต์ ซากตึก 
การเยียวยา

๑ เมษายน มีการขอความร่วมมือในโซเชียลมีเดียว่าใน “วันโกหก (April Fool’s Day)” ไม่ควรนำเรื่องตึก สตง. ถล่มมาเป็นเรื่องล้อเล่น

แม้จะเข้าสู่บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ หน่วยกู้ภัยจากภาครัฐและเอกชนยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยแบ่งจุดถล่มเป็นพื้นที่ A, B, C, D ระดมเครื่องมือหนักเข้ารื้อซากปูน ซากเหล็กจำนวนมากที่กองทับกันหนาแน่น รวมถึงพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึก โดยมีญาติผู้สูญหายบางส่วนเฝ้ารอใกล้ที่เกิดเหตุ  อย่างไรก็ตามมีการคืนพื้นผิวจราจรบนถนนกำแพงเพชร ๒ ครึ่งหนึ่ง

๘ เมษายน นายกฯ สั่งให้หาสาเหตุของตึกถล่มภายใน ๙๐ วัน โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสี่แห่งและกรมโยธาธิการทำแบบจำลองและทบทวนการก่อสร้างอาคาร

เริ่มมีการสอบสวนจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาทำคดีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนบุคคลสัญชาติจีนในบริษัทร่วมทุนที่ดำเนินการก่อสร้าง คือบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด กระทรวงอุตสาหกรรมส่งทีมเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กจากสถานที่ก่อสร้างมาตรวจสอบ พบว่าเหล็กข้ออ้อยขนาด ๒๐ และ ๓๒ มิลลิเมตร ไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการตรวจสอบแบบก่อสร้าง  ขณะกองพิสูจน์หลักฐานและ สน. บางซื่อ เริ่มกระบวนการสอบสวนคดี เกิดกรณีที่ สมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรที่มีชื่อเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างในนามบริษัท PKW เข้าแจ้งความว่าถูกแอบอ้างนำชื่อไปใช้ จนทำให้มีการตรวจสอบเรื่องของวิศวกรคุมงานอีกหลายคน

ช่วงนี้ประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องพบปัญหาการยื่นเอกสารให้สำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อรับเงินชดเชยความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่มีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น ต้องพรินต์เอกสารสีภาพถ่ายบ้านเรือนส่วนที่เสียหาย แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ไม่นับอัตราจ่ายที่ตั้งไว้ต่ำจนไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการดำเนินการ โดยประชาชนคนหนึ่งได้ค่าชดเชยกำแพงร้าว ๔๑.๙๐ บาท (PPTV, ๑๙ เมษายน ๒๕๖๘)

ความเคลื่อนไหวแรกของ สตง. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการมีขึ้นเมื่อ สุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าฯ สตง. เข้าให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ระบุว่าเข้าใจว่าผู้ก่อสร้างคือบริษัทไทย (ทั้งที่มีบริษัทจีนร่วมทุน) ซึ่งก็คือไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และมีการปรับแบบปล่องลิฟต์และทางเดิน

Image

ต้นเดือนเมษายน ทีมกู้ภัยเริ่มใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ติดอยู่ใต้ซากตึก

พิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเสริมกำลังใจทีมกู้ภัย เจ้าหน้าที่ และญาติผู้ประสบภัย

ก่อนที่ต่อมา มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง. ให้สัมภาษณ์สื่อบอกพร้อมให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลหลุดออกมาว่า ใน สตง. มีการส่งข้อความจากผู้ว่าฯ สตง. ถึงพนักงานว่า “สูดหายใจลึก ๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อม ๆ กัน” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีไม่เหมาะสมในเหตุการณ์ที่มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเช่นนี้

มีรายงานข่าวเป็นระยะเรื่องพบเห็นแสงโทรศัพท์ ความเคลื่อนไหวใต้ซากตึก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ขุดไปถึงจุดต้องสงสัยก็มักไม่พบ หรือพบเพียงผู้เสียชีวิต  ปลายเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่เปิดถนนกำแพงเพชร ๒ แทบทั้งหมดให้รถยนต์สัญจรตามปรกติ เหลือไว้เพียงหนึ่งช่องทางเป็นพื้นที่ทำงาน

การดำเนินคดีที่ล่าช้าทำให้มีสื่อมวลชนอาวุโสสองคน คือ ดำรง พุฒตาล และ นารากร ติยายน ตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ว่าฯ สตง. และอดีตผู้ว่าฯ สตง. คนก่อนหน้าในฐานะผู้ว่าจ้างการสร้างอาคาร โดยนารากร ระบุว่าผ่านมา ๓๕ วัน มีเพียงวิศวกรและคนไม่กี่คนถูกดำเนินคดี แล้วทาง สตง. ก็ไม่เคยอธิบาย แค่ชี้แจงว่ามีการแก้ไขแบบอย่างถูกต้อง “หากเวลาผ่านไปเนิ่นนานจะมีเพียงวิศวกรที่ต้องถูกดำเนินคดี...อีกทั้งผู้ว่าฯ สตง.ไม่เคยเอ่ยคำขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบใด ๆ”

