คู่ครองมักหน้าเหมือนกัน จริงหรือ ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
แฟนกันอาจโดนทักว่าหน้าเหมือนหรือคล้ายกันมาก สามีภรรยาก็เช่นกัน แต่หนักกว่าอีกคือยิ่งอยู่ด้วยกันนานไปมักโดนทักว่ายิ่งหน้าตาคล้ายกันมากขึ้นทุกที
ข้อสังเกตนี้มีความจริงเจือปนอยู่แค่ไหน หรือเป็นแค่อคติและเรื่องคิดไปเอง
เรื่องน่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ไม่ใช่แต่คนไทยที่คิด ฝรั่งมังค่าก็เชื่อแบบนี้ไม่น้อยทีเดียว
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้างหรือไม่ที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ ?
ถึงไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีงานวิจัยที่พยายามตอบคำถามนี้มาตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐ แล้ว เวอร์ลิน บี. ไฮนซ์ (Verlin B. Hinsz) จากมหาวิทยาลัยนอร์ทดาโกตาสเตต สรุปไว้ว่า “...ผลการทดลองชี้ว่าข้อสังเกตความคล้ายคลึงกันของคู่ครองสะท้อนปรากฏการณ์จริง ดังเห็นได้ทั้งคู่ครองอายุน้อยและสูงอายุ ทั้งคู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานและอยู่ด้วยกันมานานแล้ว...”
นอกจากนี้ยังชี้อีกด้วยว่าผลดังกล่าวน่าจะมาจากการเห็นหน้าตัวเองและพบเจอคนที่มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกันซ้ำ ๆ ทำให้แต่ละคนมีแนวโน้มถูกดึงดูดโดยคนที่หน้าตาคล้ายคลึงกับตัวเอง
แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียว ยิ่งเวลาผ่านไปหลักฐานก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น บทความในเว็บไซต์ของนิตยสาร Psychology Today
ระบุว่า มีคำอธิบายว่าทำไมคนเราจึงมีแนวโน้มเลือกออกเดตและจับคู่กับคนที่หน้าตาคล้ายตนเองมากกว่าถึงเก้าเหตุผลด้วยกัน
ในที่นี้จะเลือกเหตุผลที่ดูน่าสนใจมากเป็นพิเศษมาสี่ข้อ
เหตุผลข้อแรก ทุกคนได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ความคุ้นเคย (familiarity effect) มีแนวโน้มจะชอบคนที่ดูคุ้นเคย
มากกว่าคนแปลกหน้า เวลาเราได้รับการกระตุ้นซ้ำ ๆ อย่างจำเพาะ มีแนวโน้มจะชอบสิ่งนั้นมากขึ้น เพราะสมองมีนิสัยขี้เกียจ ชอบสิ่งที่ทำให้ไม่ต้องทำงานหนัก การที่สมองประมวลผลสิ่งที่คุ้นเคยกว่าจึงทำให้เรามีความสุขได้ง่ายกว่า
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ นักวิจัยกำหนดให้กลุ่มอาสาสมัครสามกลุ่มที่แตกต่างกันให้คะแนนความดึงดูดใจ ความโดดเด่น และความคุ้นเคยต่อภาพใบหน้าเต็มของผู้หญิงรวม ๘๔ ภาพ
ผลลัพธ์คือคะแนนความดึงดูดใจไม่ไปด้วยกันกับคะแนนความโดดเด่นของใบหน้า แต่สัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความคล้ายคลึง พูดอีกอย่างก็คืออาสาสมัครให้คะแนนใบหน้าหญิงสาวที่ดูคุ้นเคยกว่าว่ามีความดึงดูดมากกว่า อีกการทดลองหนึ่งในงานวิจัยนี้พบว่า การเห็นใบหน้าซ้ำ ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าใบหน้านั้นดึงดูดมากขึ้น โดยรวมจึงสรุปว่าความคุ้นเคยส่งผลต่อการให้คะแนนความดึงดูดใจ
เหตุผลที่ ๒ ก็น่าสนใจ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าในบรรดาคู่ครองทั้งหลายมีไม่น้อยเลยที่ใบหน้าของสามีจะดูคล้ายใบหน้าพ่อภรรยา หรือใบหน้าของภรรยาดูมีเค้าใบหน้าแม่สามี แต่ละคนจึงอาจเกิดความประทับใจหรือเกิดความรู้สึกถูกดึงดูดทางเพศจากใบหน้าของพ่อหรือแม่ตัวเองที่เป็นเพศตรงกันข้าม เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า sexual imprinting
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง นักวิจัยทดสอบแนวโน้มจิตใต้สำนึกของอาสาสมัคร โดยให้ดูภาพของพ่อหรือแม่ตัวเอง (ที่เป็นเพศตรงข้าม) เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้ดูภาพคนอื่น จากนั้นให้ดูภาพใบหน้าต่าง ๆ และให้คะแนนความดึงดูดใจทางเพศ การทดลองต่อมาแทนที่จะใช้ภาพพ่อแม่เปลี่ยนมาใช้ภาพของอาสาสมัครคนนั้นเองมาสร้างเป็นใบหน้าใหม่
