ฮานามิ ณ โตเกียว
Souvenir & History
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
นึกถึงญี่ปุ่น สิ่งที่คนไทยที่เติบโตในยุค 90s นึกออก นอกจากการ์ตูน ก็คือดอกซากุระ
คงต้องหมายเหตุในที่นี้ด้วยว่า ทางการญี่ปุ่นไม่เคยประกาศชัดเจนว่าซากุระเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่การที่ซากุระ
ปรากฏตัวอยู่ในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น ไม่ว่าภาพวาด ประเพณี (ชมดอกไม้) บทกวี แอนิเมชัน หรือแม้กระทั่งเป็นของขวัญที่ญี่ปุ่นมอบให้มิตรประเทศ ก็ทำให้ซากุระแทบเป็นภาพแทนของ “ความเป็นญี่ปุ่น”
จำได้ว่าครั้งหนึ่งที่ผมเดินเล่นอยู่ใน National Mall กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (เทียบได้กับถนนราชดำเนินในกรุงเทพฯ) สหรัฐอเมริกา ก็ต้องแปลกใจ เมื่อพบว่ารอบสระน้ำไทดัล (Tidal Basin มักปรากฏเป็นฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเมื่อ
ประธานาธิบดีอเมริกันนั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านอนุสาวรีย์ลินคอล์น) เต็มไปด้วยต้นซากุระ
ในเว็บไซต์ washington.org ก็มีการประชาสัมพันธ์งาน National Cherry Blossom (เทศกาลชมดอกซากุระ) ที่จัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี จนผมมาทราบภายหลังว่า นี่คือของขวัญที่ญี่ปุ่นมอบให้สหรัฐฯ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๒
เยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้ง แต่มีเพียงครั้งเดียวที่ผมได้ไปตรงกับช่วงดอกซากุระบาน (เดือนเมษายน)
ตอนนั้นคือ ค.ศ. ๒๐๑๑ จำได้ว่าผมจิบชาร้อน นั่งมองต้นซากุระหน้าบ้านพักอยู่ได้ตลอดช่วงบ่าย
ซากุระงามสมคำร่ำลือ เวลาลมพัด กลีบดอกจะค่อย ๆ ร่วงปลิวตามสายลม เกิดเป็นฉากอันงดงามราวกับภาพเขียน
ผมยังมีโอกาสออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่ผู้คนจำนวนมากมาปูเสื่อชมดอกไม้บาน (hanami) แล้วก็เมามายกันอย่างเต็มที่
เพื่อนคนญี่ปุ่นเล่าว่า ในเชิงปรัชญา เมื่อดอกซากุระบานหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต แต่พร้อมกันนั้น นี่คือคำย้ำเตือนว่าชีวิตคนเราสั้น เพราะดอกซากุระจะบานอยู่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะร่วงโรย หรือแย่ยิ่งกว่านั้นคือมีฝนตกลงมา ก็เป็นอันจบสิ้นฤดูชมดอกไม้
ทำเอาผมนึกถึงการ์ตูนโดราเอมอนตอนหนึ่ง โนบิตะงอแงว่าพ่อแม่ไม่พาไปชมดอกซากุระ แม้สุดท้ายแล้วที่บ้านจะหาเวลาพาไปจนได้หลังผัดผ่อนมาหลายครั้ง แต่ฝนกลับทำให้ดอกซากุระร่วงหมด จนโดราเอมอนต้องใช้ของวิเศษเพื่อทำให้ดอกซากุระกลับมาผลิบานอีกครั้ง
พยายามหาข้อมูลว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาต้นซากุระมาปลูกในเมืองไทย ก่อนจะพบว่ามีผู้เคยลองแล้ว แม้ต้นซากุระจะเติบโต แต่กลับไม่เคยออกดอก เพราะสภาพภูมิอากาศต่างกัน
ผมเข้าใจทันที เพราะนึกถึงต้นไม้จากเมืองไทยที่นำไปปลูกในญี่ปุ่น สุดท้ายก็มีสภาพไม่สมบูรณ์
ด้วยความที่กลีบซากุระบอบบาง ทับเอาไว้ในหนังสือก็ไม่อาจคงสภาพอยู่ได้ ในที่สุดผมต้องพึ่งพาร้านขายของที่ระลึกที่เข้าใจนักท่องเที่ยวด้วยการผนึกดอกซากุระไว้ในเรซิน ทำเป็นของที่ระลึกวางจำหน่าย
สิบสี่ปีผ่านไป เห็นของที่ระลึกชิ้นนี้ทีไร ผมก็หวนระลึกถึง “ฮานามิ” ในกรุงโตเกียวครั้งนั้นเสมอ