ขณะดำรงระบุว่า ที่ผ่านมาไม่มีการเรียกผู้ว่าฯ สตง. มาสอบ และหน่วยงานนี้มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น แต่ไม่ตรวจสอบตัวเอง ประชาชนเสียหายกว่า ๒ พันล้านบาทจากกรณีตึกถล่มและมีคนเสียชีวิตกับบาดเจ็บจำนวนมากแต่ “รัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน” (ไทยรัฐ, ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๘)

๔๘ วันหลังจากนั้น

ต้นฤดูฝน, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๘

หลังจากเคลียร์ซากตึกจบลงในวันที่ ๔๘ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงปิดการทำงาน โดยมีพิธีไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่ หน่วยกู้ภัย ญาติผู้เสียชีวิต ร่วมกันทำพิธีทางศาสนาด้วยการตักบาตรพระสงฆ์ ๑๐๙ รูป ยืนสงบนิ่ง วางดอกกล้วยไม้สีขาวรอบซากตึก

ทั้งนี้มีการพบร่างผู้เสียชีวิตและชิ้นส่วนอวัยวะทั้งหมด ๘๙ ราย โดย ๘๐ รายเป็นร่างสมบูรณ์ อีก ๙ รายเป็นชิ้นส่วน พิสูจน์ยืนยันอัตลักษณ์บุคคลได้แล้ว ๗๒ รายโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะดำเนินการจนครบเพื่อส่งร่างกลับสู่ครอบครัว  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าผู้เสียชีวิตส่วนมากมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เหลือเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ

Image

มีการเก็บวัตถุพยานคือเหล็ก ๓๖๖ เส้น คอนกรีต ๒๓๗ แท่ง รวม ๖๐๓ รายการ และต้องเบิกงบประมาณในการกู้ภัยเฉพาะตึก สตง. มากกว่า ๒๐๐ ล้านบาท โดยซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนในกรุงเทพฯ อีก ๑๗๖ ล้านบาท

ในวันนี้มีการทดสอบระบบ Cell Broadcast รอบที่ ๓ ครอบคลุมจังหวัดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา (หลังทดสอบรอบแรกไปแล้วสองรอบ วันที่ ๒ และ ๗ พฤษภาคม ในพื้นที่ระดับเล็กกว่า) ซึ่งถือเป็นการใช้งานระบบนี้ในวงกว้างครั้งแรกของไทย

มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ มีกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ ๔๙ ที่ใช้ควบคุมการสร้างอาคารให้รองรับแผ่นดินไหวในพื้นที่ ๑๐ จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ส่วนที่มีหรือติดกับรอยเลื่อนตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ โดยนำไปใช้จริงและปรับปรุงในปี ๒๕๕๐ และปรับปรุงล่าสุดปี ๒๕๖๔ ซึ่งบังคับใช้ใน ๔๓ จังหวัด ๑๗ ประเภทอาคาร แบ่งพื้นที่เป็นสามโซนตามระดับความเสี่ยง นอกจากนี้ยังออกคู่มือและมาตรฐานสำหรับการก่อสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวด้วยและ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ อีกหนึ่งฉบับ

ในกรุงเทพฯ ผู้ครอบครองอาคารที่สร้างก่อนปี ๒๕๕๐ จำนวนมากหันกลับมาตรวจสอบอาคารครั้งใหญ่ เพราะอาคารดังกล่าวแทบจะเป็นส่วนใหญ่ของเมืองหลวงแห่งนี้ ขณะผู้บริหาร กทม. ก็ขอให้กรมทรัพยากรธรณีสำรวจทางธรณีวิทยาของกรุงเทพฯ อีกครั้ง และเข้าร่วมโครงการ Resilient City ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อวัดว่าเมือง
รับมือกับภัยพิบัติและฟื้นตัวได้ดีเพียงใด มีการเสนอติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงของโรงพยาบาล ๑๒ แห่งในสังกัด กทม.

ผลกระทบทางจิตวิทยายังเกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์  สุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรได้ระบุตั้งแต่หลังเกิดเหตุว่า อาจเกิดการชะลอการโอนซื้อนานจนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๘ ทว่าในทางกลับกันก็จะเป็นการพิสูจน์ของอาคารที่ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาได้ แต่การเติบโตของปีนี้ก็จะเหลือเพียงร้อยละ ๓ แทนที่จะเป็นร้อยละ ๕ ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าตลาดคอนโดมิเนียมกระทบอย่างหนัก 

กรณีอาคาร สตง. ถล่ม การสืบสวนยังดำเนินต่อไปจนถึงตอนนี้ (๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๘) สังคมไทยก็ไม่เคยได้รับ “คำขอโทษ” จากผู้บริหาร สตง.