ผลลัพธ์คืออาสาสมัครหากได้เห็นภาพใบหน้าที่คุ้นเคยจะให้คะแนนความดึงดูดทางเพศสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือหากอาสาสมัครรู้ตัวว่าภาพนั้นเกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว ผลดังกล่าวจะกลับเป็นตรงกันข้าม แสดงให้เห็นถึงการควบคุมความรู้สึกจากจิตใต้สำนึกโดยอาศัยจิตสำนึก
การแก้ไขปัญหาเพศสัมพันธ์ในครอบครัวจึงอาจผ่านการปลูกฝังความคิดและบรรทัดฐานทางสังคมที่เหมาะสม
สำหรับเหตุผลข้อที่ ๓ ได้แก่ อคติแบบพรรคพวกหมู่เหล่า (ingroup biases) เหตุผลข้อนี้เข้าใจได้ไม่ยากนัก ปรกติคนส่วนใหญ่มักเลือกคู่ครองที่มีหน้าตาดูจะเป็นพรรคพวกและเผ่าพันธุ์เดียวกัน เป็นที่ยอมรับของคนในเครือข่ายสังคมเดียวกันมากกว่า
งานวิจัยในนักศึกษามหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอาสาสมัครอเมริกันที่แบ่งตามเชื้อชาติของบรรพบุรุษเป็นสี่กลุ่มคือ ยุโรป แอฟริกัน ละติน และเอเชีย ให้คะแนนความดึงดูดใจทางเพศกับเพศตรงข้ามที่มีเชื้อชาติเดียวกันสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยไม่ขึ้นกับการเลี้ยงดู
อย่างไรก็ตามคนอเมริกันเชื้อสายละตินและเอเชียให้คะแนนความดึงดูดทางกายภาพของคนผิวขาวเพศตรงข้ามสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนในกลุ่มตัวเอง ขณะที่คนอเมริกันผิวดำและละตินให้คะแนนสถานะทางสังคมโดยเฉลี่ยของคนอเมริกันผิวขาวและเชื้อสายเอเชียสูงกว่า
สำหรับเหตุผลข้อสุดท้ายก็คือ การชมชอบเผ่าพันธุ์เดียวกับตัวเองนั้นมีนัยที่ชี้ให้เห็นถึงการยึดถือตัวเองสำคัญซ่อนอยู่ (implicit egotism)
มีการทดลองใน ค.ศ. ๒๐๑๓ ที่นักวิจัยดึงรูปใบหน้าของ “อาสาสมัครเป้าหมาย” มาดัดแปลงให้ซ่อนอยู่ในภาพของเพศตรงข้ามเรียกว่า “ภาพแปลงตัวเอง” ในทำนองเดียวกันก็เอาภาพคู่ของอาสาสมัครมาดัดแปลงสร้างภาพด้วยเช่นกันเรียกว่า “ภาพแปลงของคู่” โดยการใช้คอมพิวเตอร์หลอมรวมใบหน้าให้เป็นภาพขึ้นใหม่นั้น ดึงเอาข้อมูลโครงสร้างใบหน้าของอาสาสมัครเป้าหมายมา ๒๒ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
จากนั้นก็เอาภาพทั้งคู่ไปให้อาสาสมัครเป้าหมายและอาสาสมัครคนอื่น ๆ ให้คะแนนความดึงดูดใจ
ผลลัพธ์คือขณะที่อาสาสมัครเป้าหมายให้คะแนนความดึงดูดใจของภาพแปลงตัวเองสูง แต่อาสาสมัครคนอื่นให้คะแนนภาพแปลงของคู่อาสาสมัครเป้าหมายสูงกว่า
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคืออาสาสมัครเป้าหมายไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าใบหน้านั้น มีเค้าหน้าตัวเองผสมรวมอยู่ ผลจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึก
การทดลองที่เล่ามาทั้งหมดแสดงถึงแนวโน้มความชื่นชอบหรือความรู้สึกดึงดูดใจทางเพศของใบหน้าเพศตรงข้ามว่า อาจเกิดได้ทั้งจากความคุ้นเคยในครอบครัวตั้งแต่เกิด ความคุ้นเคยในกลุ่มคนและชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ด้วยหรือแม้แต่กระทั่งอคติความหลงใหลในรูปหน้าตัวเอง
ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึกโดยที่เจ้าตัวไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป
ส่วนทางวิวัฒนาการนั้นเรื่องนี้น่าสนใจในมุมกลับด้วยเช่นกัน การผสมไปมาในกลุ่มคนใกล้ชิดนั้นมีข้อเสียในระยะยาว เพราะจะทำให้ “ลักษณะด้อย” หรือความผิดปรกติต่าง ๆ (เช่นระดับสติปัญญาที่ลดน้อยถอยลง) เผยตัว ทำให้มีโอกาสอยู่รอดเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ลดลง จึงมีกลไกในทางตรงกันข้ามที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนที่แตกต่างกับเราช่างดึงดูดใจมากด้วยเช่นกัน เป็นแรงตามธรรมชาติที่คอยสร้างสมดุลระหว่างการชื่นชอบหน้าคล้ายหรือต่างกับตัวเอง
อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้สนับสนุนความเชื่อที่ว่า คู่ครองจำนวนมากหน้าตาคล้ายกันจริง