สี่สิบแปดวันหลังแผ่นดินไหวใหญ่ ๒๕๖๘ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย จะนำมากลั่นกรองเป็นบทเรียนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตเช่นไร 

คำตอบอยู่ที่สังคมไทยทั้งหมด  

“แผ่นดินไหว”
ในพงศาวดารไทยและเวียดนาม

แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริเวณแผ่นดินใหญ่ (Mainland Southeast Asia) มีบันทึกตั้งแต่โบราณว่า ดินแดนแถบนี้ประสบแผ่นดินไหวหลายครั้ง  ต่อไปนี้เป็นบันทึกในหลักฐานเพื่อนบ้านที่ผู้เขียนนำเสนอบางส่วนในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีตรวจวัดและไม่รู้จัก “ธรณีพิบัติ/แผ่นดินไหว” เท่าใดนัก

Image

สยาม

หลักฐานเรื่องแผ่นดินไหวของสยามปรากฏในพงศาวดารที่น่าเชื่อถืออย่าง พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หลายครั้ง ที่น่าสนใจคือในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กษัตริย์องค์ที่ ๒๐ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนว่า “ศักราช ๘๘๗ (รกาศก...) (พ.ศ. ๒๐๖๘)...อนึ่งแผ่นดินไหวทุกเมือง แล้วแลเกิดอุบาทว์เปนหลายประการ  ครั้นรุ่งปีขึ้นศักราช ๘๘๘ จอศก (พ.ศ. ๒๐๖๙) (เข้าสารแพง) เปน ๓ ทนานต่อเฟื้องเบี้ยแปดร้อย เกียนหนึ่งเปนเงินชั่งหกตำลึง ครั้งนั้นประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช แลให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก”  ทั้งนี้สำหรับผู้บันทึกพงศาวดารสันนิษฐานว่าพวกเขามองเหตุแผ่นดินไหวเป็นลางบอกเหตุร้ายบางอย่าง และเชื่อว่ามักจะมีเหตุการณ์ไม่ดีติดตามมา เช่น ข้าวยากหมากแพง การเปลี่ยนผู้ปกครองแผ่นดิน ฯลฯ 

Image

เวียดนาม

เอกสารประวัติศาสตร์เวียดนามมองแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายไม่ได้ ได่เหวียตสื่อกี๋ตว่านทือ (Đại Viêt Sử Ký Toàn Thư/พงศาวดารราชวงศ์เล) มักบันทึกสั้น ๆ เช่น “ปีดิญเห่ย (Đinh Hợi/ปีที่ ๗ ของรัชกาลจักรพรรดิลองฝู่ (Long Phù) (ค.ศ. ๑๑๐๗) : ฤดูร้อน แผ่นดินไหว, เดือน ๒ ปี ๑๑๓๗ เมืองเหงะอาน แผ่นดินไหว แม่น้ำสีแดงดั่งเลือด (ขุนนาง) กงบิ่ญ (Công Bình) ส่ง ดั่งแขญเฮือง (Đặng Khánh Hương) มาถวายรายงาน”

ส่วนสมัยราชวงศ์เหงวียน (ตรงกับต้นกรุงรัตนโกสินทร์) 
มองว่าแผ่นดินไหวเกิดจากสวรรค์ลงโทษเพราะมนุษย์ประพฤตินอกลู่นอกทาง จักรพรรดิจึงอาศัยเหตุนี้ “สำนึกปรับปรุงตนเอง” เช่น “เดือน ๙ ปี ๑๗๓๖ จังหวัดกวางบิ่งห์ แทงฮวา และเหงะอาน เกิดแผ่นดินไหว” อีกครั้งคือ “จังหวัดบ้ากนิญ (Bắc Ninh) เกิดแผ่นดินไหวเสียงดังกึกก้องคล้ายฟ้าร้อง...” จักรพรรดิตรัสกับข้าหลวงว่า “แผ่นดินคือธาตุหยิน (เย็น) เป็นสัญลักษณ์ขุนนางและสตรี บุรพกษัตริย์ตรัสว่า บ้านเมืองทางใต้มักมีพายุแต่ไม่มีแผ่นดินไหว เมื่อเกิดลางประหลาดเช่นนี้ พวกท่านจึงเร่งกำชับให้ราษฎรประพฤติดีเพื่อช่วยเราป้องกันเภทภัย”